ISSARAPHAP

01

คำประกาศอิสรภาพ

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ Interview, Daybeds 164

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘อิสรภาพ’ คือ ความเป็นไท คือสิทธิความเป็นมนุษยชนที่ไม่ต้องขึ้นแก่ใคร คือความเสรีที่ปุถุชนส่วนใหญ่ร้องเรียกหายามถูกกดขี่รังแก หรือโดนเอารัดเอาเปรียบโดยมิชอบทุกประการ แต่สำหรับอิสรภาพเรากำลังจะพูดถึงนับจากนี้ คือบทบาทเฉพาะกิจของกลุ่มดีไซเนอร์รุ่นใหม่ในนาม ‘ISSARAPHAP’ Daybeds ฉบับระลึกอดีตชักชวน ก๊อง-วนัส โชคทวีศักดิ์ และพลอย-ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก จาก ease studio, อบ-รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ จาก SATAWAT และพีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส มาร่วมพูดคุยกันถึงแนวคิดบางสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารผ่านคำว่า ‘อิสรภาพ’

ISSARAPHAP เป็นการร่วมมือกันระหว่างสามสตูดิโอ คือ ease embroidery design studio, SATAWAT และ Teerapoj Teeropas โดยการหยิบเรื่องราวความเป็นไทย นำเอกลักษณ์และวิถีชีวิตแบบไทย-ไทย ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเมื่อครั้งวันวานหรือกระทั่งในวันนี้กลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้โต๊ะหินขัดแบบชาวบ้านๆ การดีไซน์ชั้นวางหนังสือผ่านแรงบันดาลใจที่ได้จากตู้กับข้าวอะลูมิเนียมแบบธรรมดาสามัญ ไปจนกระทั่งการสังเกตพฤติกรรมของคนในชุมชนที่นำฐานหล่อปูนมาเสียบป้ายแสดงขอบเขตของตัวเอง มาปรับเปลี่ยนฟังกชันใหม่เป็นชุดโต๊ะและเก้าอี้ที่ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

การเล่าเรื่องผ่านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ไม่ถูกตีกรอบทางความคิด บนคำถามที่พวกเขาตั้งมันขึ้นมาว่า งานดีไซน์จากอดีตจะถูกพัฒนาเป็นงานออกแบบใหม่ๆ ได้อย่างไร บทสนทนาและภาพประกอบทั้งหมดต่อจากนี้มีคำตอบรออยู่

Daybeds (Dbs): เล่าจุดเริ่มต้นของ ISSARAPHAP

Nichapak Torsutthikanok (Nichapak): ไอเดียหลักของแบรนด์มาจากเรื่องราวรอบตัวที่เราคุ้นเคย เห็นการที่คนใช้ของสิ่งหนึ่งที่มันโดนสร้างมาในหลายๆ รูปแบบ อย่างเช่น ที่จอดรถที่เอากระถางปูนมาเสียบป้ายแสดงขอบเขตของตัวเอง หรือว่าการรู้จักปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานของวัตถุหนึ่ง โดยที่คนเหล่านั้นไม่ต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ เป็นชาวบ้านธรรมดา แล้วเรารู้สึกว่ามันแสดงความมีอิสระความคิดสร้างสรรค์ของคนทุกคนได้

Ratthee Phaisanchotsiri (Ratthee): เราสังเกตเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวเราแบบง่ายๆ เหมือนที่พลอย (ณิชภัค) บอก อย่างโต๊ะหินขัด มันก็เป็นภาพจำบางอย่าง น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมบางอย่าง ซึ่งเราทุกคนสนใจเรื่องพวกนี้เหมือนกัน เลยอยากเอามาทำโปรเจ็กต์

Nichapak: เราเน้นเรื่องการต่อยอดจากวัสดุเดิมให้มันเกิดอะไรใหม่ๆ ในวงการออกแบบบ้านเรามากกว่า มันน่าจะสะท้อนกลับไปถึงความเป็นไทย บางทีบางคนอาจมองหาความเป็นต่างประเทศเข้ามาบ้านเรา แต่จริงๆ แล้วมันมีความเป็นไทยที่ดีที่ควรจะเก็บรักษาไว้ เพราะว่ามีช่างทำหินขัดเริ่มจะหายไปเพราะไม่มีลูกค้ามาซัพพอร์ต เราคิดว่ามันก็เป็นวัสดุที่มีคุณภาพ ถึงแม้จะได้อิทธิพลมาจากเมืองนอก แต่ก็มีช่างในเมืองไทยที่ทำงานได้ดีอยู่ ก็อยากเอาตรงนั้นกลับมาให้คนไม่ลืมว่าบ้านเรามีของดีอยู่นะ

Dbs: มีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างไร

Ratthee: จริงๆ เราแชร์ความรู้กันก่อน เอาแบ็กกราวด์เรื่องการทำงานมาคุยกันก่อน มันเจ๋งตรงที่แต่ละคนไม่รู้เรื่องที่อีกคนหนึ่งรู้เลย ส่วนวัสดุที่เราเลือกใช้เป็นวัสดุที่เราไม่เคยลองกันทุกคน เราก็เรียนรู้กันไป วิธีการเรียนรู้ของเราคือเราต้องไปทำงานกับช่าง โชคดีที่ทุกคนเรียนรู้ด้วยวิธีนี้หมด ทุกคนอยากลงมือทำ โชคดีที่ไม่มีใครไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ในโปรเจ็กต์นี้ ตอนนี้เวลามีปัญหาอะไรทุกคนสามารถแก้ปัญหาด้วยกันได้หมด

Nichapak: เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนไม่เคยรู้ ทุกคนพร้อมที่จะเข้าไปเจอมัน แล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหา

Wanus Choketaweesak (Wanus): ปัญหาคือคือมันกลายเป็นเจอปัญหามากกว่าเดิม เพราะมันเป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์เยอะมาก

