THE MULTI– PURPOSE HOUSE

บ้านสารพัดประโยชน์ที่รวบรวมชีวิตคนและแมวไว้ด้วยกัน

Text: Boonake A.
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
Design: INchan atelier

การสร้างบ้าน สร้างให้เจ้าของบ้านอยู่นี่ก็ว่ายากแล้ว แต่การจะสร้างบ้านให้คนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมดุล ลงตัวกับแมวจำนวนกว่า 12 ตัว นี่เป็นโจทย์ในการออกแบบที่ไม่ง่ายเลย สำหรับสถาปนิกทุกคน

แต่นั่นคือโจทย์การรีโนเวตบ้านที่ คุณแอ๊ด – พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ศิลปินนักถ่ายภาพชื่อดังที่รู้จักกันในขื่อ“Add Candid” ได้ให้ไว้กับ“อาจารย์ อินทนนท์ จันทร์ทิพย์” สถาปนิกและเจ้าของบริษัท “INchan atelier” เพื่อใช้ในการออกแบบบ้านทาวน์โฮมขในโครงการ“Plus City Park Rama 9-Huamark” ของเขา

จากโจทย์นำไปสู่การเริ่มต้นการรีโนเวต เพื่อสร้างออกมาเป็นบ้านที่เอื้ออำนวยให้คุณแอ๊ดใช้ชีวิตร่วมกับมวลหมู่แมวของเขาอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกันยังต้องสามารถใช้เป็นแกเลอรี่แสดงงานภาพถ่ายส่วนตัวของคุณแอ๊ดได้อีกด้วย

ในดีเทลการออกแบบ รวมถึงคอนเซปต์ต่างๆ ที่ใช้ในการสร้าง รวมถึงการดัดแปลงรายละเอียด จนได้ออกมาเป็นบ้านแสนอบอุ่น ที่รวบรวมความต้องการอันหลากหลายเอาไว้หลังนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจที่คุณแอ๊ดจะเล่าให้เราฟัง

“ผมกับเมจิ(ภรรยา) ซื้อบ้านหลังนี้หลังจากที่เราแต่งงาน โดยมีคุณพ่อ คุณแม่ช่วยกันเลือกด้วย เราก็ดูกันมาหลายที่ครับ จนมาเจอกับบ้านหลังนี้ที่เราทุกคนลงความเห็นว่าโอเคที่สุด ทั้งเรื่องที่จอดรถ การนำรถออกจากซอยก็สะดวกเวลามีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ตัวบ้านเองก็ไม่เก่ามาก น่าจะใช้เงินในการรีโนเวตไม่มากทั้งยังใกล้สนามบินสุวรรณภูมิที่ทำงานของเมจิด้วย เลยเป็นที่มาทำให้ผมเลือกที่นี่”

คุณแอ๊ดยังเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เขาประทับใจเพิ่มขึ้น ก็เพราะในโครงการมีการเอาสายไฟลงดินทั้งหมด สภาพแวดล้อมจึงมีความโปร่งตาสวยงาม ประกอบกับรูปแบบอาคารที่ถูกออกแบบในสไตล์ยุโรป ซึ่งเป็นสไตล์ที่คุณแอ๊ดชอบอยู่เป็นทุนเดิม รวมเข้ากับการออกแบบสเปซได้อย่างชาญฉลาด บ้านหลังนี้จึงยิ่งตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ในทุกความต้องการ

“รูปแบบสเปซที่ผมชอบของบ้านหลังนี้ก็คือการเล่นระดับในตัวบ้าน เปิดประตูบ้านเข้ามาเจอสเตปบันไดเลยเพื่อขึ้นไปตรงครัว รวมถึงโถงกลางบ้านมีช่องโล่งที่เชื่อมต่อไปยังชั้นลอยของชั้นสอง มันทำให้บ้านดูโปร่งโล่งสบายตามากขึ้น”

เมื่อได้บ้านมาแล้วก็มาถึงขั้นตอนในการออกแบบรีโนเวตบ้านให้ออกมาอย่างที่คุณแอ๊ดและภรรยาต้องการ เขาจึงนำความต้องการไปคุยกับอาจารย์ อินทนนท์ ผู้รับหน้าที่ในการออกแบบบ้านหลังนี้

