PDM STUDIO

01

เสื่อ แนวคิด ออฟฟิศ และบ้าน
ของดุลยพล ศรีจันทร์

Text: นวภัทร ดัสดุลย์, ปนัดดา หมีเงิน
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

Mat Collection เสื่อลายกราฟิกจาก PDM Brand ที่มีจุดกำเนิดจากความสงสัยของคุณซินิ เฮนท์โตเนน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอและนักออกแบบกราฟิกชาวฟินแลนด์ ที่มองว่า “เสื่อต่างอะไรกับพรม?” ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงของผู้ชื่นชอบงานดีไซน์และการตกแต่งอยู่ในขณะนี้ วัดได้จากรางวัลการันตีด้านดีไซน์จากทั้งในและต่างประเทศนับสิบรางวัล รวมไปถึงผู้ให้ความสนใจเข้าไปเลือกชมเสื่อแทนพรมจากงานแฟร์ที่ PDM Brand ไปออกงานอย่างเนืองแน่น

“แพงกว่าเสื่อ ถูกกว่าพรม ดูดีเหมือนพรม และทำความสะอาดง่ายเหมือนเสื่อ” คุณดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบบริษัท PDM (Product Design Matters) และผู้ก่อตั้ง PDM Brand บอกกับเราถึงคำนิยามที่กระชับได้ใจความของเสื่อลวดลายกราฟิกไว้อย่างน่าสนใจ

“จากจุดเริ่มต้นในการทำเฟอร์นิเจอร์ขายและส่งออก ซึ่งเราไม่ได้โปรโมทมาก เพราะเรามีงานอื่นเยอะมากอยู่แล้ว แต่คุณซินิเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพรมที่ฟินแลนด์ มาเมืองไทยเขาก็ถามว่าทำไมบ้าน You ไม่ค่อยมีใครใช้พรมเท่าไหร่ ผมก็บอกว่าคนไทยไม่มีใครใช้พรมเพราะว่ามันร้อน ไม่นิยมใช้พรมเนื่องจากดูแลรักษาความสะอาดยาก ส่วนใหญ่จะเห็นว่ามีใช้เฉพาะบ้านที่มีคนดูแลความสะอาดเท่านั้น จนวันหนึ่งผมพาเธอไปทอดกฐินที่วัดที่โคราช เธอเห็นเสื่อปูเต็มวัดแล้วบอกว่านี่ไงพรม! จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มาทำเสื่อแทนพรม มีคุณซินิเป็นผู้ออกแบบลายกราฟิก ส่วนผมก็มาดูในเรื่องคุณภาพในการผลิตว่าจะทำอย่างไรให้เสื่อมีการทอที่ได้ คุณภาพมากขึ้น ไม่แตกหักง่ายเหมือนเสื่อทั่วไป” คุณดิวกล่าว

ตลอดระยะ เวลา 1 ปีที่ผ่านมา เสื่อลายกราฟิกมีผู้นิยมใช้มากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากทำความสะอาดง่ายกว่าพรมและยังเป็นไทยสไตล์ “ในตอนแรกคิดว่าจะผลิตมาเพื่อขายคนไทย แต่มีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจ เช่น สิงคโปร์ และฝรั่งเศส เป็นต้น เร็วๆ นี้น่าจะมีแบรนด์อื่นๆ ที่คิดทำในรูปแบบคล้ายๆ กัน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้และน่าจะได้รับความนิยม ส่วนแบรนด์ของผมก็ยังคงมีการพัฒนาชิ้นงานอย่างต่อเนื่องและคงพัฒนาต่อไป เรื่อยๆ เช่นกัน”

บทสนทนาระหว่างเรากับดีไซเนอร์หนุ่มมากความสามารถ มีขึ้นใต้อาคารพาณิชย์มีอายุของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ในสามย่าน ภายหลังจากที่เราเฝ้าติดตามผลงานเสื่อที่ออกสื่อแขนงต่างๆ มาสักระยะ Daybeds จึงถือโอกาสนี้ติดต่อผ่าน คุณไอซ์-จตุวัฒน์ ศรีจันทร์ บรรณาธิการบทความ นิตยสาร Esquire น้องชายของคุณดิวเพื่อขอเข้ามาติดตามเรื่องราวของ PDM Brand อย่างใกล้ชิด พร้อมเยี่ยมชมโฮมออฟฟิศตกแต่งใหม่ในบ้านเก่าที่เพิ่งแล้วเสร็จได้ไม่นานนี้ นับตั้งแต่คุณดิวกลับมาอยู่เมืองไทยอีกครั้ง หลังจากได้ทุนไปศึกษาต่อด้านศิลปะกรรมที่ School of Art and Design Helsinki (Aalto University) ประเทศฟินแลนด์ แล้วใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่ประเทศเยอรมันกับนอร์เวย์อยู่ช่วงหนึ่ง

“กลับมาก็ยังทำต่อ แต่งานที่มันงอกมาด้วยคือการสอนหนังสือ” คำบอกเล่าของคุณดิว หมายถึงการทำงานที่นอกเหนือไปจากต้องบริหารจัดการ PDM Brand ของเขา รวมไปถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับอีกหลายแบรนด์ใหญ่ๆ เขายังมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่างคือการเป็นอาจารย์สอนคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เขาใช้ทุนไปศึกษาต่อนั่นเอง

