HERE TO STAY (UNTITLED HOUSE BY DSTGR)

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม, DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd.
และขอขอบคุณภาพจากคุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน Spaceshift Studio
Designer: คุณนนทวัฒน์ เจริญชาศรี DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd.

00

ที่เดิมในอีกความรู้สึกที่เพื่อนมอบให้

มีคนจำนวนไม่น้อยจดจำ คุณหมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ในบทบาทคนทำงานกราฟิกดีไซน์มาโดยตลอด ยอมรับตามตรงว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงแปลกใจพอสมควรนับแต่รู้ว่าคุณพ่อลูกแฝดรับออกแบบบ้านให้กับเพื่อนคนหนึ่ง และไม่รอรีที่จะต่อสายหา Design Director แห่ง DUCTSTORE เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในการบอกต่อผลงานด้านสถาปัตยกรรมชิ้นแรกของอดีตเด็กสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้คนที่ไม่เคยทราบได้รับรู้

“พี่ต้องบอกน้องเฟี้ยตก่อนว่า บ้านด้านในจะเรียบๆ ไม่ค่อยมีอะไร แต่ด้านนอกพี่ว่าโอเค ถ้า daybeds จะเข้าไปถ่ายพี่ยินดีมากครับ” เสียงตามสายที่ว่าไม่มีอะไรของคุณหมูต้องไปดูให้เห็นกับตาเท่านั้นเราถึงจะเชื่อ เพราะยิ่งได้ชื่อว่าเป็นงานออกแบบบ้านหลังแรกของเจ้าตัวด้วยแล้ว คำว่าธรรมดาสามัญหาไม่พบในพจนานุกรมฉบับ ‘หมู DUCTSTORE’ เป็นแน่ ซึ่งก็เป็นจริงดังว่า เพราะทันทีที่เราเดินทางมาถึง บ้านสีเทาเรียบเท่รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูเด่นสง่ามาแต่ไกล ไม่ว่าใครสัญจรผ่านเข้า-ออกซอยวัดบัวขวัญ (ซอยงามวงศ์วาน 23) เป็นต้องสะดุดทุกสายตา

Vol.143_Interior_001 Vol.143_Interior_002
คุณบุ้ง-ทะนง พาณิชพัฒน์ ที่ปรึกษาทางการเงินบริษัท AIA เจ้าของบ้าน เปิดประตูอัตโนมัติทำจากเหล็กสีทึมดำต้อนรับเราในเช้าวันอาทิตย์ปลายเดือนหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ทั้งคุณพ่อคุณแม่ของคุณบุ้ง และน้องชุน ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 7 ขวบ ขณะสายลมลอยละล่องชวนผ้าม่านพริ้วไสว ไอแดดส่องประกายเจิดจ้าฉาบสถาปัตยกรรมสีเทา คุณบุ้งพาเรานั่งลงสนทนากับพื้นริมหน้าต่างอย่างเป็นกันเองในห้องนอนบนชั้น 3 ที่มองเห็นความเคลื่อนไหวในซอยอันจอแจจากมุมสูงอย่างชัดเจน หลังจากคุณบุ้งเริ่มเล่าเรื่องราวในบ้านด้วยรอยยิ้มแห่งความปรีติ ผมก็ได้แต่อมยิ้มและคล้อยตามในฐานะผู้ฟังที่ดี

Vol.143_Interior_019
“เดิมทีบ้านพี่เป็นทาวน์เฮาส์ มีพื้นที่แค่ 42 ตารางวา อยู่มาเท่าอายุพี่ก็เกือบ 40 ปีแล้ว” คุณบุ้งเล่าไปพร้อมทำหน้าที่พ่อคอย ดูแลน้องชุนที่กำลังนั่งวาดรูปการ์ตูนตัวโปรดไปด้วยอีกแรง “พี่เคยคิดจะซื้อคอนโดใหม่ แต่โชคดีที่ตัดสินใจทำบ้าน เพราะถ้าเราไปซื้อคอนโดก็อยู่ได้แค่คนเดียว สังคมไทยมันก็ยังเป็นสังคมไทย ถ้าใครได้มาอ่านหรือมาฟังที่เราคุยกันวันนี้ก็เป็นอีกไอเดียหนึ่ง คนที่อยู่กับพ่อแม่อยู่แล้ว มีพื้นที่อยู่แล้ว ถ้าคุยกันรู้เรื่องแค่ทุบที่เดิมเราก็ได้อยู่ที่ใหม่ พ่อแม่ก็ได้อยู่ที่ใหม่กับเราด้วย พี่เลยตัดสินใจทุบบ้านหลังนี้ทำใหม่ดีกว่า แต่เราไม่มีใครในหัวที่จะมาสร้างบ้านให้ เลยคิดถึงหมูเพราะผมรู้เบื้องหลังว่าเขาเรียนจบด้านอะไรมา จึงโทรไปปรึกษาเพราะผมมั่นใจว่าเพื่อนทำได้ ก็พูดกันแบบเพื่อนๆ ว่าอย่าคิดแพงนะ (หัวเราะ)”

