U38 HOUSE / OFFICE AT


บ้านเหล็กน่าอบอุ่น

Architect, Interior Designer and Landscape Designer : OFFICE AT Co., Ltd.
Structural Engineer : คุณสราวุธ  ย่วนเต็ง
System Engineer : คุณเพชร  ปัญญางาม
Contractor: S.P. Civil System Co., Ltd.

การสร้างบ้านทั้งหลังด้วยโครงเหล็กมีความแข็งแรงแค่ไหน หรือในอนาคตเหล็กที่ใช้จะขึ้นสนิมหรือไม่ และจะต้องมีวิธีจัดการดูแลอย่างไร คำถามเหล่านี้มักจะเป็นคำถามปลายเปิดในหมู่เจ้าของบ้านที่ส่งต่อไปยังสถาปนิก ในฐานะผู้ออกแบบและให้คำแนะนำในการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้าง ซึ่งความกังวลในโครงสร้างของบ้านที่เป็นเหล็กทั้งหลังนี้เอง กลายเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เจ้าของบ้านหลายหลังปัดตกข้อเสนอดังกล่าวไปตั้งแต่สถาปนิกยังไม่ทันได้เริ่มออกแบบเสียด้วยซ้ำ ทว่าไม่ใช่กับเจ้าของบ้านหลังนี้ที่ค่อนข้างเชื่อมั่นและให้อิสระกับสถาปนิกซึ่งเป็นเพื่อนสนิทในการออกแบบ

บ้านหลังสวยของ คุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้เพื่อนสนิทอย่าง คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ สองสถาปนิกที่มีชื่อเล่นว่า ‘เล็ก’ เหมือนกันแห่ง บริษัท ออฟฟิศ เอที จำกัด (OFFICE AT) มาเป็นผู้ออกแบบ โดยก่อสร้างขึ้นบนที่ดินเปล่าข้างเคียงบ้านหลังเก่า ซึ่งมีบริบทแวดล้อมเป็นชุมชนที่มีบ้านตั้งอยู่ในระยะประชิดรอบด้าน และเนื่องจากเจ้าของบ้านต้องการสร้างบ้านให้เสร็จภายใน 4 เดือน สถาปนิกจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง และออกแบบโครงสร้างให้มีความเรียบง่ายที่สุด ตัวอาคารเป็นบ้าน 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยราว 400 ตรม. พื้นที่ชั้น 1 ของบ้านเป็นห้องทำงานห้องรับแขก ห้องอาหาร ครัว และสระว่ายน้ำ พื้นที่ชั้น 2 เป็นห้องนอนใหญ่ ห้องนอนลูกและห้องพักผ่อน ส่วนวัสดุหลักในบ้านเลือกใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญ ผสานกับโครงสร้างเหล็ก, ผนังคอนกรีตมวลเบาฉาบปูนเรียบทาสี, ผนังก่ออิฐโชว์แนว, ระแนงไม้กระจกเขียวตัดแสง และแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิท ส่วนหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านล่างและด้านบนมุงด้วยแผ่นเมทัลชีต

สถาปนิกจัดวางแนวอาคารให้ชิดริมที่ดินด้านหนึ่ง เพื่อกระจายพื้นที่ส่วนที่เหลือสร้างเป็นสระวายน้ำและสวนหย่อมเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านซึ่งข้อจำกัดของอาณาบริเวณที่แวดล้อมด้วยบ้านในชุมชน เป็นอีกข้อคำนึงของสถาปนิกในการออกแบบ เพราะที่ดินที่ขนาบด้วยบ้านไม้ทั้งสองฝั่งจึงออกแบบระแนงไม้โดยนำเศษไม้ที่มีอยู่เดิมมาใช้ประโยชน์ สร้างเป็นผิวอาคารอีกหนึ่งชั้นเพื่ออำพรางสายตา มอบความเป็นส่วนตัวและกันแสงแดดให้กับผู้อาศัยบนชั้นสอง อีกทั้งไม้ที่เป็นเศษวัสดุเดิมที่เจ้าของบ้านมีอยู่ยังช่วยลดงบประมาณไปในตัว โดยอีกหนึ่งความพิเศษของบ้านหลังนี้ คือบริเวณเทอร์เรซริมสระว่ายน้ำ ใช้การติดตั้งตัวปรับระดับแบบหมุนเกรียวตรงฐานล่างแทนการตอกเสาเข็ม เพื่อสามารถปรับระดับพื้นในกรณีดินทรุดซึ่งเกิดตามธรรมชาติได้อีกด้วย  

