NATIONAL SPORTS MUSEUM

พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ

กีฬา ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ประเภทของกีฬายอดนิยม อาจแตกต่างไปตามยุคสมัย เกิดฮีโร่ทางการกีฬามากมาย โดยเฉพาะนักกีฬาที่เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลก แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไป เหล่าวีรบุรุษทางการกีฬาหลายท่าน อาจถูกลืมเลือน หรือ มีนักกีฬาผู้มีความสามารถยุคใหม่ ขึ้นมาแทนที่

พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ ณ ราชมังคลากีฬาสถาน จึงเป็นหอแห่งเกียรติยศ บันทึกและเผยแพร่เกียรติคุณนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทย ที่สร้างชื่อเสียงนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ให้ประชาชน ศึกษาหาความรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬา สนใจดูแลสุขภาพ และเป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาเยาวชนไทย มุ่งมั่นสร้างชื่อเสียงเพื่อประเทศชาติ

หอพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ สร้างขึ้นภายในอาคารสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ขณะกำลังก่อสร้างราชมังคลากีฬาRajamangala National Stadium ในปีพ.ศ. 2533 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ5 รอบ 60 พรรษา และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี ในปี พ.ศ. 2531โดยมอบหมายกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ ในวันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จัดเป็นห้องนิทรรศการถาวรโดยออกแบบให้เดินชมเป็นวงกลม เพื่อความต่อเนื่องในการเล่าเรื่อง ทั้งหมด 9 ห้อง  เริ่มต้นที่โถงต้อนรับ จัดแสดงตราพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก แผ่นศิลา ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม “ราชมังคลากีฬาสถาน” และโถงรับรองผู้เข้าชม

ห้องวิวัฒนาการกีฬาไทย สู่กีฬาสากล เริ่มต้นจากการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ สู่การแข่งขันกีฬาระดับสากล ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 1 ที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ.2494 และในปีพ.ศ.2495 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ครั้งที่ 15 ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ พระมหากษัตริย์ฟินแลนด์ ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกการร่วมแข่งขันโอลิมปิกให้กับประเทศไทย ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องนี้ด้วย ทั้งจัดแสดงของที่ระลึกการแข่งขันทั้งระดับซีเกมส์  เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกไว้มากมาย

ห้ององค์กรกีฬา นำเสนอองค์กรและบุคลากร ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงการกีฬาแห่งประเทศไทย ห้องหอเกียรติยศนักกีฬา จัดแสดงประวัตินักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ โดยจัดแสดงทั้งแบบหุ่นจำลอง นายมานะ สีดอกบวบ หรือ โผน กิ่งเพชร นักมวยไทยที่ได้แชมป์โลกคนแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วย

ส่วนจัดแสดงจำลองรูปแบบคล้ายหน้าหนังสือ ให้ผู้เข้าชมเปิดอ่านประวัติและบันทึกความสำเร็จของนักกีฬาอาทิ นายเจริญ วรรธนะสิน นักกีฬาแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498 นายทวี อัมพรมหา หรือ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย นักกีฬาชาวไทยคนแรกที่ได้เหรียญเงินจากการแข่งขันมวยสากลในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 23 ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2527 จนถึงนักกีฬาที่สร้างชื่อระดับโลกในปัจจุบัน นางสาวรัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยว ที่เคยขึ้นสูงสุดเป็นมือหนึ่งของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2559 สร้างสถิติเป็นแชมป์โลกแบดมินตันอายุน้อยที่สุด และ โปรเม นางสาวเอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟหญิงไทยคนแรกที่ขึ้นสู่ระดับมือหนึ่งของโลกเช่นกัน ฯลฯ