Ratthee: นักออกแบบบ้านเราไม่ค่อยใช้วัสดุพวกนี้กัน อย่างแรกคือหาคนทำยากจริงๆ อย่างเทอร์ราซโซ่มันก็ไม่ได้ง่ายนะ อีกอย่างเรายังหาคนที่ทำจริงๆ ไม่เจอด้วย เพราะเราก็ยังเป็นตัวเล็กๆ กันอยู่ เรายังไม่ได้มีผู้สนับสนุน แต่โชคดีที่มีคนสนใจเยอะ ก็มีคนติดต่อมา อนาคตมันก็อาจมีคนมาซัพพอร์ตเราในเรื่องการพัฒนาแบบไทยๆ เพื่อไปต่อยอด

03
ก๊อง-วนัส โชคทวีศักดิ์ และพลอย-ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก จาก ease studio หนึ่งใน 6 Rising Asian Talents ในงาน MAISON&OBJET Asia 2016

Dbs: เป้าหมายจริงๆ ของ ISSARAPHAP คืออะไร

Wanus: เราไม่ได้อยากให้ ISSARAPHAP เป็นแบรนด์ เราไม่อยากที่จะทำมันขายจนรวย อยากให้มันเป็นเหมือนโปรเจ็กต์ ถ้ามีคนหนึ่งอยากทำเราก็อยากให้เข้ามาทำเลย เพราะเราอยากให้มันเป็นเหมือนคอมมิวนิตี้หนึ่งของไทย เหมือนเราเป็นคนไปก่อคอมมิวนิตี้ขึ้นมา แล้วให้ใครอยากเข้าร่วมเข้ามา แล้วมันก็จะบวกไปเรื่อยๆ

Ratthee: มันเหมือนเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหว หมายถึงว่าเรื่องนี้จริงๆ มีคนสนใจเยอะ แต่ว่าพอทำคนเดียวมันมาอิมแพ็คแค่แปปเดียว วันหนึ่งมันก็หายไป แต่ถ้าเกิดเราทำกันหลายๆ คน แล้วค่อยๆ มีกลุ่มเข้ามาเรื่อยๆ แล้วตอนนี้เราก็มีสมาชิกเพิ่มเป็น 6 สตูดิโอแล้ว จะมีโปรเจ็กต์สิ้นปีที่ทำกันอยู่ พอมันเกิดคอมมิวนิตี้ที่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ มันจะเห็นภาพชัดเจน มันอาจจะไม่หายไป เราก็มองว่าถ้าวันหนึ่งเรามีองค์กร หรือมูลนิธิมาศึกษาเรื่องราวนี้ได้ เช่นเชียงใหม่มีกลุ่มสถาปนิกล้านนา ซึ่งก็รู้ว่าเป็นเอกชนเขายังตั้งมาได้ เราก็อาจจะมีของเรา เริ่มจากในกรุงเทพฯ ก่อน ถ้ามันทำได้ก็ดี แต่อันนี้เกิดจากการต่อยอดทำโปรเจ็กต์ไปแล้ว คือเราเรียนรู้คำว่าอิสรภาพของเราเอง จริงๆ มันเป็นอะไรไปได้เรื่อยๆ 

Wanus: เราไม่อยากให้คนจำเราเป็นคนทำหินขัดคนแรก แต่เราอยากให้เห็นเนื้อหานี้มันสำคัญอย่างไร เหมือนเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ก๊องกับพลอยชอบมองว่านี่มันญี่ปุ่นทำ หรือว่าเห็นอันนี้มันสแกนจัง เหมือนมันต้องสร้างวัฒนธรรมดีไซน์ มันอาจจะต้องมีบางอย่างที่ไม่ใช่เขาคิดลายกนกมาแล้ว อยากจะมีให้เห็นว่าไทยวัยรุ่นมันเป็นอย่างไร

Teerapoj Teeropas (Teerapoj): มันเป็นงานที่เป็นสไตล์ในแบบเรา

Dbs: มีเป้าหมายจะผลักดัน ISSARAPHAP ต่อไปอย่างไร

Nichapak: จริงๆ มันเป็นความตั้งใจแรกอยู่แล้วที่เราจะไม่ทำกันแค่นี้ เพราะเราต่างคนต่างทำงานของตัวเองมาแล้ว พอมารวมกันมันรู้สึกว่ามันมีศักยภาพมากขึ้นในการทำงานร่วมกัน มีการได้แลกเปลี่ยนอะไรกันเยอะมากๆ

Ratthee: คือโปรเจ็กต์นี้มันทำมาแค่ 5 เดือน ความคิดทุกคนมันได้อะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ มันอาจจะแค่เริ่มต้น แต่ถ้าเรายังเกาะกลุ่มกันอยู่มันก็คงจะดี ส่วนคนที่จะเชิญมาในอนาคต ถ้ามีใครเข้ามาคุยกับเราแล้วรู้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ถ้ามันมีโอกาสก็คงได้ร่วมงานกัน ตอนนี้มันไม่ได้จบที่แฟร์แล้ว คือตอนนี้มันมีโปรเจ็ต์ต่อยอดหนึ่งที่เราเอาเนื้อหาที่เราสนใจมาทำให้ลึกขึ้นไปกว่าเดิม ปกติที่เห็นในแคตตาล็อค (ดาวโหลดผ่าน http://issaraphap.com) มันแยกย่อยเป็นแต่ละเรื่องที่เราสนใจ แต่เราคิดว่าบางตัวสามารถเลือกมาเล่าเรื่องให้มันลึกได้กว่าเดิม ซึ่งตอนนี้ก็กำลังทำโปรเจ็กต์หนึ่งกันอยู่ เราเรียกว่าเก้าอี้ล้านนา เก้าอี้ไม้ที่เราเห็นตามร้านกาแฟที่มันแข็งๆ โค้งๆ ขึ้นมา ซึ่งมันก็เริ่มมาจากการที่เราคุยกันว่า เฮ้ย! มันก็มีเยอะ ตอนแรกเราคุยตอนที่จะไปเชียงใหม่ คุยกันเล่นๆ ว่า อยากจะเอาเก้าอี้ตัวนั้นมาเล่าเรื่องซ้ำดีไหม เพราะมันเป็นอะไรที่พอเห็นปุ๊บ มันจำได้เลยมันคือเก้าอี้ตัวนี้ ทั้งที่เก้าอี้ตัวนี้มีเป็นร้อยแบบ ซึ่งสิ้นปีนี้มันมีงาน Chiang Mai Design Week เราไปเสนอโปรเจ็กต์เขาไหม เผื่อ TCDC เขาสนใจ ก็เลยส่ง Proposal เข้าไป ซึ่งเขาดูค่อนข้างโอเคกับโปรเจ็กต์นี้มาก