“โจทย์ในการออกแบบตกแต่งภายในที่ให้อาจารย์นนท์ไปคือบ้านแมว เพราะเราเลี้ยงแมวไว้ในบ้าน 12 ตัว ดังนั้นเลยต้องมีการออกแบบกรงที่สามารถให้แมวออกไปสูดอากาศช้างนอกได้ โยไม่ต้องออกจากบ้าน นอกจากความเป็นบ้านแมว อีกโจทย์หนึ่งที่เราให้ไปก็คือการทำบ้านให้เป็นกึ่งๆ สตูดิโอ แกลเลอรี่ เพื่อแสดงงานภาพถ่ายของผม”

เมื่อได้รับโจทย์ อาจารย์นนท์ จึงได้ทำการออกแบบภายในบ้านด้วยสไตล์มินิมอลให้มีความน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการเล่นซนของแมว ซึ่งวิธีในการจัดการปัญหาก็คือการออกแบบพื้นที่ให้กว้างขึ้นด้วยการทุบกำแพงบางส่วน เพื่อนำมาดัดแปลงสร้างเป็นตู้เก็บของบิวท์อินที่มีฝาปิดขึ้นมา เพื่อใช้ในการเก็บของต่างๆ ให้ไกลมือแมวแสนซนของเขา

“การออกแบบตู้สมมุติว่าเราทำตู้เปิด มันก็สวยนะ แต่ประเด็นคือแมวมันชอบเข้าไปอยู่แล้วมันชอบตบของลง อาจารย์นนท์เลยออกแบบแผงตู้ฝาปิดให้เป็นเหมือนกำแพงที่สามารถซ่อนของได้ แล้วก็ทำผนังบริเวณโถงกลางจากชั้นหนึ่งมาจนถึงชั้นสาม เพื่อทำประตูปิดแบ่งส่วนของคนและแมวออกจากกัน”

เราจึงสังเกตได้ว่านับแต่ตั้งแต่เดินผ่านประตูเข้ามายังบริเวณโถงกลางของบ้าน เรียกว่าแทบไม่มีอะไรที่ถูกตั้งไว้ให้ระเกะระกะสายตาเลย ผมลองถามคุณแอ๊ดดูว่าไม่คิดจะมีโซฟานุ่มๆ ในบ้านซักตัวเลยหรือ คุณแอ๊ดตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่าถ้ามีเมื่อไหร่ รับรองแมวข่วนพังหมดแน่นอน นั่นจึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บ้านไม่สามารถมีอะไรเยอะแยะได้ รวมถึงทำบ้านรกไม่ได้ด้วย

“ที่สำคัญอีกอย่างที่ผมเน้นคือเรื่องครัว ซึ่งเป็นจุดใจกลางบ้าน บ้านบางบ้านทำอาหารน้อย แต่มีครัวสวย การที่มีครัวสวย แล้วไม่ใช้ ผมว่ามันไม่ใช่ มันจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มทำอาหาร แล้วก็ชวนเพื่อที่ชอบทำอาหารมาจอยกัน แต่บ้านเราก็ไม่ได้ใหญ่ ชวนมากสุดก็ประมาณ 8 คน ไม่แน่น ไม่หลวมเกินไป”

หมดจากชั้น 1 คุณแอ๊ดพาเราขึ้นมาดูชั้นสองที่เป็นส่วนชั้นลอย ซึ่งเป็นห้องกว้างโล่งสีขาวสะอาดตา ตัดกับพื้นไม่สีน้ำตาลนวล ฝ้าเพดานโปร่งสูง แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านได้จากหน้าตาทรงอาร์คบานใหญ่ คุณแอ๊ดบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนแกเลอรี่ที่เขาใช้แสดงงานส่วนตัวในบ้าน

“ในห้องนี้ผมใช้เป็นห้องแสดงงานภาพถ่ายของผม อยากสร้างให้มันเป็นเหมือนแกเลอรี่ส่วนตัวที่ใช้แสดงงาน ก็เลยทำให้ห้องมันกว้างโล่งๆ คลีนๆ เป็นห้องสีขาวขนาดใหญ่ที่ดูว่างเปล่า เน้นให้กำแพงและผนังเป็นสีขาว ทำให้ผมสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของรูปที่จะนำมาแสดง โดยใช้พื้นหลังขาวได้ตลอดเวลา”