Vol.143_Interior_003Vol.143_Interior_005Vol.143_Interior_006Vol.143_Interior_007  Vol.143_Interior_008ด้วยลักษณะที่ดินผืนเดิมมีหน้าแคบแต่หลังกว้าง รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูจึงเป็นคำตอบที่ลงตัวสำหรับพื้นที่ดังกล่าวมากที่สุด โดยบ้านโมเดิร์นสีเทาหลังนี้มีทั้งหมด 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 มีโรงจอดรถ ห้องรับแขก และห้องครัวใหญ่ ชั้น 2 มีห้องทำงาน ห้องนอน และห้องพระที่เป็นส่วนของคุณพ่อคุณแม่ และชั้น 3 คือห้องนอนของคุณบุ้งกับน้องชุน ซึ่งมีแพนทรี่เล็กๆ รวมถึงบันไดลิงสำหรับปีนขึ้นชั้นดาดฟ้า แบ่งแยกกันอย่างเป็นสัดส่วน

โครงสร้างภายนอกโดดเด่นด้วยรูปทรงดึงดูดตา และการดีไซน์ผนังอาคารให้มีช่องเปิดรับแสงและลมรอบทิศทาง โดยเฉพาะด้านเฉียงของบ้านที่คุณหมูต้องการให้เป็นจุดนำสายตา จึงดีไซน์ช่องเปิดรับแสงรูปตัวแอล (L) กลับหัวให้พื้นที่ใช้สอยบนชั้น 2 และ 3 สามารถมีแสงสว่างลอดผ่านเข้าด้านใน และส่วนหน้าบ้านซึ่งเป็นช่วงแคบที่สุด แต่คุณหมูก็ต้องการให้ออกมาดูเรียบที่สุดเช่นกัน จึงเลือกดีไซน์ช่องเปิดให้ลึกเข้าด้านในอาคารเล็กน้อย และใช้กระจกเทมเปอร์ที่มีความแข็งแรงทำเป็นแนวระเบียงของบ้านจนดูกลมกลืน ไร้เส้นสายมาลดทอนความโดดเด่นของรูปทรงโดยรวม ส่งให้หน้าบ้านกลายเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่เกิดแสงและเงาดูเป็นมิติยาม อาทิตย์ส่องปะทะ ขณะด้านในตัวบ้านเลือกใช้โทนสีขาว โดยมีช่องทางเดินระหว่างห้องต่างๆ เปรียบเสมือนช่องลมที่คุณหมูออกแบบมาเพื่อเป็นทางให้ลมพัดผ่าน อากาศภายในบ้านจึงถ่ายเทตลอดวัน และไม่ร้อนอบอ้าวถึงขนาดต้องเปิดเครื่องปรับอากาศให้เปลืองพลังงาน

“ผู้ใหญ่บางคนจะถือเรื่องสีของบ้าน แต่แปลกใจมากพอให้แม่ดูแม่ก็ชอบ ตอนแรกก็ยังมองไม่ออกว่าหน้าตาจะออกมาอย่างไร แต่พอบ้านเสร็จก็รู้สึก เฮ้ย สวยเว้ย! ไม่คิดว่าเราจะถูกใจขนาดนี้” คุณบุ้งกล่าว

เย็นวันต่อมา ณ บริษัท DUCTSTORE ในซอยสุขุมวิท 49 คุณหมูได้บอกกับเราโดยเล่าย้อนไปถึงวันที่คุณบุ้งโทรศัทพ์มาขอคำแนะนำเรื่องบ้านราวสองปีก่อน ตัวเขาเองรู้ทันทีว่าไม่อยากให้เพื่อนต้องเสียเงินจ้างคนอื่นที่ราคาแพง