Nichapak: น่าจะเกิดจาก Chiang Mai Design Week ช่วงแรกๆ ที่เราได้รู้มาว่าคนไม่ค่อยโอเคในเรื่องการยัดเยียดดีไซน์ใหม่ๆ เข้าไปในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งเขามีความเป็นตัวตนของเขาอยู่แล้ว

Ratthee: พื้นฐานเขาคืออาร์ต เชียงใหม่เป็นอาร์ติสท์เสียเยอะ การเข้าไปโดยไม่แคร์อาร์ติสท์คนเก่าเลยมันก็ส่งผล แต่อย่างเมืองนอกอาร์ตกับดีไซน์มันเป็นเรื่องเดียวกัน มันจะอยู่ด้วยกันได้ตลอด ซึ่งบ้านเรามันแยกกัน ซึ่งอย่างเนื้อหาที่เราสนใจกันมีความเป็นนามธรรมเยอะนะ โปรเจ็กต์อิสรภาพเราพยายามจะย่อยให้มันจบเป็นโปรดักท์ดีไซน์มากขึ้น เรื่องที่อยากจะเล่าเราแค่คิดว่าจะรวบรวมคนในพื้นที่มาแชร์เก้าอี้ตัวเอง เพราะมันมีต้นกำเนิดของบ้านตัวเองมาเล่าเนื้อหาหรือเรื่องราวของเก้าอี้ตัวนี้ ว่าจริงๆ ว่ามันของคนไทยหรือเปล่า มันใช่ล้านนาจริงหรือเปล่า มันอาจจะไม่ใช่ ซึ่งถ้าไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร เราก็เคารพเรื่องราวมันว่า ขนาดบ้านเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นแต่บ้านเรายังรับอิทธิพลเข้ามาเพราะอะไรมัน ก็จะต่อยอดเรื่องเนื้อหาดีไซน์ไปได้เรื่อยๆ แต่โจทย์พบจบจากเนื้อหาดีไซน์อดีตก็จะมีงานประยุกต์ คือ อยากให้ทุกคนรีดีไซน์เก้าอี้ตัวนี้สำหรับใช้ในยุคปัจจุบัน เนื้อหามันเริ่มมาจากตรงนี้แหละครับ เห็นของเก่าแล้วอยากดีไซน์ของใหม่ เริ่มจากสมมุติว่าอินทีเรียเลือกใช้เก้าอี้ตัวนี้ เขาจะเลือกใช้เก้าอี้ตัวนี้จริงๆ เหรอที่เป็นล้านนา มันควรจะมีเก้าอี้ที่เป็นล้านนาปัจจุบันไหม ทำได้เราควรจะเริ่มทำ มันอาจจะช่วยเรื่องการเลือกใช้เก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์เข้าร้าน โดยที่ไม่ต้องไปนั่งหาของก๊อปปี้จากเมืองนอก เพราะบ้านเราก็มีของที่ควรใช้อยู่แล้ว เนื้อหาของการจัดแสดงคือแค่เอาเก้าอี้มาเจอเก้าอี้ คนที่ไม่เคยดูงานดีไซน์ก็อาจจะดูง่าย คนที่อ่านเนื้อหามันก็อาจจะอินได้อีก เหมือนเราลองดูวิธีนี้ ถ้าการจัดแสดงงานที่เชียงใหม่ปลายปีนี้มันตอบโจทย์งานดีไซน์ได้ก็อาจจะดีในบ้านเรา

Nichapak: มันเป็นเหมือนการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ ตัวแทนดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่อย่างเรา 6 คน จะมานำเสนอคำตอบของเราว่างานดีไซน์เก่าๆ จะมาพัฒนาเป็นงานออกแบบใหม่ๆ ได้ยังไง เราแค่อยากออกเสียงอะไรบางอย่าง มันมีคนเริ่มแล้วนะ เราคิดที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ ให้วงการออกแบบบ้านเรา ถ้าคนอื่นที่สนใจอยากจะมาทำ ทุกคนสามารถสร้างแบบเก้าอี้ล้านนาอะไรแบบนี้ของตัวเองออกมาได้

Ratthee: ซึ่งตอนจบคือเราคุยกันว่าถ้าหากมีคนก๊อปปี้โปรเจ็กต์เรา เราก็แฮปปี้แล้ว

Dbs: พวกคุณไม่กลัวการก๊อปปี้ใช่ไหม

Nichapak: งานดีไซน์มันไม่ได้จบแค่ผล มันอยู่ที่วิธีการเรียนรู้การออกแบบของแต่ละคน เอาเรื่องราวมาตีความ มาตีโจทย์ มาสร้างอะไรใหม่ๆ คือถ้าก๊อปปี้ได้ก็ก๊อปปี้ไป เพราะว่าเรื่องที่เราทำมันเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่าเราคิดอะไร เขาไม่รู้ ไม่มาเข้าใจขั้นตอนการทำงานเราอยู่แล้ว

04
อบ-รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ SATAWAT ที่คลุกคลีและมีประสบการณ์ด้านการทำงานไม้มากว่า 5 ปี

Dbs: อิสรภาพสะท้อนแนวคิดของแต่ละคนอย่างไร

Nichapak: อย่างที่บอกว่ามันคือการแสดงอิสรภาพทางความคิด ความคิดสร้างสรรค์ในงานออกแบบ ซึ่งไม่จำเป็นว่านักออกแบบถึงทำได้ คนทั่วไปเขาก็แสดงออกมาจากของที่เขาใช้ หรือว่าเวลาช่างหน้าไซต์งานเขาต่อเก้าอี้ขึ้นมาเองเพื่อการใช้งานของเขา เขาไม่ต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ เป็นคนที่มีฝีมือ อยากจะสร้างอะไรเขาก็สร้างขึ้นมา

