UNDER THE COVER

ภายใต้หน้าปก

Text: เต็มภัทร์ เกตุสมบูรณ์
Photo: เต็มภัทร์ เกตุสมบูรณ์

‘ หน้าปก ’ นับเป็นองค์ประกอบหลักสำคัญที่สร้างความโดดเด่น จนสามารถดึงดูดให้ผู้คนสนใจกระทั่งอยากเก็บสะสมได้

คุณใหม่ มานิตา ส่งเสริม เป็นอีกหนึ่งกราฟฟิกดีไซเนอร์สาวไฟแรงที่น่าจับตามอง ด้วยผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างผลงานปกหนังสือ (ช่วยอ่านสักนิด) นิยายวรรณกรรมของนักเขียน โยอาคิม เซลเทอร์ ที่ติดอันดับขายดีในปี 2017  โดยมีการวางองค์ประกอบของหน้าปกอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยการตีความหมายของหนังสือเล่มนี้ได้อย่างมีนัยยะ อีกทั้งผลงานการออกแบบโปสเตอร์งานนิทรรศการศิลปะให้กับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งสวยงามและมีสไตล์อย่างชัดเจน

 

 

กว่าจะออกมาเป็นผลงานกราฟฟิกที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณใหม่ต้องค้นคว้าข้อมูลร่วมกับโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งความแตกต่าง และท้าทาย ก่อนจะรวบรวมผ่านกระบวนการทางความคิด แล้วจึงออกแบบเป็นตัวอักษร โดยผลงานที่ออกมาทำให้ผู้ชมได้ขบคิด วิเคราะห์ ไปกับเรื่องราวที่ผ่านตัวอักษร เส้นสาย หรือสีสันที่คุณใหม่ได้ออกแบบเอาไว้ด้วย

“ เราไม่ชอบทำงาน  ที่สามารถเห็นแล้วเดาได้ง่าย ” คุณใหม่บอกอย่างนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แล้วกราฟฟิกที่ดูเรียบนิ่งนั้น มีอะไรแฝงอยู่บ้าง? เราจึงตามไปค้นหา

เริ่มต้นกันที่หน้าปกหนังสืออย่าง Revenge ( เรือนร่างเงียบเชียบ การบอกลาเย็นเยียบน่าขยะแขยง ของนักเขียน Yoko Ogawa) หนังสือเล่มสีชมพูสวยสด ที่ซ่อนความหมายของเนื้อมนุษย์ผ่านสี รวมถึงตัวอักษรที่เรียงตัวกันอย่างคดโค้ง เส้นกราฟฟิกที่ทิ้งพื้นที่ให้ดูน่าสงสัย มีวงรีสีดำเสมือนจุดนำสายตา ซึ่งแอบแฝงความลึกลับเหมือนมีอะไรซ่อนตัวอยู่

ในส่วนผลงานการออกแบบโปสเตอร์งานนิทรรศการ Mode of Liaisons (รยางค์สัมพันธ์) ที่เคยจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นนิทรรศการที่มีศิลปินหลายคน ทำให้การทำงานของคุณใหม่ ต้องมีการวางแผน ศึกษาแนวคิดของนิทรรศการ และร่วมพูดคุยกับแนวคิดของศิลปินแต่ละท่าน เพื่อนำแนวคิดที่ได้รับมาผนวกรวมแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานกราฟฟิกที่สื่อออกมาได้อย่างงดงาม มีทั้งส่วนที่ลดทอน และเส้นสายที่เพิ่มเติมแต่ง เพื่อตอบโจทย์แนวคิดของนิทรรรศการ หรืออีกหนึ่งงานนิทรรศการที่น่าสนใจอย่าง Omnivoyeur ที่นำผลงานภาพถ่ายของศิลปินที่แสดงงานมาทำเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์ โดยคุณใหม่ได้เสริมไทโป เพื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะเธออยากปล่อยให้ภาพถ่ายทำงานในตัวของมันเอง

ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตน และสไตล์การออกแบบกราฟฟิกของคุณใหม่ มานิตา ได้อย่างชัดเจน

 

 

Leave A Comment