SERPENTINE PAVILION 2016

00-%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b8%9b%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%9b%e0%b8%b9%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b9%87%e0%b8%a1

รูดซิปงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกชาวเดนมาร์ค
ที่กำลังเป็นที่จับตามอง ณ เวลานี้ 

 

Text: FATT
Photo: สุพรรณา จันทร์เพ็ญศรี, วัทธิกร โกศลกิตย์

เป็นเวลา 16 ปีแล้วที่ Serpentine Pavilion ได้ทำการสลับสับเปลี่ยนสถาปนิกและศิลปินชื่อดัง มาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมกึ่งถาวร (Pavilion แปลตรงตัวได้ว่า ‘ศาลา’) ให้ชาวลอนดอนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้เข้าชมในทุกๆ ปี เป็นระยะเวลา 3เดือนตั่งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน จัดขึ้นใกล้ๆ Serpentine Gallery ที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Hyde Park กลางกรุงลอนดอน ในปี 2016 ทางผู้จัดได้เลือก Bjarke Ingels สถาปนิกหนุ่มตัวผู้มากความสามารถและเล่าเรื่องเก่งที่สุดคนหนึ่งในเวลานี้ มาเป็นผู้ออกแบบ

Bjarke Ingels หลายคนอาจจะรู้จักเขาจาก Denmark Pavilion ที่ World Expo 2010 ณ กรุงเซี่ยงไฮ้ แต่สำหรับผู้เขียนนั้นแอบติดตามงานของสถาปนิกหนุ่มคนนี้มาได้ระยะหนึ่ง อาจจะไม่ถึงกับเป็นแฟนคลับแต่ก็พูดได้ว่า Bjarke ถือว่าเป็นสถาปนิกคลื่นลูกใหม่ในช่วงปีสิบปีที่ผ่านมาคนหนึ่งที่มากด้วยความสามารถในการเล่าเรื่อง และวิธีการอธิบายงานให้มีความน่าสนใจและน่าติดตาม รวมถึงแนวคิดของเขาเองที่ค่อนข้างเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ

ก่อนที่จะไป Serpentine Pavilion นั้น ผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้เห็นผลงานออกแบบนี้ทางเว็บสถาปัตยกรรมชั้นนำตามอินเทอร์เน็ตมาบ้างแล้ว ณ ตอนที่ยังเป็นภาพทัศนีย์ภาพ แต่ก็ยังไม่ได้ทราบรายละเอียดมากมาย เพราะกลัวว่าหากเสพคำอธิบาย หรือ presentation ของ Bjarke นั้นจะส่งผลกับการไปดูงานในครั้งนี้

01กล่องนับร้อยนั้นเรียงตัวกันได้อย่างน่าตื่นเต้นและถูกคิดมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน

กล่องสีเกือบขาวมากกว่าร้อยชิ้นเรียงตัวตระหง่านอยู่กลางสวน มีทางเข้าจากด้านหน้า ทะลุถึงด้านหลังประหนึ่งคล้ายถ้ำ ให้ผู้เข้าชมเดินทะลุเข้าไป กล่องนับร้อยนั้นเรียงตัวกันได้อย่างน่าตื่นเต้น และถูกคิดมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตามแนวโค้งของทั้งสองฝั่งผนังมีการปูดเข้าและปูดออกเพื่อสร้างประสบการณ์ต่อผู้ใช้งานใน ส่วนด้านนอกนั้นสามารถเดินได้รอบด้านเพื่อมองทะลุไปด้านในเช่นกัน

เมื่อเดินเข้าไปด้านในก็ได้พบว่า effect จากกล่องจำนวนมากที่พาแสงเข้ามาข้างในนั้นช่างชวนตื่นเต้นเมื่อมองขึ้นไปเห็นกล่องสีเกือบขาวเรียงตัวตามแนวโค้งที่ยื่นเข้าและยื่นออกของอีกด้านผนัง บ้างก็แอบเห็นอะคริลิกที่ทำการดามไว้ในกล่อง บ้างก็เป็นกล่องโล่งๆ ให้ประสบการณ์เมื่อมองลอดและเดินผ่านในเวลาเดียวกัน ภายในนั้นมีที่นั่งเพื่อให้ผู้เข้าชมได้นั่งเสพประสบการณ์ตามที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้ รวมถึงคาเฟ่เล็กๆ ตรงทางออกอีกด้วย

เมื่อกลับออกมาข้างนอกนั้นก็รู้สึกว่า ถ้าพยายามมองจากข้างนอกกลับไปข้างในนั้นต้องได้อีก effect อีกแบบแน่ๆ และก็เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ การมองจากข้างนอกเข้าสู่ข้างในก็เหมือนการย้อนแยงประสบการณ์ที่ผ่านมาอีกครั้ง ยิ่งหากอยู่ในมุมที่ถูกต้องจะสามารถมองลอดผ่านไปถึงสวนอีกฝากของอาคารได้ แต่ที่ดีกว่านั้นคือ เวลาเห็นลูกเล็กเด็กแดงหยอกล้อกับเพื่อน พ่อแม่ หรือพี่น้องด้านใน ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นการเติมเต็มให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ถึงแม้รอบๆ นั้นจะเฉอะแฉะเนื่องจากฝนที่พึ่งหยุดตกก็ตาม จึงตัดสินใจว่ากลับไปจะไปตามอ่านบทความของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้แน่นอน