Ratthee: เพราะเราก็ดึงสิ่งนั้นมาจากคนอื่น บางทีเราก็ไม่รู้ว่าพวกเก้าอี้ที่เราไปยืมดีไซน์เขามามีดีไซเนอร์ออกแบบหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ นักออกแบบอาจอยู่ในตัวทุกคน แต่แค่เรียนมาคนละวิธี รู้คำว่าออกแบบมาคนละวิธี

Nichapak: คนแรกๆ ที่ทำให้เราเห็นคืออาจารย์ที่มหา’ลัยซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เขาบอกว่าอันนี้มันดี มันดี มันดี ทำไมคนไทยมองไม่เห็น มันก็เลยเหมือนกับว่าเราพยายามมองแต่ข้างนอก แต่เราไม่กลับมามองบ้านเราว่ามันมีอะไรบ้าง

Ratthee: เหมือนที่เราสนใจคือเราไม่ได้มองว่าตัวนักออกแบบเป็นคนที่อยู่คนละระดับกับคนที่เป็นช่างฝีมือ ซึ่งจริงๆ นักออกแบบส่วนใหญ่ก็จะคิดแบบนี้แหละว่าต้องให้เกียรติทุกอาชีพที่ทำงานร่วมกัน แต่ว่าภาพภายนอกที่คนมอง มองว่าช่างไม่มีสิทธิ์มีเสียงพูดอะไรในสังคมเลย ซึ่งเรื่องพวกนี้มันจะทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสพูดมากขึ้น

Nichapak: แต่จริงๆ ช่างที่ช่วยเราทำเขาก็เป็นครูของเราเหมือนกัน เพราะเราไม่รู้อะไรเลย ถ้าเราไม่ไปเรียนรู้กับเขา เราก็ได้ความรู้จากเขามาเยอะเหมือนกัน

Dbs: พูดถึงเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านคอลเลกชั่นต่างๆ ของ ISSARAPHAP

Ratthee: เราเห็นอะไรก็หยิบขึ้นมา เหมือนเราทำ Documentary ให้ทุกคนไปถ่ายรูปมา ก็หยิบมาเลยว่าตรงนี้ทำได้นะ ทำอย่างไรต่อดี อย่างโต๊ะหินขัด เราไม่ได้เริ่มจากฟอร์ม หรือมันคือเทอร์ราซโซ่ เราคิดว่าทำไมมันต้องใช้แบบนี้ในเอาต์ดอร์นะ แล้วใครเป็นคนทำ แล้ววิธีการของมันเป็นอย่างไร ถ้าเป็นปูนมันจะต่างจากไม้อย่างไร ดิบ มันก็เป็นวิธีการใช้งานเหมือนกับโต๊ะจริงๆ คือการเอาไปวางกับขาโต๊ะอีกทีแล้วก็จบ ปัญหาที่เราต้องเรียนรู้คือน้ำหนัก เราใช้ฟังก์ชันของน้ำหนักยังไง สมมติเราแก้เรื่องปัญหาน้ำหนักไม่ได้ แสดงว่าน้ำหนักที่เราคุยกันเนี่ยต้องมีฟังก์ชัน อย่างนี้มันจำเป็นต้องเอามาใช้

Nichapak: เช่น โต๊ะหินขัด มันมีขากับท๊อปที่แยกกัน ท๊อปเอามาวางมันก็กดทับกัน มันก็อยู่กับที่ได้ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่ามันหนัก ไม่น่าใช้ ขยับยากเคลื่อนย้ายยาก แต่จริงๆ แล้วการใช้งานจริงๆ มันก็ไม่ได้ขยับไปไหน มันก็อยู่ตรงนั้น แล้วเราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้เฟอร์นิเจอร์มันไม่ต้องใช้คำว่าน้ำหนักมาช่วยให้โครงสร้างมันแข็งแรง ก็เลยเอาท็อปหินมาไว้ด้านบน มีไม้แล้วก็มีขาเหล็กซึ่งขัดกัน แล้วการมีแผ่นหินอยู่ด้านบน มันทำให้โครงสร้างทั้งหมดมันอยู่ด้วยกันได้แล้วมันแข็งแรง โดยที่ไม่ต้องมีตัวอะไรยึดข้างล่างก็ได้

Ratthee: ซึ่งหินขัดถ้ามันมีการเขย่าตลอดเวลามันจะร้าว สังเกตว่าโต๊ะกินขัดข้างนอกจะร้าวตลอดเวลา เพราะโต๊ะมันไม่ค่อยมั่นคง ดิบ เราเริ่มสนใจจากถ้าเอาวัสดุหลายๆ อย่างที่คนไทยใช้ อย่างเหล็ก ไม้ และหิน มารวมกันในชิ้นนี้เดียว มันก็เลยเรียกว่าดิบ โชว์วัสดุที่มันเป็น แต่มีฟังก์ชัที่

Teerapoj: เราเริ่มจากภาพจำก่อน อย่างเก้าอี้บางตัว เช่น เก้าอี้โต๊ะจีนที่เป็นโครงเหล็กมีเบาะหนังสีน้ำเงิน มันใช้ทำอะไรได้บ้าง

Nichapak: มันโชว์เรื่องแบบการใช้วัสดุที่มี เท่าที่มันเป็น แต่มีฟังก์ชั่นที่ดี ด้วยรูปฟอร์ม ด้วยเส้นของมัน เอาเส้นของมันมาต่อยอดเป็นเก้าอี้อีกแบบหนึ่ง ใช้กับโต๊ะกินข้าวได้เหมือนกัน แต่ว่าเราก็นำเสนอการใช้วัสดุที่เป็นเหล็กพับเข้ามา หรือว่าตู้กับข้าว เราก็ไปจับคาแรคเตอร์ของการใช้งานในตู้กับข้าว ความโปร่งในการระบายอากาศ

Wanus: เราสงสัยว่าความโปร่งทำไมอากาศมันผ่านได้แล้วมันดียังไง เรารู้สึกว่ามันต้องมีประโยชน์ ตู้ที่อากาศผ่านได้แต่ของที่อยู่ข้างในก็ต้องรู้สึกปลอดภัยนะ มันต้องมีฟังก์ชันที่ดี 

