THE MASTER (NYC)

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร โดย จิตต์สิงห์ สมบุญ จัดแสดงโดยการประดับบนผนังอาคาร ซึ่งคุณจิตต์สิงห์ได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ประดับไว้ รวมกันเป็นกลุ่มตามบ้านเรือนในต่างจังหวัด

พระบรมสาทิสลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
แบบพอเพียง โดย จิตต์สิงห์ สมบุญ

คุณจิตต์สิงห์ สมบุญ เป็นหนึ่งใน 16 ศิลปิน ที่ Daybeds ขออนุญาตนำ พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ เขาเป็นผู้วาดมาตีพิมพ์ลงในนิตยสารฉบับพิเศษ ฉบับที่ 169 หน้าปก พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย คุณศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี เพื่อร่วมน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

Daybeds ขอยกพื้นที่บนหน้าเว็บไซต์อีกครั้งให้กับศิลปินผู้มีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแรงผลักดันในการทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ได้เล่าความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่าน ตลอดจนเล่าถึงโอกาสที่ได้นำ พระบรมสาทิสลักษณ์ เดินทางไปจัดแสดงที่นิวยอร์กครั้งแรก ในนิทรรศการศิลปะชุดสุดคุ้ม ‘ไทยคอมโบ้’ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ถ้อยคำจากบทสนทนาระหว่างเราที่มีขึ้นภายในสำนักงานใหญ่ของ Greyhound อาจไม่มากมายด้วยคำราชาศัพท์ที่สูงค่า มีเพียงคำธรรมดาสามัญที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่เขามีต่อเทวดาผู้ถึงเวลา เสด็จกลับสรวงสวรรค์ ทั้งน้ำเสียง แววตา และท่าทีที่แสดงออกของคุณจิตต์สิงห์ทำให้เรารู้สึกสัมผัสได้ว่า คำพูดเหล่านี้หาใช่เพียงผ่านออกมาจากลมปาก แต่กลั่นออกมาจากเบื้องลึกของหัวใจของศิลปินผู้นี้ทั้งสิ้น

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ‘ไทย คอมโบ้’ จัดแสดงเมื่อวันที่ 7-17 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ OSSAM Gallery ที่ Brooklyn, New York, USA

เริ่มต้นงานชุดนี้ ผมตั้งใจจะเขียนใบหน้าของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะว่าใกล้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม ผมอยากเอาไปแสดงที่นิวยอร์ก เพราะอยากให้คนไทยที่นั่น หรือชาวต่างชาติที่เขาอาจจะไม่รู้จักว่า King ของเราหน้าตาอย่างไร ได้เห็นว่าการที่คนไทยคนหนึ่งชื่นชมในบุคคลหนึ่ง มีพลังที่ทำให้สร้างสรรค์งานออกมาได้จำนวนมาก

งานชุดนี้รวมงานเก่าๆ และงานที่วาดขึ้นใหม่อีกสิบกว่ารูปได้ ก็เหมือนเราชอบสะสมภาพ เราก็จะติดภาพเหล่านั้นไว้เต็มผนัง เหมือนกับที่เราเคยเห็นรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงรัชกาลอื่นๆ ตามบ้านเรือนในต่างจังหวัด เราก็เอามาใช้ในงานนี้ สเก็ตช์รูปท่านแต่ละรูปจะไม่เหมือนกันเลย

ในหลวงเป็นบุคคลที่ผม ต้องการวาด ช่วงหลังผมทำงาน Installation ค่อนข้างเยอะ ทำงานเทคนิคค่อนข้างเยอะ ละเลยในสิ่งที่ผมเองถนัดสมัยเริ่มต้นหรือร่ำเรียนมา ผมรู้สึกว่าอยากจะกลับมาฝึกมือ เพราะของพวกนี้บางทีมันลงหม้อได้ เนื่องจากการทำงานมันทำให้เราทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง

  • พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร โดย จิตต์สิงห์ สมบุญ

พระบรมสาทิสลักษณ์ แบบพอเพียง

ผมมีเวลาเตรียมงานอยู่หนึ่งเดือนก่อนไปแสดงงานนี้ มีอยู่วันหนึ่งก็หยิบกระดาษใช้แล้วที่ผมชอบเก็บใส่แฟ้มไว้ หยิบมาเปิดด้านหลังแล้วลงมือเขียนเลย รูปแรกรู้สึกจะเป็นในหลวงใส่แว่นซ้อนกันอยู่สองรูปเพราะเขียนซ้อนทับไปอีก ชั้นหนึ่ง มันก็จะเลอะๆ หน่อย หยิบมาเขียนรูปแรก แล้วก็เขียนไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่า เอ้ย! น่าสนใจดี