“เพื่อนกันเราช่วยกันได้” คุณหมูตัดสินใจออกแบบบ้านหลังนี้ให้เป็นของขวัญโดยไม่คิดค่าวิชาแต่อย่างใด

“งบประมาณมันท้าทายงานออกแบบ แต่พี่ทำออกมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขมาก บ้านหลังนี้ทำให้พี่อยากกลับมาเป็นสถาปนิก พี่ชอบบ้านสไตล์โมเดิร์น แต่ไม่ได้ยัดเยียดสไตล์ให้เขาอยู่แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง เราพยายามทำให้ไลฟ์สไตล์เขากับสิ่งที่เราออกแบบมันสอดคล้องกัน แต่ถ้าเกิดเขามาหาพี่แล้วมันไม่ใช่พี่ก็ไม่ทำนะ เพราะมันรู้สึกว่าฝืน พี่ต้องอยากทำด้วย ถ้าเราทำแล้วมันออกมาไม่ดี อย่าทำ”

สำหรับบางคน บ้านหนึ่งหลังอาจต้องใช้เงินสร้างจากเงินออมทั้งชีวิต คุณหมูจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะกับบ้านหลังแรกที่เขาออกแบบให้เพื่อนได้อยู่อาศัยกับครอบครัวในผืน ดินเดิมภายใต้งบประมาณจำกัดจนออกมาสวยตรงใจทั้งผู้อยู่อาศัย และตัวคุณหมูเอง

“หน้าที่ของสถาปนิก หรือนักออกแบบ คือต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ให้อยู่ในงบประมาณ เขามีที่อยู่แล้วเราก็แค่ใช้พื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด มันยิ่งทำให้เรารู้สึกสนุก ฟอร์มของบ้านมันหนีไปจากนี้ไม่ได้ ตอนแรกบุ้งอยากมีที่กลับรถ มีคอร์ตตรงกลาง แต่แบบนั้นค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้น และเนื้อที่มันไม่พอสำหรับเว้นสเปซแบบนั้น แต่ถ้าพื้นที่บ้านใหญ่กว่านี้อีกสักนิด หรือเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสพี่ก็สมารถทำได้”

คนส่วนมากเข้าใจว่า DUCTSTORE เป็นบริษัทกราฟิก แต่แท้ที่จริงแล้ว Design Director บอกกับเราว่า “DUCTSTORE เป็น Multidisciplinary Design Studio ทำงานออกแบบหลากหลายประเภทรวมกันทั้งงาน Interior, Installation, Graphic Design, Branding และ Architecture

“สไตล์ที่พี่ทำมันสามารถ แสดงตัวตนพี่ได้ คนยังไม่เห็นงานสถาปัตยกรรมของพี่เยอะ พี่ทำแค่ชิ้นเดียวแต่พี่อยากทำให้คนรู้ว่าพี่มีเเนวทางที่ชัดเจน แต่ยังไม่ได้ทำเเค่นั้นเอง พี่ก็รอเวลา พี่มั่นใจ ถ้ามีงานเข้ามาพี่ก็ซัดให้เต็มเหนี่ยว พี่ไม่ใช่คนประนีประนอม แต่ที่สำคัญพี่จะไม่ทำเกินงบ นักออกแบบที่ดีต้องไม่ให้เจ้าของเดือดร้อน”

แค่ เปิดตัวบ้านหลังแรกยังทำให้เราอดตื่นเต้นกับความสามารถรอบด้านของคุณหมูไม่ ได้ สำหรับงานสถาปัตยกรรมชิ้นต่อไปที่กำลังดำเนินงานอยู่นั้นจะเป็นที่ไหนเราขอ อุบไว้ รอเจ้าตัวมาเฉลยเมื่องานใกล้ลงเอยอย่างสมบูรณ์ดีกว่า

d01d02p06Vol.143_Interior_015Vol.143_Interior_010Vol.143_Interior_012Vol.143_Interior_009p07d05d04p08d03p12 p01 p02 p03 p04 p05

1 Comment

  • Mr.Daybeds
    August 11, 2015 5:18 am

    “หน้าที่ของสถาปนิก หรือนักออกแบบ คือต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ให้อยู่ในงบประมาณ เขามีที่อยู่แล้วเราก็แค่ใช้พื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด มันยิ่งทำให้เรารู้สึกสนุก” นนทวัฒน์ เจริญชาศรี

Leave A Comment