“ตรงบริเวณชั้นลอยผมเปิดฝ้าออก ก็เลยทำให้เพดานยิ่งมีความสูง และโล่งมากขึ้น เมื่อก่อนฝ้าเดิมจะอยู่เหนือโค้งหน้าต่างขึ้นไปเล็กน้อย มันก็สูงแล้วนะ ก็เลยคิดว่าเปิดฝ้าก็ดี มันก็จะยิ่งได้ความโปร่งโล่งมากขึ้น ให้ความรู้สึกความผ่อนคลายในการทำงานมากขึ้นด้วย ”

แต่เท่าที่ผมสังเกตคือในบริเวณที่มีการเปิดฝ้าออกจะยังคงหลงเหลือแนวคานที่ดูเป็นแนวเสาหยาบ ซึ่งในความคิดผม(ผู้เขียน)มันค่อนข้างจะขัดแย้งกับความเรียบ และความเนี๊ยบของตัวห้อง ในเรื่องนี้คุณแอ๊ดบอกว่ามันเกิดขึ้นจากความชอบส่วนตัวของเขานั่นเอง

“ผมไม่อยากได้ความเนี๊ยบ อยากให้รู้มันผ่านการรีโนเวทมา ด้วยการยังเก็บความดิบเอาไว้ คือในความเป็นตัวผมเอง ผมรู้สึกว่าการอยู่ในสเปซแบบนี้ผมไม่เกร็ง บางครั้งความไม่สมบูรณ์แบบ  มันเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างได้ ผมคิดแบบนี้นะ”

แล้วฟังก์ชันอะไรที่อาจารย์นนท์ออกแบบแล้วเขาชอบมากที่สุด เจ้าของบ้านตอบเราว่าเขาชอบที่บ้านหลังนี้เหมือนเป็นตู้ซ่อนของขนาดใหญ่ จนเหมือนในบ้านไม่มีอะไร แต่มีที่ซ่อนของไว้อยู่ในบ้าน เพื่อเก็บของทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง  ความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น ยังเป็นการฝึกนิสัยความเป็นระเบียบทางอ้อมให้ตัวเขาด้วย

คุณแอ๊ดพาเราชมตัวบ้านที่เหลือรวมถึงห้องทำงานของเขาที่คงไว้ซึ่งสไตล์แบบมินิมอลขาวคลีนที่เต็มไปด้วยตู้ซ่อนของ ซ่อนโมเดลวันพีซ รวมถึงหนังสือถ่ายภาพของเขาด้วยความสนุก ปนกับความทึ่งที่อาจารย์นนท์สามารถสร้างฟังก์ชั่นตู้ตามกำแพงและผนังต่างๆ ได้แทบจะทุกจุดในบ้านสีขาวที่เต็มไปด้วยแมวหลังนี้

มาถึงคำถามสุดท้ายที่ผมถามให้ช่างภาพอย่างเขาตอบว่า เขาอยากสร้าง Sense of Place อะไรให้กับบ้านหลังนี้ “ผมอยากสร้างให้บ้านหลังนี้เป็นสถานที่แห่งแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ผมไม่ต้องออกไปไขว่คว้าจากนอกบ้าน อย่างการแกลเลอรี่อันนี้มันช่วยทำให้บ้านมีชีวิตขึ้น เหมือนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองด้วย”

คุณแอ๊ดย้ำกับเราในจุดนี้ว่าสำหรับเขานั้นแรงบันดาลใจเกิดขึ้นได้ทุกที่เพียงแต่สถานที่นั้นต้องเป็นสถานที่สงบ สะอาด และมีรายละเอียดที่เอื้อให้เกิดสมาธิ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีบรรยากาศแห่งความผ่อนคลายที่สร้างความรู้สึกเบาสบายให้เขาได้ใช้เวลาอภิรมย์กับสิ่งรอบตัว เพื่อสร้างสมดุลให้กับชีวิตระหว่างวันด้วย ความต้องการทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้ในบ้านทาวน์โฮฒแห่งความสุขหลังนี้ เขาบอกกับเราด้วยรอยยิ้ม

“ผมอยากสร้างให้บ้านหลังนี้เป็นสถานที่แห่งแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ผมไม่ต้องออกไปไขว่คว้าจากนอกบ้าน อย่างการทำแกลเลอรี่อันนี้มันช่วยทำให้บ้านมีชีวิตขึ้น เหมือนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองด้วย”

 

Leave A Comment