3D CEMENT PRINTING EXTRUSION

 

อีกขั้นของนวัตกรรมการก่อสร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

 

Text: Boonake A.

เรารู้จักเทคโนโลยี 3D Printing กันเป็นอย่างดี เพราะนวัตกรรมดังกล่าวได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตรูปแบบใหม่ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับLifestyle ของชีวิตมนุษย์ยุคปัจจุบัน แต่กับการนำเอา 3D Printing มาใช้สร้างงานก่อสร้างรูปแบบต่าง ๆ นั้น ผมว่านี่เป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยอย่างเราอาจไม่เคยเห็น

ตอนนี้ทางแบรนด์SCGได้ใช้เวลากว่า 5 ปี คิดค้นการนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้กับงานก่อสร้างได้เป็นครั้งแรกในโลก สร้างออกมาให้เป็นสินค้าปูนสำเร็จรูปและบริการการออกแบบสิ่งปลูกสร้างอย่างครบวงจร ที่เรียกว่า “3D Cement PrintingExtrusion”ขึ้นมา

Daybeds เลยอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับนวัตกรรมนี้ ผ่านการพูดคุยลงลึกในรายละเอียดกับคุณสยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer-Cement andConstruction Solution Businessของ SCG เบื้องหลังสำคัญที่ผลักดันให้นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

 

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 3D Printing ตัวนี้ของSCG มีที่มาที่ไปอย่างไร

ทุกปีเราจะมีการออกไปหาลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อค้นหาความต้องการนำมาใช้สร้างสินค้าหรือบริการรูปแบบใหม่จากการการเก็บข้อมูลเราพบว่าในวันนี้วิธีคิดในการก่อสร้างแบบเดิมๆ  อาจไม่ตอบโจทย์กับงานก่อสร้างสมัยใหม่ ซึ่งก็มีสิ่งที่เรียกว่า3D Printing เกิดขึ้นและส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปรินท์ด้วยซีเมนต์ เราเลยคำถามว่าทำไมซีเมนต์จะนำมาใช้ในงานพิมพ์สามมิติไม่ได้บ้างล่ะ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการลองพัฒนาสูตรปูนสำเร็จรูป(Mortar)ให้สามารถปรินต์ด้วยหัวฉีดของ 3D Printer ผมก็โยนโจทย์เหล่านี้ให้กับทีมวิจัยไปทำ เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถแก้ “Pain Point” ในด้านงานก่อสร้าง จนได้เป็นสิ่งที่เรียกว่า“3D Cement Printing Extrusion” ออกมา 

3D Printingนี้สามารถแก้Pain Pointอย่างไร

การพิมพ์สามมิติสามารถแก้ปัญหาระยะยาวต่างๆ เช่นการขาดแคลนแรงงาน มาตรฐานฝีมือแรงงาน ระยะเวลาการก่อสร้างได้อย่างมาก ทั้งยังสามารถนำไปงานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม งานตกแต่ง งานเฟอร์นิเจอร์เอาท์ดอร์ รวมถึงพัฒนารูปฟอร์มเป็นทุ่นในการยึดเกาะเพื่อใช้ในงานฟื้นฟูทรัพยากรใต้น้ำได้

 

รายละเอียดองค์รวมด้านเทคนิคของนวัตกรรม3D Printing

เทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นคือ 3D Extrusion Printing ซึ่งเป็นหัวพิมพ์ที่สามารถฉีดวัสดุเป็นซีเมนต์ได้ เราน่าจะเป็นรายแรกที่ทำขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาปูนซีเมนต์สูตรพิเศษที่สามารถนำมาใช้กับเครื่องพิมพ์โดยเฉพาะขึ้นมา ที่มีความเหนียว และมีการเซตตัวเหมาะกับสภาวะอากาศของเมืองไทย ทั้งยังสามารถรับกำลังอัดได้หลายสภาวะตั้งแต่ 550,350,250 KSC(Kilogram Per Square Centimeter) รวมถึงพัฒนาปูนรูปแบบLight Weight ที่สามารถลดน้ำหนักของสินค้าที่ผลิตเสร็จไปได้อีก 30% อันนี้เป็นลักษณะที่ผลิตเป็นสินค้า

 

ทราบว่าตอนนี้มีการนำเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้ผลิตชิ้นงานร่วมกับแบรนด์สินค้า รวมถึงพาร์ทเนอร์อื่นๆ ด้วยใช่ไหม

เราเข้าไปร่วมทำงานกับโจทย์ของลูกค้า เข้าไปช่วยกันดีไซน์เพื่อสร้างสินค้าออกมาอย่างงานล่าสุดที่เราร่วมมือกับ“สโมสรเอสซีจีเมืองทอง” สร้างผลงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า“Crest of Pride” ประดับเป็นแลนด์มาร์กหน้าสนาม ซึ่งเราใช้ 3D Printer สร้างตราสัญลักษณ์สโมสรขนาดใหญ่ขึ้นมา ก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาง่ายๆ เลยถ้าไม่ใช่เครื่องปรินท์สามมิติ นอกจากแลนด์มารก์ดังกล่าวเรายังเข้าไปร่วมมือกับแบรนด์“Amazon” สร้างเฟอร์นิเจอร์ปูนเอาท์ดอร์เพื่อไปใช้ในหลายสาขาทั่วประเทศ

 

