THE COMMONS

00

เติมเต็ม วันธรรมดา

Text: กรกฏ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Architect: Department of Architecture
จากคอลัมน์ BLUEPRINT – DAYBEDS 161 ฉบับกุมภาพันธ์ 2559

พื้นที่สวนในเมือง เป็นสิ่งที่คล้ายว่าคนเมืองทั้งหลายจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเดเวลลอปเปอร์ไม่ว่าจะรายใดก็ตามในวงการรีเทลดีไซน์ ที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ดินอันล้ำค่าให้กลายเป็นเพียงพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ในมุมมองของเขา ในขณะเดียวกัน ห้างสรรพสินค้าก็ยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการสร้างพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่จะตอบโจทย์ของผู้ใช้งานเมืองส่วนใหญ่ แม้ในช่วงหลังจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คอมมูนิตี้มอล’ เกิดขึ้นและเริ่มแพร่หลาย แต่กับความเคยชินหรือจะเป็นเพียงความขี้ร้อน ที่ทำให้การเกิดขึ้นของพื้นที่แบบลานพบปะในเมืองก็ยังคงเป็นเรื่องยาก และถึงแม้จะเกิดขึ้นจนสำเร็จ ก็ไม่มีใครที่จะสามารถรับประกันได้ว่าพื้นที่นั้นๆ จะไม่ถูกทิ้งร้างตามความเข้าใจเดิม

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าอดีตอย่างก้าวกระโดด จากที่เคยใช้เวลาพัฒนา 10 ปี เหลือเพียง 6 เดือน อย่างศตวรรษนี้ ยุคที่มนุษย์โลกดิจิตอลฟีดข้อมูลต่างๆ ผ่านหน้าจอของตัวเองอยู่ทุกวินาที งานออกแบบในเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้ทุกข้ออีกต่อไป ความหมายของ ‘คอมมูนิตี้สเปซ’ จึงกำลังถูกตีความใหม่ การขยับเข้ามาของคอนเทนต์ใหม่ๆ สู่งานดีไซน์ จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่รูปแบบของ ‘คอมมูนิตี้สเปซ’ กำลังเติบโตอย่างกว้างขวางและหลากหลายในโลกแห่งยุคสมัยปัจจุบัน สำหรับพื้นที่ใจกลางย่านการค้าของกรุงเทพมหานครเอง ผู้ที่ได้เข้ามาให้ความหมายล่าสุดของ ‘คอมมูนิตี้เสปซ’ ใหม่ในครั้งนี้ นำโดยคุณอมตะ หลูไพบูลย์ และ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ หัวเรือใหญ่จาก Department of Architecture ที่ยึดเอาพื้นที่ย่านทองหล่อ ดึงเอาเซ้นส์ของการพักผ่อนในวิถีชีวิตของคนเมืองเข้ามาประกอบกับสถาปัตยกรรม ‘สวนหลังบ้าน’ ของชาวทองหล่อจึงกำเนิดขึ้นบนซอยทองหล่อ 17 ภายใต้ชื่อของพื้นที่แห่งการพบปะ ‘The
Commons’

00000

คุณวิชรี และ คุณวรัตต์ วิจิตรวาทการ เจ้าของสถานที่ผู้เนรมิตสวนให้กับบ้านหลังใหญ่ของชาวทองหล่อแห่งนี้ สร้างพื้นที่สาธารณะด้วยแนวความคิดที่ต้องการให้สถานที่พบปะแห่งใหม่ มีทิศทางที่เข้าหาคำว่า ‘Community’ เป็นสาระสำคัญก่อนที่จะให้ความสำคัญกับคำว่า ‘Mall’ การมุ่งเข้าสู่พื้นที่ของการพบปะมากกว่าเพื่อการค้าเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ The Commons จึงกลายเป็นรีเทลที่มีเอกลักษณ์และหน้าตาแตกต่างไปมากจากที่ทุกคนคุ้นตา มากไปกว่านั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ สเปซของพื้นที่พบปะแห่งนี้สามารถเติมเต็มความต้องการที่คล้ายว่าตรงกับที่ทุกคนรอคอยอยู่เป็นเวลานาน นั่นคือความเป็นสวนเปิด ที่ซ่อนอยู่ในหลังบ้านที่ให้ประโยชน์กับทั้งชาวทองหล่อรวมถึงชาวกรุงเทพมหานครเอง