Dbs: เปลือย หรือตู้กับข้าว ใช้วัสดุอะไร

Wanus: เหล็ก และผ้าบล็อคสกรีน เราพยายามจะไปหาวัสดุที่เราไม่ได้หาตู้กับข้าวแบบโท่งๆ เราหาวัสดุเทียบเคียงที่ร่วมสมัย

Ratthee: เหมือนตอนที่น้องเขาไปจับตู้กับข้าวมา มันไม่ใช่รู้สึกว่า อันนี้ไม่ใช่รีดีไซน์ในเชิงที่หยิบมาตั้งแล้วร่วมสมัย แต่มันรีดีไซน์ วิเคราะห์ก่อนว่าถ้าสมัยนี้ไม่ใช้ตู้กับข้าวแบบนี้แล้วจะมีตู้แบบไหนได้ อย่างเช่นตู้กับข้าวของเรามันมีสามชั้น คือชั้นโปร่งสุด กึ่งทึบ แล้วก็ทึบ ทึบสุดมันเก็บอะไร โปร่งมันเก็บอะไร ซึ่งทุกคนมีแบบนี้แล้วมันใช้งานไม่ได้แล้ว ซึ่งถ้าเราจะเอาความรู้สึกเก่าๆ ของความโปร่งมาใช้ แล้วเราก็เปลี่ยนพื้นที่มันเลยไม่ต้องอยู่ในครัว ลองเปลี่ยนมาตั้งกลางบ้านไหม กลางบ้านตู้โปร่งมันจะเป็นไง คนมันเห็นยังไงก็จะเรียกตู้นี้ว่าตู้กับข้าวเนอะ คำว่าตู้กับข้าวไม่ได้แปลว่ามันเป็นฟังก์ชันละ แปลว่ามันเป็นชื่อเรียก เหมือนแฟ๊บ วันหนึ่งมันอาจเป็นชื่อเรียก ซึ่งเราก็ดีใจนะถ้าเกิดคนเรียกตู้หนังสือของเราว่าเป็นตู้กับข้าว ซึ่งถ้ามันเป็นอย่างนั้นได้มันก็ดี ซึ่งจริงๆ ทุกอย่างในโลกเรามันเกิดอย่างนี้เนาะ เกิดจากความคุ้นชินแล้วก็ตั้งอะไรให้มัน

Dbs: อีกหนึ่งคอลเลกชั่นที่เราสนใจคือ อิฐ ชั้นวางของ

Teerapoj: อิฐก็แนวเดียวกับตัวดิบนั่นแหละครับ ใช้น้ำหนักของมันมาช่วยทำให้โครงสร้างมันแข็งแรง เราใช้วัสดุเดิมก็คือสัจจะ เรียกมันว่าอิฐเพราะว่าเอาความรู้สึกของอิฐมวลเบามา ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างที่เขาเรียงสลับกัน ไอเดียตอนแรกคิดว่าความรู้สึกของเทอร์ราซโซ่มันดูหนักมากเลย อยากเอาความรู้สึกของช่องโปร่งเนี่ยมาล้อว่ามันดูเบา มันไม่ได้หนักอะไรขนาดนั้น แล้วก็เล่นกับเรื่องการหล่อของสี ซึ่งเทอร์ราซโซ่มันดีกว่าวัสดุอื่นๆ คือเราก็พยายามจะนำเสนอว่าเป็นการหล่อเพราะฉะนั้นมันผสมสีได้ มันสามารถผสมอะไรก็ได้เข้าไป มันสามารถเลือกเม็ดสีของหินได้ มันไม่ใช่แค่โต๊ะหินอันใหญ่ๆ อย่างเดียว คือมันทำให้ดูมีค่า นอกนั้นฟังก์ชันอารมณ์เดียวกับโต๊ะดิบนั่นแหละครับ เรื่องน้ำหนักเรื่องการขัดขา

Dbs: พูดถึง เกล็ด รางวัล Best Product ใน Design PLANT award 2016

Ratthee: เกล็ด คือฉากกั้น หรืออินสตอลเลชั่นอาร์ต ซึ่งมันก็ถูกดึงมาใช้ในเนื้อหาของอิสรภาพด้วย ฟังก์ชันของบานเกล็ดมันคือการกั้นสเปซระหว่างในบ้านกับนอกบ้าน แต่เราจะเอาฟังก์ชันของมันมากั้นระหว่างสเปซห้องทำงานหรือห้องรับแขก

Nichapak: เป็นฉากกั้นที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากบานเกล็ด ซึ่งสมัยนี้สถาปัตยกรรมในยุคใหม่บานเกล็ดหายไปแล้ว บานเกล็ดมันปรับเปลี่ยนได้ แล้วด้วยองศาที่มันเฉียงมันคือการทำให้ลมเข้าสเปซ แต่เราก็เปลี่ยนไปในเรื่องมุมมองของการกั้นพื้นที่อีกแบบหนึ่ง อย่างที่พี่อบบอกว่าการกั้นแบบภายในแทน ใช้ความโปร่งของผ้ามาช่วยสร้างภาพลวงตาของสเปซ แล้วในดีเทลของเกล็ดมันคือผ้ามุ้งลวด เอามุ้งลวดไปปักไล่สีเพื่อให้โชว์ว่างานปักมันมีคุณค่า

Ratthee: ซึ่งเหมือนโปรเจ็กต์ที่ทำมามันค่อนข้างดูดีนะ เพราะทุกคนค่อนข้างเข้าใจความรู้สึกเก่าๆ คนได้ความรู้สึกเก่าๆ จากที่เรานำเสนอ ทั้งที่เอาจริงๆ หน้าตา เรื่องสไตลิ่ง มันร่วมสมัยมาก แทบจะจำไม่ได้ว่าของเก่าหน้าตามันเป็นยังไง แต่ว่าพอมันอยู่ด้วยกันคนก็รู้สึกว่ามันทำให้เขาคิดถึงภาพเก่าๆ อย่างโต๊ะหินขัด คนรุ่นเก่าๆ ก็จะมานอนเพราะมันเย็น มันเป็นความรู้สึกของเขาตอนเด็กๆ

Teerapoj: จริงๆ มันมีวัสดุทดแทน แต่ความรู้สึกมันไม่ได้ เช่น เรซิ่น มันก็ทำเหมือนเทอร์ราซโซ่ได้