รวมถึงมีการขยายตลาดการบริการไปยังต่างประเทศด้วย

แน่นอนครับเราไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในประเทศ เราขยายไปในต่างประเทศด้วย เป็นทั้งกลุ่มผู้รับเหมา สถาปนิก และวิศวกรด้วย ซึ่งกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศที่เรานำเสนองานเข้าไปก็มีทั้งที่อินเดีย ยุโรป สเปน และในสหรัฐอเมริกา ในส่วนของอินเดียนั้นประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยโปรเจกต์“Bath Room Unit” สร้างเป็นห้องน้ำระดับ 1,000 ห้อง อันนี้เราก็สามารถขายสินค้าของเราเข้าไปได้

 

วางเป้ายอดขายของผลิตภัณฑ์นี้ไว้ที่เท่าไหร่

จริงๆ เริ่มต้นไม่รู้จะคิดอะไรก็วางเป้าไว้ที่ร้อยล้าน เพราะต่ำกว่านี้คงไม่มีกำไร แต่จริงตอนนี้โอกาสที่เรามองเห็นมาจากตลาดต่างประเทศ ประมาณ 90% อันนี้เราสามารถใช้เครือข่ายของSCG International ที่มีสำนักงานอยู่ทั่วโลกมาช่วยขยายตลาดให้เราได้

ได้มีการกำหนดBusiness Model ไว้หรือไม่ในการทำการตลาด

Business Model มีอยู่ 2 ตัวหลักๆ อันแรกคือการเข้าไปร่วมกับผู้ผลิต 3D Printer ใครจะมาทำตลาดในประเทศไทย เราก็จะไปเสนอโซลูชั่นให้เขา อีกส่วนหนึ่งคือการเข้าคุยกับเจ้าของโครงการหมู่บ้าน คอนโด รวมถึงวิศวกรและสถาปนิกที่เป็น Influencerดังๆ ให้เข้ามาลองใช้เทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้น เพื่อสร้างงานโชว์เคส หรือสร้างเป็นชิ้นงานก่อสร้างที่สามารถจับต้องได้ขึ้นมา ก็จะยิ่งทำให้ 3D Printing ของเราได้รับการยอมรับเร็วยิ่งขึ้น

 

ในงานส่วนนี้ได้มีการเริ่มต้นไปแล้วหรือยัง

ตอนนี้มันเริ่มจากคนที่เห็นแล้วชอบ และสนใจ หรือเป็นสถาปนิกที่สนใจในการสร้างงานรูปแบบใหม่ แล้วมองเห็นว่านี่คือการออกแบบที่จะสามารถตอบโจทย์การสร้างงานรูปแบบใหม่ที่งานรุ่นเก่าไม่สามารถทำได้ ก็สามารถมาคุยกับเรา นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอเป็นโซลูชั่นของเรา

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตจะการสร้างพื้นที่กลางเพื่อใช้ในการสร้างงานร่วมกับสถาปนิก

ในอนาคตเราต้องมี Ecosystem กลางที่เปิดให้สถาปนิกออกแบบแล้วใช้เทคโนโลยีของเราสร้างงาน ผมว่านั่นจะทำให้ตลาดการพิมพ์สามมิติของเราเติบโตได้เร็วมากขึ้น ในส่วนของการก่อสร้างความตั้งใจคงไม่ได้อยากจะเข้าไปแทน Conventional Construction ทั้งหมด เพียงแต่อยากชี้ให้เจ้าของโครงการบ้านจัดสรร หรือคอนโดต่างๆ เห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถเข้าไปช่วยในสร้างพาร์ทหนึ่งของตึก หรือพาร์ทหนึ่งของบ้านให้เกิดเป็นงานดีไซน์ที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้นถ้าเขาสนใจ เราก็จะผลิตชิ้นงานนั้นร่วมกัน

ไทม์ไลน์ที่ในการสร้างความรับในแบรนด์ให้สินค้าและบริการไว้ด้าน3D Printing มีระยเวลาประมาณไหน

ถ้าจะให้เป็นทางเลือกในการก่อสร้างได้จริง ผมว่าคงต้องสร้างขึ้นให้ได้ภายในสองปีข้างหน้านี้ ถ้าเลยกว่านั้นมันอาจจะช้าไป เพราะเทรนด์การก่อสร้างมันเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา

 

ท้ายที่สุด 3D Printing ตัวนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยได้ในเรื่องใด

ทุกวันนี้ในงานก่อสร้างมีเศษวัสดุก่อสร้าง(Waste) เกิดขึ้นประมาณ 30% เป็นเศษทิ้งที่ไม่สามารถใช้งานได้ ถ้าเจ้าของโครงการบางส่วนหันมาใช้ 3D Printingที่สามารถขึ้นรูปด้วยมันเองได้ ก็จะช่วยลดเศษเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยเรื่อง Circular Economy ในการก่อสร้างได้มาก แล้วเนื่องจากมันไม่ต้องไปทำงานก่อสร้างที่ไซต์งาน ฝุ่นจากการก่อสร้างที่เกิดขึ้นจึงแทบจะเป็นศูนย์ ซึ่งเรื่องฝุ่นผมมองว่ามันเป็นปัญหาสำคัญเลยนับตั้งแต่มีเรื่องวิกฤติ PM 2.5 เกิดขึ้นมา ก็จะยิ่งช่วยให้ไซต์งานก่อสร้างของคุณมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปด้วย นี่คือข้อดีของเทคโนโลยี 3D Printing ตัวนี้ที่SCG มอบให้แก่องค์รวมของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทยครับ

 

 

 

Leave A Comment