06ณ โฮมออฟฟิศในบ่ายวันที่ไม่มีงานสอน คุณดิวและคุณซินิ นั่งทำงานด้วยกันอย่างเงียบๆ ภายในห้องขนาดกะทัดรัดที่ตกแต่งเรียบง่าย “PDM คนละครึ่งกับ kenkoon” คุณดิวตอบคำถามเรื่องจำนวนสมาชิกที่เราสงสัย “ฝ่ายการเงินและบัญชีจะไม่ต้องมานั่งที่นี่ จะมีแค่คุณซินีที่นั่งดูแลเรื่องเสื่อทั้งหมด อาชีพที่ปรึกษาด้านการออกแบบมันต้องทำงานกับคนเยอะๆ คิดว่าอยู่ข้างนอกมันพอแล้ว ในออฟฟิศเราอยากอยู่กันแบบเงียบๆ ไม่พลุกพล่าน มีคนทำงานอยู่ประมาณ 3-4 คน”

03 04 เป็นเวลาเนิ่นนานกว่า 15 ปีแล้วที่คุณแม่ของคุณดิวย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ แล้วเปิดพื้นที่ชั้นล่างประกอบธุรกิจร้านทำผม ซึ่งมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสายตลอดวัน คุณแม่แอบกระซิบกับเราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “คนเราทำงานไม่ต้องเดินทางมันมีความสุขที่สุดแล้ว” แน่นอนว่าคุณดิวเชื่อคำที่คุณแม่พูด จึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะออกไปเช่าพื้นที่เพื่อสร้างออฟฟิศที่อื่น แล้วหันมาปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างด้านหลังบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศขนาดกะทัดรัด ซึ่งเชื่อมต่อกับร้านทำผมของคุณแม่ที่อยู่ทางด้านหน้า สามารถเดินเข้าออกได้สองทางภายในลักษณะอาคารสูง 3 ชั้น ที่เป็นตึกแถวตอนลึกขนาด 1 คูหา ถัดขึ้นไปบนชั้นสองคือส่วนของห้องครัวและห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ และชั้นสาม คือห้องนอนของคุณดิวและคุณไอซ์

กลับลงมาที่สตูดิโอชั้นล่างอีกครั้ง พื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากปรับปรุงใหม่ ด้วยความเป็นดีไซเนอร์ คุณดิวเลือกใช้ต้นทุนในการทำไม่สูงนัก เลือกใช้วัสดุง่ายๆ ราคาไม่แพง โดยอาศัยการสเกตซ์ภาพด้วยมือแล้วส่งให้ช่างทำตามแบบ ส่วนเก้าอี้ที่ใช้ก็เป็นผลงานการออกแบบของคุณดิวเองเกือบทั้งหมด เจ้าตัวบอกว่ารู้สึกดีไม่น้อยที่มีออฟฟิศเล็กๆ ที่บ้าน เพราะได้ทั้งทำงานและอยู่กับครอบครัวในเวลาเดียวกัน

“คุณแม่คงไม่อยาก ให้ผมไปอยู่ที่อื่น ไม่อยากให้ไปเช่า ทำงานที่บ้านผมว่ามันก็รู้สึกดีนะครับ วันไหนไม่มีงานสอนก็ลงมาเจอออฟฟิศ นั่งทำงานเลย พ่อกับแม่เดินลงมาก็อยู่ใกล้กันดี น้องไปทำงานก็ผ่านทางนี้ แถวนี้ของกินอร่อย แล้วมันเป็นโซน Culture Area ด้วย แถวนี้มันไม่ได้หรูหราเหมือนย่านเอกมัย แต่ผมว่ามันได้เห็นชีวิต มันจะไม่แห้งเหมือนสตูดิโอเมืองนอก วันดีคืนดีโต๊ะก็เต็มไปด้วยโมเดล ทำเสร็จแล้วก็กวาดทิ้ง แล้วก็นั่งทำใหม่

การตกแต่งเราก็ใช้วัสดุง่าย ๆ รีโนเวต 100% ใช้ต้นทุนไม่เยอะ ไม่ได้เขียนแบบอะไร แค่ตีผนังปิดผนังเดิม ปูไวนิลที่พื้น แล้วกันห้อง ตัดเหล็กกล่องมาทำเป็นโคมไฟ เราไปเดินดูโคมไฟแต่รู้สึกว่าทำไมมันแพงจัง เราเป็นดีไซเนอร์ รู้ว่าต้นทุนมันไม่ถึงเท่านี้ รู้ว่าวัสดุแบบไหนเหมาะสม แล้วเราก็ไม่ได้เน้นอะไรแพงๆ แค่ติดเหล็กใส่ไฟ ส่วนท็อปโต๊ะทำงานใช้บานประตูจากร้านไทยวัสดุต่อกับขาเหล็กที่ใช้มือสเก็ตช์ แล้วให้ช่างเชื่อมให้ ชั้นหนังสือที่มันเสมอกับโต๊ะก็สเก็ตช์มือทั้งหมด ทั้งห้องใช้ช่างคนเดียวกันหมด เป็นเพื่อนคุณพ่อ ส่วนพวกข้อต่อท่อ ตอนเราไปเรียนอยู่ที่ฟินแลนด์ทุกอย่างมันจะเป็นสีขาวหมด ยกเว้นพวกข้อต่อ บานประตู ลูกบิดมันจะเป็นสีๆ ซึ่งเราชอบก็ซื้อมาพ่นสีเอง ส่วนข้างบนปรากฏว่าตอนรื้อเพนดานไป โครงสร้างบ้านเมื่อก่อนมันแปลกมาก เปิดมาเจอฝ้าเป็นไม้เราก็เปิดทิ้งไว้ แล้วก็กั้นม่านลงมาเพื่อเดินทะลุกันได้ง่าย เวลาหิวก็ขึ้นไปกินข้าวข้างบน มันง่าย ผมว่าชีวิตในสตูดิโอมันไม่ต้องหรูมาก คือเราทำให้มันเรียบง่าย เหมือนกับงานของผมที่จะเป็นงานเรียบๆ เข้าใจง่าย”

07 05000200008 09 10 11 12 13 14 15

 

 

 

 

Leave A Comment