INTHAI

 

ตรรกะแห่งความร่วมสมัยจากนักออกแบบหัวก้าวหน้า

Text : Doowoper
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ

เพราะการนำรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมที่มีมาผสานกับแนวคิดไร้กรอบ รวมถึงเทคนิคเฉพาะตัว ทำให้ผลงานเครื่องประดับและเสื้อผ้าอาภรณ์ของมายด์อารียา บุญช่วยแล้วผลิความงามเชิงสร้างสรรค์ได้ชวนสะกดใจ การคว้ารางวัล “Design Excellence Award 2018” (DEmark) จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด ยิ่งเป็นเครื่องการันตีได้ว่าเธอคือนักออกแบบหน้าใหม่ไฟแรง ที่พร้อมสยายปีกสู่เวทีชีวิตนักออกแบบมืออาชีพในอนาคต 

ปูมหลังของคุณ และที่มาของแบรนด์ INTHAI 

มายด์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาออกแบบนิเทศน์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเองค่ะ แต่เริ่มทำแบรนด์ Inthai ตั้งแต่ตอนเรียนปี 3 (ปีที่แล้ว) จุดเริ่มต้นมาจากภาพสเก็ตช์ผลงาน ‘ทอฟ้าคราม’ ในวิชา Thai Art ซึ่งอาจารย์ให้เราออกแบบของที่ระลึกไทย พอถูกนำไปโชว์ลงในเพจ ‘Thai Graphic’ ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี คนชอบและกดไลค์เยอะ จนกระทั่งได้เป็น 1 ใน 6 แบรนด์ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มอบเงินสนับสนุนให้ทำสินค้าขึ้นขายจริงในงาน “เทศกาลศิลปะสร้างแรงบันดาลใจ Art Inapired” (บริเวณลานด้านหน้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์) ก็รู้สึกดีใจมาก… สำหรับสินค้าที่ออกแบบนั้นเป็นการนำลายครามของไทยที่เราเห็นกันเจนตาบนภาชนะ มาต่อยอดในบริบททางแฟชั่น สู่ลวดลายบนสิ่งทอที่สะท้อนความร่วมสมัย ซึ่งทำร่วมกับชุมชนดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร ค่ะ  

 

 

ผลตอบรับจาก ททท.  

ดีมากค่ะ นับว่าเป็นใบเบิกทางที่ทำให้ผลงานของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากนั้นก็มีกระทรวงวัฒนธรรมติดต่อให้ไปออกบู๊ธในงาน “ณ สยาม” และได้เป็น 1 ใน 4 แบรนด์ไทยที่ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี สนับสนุนให้ไปออกบู๊ธในงาน “Namaste Thailand 2017” ที่ประเทศอินเดีย รวมถึงมีรายการโทรทัศน์ต่างๆ ติดต่อเข้ามาให้นำสินค้าไปโชว์ด้วยค่ะ 

คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของ แบรนด์ INTHAI 

ความแตกต่างค่ะ ในแง่ของการนำลวดลายถ้วยโถโอชามของไทยอันมีเอกลักษณ์ มาปรับใช้บนเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ซึ่งประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัย ที่สำคัญคือสามารถใช้งานได้จริง  อาทิเช่น คอลเลคชั่นใหม่ที่เราทำเป็นผ้าพันคอ มายด์ได้นำเทคนิคการเขียนลายไทยมาลดทอน รวมถึงผสานเข้ากับลายกราฟิกที่คิดขึ้นเอง เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ แต่ทั้งนี้ภาพลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์ต้องสามารถสื่อถึงความเป็นไทยได้อยู่นั่นเอง  

ในมุมมองคุณ งานออกแบบที่ดีคือ…

งานที่ดีต้องใช้งานได้จริง เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องเอ่ย แค่เห็นก็รู้ว่าคืออะไร หน้าที่อย่่างไร ดังนั้นงานของ INTHAI เรื่องการสื่อสารและการแก้ไขปัญหามายด์ยกให้เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบค่ะ รวมถึงทุกผลงานที่เกิดขึ้นมักมาจากการตั้งโจทย์กับสิ่งที่เราอยากนำเสนอ ภายใต้การรีเสิร์ชข้อมูลอย่างจริงจัง โดยถ่ายทอดให้ทุกคนได้รู้ว่านี่เป็นสินค้าไทยที่ไม่ใช่แค่ไว้โชว์ แต่เป็นงานที่ผ่านการบ่มคิด ผ่านการดีไซน์ตอบสนองยุคปัจจุบัน เพื่อให้คนไทยและคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงคุณค่า พอใจและยินดีที่จะหยิบสินค้าของเรามาใช้งาน 

 

กลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจสินค้าคุณ

ความจริงกลุ่มเป้าหมายของ INTHAI ที่ตั้งไว้คือผู้หญิงวัยทำงานอายุ 30 ปี ขึ้นไปค่ะ แต่ที่ผ่านมาก็มีวัยรุ่นและชาวต่างชาติชอบงานของเราเยอะมากเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) มีทั้งซื้อใช้เอง เป็นของฝากหรือของขวัญ จึงรู้สึกว่ามันเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น ทำให้มีกำลังใจที่จะต่อยอดและพัฒนาสินค้าของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ 

บุคคลในดวงใจของคุณคือ…

ความจริงมีหลายคนนะคะ แต่ที่จุดประกายให้มายด์ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์งานแนวนี้ คือ “ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี” นักออกแบบและเจ้าของเพจ “Thaitone” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนมายด์ที่ม.ศิลปากร ค่ะ ชอบตรงที่ท่านมีวิธีคิดที่แตกต่างทว่าสร้างสรรค์ และสอนให้ลูกศิษย์ทุกคนรู้คุณค่าของความเป็นไทย รู้จักคิด พลิกแพลง และต่อยอดงานให้เกิดความน่าสนใจ แถมท่านยังช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับมายด์มาโดยตลอดด้วยค่ะ 

พูดถึงงาน DEmark 2018 ที่ได้รับรางวัลล่าสุดสักนิด 

หลังจากที่มีการขายสินค้าได้ระยะหนึ่ง และทราบว่ามีนักออกแบบหลายๆ ท่าน นิยมส่งผลงานเข้าประกวดงานนี้กันเยอะ เราจึงสนใจเพราะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่มีรางวัลการันตี แถมหากชนะยังได้มีสิทธิ์ไปแข่งขันในงาน “Good Design Award” (G-Mark) ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อ ซึ่งถือเป็นช่องทางและโอกาสที่ดีทีเดียว เมื่อทราบผลว่าได้รับรางวัลประเภทแฟชั่นเครื่องแต่งกาย ก็มีความรู้สึกดีใจมากๆ เลยค่ะ (ยิ้ม) สำหรับการประกวดครั้งแรกในเวทีระดับนี้ 

“งานที่ดีต้องใช้งานได้จริง เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องเอ่ย แค่เห็นก็รู้ว่าคืออะไร หน้าที่อย่างไร”

คิดว่าสิ่งใดที่ทำให้ผลงานของเราเข้าตากรรมการ 

น่าจะเป็นเรื่องของแนวคิดค่ะ เพราะ “Kram Collection” คืองานที่มายด์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องลายคราม ซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ของไทยมาถ่ายทอดใหม่บนเครื่องประดับต่างหูค่ะ จึงสร้างผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ร่วมสมัย ที่สำคัญตั้งใจสะท้อนให้คนไทยและต่างชาติได้เห็นถึงอัตลักษณ์งานในชุมชนที่มีความประณีตงดงามด้วยค่ะ  

ปีนี้คุณมีโปรเจคท์หรือโอกาสอะไรใหม่ๆ บ้าง 

ล่าสุดพอจบงาน DEmark ก็ได้เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ถูกคัดเลือกให้ไปวางขายสินค้าที่ห้างของกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเป็นเวลา 3 เดือนค่ะ รวมถึงได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สนับสนุนให้มาออกบู๊ธในงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี” และล่าสุดศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ได้ให้โอกาสเราไปทำเวิร์คช็อปงานจักสานร่วมกับชุมชนบ้านคลองโอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด ในโครงการ “Craft Knowledge Exchange Program”  ค่ะ 

สิ่งที่ได้จากการร่วมงานกับชุมชน

ประสบการณ์ที่ดีค่ะ ได้ทั้งความรู้เรื่องเทคนิคงานจักสานในชุมชนมากขึ้น รวมถึงได้นำเสนองานออกแบบให้แก่ชุมชนได้เรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดในงานของเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่สนุกและเป็นประโยชน์มากๆ เลยค่ะ 

อยากฝากอะไรถึงผู้ใหญ่ในบ้านเราสักนิด 

อยากให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยสนับสนุนจัดเวทีสำหรับปล่อยของให้กับนักออกแบบมากขึ้นค่ะ และมีโครงการที่นำนักออกแบบและชุมชนมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเยอะๆ เพื่อเป็นการต่อยอดสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้มากยิ่งขึ้น เพราะจากที่มีโอกาสลงพื้นที่ มายด์รู้สึกว่าทุกวันนี้ชุมชนกับนักออกแบบยังเข้าไม่ถึงกันสักเท่าไหร่  

 

 

 

Leave A Comment