ห้องสมาคมกีฬาและกีฬาพื้นบ้านไทย จัดแสดงประวัติสมาคมกีฬา ซึ่งปัจจุบันมีสมาคมกีฬาที่อยู่ในความรับผิดชอบของการกีฬาแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมกีฬาแต่ละประเภทให้ พร้อมสร้างชื่อเสียงเพื่อประเทศ  อาทิ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย สมาคมเรือใบแห่งประเทศไทย สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ฯลฯ และส่วนแสดง โคมจุดคบเพลิง ที่ได้รับมอบเป็นของที่ระลึก อาทิ โอลิมปิกครั้งที่ 16 ประเทศออสเตรเลีย โอลิมปิก ครั้งที่ 18 ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ และส่วนแสดงนิทรรศการกีฬาพื้นบ้านไทย อาทิ มวยไทย ตะกร้อ ว่าวไทย หมากรุกไทย

ห้องพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช ทรงเป็นนักแข่งรถมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ ทรงชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรกรายการ Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2479 โดยทรงขับรถรอมิวลุส (Romulus)สีฟ้า สมัยนั้นเรียกติดปากว่า ฟ้าพีระ (Bira blue) ทรงได้รางวัลดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star)มีชื่อในหอเกียรติยศ สมาคมนักแข่งรถอังกฤษ ภายในห้องแสดงรูปจำลองขนาดเท่าพระองค์จริง และจำลองรถแข่งรอมิวลุส ขนาดเหมือนจริง พร้อมประวัติและพระจริยวัตรด้านการกีฬา

ห้องแสดงพระอัฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ แสดงพระรูปจำลองสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะทรงแข่งเปตอง “เปตองเป็นยาวิเศษสำหรับฉัน”เปตองเป็นกีฬาที่ดี  เล่นง่าย ค่าใช้จ่ายน้อย เล่นได้ทุกวัย ภายในห้องยังจัดแสดงฉลองพระองค์ และฉลองพระบาท สำหรับทรงกีฬาแบดมินตัน และการแข่งเรือใบ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 และพระจริยวัตรของพระบรมวงศานุวงศ์ กับการกีฬา

ห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการกีฬา เป็นห้องสุดท้าย และเป็นไฮไลท์ที่โดดเด่นของพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงเรือใบที่ พระบาทสมเด็จปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ทรงต่อด้วยพระองค์เอง เพื่อใช้ในการแข่งขัน และพระราชทานให้กับพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ รวมสามลำ เรือซูเปอร์มด เรือเอ็นเตอร์ไพรซ์  เรือไมโครมด และนิทรรศการแสดงพระราชประวัติทางด้านกีฬา

การที่พระบาทสมเด็จปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ทรงกีฬาได้หลายประเภท จนเชี่ยวชาญ หรือแม้แต่การทรงวิริยะอุตสาหะต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง นอกจากเป็นความชอบส่วนพระองค์ อย่างที่ทรงเคยตรัสกับคนใกล้ชิดว่า “คนที่จะเล่นกีฬาเรือใบได้ดี จะต้องต่อเรือขึ้นมาเอง เพื่อจะได้รู้จักเรือที่แล่นได้ทะลุปรุโปร่ง เปรียบประดุจรู้จักหลังมือของตัวเอง ฉะนั้นเมื่อแล่นเรือใบไปในทะเล ผู้เล่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรือของตน สามารถบังคับเรือให้แล่นผ่านคลื่นลมได้ตลอดรอดฝั่ง”ยังทรงแสดงให้คนไทยเห็นถึงความพากเพียร อุตสาหะ ที่เมื่อทรงทำสิ่งใดแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ ให้เป็นเลิศ ถือเป็นต้นแบบให้คนไทยและนักกีฬาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่พ่อทำ เพื่อให้เราทำตาม

พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ  เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.บริเวณโซนW4-5 ราชมังคลากีฬาสถาน ภายในสนามกีฬาหัวหมาก สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-718-5913-4 ไปทำความ รู้จักประวัติศาสตร์การกีฬาของชาติ รู้จักวีรบุรุษตั้งแต่อดีต ที่เป็น คบเพลิงแห่งแรงบันดาลใจ ส่งต่อความสำเร็จให้กับวงการกีฬาจนถึงวันนี้

 

Leave A Comment