05-%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%88

หากให้สรุป Serpentine Pavilion ของปีนี้และประกอบกับการทำความเข้าใจกับบทความจาก BIG สามารถจะบอกได้ว่า effect ของการเดินระหว่างทางเข้าและทางออกประกอบการมองผ่านกล่องเหล่านั้นออกไปที่สวนก็ถือว่าทำดี  ยังพออยู่ในสิ่งที่สถาปนิกพยายามจะอธิบาย แต่การจะให้เห็นภาพเหล่านั้นตรงกับคำอธิบายของ Bjarke นั้นต้องเป็นวันที่มีแดดแรงจริงๆ ซึ่งการไปชมในครั้งที่สอง เป็นวันที่มีแดดดี แต่บรรยากาศภายในที่ประกอบจากกล่องสีขาวเหล่านั้น และมุมมองที่มองออกไปภายนอกก็ถือว่าพอจะตื่นเต้นได้บ้าง แต่เรื่องการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ด้านนอกนั้นทั้งสองครั้งก็ไม่เห็นจะเป็นไปอย่างที่สถาปนิกได้กล่าวไว้ เช่น การที่คนสามารถขึ้นไปเดิน หรือ นั่งที่กล่องทางด้านนอก ทั้งทีก็มีราวกันตกเตรียมไว้ให้ ในการไปทั้งสองครั้ง ไม่พบกิจกรรมดังกล่าว

สำหรับคนที่เป็นแฟนตัวยงของ BIG นั้นก็ไม่ควรที่จะพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะเค้าก็ทำออกมาได้ดี แต่หากเพียงแค่ชื่นชอบ ‘บาง’ ผลงานของสถาปนิกผู้นี้นั้น ขอแนะนำว่า ควรอ่านบนความหรือ Presentation มาก่อน เพื่อปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับงานชิ้นนี้แม้ว่าฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ ก็จะอิ่มเอมกับสิ่งที่สถาปนิกพยายามจะสื่อสารออกมา แต่โดยส่วนตัวแล้วนั้นเมื่อกลับมาอ่านบทความหลังจากได้ไปเยี่ยมชมมาแล้วนั้นคิดว่า บางทีการนั่งเสพข้อมูลข่าวสารและรูปภาพผ่านหน้าจอ ที่ถูกถ่ายทอดโดยช่างภาพระดับโลกแล้วนั้น อาจจะตอบโจทย์ที่ Bjarke และทีมงานพยายามจะสื่อสารได้ดีกว่า แม้การเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม ณ สถานที่จริง ในกรณีที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ หรือในวันที่อากาศดีก็ตาม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับงานสถาปัตยกรรมก็แทบจะไม่ต่างกัน คือน้อยกว่าสิ่งที่ Bjarke ได้กล่าวเอาไว้ในสื่อต่างๆ

ณ ตอนนั้น ผู้เขียนทำได้เพียงแค่กระซิบในใจกับตัวเองเบาๆ ว่า …“ก็ BIG อะแกรรร”

04แนวโค้งของทั้งสองฝั่งผนังมีการปูดเข้าและปูดออกเพื่อสร้างประสบการณ์ต่อผู้ใช้งาน ในส่วนด้านนอกนั้นสามารถเดินได้รอบด้านเพื่อมองทะลุไปด้านในเช่นกัน
     02ผู้ชมงานกลายเป็นส่วนเติมเต็มให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น อีกทั้งการมองจากข้างนอกเข้าสู่ข้างใน ยิ่งหากอยู่ในมุมที่ถูกต้องจะสามารถมองลอดผ่านไปถึงสวนอีกฝากของอาคารได้

TIPS: คุณรู้หรือไม่ว่าของ Bjarke จะก่อตั้ง BIG เขาเคยทำงานร่วมกับคู่หูในนาม ‘PLOT’ ตอนนี้คู่หูของเขาถูกรู้จักในนาม ‘JDS’ (Julien de smedt) หากมีเวลาผู้เขียนแนะนำให้ลองไปติดตามดู เพราะคุณอาจจะพบอีกด้านตรงข้ามของ Bjarke ที่ในงานเดียวกันแต่อธิบายไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะทำให้ได้รู้ว่าบางทีสถาปัตยกรรมก็ไม่ได้ง่ายเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จเช่นที่เห็นทุกครั้งในการเสนองานของ Bjarke ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้กล่าวไว้….

Serpentine Pavilion and Summer Houses 2016
จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน – 9 ตุลาคม 2016
เข้าชมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.

Leave A Comment