เพียงเปิดตัวได้สดๆ ร้อนๆ จากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซอฟต์โอเพนนิงของ The Commons ก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนตลอดทั้งวัน นอกเหนือการชูเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากคอมมูนิตี้มอลแห่งอื่นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คุณวิชรี และ คุณวรัตต์ ยังนำเทรนด์การพักผ่อนในเมือง ด้วยการเลือกแบรนด์ของผู้ค้าด้วยตัวเอง โดยเลือกเอาจากความเป็นมืออาชีพและความเป็นผู้รู้เฉพาะทางของแต่ละศิลปะการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งกาแฟ, เบเกอรี่โฮมเมด, อาหารเพื่อสุขภาพ,  สตรีทฟู้ด, ขนม และเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อให้เข้าถึงโจทย์ของผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกบ้านที่ The Commons ตั้งอยู่ ให้ ‘สวนหลังบ้าน’ ของพวกเขา เป็นที่รวบรวมไลฟ์สไตล์ และมอบสัมผัสของการอยู่อาศัยที่พิเศษสุด ให้กับเจ้าของบ้านโดยแท้จริง

และเหมือนกับที่ ‘สวนหลังบ้าน’ ควรจะเป็น สถาปนิกเปิดปล่อยให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของ The Commons เป็นทางเดินและที่นั่ง ให้คนที่ไม่ได้ต้องการจับจ่ายหรือซื้อหาอะไร ก็สามารถแวะเวียนมาหย่อนขา พักผ่อน พบปะ พูดคุย จะชำเลืองมองสินค้าหรือผู้คน ก็ไม่ถือว่าผิดกติกา สเปซทั้งบน ล่าง ซ้าย ขวา ที่สามารถมองทะลุถึงกันได้โดยตลอดเมื่อก้าวเข้าสู่ภายในอาคาร มอบประสบการณ์ของรีเทลดีไซน์ที่แตกต่างไปจากการออกแบบ ‘Mall’ โดยทั่วไป การใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่แวะเวียนผ่านไปมาในสเปซเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนี้ ทำให้การจับจ่ายมีเสน่ห์ น่าประทับใจ และได้มอบความหมายใหม่ในการเที่ยวห้างที่พื้นที่พบปะสามารถขยับใกล้ชิดผู้คนรอบๆ ได้มากขึ้น ภาพจำของการเที่ยวห้างที่ไม่ได้มาเพียงเพื่อจับจ่ายใช้สอย ทำให้พื้นที่ที่เป็นกันเองนี้กลายเป็นพื้นที่หนึ่งของพื้นที่ในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ว่าใครก็สามารถมาพักผ่อนได้ตลอดทั้งวันจริงๆ

สถาปนิกเปิดปล่อยให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของ The Commons เป็นทางเดินและที่นั่ง ให้คนที่ไม่ได้ต้องการจับจ่ายหรือซื้อหาอะไร ก็สามารถแวะเวียนมาหย่อนขา พักผ่อน พบปะ พูดคุย จะชำเลืองมองสินค้าหรือผู้คน ก็ไม่ถือว่าผิดกติกา สเปซทั้งบน ล่าง ซ้าย ขวา ที่สามารถมองทะลุถึงกันได้โดยตลอดเมื่อก้าวเข้าสู่ภายในอาคาร มอบประสบการณ์ของรีเทลดีไซน์ที่แตกต่างไปจากการออกแบบ ‘Mall’ โดยทั่วไป

สถาปัตยกรรมเปิดโล่งขนาดสูง 4 ชั้น ที่ถูกแวดล้อมด้วยอาคารสูงของย่านทองหล่อ ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการถ่ายเทของอากาศภายในอาคารแต่อย่างใด กลับกัน ตึกสูงโดยรอบก็ทำให้ The Commons ที่เร้นหลบเข้าไปในด้านหลัง เป็นเสมือนสวนหลังบ้านที่ซ่อนอยู่ไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน การเปิดโล่งของอาคารเองก็ทำให้อากาศภายในสามารถถ่ายเท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดของการดีไซน์อาคารมาตั้งแต่ต้น ผลพลอยได้จากการเปิดทะลุทั่วถึงกันหมดของชั้นอาคารทุกชั้น ยังทำให้แสงธรรมชาติสามารถตกกระทบได้โดยทั่วถึงทำให้ทั่วทุกพื้นที่ภายในไม่รู้สึกอึดอัด พร้อมกันนั้น สถาปนิกก็ได้ออกแบบระบบกันน้ำฝน และระบบป้องกันแสงแดดจ้าไม่ให้ตกกระทบลงมาได้โดยตรง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่แห่งนี้ได้ตลอดทั้งวัน การออกแบบที่ดึงคนให้ออกมาสัมผัสอากาศจริงของช่วงวัน ทำให้บรรยากาศภายในสวนหลังบ้านแห่งนี้อบอวลไปด้วยกลิ่น เสียง แสง ทั้งจากธรรมชาติและจากผู้คน ที่แลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา

ขั้นบันไดที่สลับซับซ้อน พาเราไต่ขึ้นไปสู่พื้นที่รีเทลที่เรียงสลับอยู่ด้านบน อาคาร 2 ชั้นแรกถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ของทางลาดสลับกับบันไดและที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ ทางลาดดังกล่าวสลับซับซ้อนด้วยการใช้งานที่ต้องการให้เกิดฟังก์ชันของการนั่งเหมือนการพักผ่อนในสวนได้ด้วย สลับไปกับโครงสร้างเสาที่เรียงตัวอย่างเป็นอิสระ ทำให้พื้นที่การใช้งานถูกย่อยลงให้มีความเป็นอิสระเช่นเดียวกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้บรรยากาศของอาคารสนุกสนานและไม่ตายตัว ในขณะที่ ชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารมีการใช้งานที่ตายตัวมากยิ่งขึ้น โดยมีฟังก์ชันของการใช้งานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นอย่างร้านอาหาร และ Play Area ที่กำลังรอที่จะเผยโฉมในอนาคต โดยพื้นที่ทั้งหมดยังคงเปิดโล่ง เชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กับทั้งบรรยากาศภายนอกและภายในอาคารเอง

สำคัญยิ่งกว่านั้น บันไดต่างระดับภายในคอร์ตของอาคาร ยิ่งได้พาเหล่าคนเมืองไต่ขึ้นไปสัมผัสกับอากาศด้านบน ที่หอบเอาแสงอุ่นฉาบฉายที่ว่างและละลายบรรยากาศทั้งหมดให้หลอมรวม ระเหยกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมให้อบอวลในพื้นที่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้นิยามของสวนเมืองที่แตกต่าง ไม่ว่าใครจะมีจินตนาการถึงพื้นที่สวนที่ต้องการไว้แบบใด แต่กับนิยามของพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่าง The Commons แห่งนี้ ก็ควรค่าแก่การแวะมาพักหย่อนใจ และสัมผัสกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่สร้างมาเพื่อคนเมืองรุ่นใหม่โดยแท้จริง

 01
ชั้น 2 ของพื้นที่ส่วนกลางของ The Commons เปิดโล่งแชร์บรรยากาศร่วมกับส่วนอื่นๆ ตลอดทั้งอาคาร ผ่านคอร์ตส่วนกลางที่เปิดทะลุเชื่อมต่อพื้นที่ทางตั้งกับพื้นที่ในชั้นอื่นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว

03ความลดหลั่นของขั้นบันไดเมื่อมองจากมุมสูง สร้างการรับรู้อันน่าประทับใจให้กับผู้ที่ได้มาสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้

02ทางลาดเชื่อมต่อระหว่างชั้นลอย (Mezzanine) กับชั้น 2 สร้างเอกลักษณ์ให้กับอาคารด้วยขั้นบันไดที่สถาปนิกออกแบบให้สามารถนั่งเล่นได้คล้ายกับเนินเล็กๆ ในสวนหลังบ้าน ทางลาดที่มีความสูงต่ำสลับกันนี้ ได้มอบความหมายใหม่ให้กับคำว่าคอมมูนิตี้มอล ที่สะท้อนความเป็นพื้นที่ของชุมชน มากกว่าการเป็นพื้นที่เพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว

04ขั้นบันไดที่สลับซับซ้อน รวมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมภายใน The Commons สลับกับสีเขียวจากต้นไม้ที่ออกแบบจัดวางในองค์ประกอบที่พอเหมาะพอดี

05มุมมองผ่านขั้นบันได ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือไต่ระดับขึ้นไปสู่ชั้นบนของ
คอมมูนิตี้มอลแทนบันไดเลื่อนหรือลิฟต์ มอบประสบการณ์ให้ผู้คนจดจำสถานที่ในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะกลางแจ้งสลับกับพื้นที่จับจ่ายได้อย่างสร้างสรรค์

06
พื้นที่ส่วนบนในชั้นที่ 3 ของ The Commons เปิดรับบรรยากาศของมหานครผ่าน Façade ตะแกรงเหล็กที่ทำหน้าที่กรองแสงแดดและสร้างฉากของมุมมองที่น่าสนใจ ให้กับพื้นที่ส่วนกลางของคอมมูนิตี้มอลเอง

07พื้นที่ส่วนบนในชั้นที่ 3 ของ The Commons เปิดรับบรรยากาศของมหานครผ่าน Façade ตะแกรงเหล็กที่ทำหน้าที่กรองแสงแดดและสร้างฉากของมุมมองที่น่าสนใจ ให้กับพื้นที่ส่วนกลางของคอมมูนิตี้มอลเอง 08รูปตัด แสดงฟังก์ชันการใช้งานภายในโครงการ

A    I    Storage
B    I    Control Room
C    |    Electrical Room
D    |    Market
E    |    Parking Area
F    |    Restroom
G    |    Staff Area
H    |    Shops
I    |    Common Area
J    |    Office

Leave A Comment