05
พีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส กับประสบการณ์ด้านงานคราฟท์ที่เขานำมาใช้ในงานของอิสรภาพ

Dbs: ความเก่าที่นำมารีดีไซน์หรือต่อยอดในมุมมองของพวกคุณคิดว่าไปได้ไกลไหม

Wanus: มันน่าจะเป็นเรื่องเบสิกของการพัฒนาของคน ผมว่ายุคนี้มันไม่มีใครเป็นต้นกำเนิด

Teerapoj: โลกมันค่อนข้างเปิดกว้าง ความต่างของเรามันก็ไม่เหมือนฝรั่ง ถ้าเอาของเราไทยๆ มันก็ไปได้อีก แล้วอย่างเทอร์ราซโซ่ เมืองนอกเขาก็ไม่ค่อยทำกันแล้ว แค่นี้เราก็ต่างกับเขาแล้ว เพราะไม่ค่อยมีใครเล่นแล้ว หรือวัสดุบางอย่างที่บ้านเขาทำราคาไม่ได้เลย

Ratthee: แต่เราก็ไม่ได้เริ่มจากการที่เราอนุรักษ์อะไรนะ เราก็แค่รู้สึกมันก็น่าสนใจ มันก็ดูสนุกดี มันก็มีเสน่ห์ทำไมไม่เอามาใช้แค่นั้นเอง

Nichapak: บ้านเราเรามีข้อได้เปรียบหลายอย่างในเรื่องการผลิต ความถูกของผ้า วัสดุมันถูก แต่พอไปอยู่เมืองนอกมันแพง

Ratthee: ซึ่งนี่อาจจะเป็นข้อสำคัญการที่นักออกแบบไทยไม่ได้มีชื่อเสียงในเมืองนอก เพราะเราไม่ค่อยเล่นกับเนื้อหาของประเทศตัวเอง จนคนเขาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ทุกวันนี้เราเห็นไต้หวัน ญี่ปุ่น คือญี่ปุ่นเขาดึงเนื้อหาที่เป็นต้นกำเนิดมาใช้บ่อย แต่คนไต้หวันเราพึ่งเห็นงานของเขา เดี๋ยวนี้นักออกแบบดังๆ เยอะขึ้น เราก็เห็นว่าเขาไม่ได้ลืมรากเหง้าตัวเอง อย่างฝรั่งเขาอาจจะโชคร้ายที่ไม่มีต้นกำเนิดของเขา เขาก็จะดึงที่มันเป็นต้นกำเนิดแบบยุคใหม่ อย่างเช่นงานสแกนก็สแกนไปเลย กลายเป็นว่าสุดท้ายถ้าคนเอเชียเอางานตัวเองมาเล่าเรื่อง สุดท้ายเราอาจจะเก่งกว่าเขาก็ได้ เรียกว่าอาจจะโชคดีกว่าเขา เพราะเรามีเนื่องราวของประวัติศาสตร์เยอะกว่า ซึ่งสุดท้ายเราไม่เคยมองข้ามมันเลย ที่จริงมันมีอยู่ แต่เพราะเรารับสื่อเมืองนอกมาเยอะ สุดท้ายมันอาจจะเป็นเมืองนอกจะต้องรับสื่อไทยมากขึ้นก็ได้ในอนาคต แต่อันนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักออกแบบนะ ขึ้นอยู่กับคนที่ช่วยๆ กัน

Nichapak: จริง เพราะว่าต่อให้เราทำไปเท่าไหร่ ไม่มีคนเสพงานเรา เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าคนไทยไม่ช่วยกันมันก็แย่นะ

Wanus: เราก็เหมือนเป็นแรงกระเพื่อม แล้วเราก็ทำในมุมที่เรามีความรู้ แล้วเรามีพลังจะทำได้

Ratthee: เราก็คงไม่ได้รีบร้อนว่าจะต้องมีคนรู้จักเร็วๆ เนื้อหาแบบนี้ เราก็ทำไปเรื่อยๆ

Dbs: สำหรับ ease ตอนที่ไป MAISON&OBJET Asia ที่สิงคโปร์ล่าสุด กระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

Nichapak: คนให้ความสนใจแล้วถามว่ามาจากประเทศอะไร บอกว่ามาจากเมืองไทยคนเขาก็แบบ คนไทยทำแบบนี้ เออดีเนาะ คือก็รู้สึกว่าเขาชื่นชมคนไทย มากกว่าที่คนไทยชื่นชมงานออกแบบกันเองอีกเสียด้วยซ้ำ

Wanus: อีกอย่างที่รู้สึกได้ที่ไปสิงคโปร์ คนที่มาถามราคาจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาจะถาม เขาจะถามว่ากระบวนการมันคืออะไร ให้เราเล่าเรื่องจริงๆ ว่าดีไซน์มาจากอะไร

Nichapak: คิดมาจากไหน ได้แรงบันดาลใจจากอะไร แล้วทำไมถึงทำอันนี้ ราคาเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาจะพูดถึง ถ้าเป็นคนไทยจะถามว่าอันนี้แพงไหม

Dbs: อยากเห็นวงการออกแบบบ้านเราเป็นอย่างไรในอนาคต

Wanus: ก็อยากให้มีนักออกแบบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยากให้สังคมเข้าใจแล้วก็สนับสนุนมากขึ้น เราไม่ได้ขอความเห็นใจนะ ผมแค่รู้สึกมันคือวิชาชีพที่เหมือนแพทย์ สุดท้ายวันหนึ่งมันก็จำเป็นมากๆ

Ratthee: มันต้องเปลี่ยนมุมมองก่อนนะ ส่วนใหญ่คนมองการออกแบบเป็นสุนทรียศาสตร์ แต่การออกแบบมันเป็นการยกระดับให้ชีวิตมีคุณภาพ