เนื่องด้วยสถานการณ์ที่จะเอาไป นิวยอร์ก เราก็หอบไปเอง มันก็เลยต้องเป็นผลงานที่ไม่ใหญ่มาก เพราะธรรมดาผมจะทำงานชิ้นใหญ่ บวกกับใช้กระดาษพอเพียง รูปที่เอาไปจัดแสดงอย่างน้อย 80% เป็นกระดาษ Reuse ที่ใช้แล้วทั้งหมด แต่เราก็เลือกดูหน่อยให้ข้างหลังไม่ใช่รูปภาพที่ไม่เหมาะสม ไม่น่าเกลียด บางรูปข้างหลังก็เป็นบัตรประชาชนที่ผมถ่ายสำเนาเก็บไว้ หรือบางรูปข้างหน้าเป็นบัตรประชาชนแล้วผมก็เขียนทับไปเลย ตอนแรกก็ไม่ได้กะว่ามีคอนเซ็ปต์อะไร แค่อยากจะกลับมาฝึกมือ วาดรูปในหลวงแล้วไปติดเต็มผนังให้คนที่นู่นดูเท่านั้นเอง ก็เกิดมาเป็นคอนเซ็ปต์ แอบมีนัยแฝงอยู่ในผลงานนี้ด้วย

สไตล์การ เขียน จริงๆ แล้วผมเป็นคนชอบหลากหลายสไตล์ ผมทดลอง Drawing ไปเรื่อยๆ ครั้งนี้มาเจอสไตล์ที่มันเป็น Grid ที่ต่างกัน คล้ายการสาน หรือพอลงน้ำหนักเพิ่มจะดูเป็นพิกเซลก็ได้ ดูเป็นงานร่วมสมัย

บัตรประชาชนที่ถ่ายสำเนาเก็บไว้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง

แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9

“ผมดูข่าวในพระราชสำนักทุกคืน เราเห็นว่าท่านไม่มีวันว่างเลย และพระราชกรณียกิจจะเป็นข่าวที่ค่อนข้างยาว เพราะเยอะมาก ไม่ใช่แค่ท่านอย่างเดียว ในราชวงศ์ท่านอื่นๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังเรามา แต่ไม่ได้ปลูกฝังว่าสร้างภาพว่าท่านดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการปลูกฝังที่ทำให้ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นกษัตริย์ คนที่อยู่ในราชวงศ์จริงๆ สบายนะ ทำไมต้องมาทำขนาดนี้ด้วย”

ท่านสร้างแรงบันดาลใจได้ทุกด้าน ถึงแม้บางอย่างที่ผมอาจจะไม่ได้สนใจ เช่น การเกษตร ที่ผมไม่ได้มีความ รู้ ท่านทำอะไรให้กับประเทศเยอะเลย ทุกด้าน เรามานึกว่าทำไมท่านเก่งจัง เราเด็กกว่า เราหนุ่มกว่า เรายังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ พลังท่านเยอะมาก ทำให้ท่านทำอะไรได้เยอะ แล้วสิ่งที่ท่านทำก็ส่งผลกระทบ (ที่ดี) ต่อคนรุ่นหลังๆ แต่ไม่รู้จะส่งต่อไปถึงรุ่นไหนอีกนะ

คนรุ่นใหม่บางคน ไม่นับถือท่าน ไม่เป็นไร คนเราเกิดมาคนละยุคสมัย ไม่เหมือนรุ่นที่เราโตมาเด็กๆ เรารับมาตรงๆ เราก็รู้สึกได้ เราก็ไม่อยากจะโทษคนรุ่นใหม่เสียทีเดียว เราเป็นคนที่จะสืบทอดเรื่องเหล่านี้ให้คนรุ่นหลัง แสดงว่าพวกเราเองมีส่วนที่ทำให้สิ่งดีๆ ที่ท่านทำไว้มันจางหายไป

ตอนเด็กๆ ผมยอมรับว่า เราก็เด็กละนะ อยากดูการ์ตูน ทำไมต้องมีพระราชกรณียกิจตลอดเลยช่วงนี้ แต่นั้นแหละมันทำให้เราซึมไป เหมือนอยู่ในช่วงวัยที่เราเริ่มจำ เราอาจจะต้องสอนอะไรเหล่านี้ลงไป แต่พอเราละเลย เรื่องนี้ เด็กรุ่นใหม่ก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นอย่าไปโทษเด็กรุ่นใหม่ ต้องโทษคนรุ่นนี้ที่เราละเลยไปหรือเปล่า ทุนนิยมใหม่ หรือระบบแบบใหม่มันจะยัดเยียดให้คุณรับแต่เรื่องบันเทิง เรื่องชิลล์ เรื่องเทคโนโลยี จนลืมเรื่องสืบทอดบางอย่าง