ภรรยาของคุณพงษ์ศักดิ์เป็นเพื่อนของคุณเล็ก (จุฑาทิพย์) อยากจะสร้างบ้านง่ายๆ และเร็วตามประสาคนที่เขาพอรู้เรื่องกระบวนการก่อสร้าง เพราะเขาเป็นผู้รับเหมา เจ้าของบ้านหลายคนจะเป็นกังวลว่ามันจะดีเหรอ แข็งแรงเหรอ จะแข็งกระด้างไปไหม หรือไม่สวยหรือเปล่า เหล็กมันสั่นหรือเปล่า จึงไม่ค่อยมีใครใช้นอกจากจะเป็นบ้านของดีไซเนอร์ บ้านหลังนี้จึงเป็นหลังแรกของ OFFICE AT ที่สร้างจากเหล็กล้วนๆ โดยไม่มีคอนกรีต สำหรับเราเหล็กนั้นไม่มีปัญหา โดยส่วนตัวเราชอบเหล็กในการออกแบบอยู่แล้ว เพราะชอบความบาง ดูเบา เช่น งาน Glass House at Sindhorn ที่เป็นเหล็กล้วนๆ แต่ว่านั่นคืออาคารสาธารณะคุณสุรชัย อธิบาย

เราอยากทำบ้านที่เป็นโครงสร้างเหล็กทั้งหลังมานานแล้ว แต่เหมือนเจ้าของบ้านส่วนใหญ่เขาจะเคยชินกับคอนกรีตเสริมเหล็กมากกว่า ครั้งนี้ก็เลยเป็นโอกาสที่เราแมตช์ความต้องการกับเจ้าของบ้านพอดีคุณจุทาทิพย์ กล่าวเสริม 

ผลลัพธ์สุดท้ายบ้านหลังนี้จึงใช้เวลาก่อสร้างเร็วที่สุดเท่าที่ OFFICE AT เคยทำมา โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือน จากปกติที่ใช้เวลากว่า 2 ปีต่อหนึ่งหลังเป็นอย่างต่ำ นับเป็นบ้านที่สถาปนิกออกแบบ และผู้รับเหมาเป็นทั้งผู้ก่อสร้างและผู้อาศัยที่ลงตัวแบบวินวินกันทั้งสองฝ่าย

ช่องบันไดให้ความรู้สึกเบาและลอยเหนืออากาศ

เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและกันความร้อนให้กับห้องนอนที่ชั้น 2สถาปนิกจึงออกแบบ double layer skin โดยใช้ระแนงไม้ที่สามารถเลื่อนเปิดปิดได้ที่ระเบียงชั้น 2


แม้โครงสร้างเป็นเหล็กทั้งหลังแต่พื้นที่ใช้สอยภายในออกแบบโดยเน้นความอยู่สบายรู้สึกอบอุ่น ด้วยการเลือกใช้ผนังไม้และกระจกทั้งในส่วนห้องนอนใหญ่และห้องน้ำตลอดจนห้องนั่งเล่นและครัว


ห้องนั่งเล่นและครัวออกแบบโดยเน้นการเปิดช่องว่างทางทิศเหนือให้สามารถรับวิวสระว่ายน้ำและสวนได้เต็มสายตาอีกทั้งสถาปนิกใช้วิธีการเจาะช่องลมบริเวณช่วงบันไดให้อากาศหมุนเวียนผ่านช่องเล็กๆไปสู่บานเลื่อนกระจกเมื่อเลื่อนเปิดทั้งหมดออกส่วนแนวอาคารด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ออกแบบให้พื้นที่ทั้งสองชั้นเป็นตู้เก็บของทั้งยังทำหน้าที่เป็นผนังช่วยป้องกันความร้อนในตัว


ส่วนโครงสร้างสถาปนิกเลือกใช้เหล็ก 1 ท่อน หรือสแปนตรง 6 เมตร ในจุดหลักๆ หรือบางจุดที่ต้องใช้สแปนยาวอย่างโรงจอดรถ เลือกใช้เหล็กความยาว 9 เมตรเศษเพื่อการจอดรถที่สะดวกสบายซึ่งด้านบนของหลังคานั้นไม่ต้องรับน้ำหนักที่มาก เนื่องจากใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์และปูแผ่นกันซึมทับพร้อมปูมีหญ้าเทียมอีกหนึ่งชั้นเพื่อสร้างมุมมองที่สบายตาให้กับห้องนอนใหญ่

Leave A Comment