Wanus: ถ้าพูดกันตามตรง มันมีเก้าอี้ตั้งแต่ตัวละไม่ถึงร้อยจนถึงล้าน มันต่างกันแค่ออกแบบ ซึ่งเรารู้สึกว่าคนน่าจะมองข้ามแค่เรื่องราคา เราก็รู้สึกว่ามันต้องน่าจะมีคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมา คนรุ่นเก่าก็ควรสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่อยู่กันจีรัง กลายเป็นว่าเด็กรุ่นใหม่เกิดน้อย เพราะคนรุ่นเก่าไม่เปิดพื้นที่ จริงๆ มันต้องย้อนไปถึงเรื่องการศึกษาที่อาจจะต้องแก้ คือยังมีคนมองว่าเรียนจบต้องเป็นหมอ เพราะมีเงินเดือนดีกว่า แต่มันก็คงปรับปุปปั้บไม่ได้ ก็คงต้องค่อยๆ ช่วยกันสร้างกันไป ผมว่ามันก็น่าจะเริ่มจากลองสนับสนุนซึ่งกันก่อน ผมค่อนข้างเชื่อว่ารุ่นพี่ๆ ที่เขากลับมาจากเมืองนอกกัน มาสร้างเมืองไทย เพราะมองว่าคุณภาพเมืองไทยสู้เมืองนอกได้แล้ว

Ratthee: จริงๆ คนไทยเก่งกว่าคนต่างชาติเยอะแยะเลยนะ บางคนที่ไปเมืองนอกจะรู้ว่า นักออกแบบบ้านเราทำงานดีกว่าเก่งกว่าแต่แค่ การที่คนจะรู้คือต้องมีคนไปบอกเขาให้รู้ มีนักออกแบบหลายคนที่ไม่ยอมกลับมาเมืองไทยซึ่งเขาเก่งมากและเป็นโนเนมเยอะแยะ ซึ่งพอเขากลับมาก็ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีแรงผลักดันพอเพราะว่าสังคมมันไม่ไปถึงขั้นที่เขาเคยอยู่ ซึ่งมันต้องทำให้เขารู้สึกว่า สมมติเป็นสื่อ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าอยู่กับสื่อแล้วไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดอ่ะ ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันและเป็นธรรมชาติ เพราะอย่างทุกวันนี้มันก็คงมีนักออกแบบหายๆ คน หรืออาร์ติสท์หลายๆ คนที่ไม่อยากลงสื่อ เพราะว่ามันกลายเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา กลายเป็นแชร์ริตี้ขึ้นมา ซึ่งมันอาจจะมีอย่างนั้นอยู่ แต่มันอาจจะต้องมีวิธีการประนีประนอมกันทางการออกเสียง ให้มันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ

Teerapoj: บางทีสื่อก็ทำร้ายเด็กสมัยนี้เหมือนกัน ทำให้เด็กจบมาแล้วอยากจะเป็นดีไซเนอร์ทันที

Ratthee: อย่างวิธีการเล่าเรื่อง เล่าแต่เรื่องประสบความสำเร็จซะเยอะ อย่างทุกวันนี้คนทุกคนพยายามเล่าเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่พอเล่าบ่อยๆ ก็กลายเป็นเทรนด์ไปอีก คือมันคงต้องบาลานซ์บางอย่าง อะไรมากไปมันก็คงไม่ดี

Wanus: เหมือนเป็นทัศนคติเด็ก แต่ก่อนตอนผมเรียนมัธยมผมรู้สึกว่าดีไซเนอร์มีหน้าที่แค่วาดรูปสวยๆแล้วก็ประดิษฐ์ของสวยๆ ออกมา ผมคิดว่าถ้าการรับรู้พวกนี้มันไม่หาย มันก็จะมีการออกแบบ มีนักออกแบบประเภทนี้ออกมาเยอะขึ้น ซึ่งมันจะดีหรือเปล่าผมไม่รู้นะ มันอาจจะต้องมีประเภทที่เห็นความสำคัญของกระบวนการผลิต เห็นความสำคัญของช่างฝีมือที่มันจะหายไปหรือเปล่า

Nichapak: เพราะว่าต่อไปถ้ายังเป็นคนนำงานอยู่ ทุกคนก็จะคิดว่านักออกแบบคือคนที่ต้องใส่ชุดดำ แต่งตัวดี ดื่มกาแฟหรือเปล่า คือมันไม่ใช่วัฒนธรรมแบบนั้น คนทำงานออกแบบมันคิดเยอะ มันอยู่ที่การให้คุณค่าทางความคิดของเขามากกว่า เขาอาจจะไม่ต้องแต่งตัวเพอร์เฟ็กต์ ไม่ต้องออกสื่อบ่อยก็ได้ แต่คุณเห็นงานเขาแล้วคุณรู้สึกเคารพและเทิดทูนเขาดีกว่า นักออกแบบไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียง แค่เขาต้องการให้งานของเขา หรือว่าความคิด กระบวนการทุกอย่างมันออกไปสู่สังคมมากกว่า

Ratthee: คือไม่ต้องเล่าว่าเขารับรางวัลมาเท่าไร รวยแค่ไหนในการทำอาชีพนี้ แต่เล่าในเชิงว่า ก็เขาคิดอย่างนี้เขาถึงนำเสนอสิ่งนี้ออกมา ก็คงมองเขาเหมือนอาร์ติสท์คนหนึ่ง

Nichapak: ในขั้นเริ่มต้น เราก็ต้องยอมเจ็บตัวที่จะสื่ออะไรบางอย่างออกไปถึงแม้เราจะขายไม่ได้ เพราะว่าทุกคนก็เคยผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว แค่ยอมเสียสละความสุขสบายส่วนตัวนิดหนึ่ง เพื่อให้อะไรต่อไปกับคนอื่นบ้าง 

Dbs: สำหรับพวกคุณเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานมากน้อยแค่ไหน

Ratthee: เอาเป็นแบบเห็นภาพง่ายๆ คือ ด้วยการที่ทำสามโรงงานมันทำให้มีปัญหาตอนที่จะมาประกอบ หรือการวิ่งไปคุยงานมันยากมาก มันเยอะ เพราะการที่เราไม่ได้เป็นซับเองกันหมด การที่เราเล่นกับวัสดุที่พิศดาลกว่าปกติ เพราะว่าเหล็กอยู่กับหิน คือถ้าเล่นแค่เหล็กกับเหล็กไปเลย หินก็หินไปเลยในงานชิ้นนั้นชิ้นเดียวมันก็จะง่ายกว่านี้ แต่พอมันเป็นหลายๆ วัสดุรวมกันมันก็ยากหน่อย คือมันเป็นเรื่องปกติที่คิดว่าจะต้องเจออยู่แล้ว เพราะคุยกันตั้งแต่แรกแล้ว พอถึงช่วงโปรดักชั่นต้องมีปัญหาแน่นอน ส่วนเรื่องปัญหาการทำงานมันก็ไม่ค่อยมีนะ 