สิ่งที่เราได้เห็น ใครจะบอกว่าสร้างภาพ ถ้าสมัยก่อนสร้างภาพได้ขนาดนี้ สมัยนี้ไม่ยิ่งกว่าอีกเหรอ ผมดูข่าวในพระราชสำนักทุกคืน เราเห็นว่าท่านไม่มีวันว่างเลย และพระราชกรณียกิจจะเป็นข่าวที่ค่อนข้างยาว เพราะเยอะมาก ไม่ใช่แค่ท่านอย่างเดียว ในราชวงศ์ท่านอื่นๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังเรามา แต่ไม่ได้ปลูกฝังว่าสร้างภาพว่าท่านดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการปลูกฝังที่ทำให้ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นกษัตริย์ คนที่อยู่ในราชวงศ์จริงๆ สบายนะ ทำไมต้องมาทำขนาดนี้ด้วย มันปลูกฝังด้านนี้ ไม่รู้ว่าคนยุคนี้ไปคิดว่าเป็นการสร้างภาพได้อย่างไรก็ไม่รู้ มองมุมไหนกันก็ไม่รู้ ผมก็เลยตัดสินใจว่า คนที่ไม่ชอบทำอย่างไรมันก็ไม่ชอบ อย่าไปล้างสมอง ไม่มีทางเป็นไปได้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือแรงผลักดันในการทำงานเพื่อก่อเกิดประโยชน์ในทุกด้าน

ด้วยวัยตอนนี้มันอาจจะทำให้เราทำงานได้น้อยลง ช้าลง แต่สมัยก่อนแรงเหล่านี้มันผลักดันให้เรารู้สึกว่า คนคนเดียวจริงๆ ทำอะไรได้มากกว่าหนึ่ง เราจึงเลือกทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อทุกสาขา ไม่จำเป็นต้องนั่งวาดรูปอย่างเดียว ต้องทำให้ถึงที่สุด โอเคว่าถึงที่สุดเราอาจจะไม่ได้แปลว่าต้องได้รางวัลหรือชนะเลิศทุกชิ้น การทำให้ถึงที่สุดหมายความว่า ผลงานที่ดีที่สุดมันย่อมดีอยู่แล้ว ถึงแม้มันจะไม่ได้รางวัลอะไรก็ตาม ในหลวงคือตัวอย่างที่ทำให้เราเห็น ท่านเพ้นติ้งรูปสีน้ำมัน ถ่ายรูป ท่านเล่นเรือใบได้รางวัล ท่านสร้างเขื่อน ทำฝนเทียม ทำทุกอย่าง

ท่านเรียนเมืองนอกมา ผมมีความรู้สึกว่าท่านใช้มันได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศจริงๆ อย่างในหลวงท่านเป็นคนหัวสมัยใหม่ ท่านเป็นคนที่รับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แล้วพยายามเขย่า ผสมให้มันอยู่กันได้กับคนประเทศเรา แต่ผมรู้สึกว่าบางคนกลับมาเอามาทั้งดุ้น เหมือนเวลาไปเมืองนอกแล้วกลับมาอยากจะเอานู่นเอานี่มาใช้ ถ้าเกิดเป็นอะไรที่เอากลับมาผสมแล้วพัฒนาประเทศเราได้ ไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไรวุ่นวาย มันก็ดี ใช้ความสามารถของตัวเองให้ถูกต้องมันก็ดี ไม่ใช่ใช้ความสามารถของตัวเองมากอบโกย เราเห็นกันเยอะ แล้วตอนนี้บางคนนับถือคนกอบโกยด้วย ทุนนิยมมันเข้าใจง่าย กลโกงมันหอมหวานได้มาง่าย ค่อนข้างน่ากลัวที่นับวันมันค่อยๆ กลายร่างเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ไทย คอมโบ้ นอกจากผลงานของศิลปินไทยที่ ‘ฮอฟอาร์ต’ (HOF ART) เป็นผู้นำในการยกทัพไปจัดแสดงครั้งนี้ ประกอบด้วย คุณอรรถสิทธิ์ ปกป้อง, คุณจารุต วงศ์คำจันทรา, คุณจิตต์สิงห์ สมบุญ, คุณศรุต ชัชวาล และคุณตะวัน วัตุยา แล้ว ยังร่วมด้วยศิลปินไทยในนิวยอร์ก นำโดย คุณกมลชนก ผลงาม, คุณกวิน ชนกประสิทธิ์, คุณไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล, คุณสารสิน ฉัตรวิชิตกุล, คุณศิริกุล ปัตตะโชติ, คุณสุพิชฌาย์ ดอนศรีจันทร์ และคุณรพีพร (ซูซู) เพียรชูพัฒน์

 

 

Leave A Comment