…THAT ALL., ETC.


ปีนเครื่องบิน กินกลางสวน รัญจวนยวนใจ ไปกับงานศิลป์หลากหลายในช่างชุ่ย

เราเฝ้ามองการเคลื่อนไหวเครื่องบินมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยังเป็นเพียงเศษเหล็กก่อนจะประกอบรูปร่าง และตั้งตระหง่านกลายเป็นไอเท็มใหม่แห่งฝั่งธนฯ เอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เรากำลังพูดถึง “ช่างชุ่ย” เรื่องชุ่ยๆ ของช่างก่อสร้างที่ดันตกร่องปล่องชิ้น ปะติดปะต่อผิด แต่ดันถูกอกถูกใจนักคิด นักสร้างอย่าง คุณลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่ยิ่งใหญ่ ที่ไกลจากคอนเซ็ปต์เดิมที่วางไว้แค่โชว์รูมออฟฟิศ Flynow ไปเยอะเลย วันนี้ทีมเดย์เบดส์ เราไม่ได้คุยกับคุณลิ้ม (ก็แหง…สถานที่มัน Hit  คนก็ต้อง Hot เป็นธรรมดา) แต่เราได้คุยกับคุณส้มโอ-ชนกพร ถิ่นพังงา General Manager ของช่างชุ่ย ผู้ชี้แนะ นำทางให้เรามองเห็นช่างชุ่ย ในแบบที่เราและคุณไม่ต้องไปสรรหาคำมาจำกัดความ

ต้อนรับเราด้วยป้ายทางเข้า ที่ถูกสร้างจากเศษไม้เก่า

“เราเชื่อว่าการสร้างใหม่เรื่อยๆ คือการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างหนี่ง ช่างชุ่ยจึงเริ่มต้นจากตัวคุณลิ้มเองที่เป็นนักสะสมของเก่า โดยคุณลิ้มมองเห็นคุณค่า ในข้าวของที่คนไม่ใช้แล้ว ว่ามีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราว มีคุณค่ามากกว่าการทิ้งมันไป เรามองว่าการชำรุด เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง โลกนี้ไม่มีอะไรเพอร์เฟค คนทุกคนบนโลกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หน้าต่างทุกบาน แม้ว่าจะเก่าและผุ แต่ถ้าเราจัดวางอย่างลงตัว มันก็จะกลายเป็นงานศิลปะที่สวยงามได้ ซึ่งนี่คือความตั้งใจแรกในการสร้างช่างชุ่ย เราอยากสร้าง Platform ขึ้นมาเพื่อสร้าง inspiration ให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา ที่นี่จะเป็นตัวอย่างของการใช้ปัญญาสร้างสรรค์ของที่เก่าแล้ว ให้กลับมามูลค่า โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อวัสดุแปลกใหม่มาสร้าง”

นี่เป็นที่มา ว่าทำไมสิ่งก่อสร้างตั้งแต่ป้ายทางเข้า ตลอดจนสิ่งก่อสร้างภายในโครงการเลียบถนนสิรินธรแห่งนี้ จึงเต็มไปด้วยของมือสอง

“ที่นี่ไม่มีอะไรที่ไม่มีค่า ของเก่าและถูกทิ้งของคนอื่น เป็นของใหม่สำหรับที่นี่เสมอ ในแต่ละยูนิตภายในพื้นที่ 11 ไร่แห่งนี้ คอนเซ็ปต์จะแตกต่างกันออกไป ภายใต้แนวคิด Nothing to Useless นำสิ่งที่ถูกทิ้งขว้างกลับมาใช้ใหม่ ผสมผสานกันตั้งแต่ผนัง วัสดุ อุปกรณ์เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่เครื่องครัว”

นอกจากการใช้ของมือสองมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างแต่ละยูนิต ภายในช่างชุ่ย ยังเน้นต้นไม้เดิมของพื้นที่ไว้เกือบทั้งหมดอีกด้วย “เดิมทีเรามีต้นไม้ใหญ่ 4 ต้น อย่าง ต้นจามจุรี  ต้นโพธิ์  และได้ลงต้นไม้เพิ่ม ตามความตั้งใจที่อยากจะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็น Green Zone  โดยเราได้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักพฤกษาศาสตร์วิทยา มาคิดและวางแผนว่าต้นไม้แบบไหนที่เหมาะสม และทำให้เกิดระบบนิเวศตามธรรมชาติ ปัจจุบันถ้ามาช่างชุ่ยช่วงกลางคืน จะเห็นหิ่งห้อย เห็นกระรอก เห็นแมลงต่างๆ และผีเสื้อ”

‘นาโอ’ ชื่อเครื่องบิน ที่ล้อมาจาก ‘โนอา’

ในอนาคต ‘นาโอ’ จะกลายเป็น Private Museum สถานที่แสดงของสะสมที่หายากของคุณลิ้ม, งานศิลปะอื่นๆ และร้านมิชลินสตาร์ 3 ดาว

ไม่ใช่แค่ชื่อโครงการเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ ‘ช่างชุ่ย’ ยังสร้างสรรค์แต่ละยูนิตภายใน และร้านรวงน้อยใหญ่กว่า 80 ร้าน ให้มีความโดดเด่น แตกต่างอย่างไม่ต้องตะโกน ด้วยการตั้งชื่อที่กลายเป็นจุดเด่นอีกอย่างที่ทำให้โครงการแห่งนี้เป็นที่พูดถึง และน่าจดจำ