Nichapak: เหมือนทัศนคติเราตรงกัน เวลาคุยกันมันก็ง่าย

Ratthee: ระหว่างทำงานถ้ามีปัญหาเราก็คุยกันตั้งแต่แรกว่า ถ้ามีอะไรก็บอกกันตรงๆ ไม่อย่างนั้นสุดท้ายมันก็จะเป็นการสะสม แต่ตั้งแต่ทำงานกันมาก็ยังไม่ค่อยมีนะ

Nichapak: มีแต่ไม่รู้หรือเปล่า (หัวเราะ)

Dbs: มีอะไรจะพูดจะเคลียร์กันผ่าน Daybeds ไหม

ISSARAPHAP: (หัวเราะ) 

Dbs: กับช่วงวัยมีส่วนสำคัญไหมในการทำงานร่วมกัน 

Ratthee: เราคุยกันตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่อยากให้ช่วงวัยมีผลต่อการคุยกัน แต่เรามองว่าช่วงวัยมันมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ประสบการณ์แต่ละคนมันให้คนอื่นได้ อย่างเช่น ตอนเราคุยโปรเจ็กต์หนึ่งอยู่ เราอยากจะให้คนที่มีประสบการณ์ที่เป็นรุ่นเก๋ามาช่วยสอน คือโปรเจ็ตก์ที่เราต่อยอดในงานเชียงใหม่เราอยากทำงานกับรุ่นพี่ เหมือนสมัยเด็กๆ เราอยากทำงานกับคนที่มีอิทธิพลในการทำงานกับเรา เราก็เลยไปชวนคนที่มีอิทธิพลในการทำงานของเรา ซึ่งเขาก็ยอมมาทำงานกับเรา ซึ่งเป็นเรื่องโชคดี

Nichapak: ซึ่งพี่เขาก็บอกว่าเขาได้เรียนรู้อะไรจากเราเช่นกัน

Ratthee: ใน proposal เราบอกว่าเราจะไปดีไซน์เก้าอี้ตัวนี้ เราไม่ได้บอกว่าจะไปทำลายเก้าอี้ตัวนี้ เราอยากจะเล่าเก้าอี้ตัวนี้ในมุมมองของยุคสมัยเรา เราแค่มองว่า ยุคสมัยเรามันก็โตมาอีกแบบหนึ่ง มีวิธีการมอง มีภาษาในการออกแบบอีกแบบหนึ่ง ในการเล่าให้คนรุ่นต่อๆ ไปฟัง

Wanus: มันก็เหมือนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

Ratthee: เรามองว่าต่างคนต่างได้อะไรจากกันทั้งคู่มากกว่า ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย

Daybeds: อยากให้ ISSARAPHAP ทุกคนพูด ISSARAPHAP ในแง่มุมของตัวเอง

Ratthee: อิสรภาพ มันเป็นคำที่เราเรียนรู้จากโปรเจ็กต์กันมา

Wanus: ตอนแรกชื่อ หิน เหล็ก ไฟ

Ratthee: กลัวดูแบบร็อคไป ก็เลยเปลี่ยนเป็นเทคนิคกรุงเทพฯ กลัวโดนตีอีก อิสรภาพมันเป็นผลจากการที่เราทำงานตรงนี้มา ถ้าพูดถึงเนื้อหามันจบวิธีการทำงานของเราทั้งหมด

Nichapak: คนอ่านเนื้อหาจะเข้าใจความหมายว่าทำไมถึงตั้งชื่อนี้

Wanus: อิสรภาพมันก็คืออิสระของใครของมัน อิสรภาพในมุมมองที่รู้สึกว่ามันดีแล้วก็น่าจะเดินทางกันไป ต่างคนต่างมีความคิดเห็นของตัวเอง แต่ว่าต่างคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน คือมันก็เหมือนที่เราทำงานต่างคนก็ต่างคิดของใครของมัน แต่ละคนต้องหัดคิดเองให้เป็น ทำเองเป็น แต่ทุกคนต้องหัดเคารพความคิดเห็นคนอื่น ถ้าไม่เห็นด้วยก็คุยกันด้วยเหตุผล

Ratthee: จริงๆ คำว่าอิสรภาพมันไม่อิสระตั้งแต่คำว่าอิสรภาพแล้ว

Nichapak: ใช่ มันก็เป็นแค่คำๆ หนึ่ง กำหนดขึ้นมาเฉยๆ

Ratthee: มันก็น่าจะเป็นเรื่องการเปิดใจนะ

Teerapoj: ก็แค่อยากให้ทุกคนรู้ไว้ว่าตัวเองมีอิสระ ในการจะทำอะไรและเคารพในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น เสาหล่อปูนมันก็เจ๋งมากในสายตาของตัวเอง ก็ให้เคารพตัวเอง

Nichapak: มันมีพื้นที่ให้เราแสดงความคิดอีกเยอะ อย่าคิดว่าเก็บไว้ก่อนไม่ดีหรอก ดีไม่ดีไม่รู้ก็ทำไปก่อน ให้คนเห็นว่าเราคิดอะไร

02
คอลเลกชั่นต่างๆ ของ ISSARAPHAP จากซ้ายไปขวา ประกอบด้วย อิฐ (Brick) ชั้นวางของที่ล้อฟอร์มของอิฐในแบบอิสรภาพ, จรัญ (Jarun) เก้าอี้ล้านนาในโปรเจ็กต์ต่อเนื่องของพวกเขา, ผิว (Texture) ม้านั่งที่กำหนดวงกลมหินล้างเป็นจุดวางแก้ว สะท้อนพฤติกรรมการวางแก้วน้ำระหว่างการนั่ง และเปลือย (Nude) ชั้นหนังสือ หรือว่าตู้กับข้าว

Leave A Comment