LIVING BIG IN SMALL SPACE 

 

พื้นที่แคบบนแนวคิดกว้าง… 

Text : Doowoper
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ
Design : Abalance Interior Design

 

ตึกเก่าเล่าใหม่จากฝีมือนักออกแบบตกแต่งภายในชั่วโมงบินสูง ซึ่งสามารถต่อลมหายใจอาคารร้างขั้นโคม่าให้กลับมาเฉิดฉาย กลายเป็นโฮมออฟฟิศลุคทันสมัย โดดเด่นและแจ่มสุดในย่านนี้

เรียกตึกแถวหน้าหนอน ผมว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะเห็นสภาพทีแรกแล้วดูหนักเอาการทีเดียวคุณเอ-วัฒนา โกวัฒนาภรณ์ เปิดประเด็นด้วยอารมณ์ขันเกี่ยวกับปูมหลังของอาคารที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของ Abalance Interior Design บริษัทรับออกแบบตกแต่งภายในที่เขาปลุกปั้นมากว่า 17 ปี

ด้วยความที่คลุกคลีในวงการออกแบบมานาน  สร้างสรรค์ผลงานไว้เพียบ! (เจ้าตัวยังจำแทบไม่ได้หมด) อาทิเช่น ออฟฟิศของวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา, บ้านของวีเจ ภูมิ-ภูมิใจ ตั้งสง่า และร้านอาหาร Sheepshank Public House (ถนนพระอาทิตย์) ฯลฯ จากการสนทนาทำให้รู้ว่าโปรเจกต์คืนชีพแก่ตึกร้างนี้ ดูจะไม่ระคายใจหนุ่มนักออกแบบผู้มากความสามารถสักเท่าไหร่  

การรีโนเวทตึกก็ไม่ได้มีอะไรมากครับ สิ่งสำคัญเลย เราต้องตรวจเช็คระบบน้ำระบบไฟให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงวางแผนซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไรใหม่ วิธีการของผมก็คือโน้ตออกมาเป็นรายการที่ต้องแก้ไข เพื่อให้สอดรับกับการสร้างโฮมออฟฟิศของเรา แต่ด้วยตัวตึกมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว ผมเลยโละเรียบ เดินทั้งท่อน้ำ ท่อไฟ และระบบอินเทอร์เน็ตใหม่หมด เรียกว่าทุบเหลือเพียงแค่เสาและผนังสองด้านเท่านั้นคุณเอกกลั้วหัวเราะพลางเปิดรูปภาพ Before ให้ชม ก่อนเท้าความถึงที่มาของการเลือกทำเล และภาพรวมของออฟฟิศใหม่

เดิมทีออฟฟิศเก่าของผมคือตัวอาคารที่อยู่ติดกันนี่ล่ะครับ ซึ่งก็เป็นที่อยู่อาศัยของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เมื่อพนักงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจซื้อหลังข้างๆ เพื่อแยกตัวออกมาให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น โดย 3 ชั้นแรกแบ่งทำเป็นสำนักงาน และชั้นบนสุดทำเป็นห้องนอนส่วนตัว ซึ่งออกแบบเชื่อมต่อกับแพนทรี่ อารมณ์ก็จะดูประหนึ่งคอนโดมิเนียมหนึ่งห้องหน่อยๆ 

สำหรับโฮมออฟฟิศหลังนี้ใช้เวลาสร้างเสร็จประมาณ 2 ปี โดยคุณเอให้เหตุผลว่าเขาใช้ทีมก่อสร้างจาก บริษัท ดูแลดูแล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เจ้าตัวก่อตั้งขึ้นมา ทว่าช่วงนั้นทำควบคู่ไปกับการรับงานลูกค้า จึงต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมานั่นเอง 

ส่วนหัวใจในการออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบหนุ่มอธิบายให้ฟังสั้นๆ อย่างเข้าปากว่า สำหรับเรื่องการตกแต่งภายในที่นี่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นสไตล์มินิมอลหรืออินดัสเตรียล แต่ด้วยพื้นที่ที่ที่แคบ เราจึงต้องหาวิธีวางฟังก์ชั่นการใช้สอยให้สอดรับกับการใช้งานซะมากกว่าครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศหรือที่อยู่อาศัย สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ คือเรื่องพื้นที่ใช้สอย ฉะนั้นงานที่ทำให้กับลูกค้าหรือออฟฟิศของตัวเอง แม้มีพื้นที่อันน้อยนิด ผมก็ต้องพยายามทำให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดให้จงได้ 

ลักษณะของตึก 4 ชั้นที่มีขนาดเล็กและแคบ คุณเอแก้ไขโดยการขยายพื้นที่ไปจนสุดระเบียง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้แก่ภายใน ด้านหน้าของตัวตึกทำเป็นฟาซาด (Facade) สำหรับเปิดรับแสงเข้ามาเบาๆ ขณะเดียวกันปิดพรางความรกของคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ออกแบบไว้อยู่จุดเดียวกัน พร้อมมีบันไดให้ช่างสามารถปีนขึ้นไปซ่อมบำรุงได้อย่างง่ายดาย 

เครื่องใช้สำนักงานทุกชิ้นเจ้าตัวยังออกแบบขึ้นโดยอิงถึงฟังก์ชั่นการใช้งานของพนักงาน เผยให้เห็นโต๊ะทำงานที่ใช้พื้นที่แนวดิ่งได้อย่างคุ้มค่า มีทั้งช่องชั้นเก็บของพร้อมแสงไฟส่องสว่างในตัว แต่ไม่มีพาร์ติชั่นกั้นกลาง! เพราะตั้งใจให้พนักงานสามารถหันหน้าคุย และแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ทันที แถมนอกจากโต๊ะของตัวเองแล้วทุกคนยังสามารถไปนั่งทำงานบริเวณพื้นที่ใดๆ ของออฟฟิศก็ได้ เรียกว่าเป็นไอเดียในการจัดการที่ทำงานอันน้อยนิดแบบเปิดกว้าง… ทีเดียว

ผมว่าเทรนด์ปัจจุบัน จริงๆ คือทำงานที่ใดก็ได้นะ ที่นี่ผมจึงไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย แม้แพนทรี่ด้านบน พวกเขาก็สามารถไปนั่งคิดงานหรือกินดื่มสังสรรค์กันได้ เพียงแค่เรารู้จักวางระบบต่างๆ ให้เอื้อต่อการทำงาน รวมถึงสร้างบรรยากาศภายในออฟฟิศให้มันดี เท่านี้ก็จูงใจให้คนอยากเข้ามาทำงานแล้ว

แหมช่างเป็นประโยคที่มองเห็นภาพบรรยากาศในการทำงานที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย ที่นี่รับสมัครคนเพิ่มหรือเปล่าครับเนี่ย (แอบนอกใจ Daybeds ดีกว่า หยอก…)

 

ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศหรือที่อยู่อาศัย สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ คือเรื่องพื้นที่ใช้สอย ฉะนั้นงานที่ทำให้กับลูกค้า หรือออฟฟิศของตัวเอง แม้มีพื้นที่เพียงน้อยนิด ผมก็ต้องพยายามทำให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดให้จงได้

Leave A Comment