“มันไม่มีอะไรเพอร์เฟค เวลาที่เอาช่างมาทำงานอะไรก็ตาม เราเคยลองหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่างชาวบ้าน ช่างชื่อดัง หรือช่างต่างประเทศ งานออกมาชุ่ยเหมือนกันหมด  ตอนแรกก็อารมณ์เสีย แต่พอก้าวผ่านคำว่าสมบูรณ์แบบไปได้ ความเนี๊ยบก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการอีกต่อไป แต่จะทำยังไงที่จะทำให้คำว่า “ชุ่ย” มันกลายเป็นเสน่ห์ของเราได้ ทีนี้ย้อนกลับที่รากเหง้าของเราที่ต่างชาติประทับใจ นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยว เป็นอะไรบ้าง ความวุ่นวายของตลาดสด ตลาดดอกไม้ ความไม่เป็นระเบียบของสายไฟ ความเรียบง่ายและอะไรก็ไม่รู้ของบรรดาอาหารสตรีท ทุกที่ในบ้านเรามันมีสีสัน มีชีวิตชีวา นี่แหล่ะเสน่ห์ของเอเชีย ความชุ่ยที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นแก่นแท้ของคนไทย  และความเป็นช่าง ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงกลายเป็นที่มา ว่าทำไมต้อง ‘ช่างชุ่ย’

จากนั้น เราคิดว่าชื่อเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนการสร้างแบรนด์ ถ้าชื่อดี มีชัยไปกว่าครึ่ง หนึ่งจำง่าย สองสะท้อนความคิดของเรา ถ้าอยากจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องใช้ชื่อที่เบสิคที่สุด ใครอ่านก็เข้าใจ อย่างยูนิต ‘เอนกป้าสงค์’ มาจากชื่อเจ้าของที่เดิม นั้นคือ ‘อาเหนก’ สถาปนิกวัยเก๋า และ ‘ป้าบุญสง’ แฟชั่นดีไซเนอร์วัยเกษียณ เจ้าของที่ดินเดิมในละแวกใกล้ หรือ ‘แดกดิ้น’ ที่ตรงตัวตามธรรมเนียมการกินของไทย แบบภาษาชาวบ้าน เข้าใจง่าย แดก ที่แปลว่ากิน และถ้ามันอร่อยมากก็ดิ้นกันไป อะไรแบบนั้น แต่ละชื่อจะบอกคอนเซ็ปต์ของแต่ละยูนิตนั้นๆ อย่างเป็นนัยยะ

การดูหนังดูละคร คือ การย้อนดูตัว ถ้าเราดูแล้วเข้าใจมัน และนำกลับมาคิด มันจะเข้าใจทั้งหมดเอง ว่าศิลปินต้องการอะไร ที่มาของ ‘ดูจิตแล้วอะไรก็ช่าง’ พื้นที่แสดงงานศิลปะของคุณพิเชษฐ์ กลั่นชื่น

ช่างชุ่ยไม่มีคำตอบให้กับใคร แต่คุณสามารถหาคำตอบได้เอง ซึ่งคำตอบเหล่านั้น มาจากตัวตนของคุณ ว่าคุณเป็นใคร คุณมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมาแบบไหน คนสิบคนจะเห็นช่างชุ่ยคนละแบบ ถ้าสังเกตดีๆ เราจะไม่มีป้ายอธิบายงานศิลปะ หรือบอกว่าใครมาทำอะไร เพราะเราไม่อยากจะให้คนติดภาพกับการอ่าน และทำความเข้าใจ แต่อยากจะให้คุณเห็น แล้วรู้สึกไปกับมันมากกว่า คล้าย ‘กับระเบิดทางปัญญา’  กับดักที่เราจงใจเล่นกับอารมณ์ของการคาดไม่ถึง ที่จะตามมาซึ่งการเรียนรู้ และอยากค้นหาต่อ

‘ช่างชุ่ย’ คือต้นตอของประโยคคำถาม และคนที่จะตอบคำถามนี้ คือตัวคุณเอง  เราอยากให้คนที่มาที่นี่ มาแล้วไม่เขิน คนแต่งตัวจัดๆ มาก็อยากให้รู้สึกว่าเป็นที่ที่คุณสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้ หรือคนแต่งตัวธรรมดาไปจนถึงเชยๆ  ก็สามารถเดินเข้ามาแล้วคุณมีตัวตน ไม่โดนเหยียด แบบเวลาเดินเข้าห้าง ที่นี่ไม่มีความเหลื่อมล้ำแบบนั้น

เราใช้เวลาสร้างที่นี่อย่างจริงจังเพียง 6 เดือน แต่กว่าจะก่อสร้าง เราผ่านกระบวนความคิดมานานเกือบ 2 ปี เพราะเราเชื่อว่ายิ่งเราคิดเยอะเท่าไหร่ ในตอนทำก็จะใช้เวลาน้อยลงเท่านั้น  เราอยากให้ทุกคนมาค้นหาคำตอบเอาเอง ว่าที่นี่คือ ตลาด คอมมูนิตี้ โรงเรียน ออฟฟิศ ห้าง  มิวเซียม เอาจริงๆ เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน (หัวเราะ) เป็นไปได้ ช่วยมาแล้วหาคำตอบให้เราที ว่า ‘ช่างชุ่ย’ ในความรู้สึกของคุณนั้น คืออะไร?

โครงการช่างชุ่ย เต็มไปด้วยซอกหลืบ ใหญ่-น้อยมากมาย ไม่มีแผนผังในการเดินอย่างชัดเจน จึงไม่แปลกหากบางคนอาจจะเจอในสิ่งที่อีกคนไม่เจอ

ที่นี่ใช้ระบบไอน้ำในการรักษาความชุ่มชื้น และช่วยลดอุณหภูมิให้สู้กับสภาพอากาศที่ร้อนในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนมาใช้ชีวิตกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น


Location : ถนน สิรินธร แขวง บางพลัด เขต บางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Text: ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

Leave A Comment