ARATA ISOZAKI

สร้างความสำเร็จจากซากปรักหักพัง
Arata Isozaki สถาปนิกผู้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 คว้ารางวัล Pritzker Prize 2019

ทำความรู้จักสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Arata Isozaki ผู้ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดด้านสถาปัตยกรรมในปี 2019 กับรางวัล Pritzker Prize กับเส้นทางชีวิตหลังสงครามโลก เป็นผู้คว้ารางวัลเป็นลำดับที่ 46 และเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่ 8 ที่ได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่นี้

“สถาปนิกท่านนี้มีทั้งองค์ความรู้ที่หลากหลาย เป็นคนที่มีอิทธิพลต่อวงการสถาปัตยกรรม และเป็นนักออกแบบที่มีความสามารถและมีความเป็นสากลอย่างแท้จริง” นี่คือบางส่วนจากคำกล่าวของคณะกรรมการในการตัดสินรางวัลดังกล่าว

หากเปรียบสถาปนิกอาวุโสท่านนี้เป็นอาคารสักหลัง ท่านคงเป็นอาคารเก่าแก่แต่ก็ทำประโยชน์มามาก และก็ต้องแข็งแรงมากเช่นกัน ในวัยเด็กของท่าน Arata Isozaki ผ่านเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ เมืองฮิโรชิมา ไม่ไกลจากบ้านเกิด ชีวิตหลังจากนั้นของผู้คนก็ยากลำบาก และต้องอยู่ท่ามกลางเมืองที่ถูกทำลาย ไม่มีสถาปัตยกรรม ตึก อาคาร ตรงนั้นที่เป็นจุดเริ่มต้นมุมมองของArata Isozaki
ที่มีต่อสถาปัตยกรรม หาใช่ความสวยงาม แต่มันคือความว่างเปล่า มันคือซากปรักหักพัง และประสบการณ์นี้ก็นำพาสู่การตั้งคำถามว่า จะสร้างบ้าน สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการใดได้บ้าง

เส้นทางสู่วงการสถาปนิกของ Arata Isozaki เริ่มจากการเรียนในมหาวิทยาลัยโตเกียว คณะสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมศาสตร์จบจากที่นี่ในปี 1954 และเริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการทำงานให้กับผู้เคยได้รับรางวัล Pritzker Prize และเป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Kenzo Tange ที่สร้างอิทธิพลทางความคิดและการออกแบบให้กับ Arata Isozaki หลังจากทำงานอยู่หลายปี เขาจึงตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อว่า Arata Isozaki & Associates ในปี 1963 ผลงานโดดเด่นในช่วงแรกๆ ของเขาก็ได้แก่  เช่น ห้องสมุดเมืองโออิตะ สร้างผลงานและตัวตนที่ชัดเจนในระดับนานาชาติอย่าง Expo ’70 Festival Plaza ในปี 1970 นอกจากนี้เขาได้สร้างผลงานอันโดดเด่นไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหอศิปล์มิโตะ Art Tower Mito พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแอลเอ และ Palau Sant Jordi ในบาร์เซโลน่า และอื่นๆ อีกมากมาย

Arata Isozaki มีไอเดียที่ล้ำสมัย จุดเด่นในงานที่ชัดเจนคือเอกลักษณ์ในแต่ละโปรเจ็กต์จะมีลายเซนต์ที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดียว ทำให้สถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบมีความหลากหลาย ยิ่งไปกว่านั้น Arata Isozaki  ยังมีแง่มุมในการผสานเรื่องราวสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตกได้อย่างลึกซึ้ง เพราะได้ผ่านกระบวนการทางความคิดการออกแบบ อาศัยความรู้ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเหนืออื่นใดคือประสบการณ์ในหลากมิติและค่อนชีวิตที่ผ่านมาของเขานั่นเอง

ที่มา: dezeen.com

Leave A Comment