STRANGER TOWNHOME

01

ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนนี่

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Design: RAD

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครสักคนต้องการที่จะปรับปรุงบ้านทาวน์เฮาส์เพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่กับบ้านแถวอายุราว 20 ปีใจกลางเมืองในซอย 27 ของถนนพหลโยธินหลังนี้ แค่ได้เห็นหน้าตาของบ้านที่ถูกเปลี่ยนรูปทรงจนโมเดิร์น กับสีดำที่ถูกใช้เป็นโทนสีหลักตลอดหน้าบ้านทั้ง 3 ชั้น ยิ่งทำให้อดใจไม่ได้ที่จะขอเคาะประตูเข้าไปทำความรู้จักกับผู้ที่เนรมิตทาวน์เฮาส์พิมพ์นิยมกลายเป็นบ้านโดดเด่นสะดุดตาจนคล้ายว่าจะกลายเป็นคนแปลกหน้าไปในท่ามกลางละแวกของเพื่อนบ้านไปโดยปริยาย

จากความต้องการที่จะมีบ้านที่อยู่ด้วยกันของทั้งสองคน คุณเชษฐ์-กุลเชษฐ์ ชลทรัพย์ และ คุณเพ็ญ-เพ็ญนภา ศุภวัฒน์ สองเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับไลฟสไตล์คนรุ่นใหม่ Friday People และ PPand Family จึงรังสรรค์ทาวน์เฮาส์เดิมที่มีอยู่ให้กลายเป็นบ้านที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยในแบบเฉพาะของพวกเขาโดยได้เพื่อนคือคุณปูน-ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิก จาก RAD Studios เป็นผู้ดูแลงานออกแบบ

“ผมอยากได้บ้านที่โมเดิร์นน่ะครับ จริงๆ ถ้าเกิดดูโดยรวมภายในบ้านนี้มันก็จะมีสีอยู่แค่ 3-4 สีเอง แฟนผมจะเป็นคนชอบสีขาวกับไม้ เพราะฉะนั้นชั้น 1 กับชั้น 3 จะเป็นโทน ขาวกับไม้ เป็นหลัก ชั้น 2 เนี่ยจะเป็นโซนของผมเอง ก็จะเป็นห้องพวกดูหนังอะไรพวกนี้ ก็จะเป็นโซนที่มีสีดำ แล้วก็มีสีเขียวนิดหน่อย ผมไม่แน่ใจว่าผมเรียกถูกหรือเปล่า แต่ว่า น่าจะเป็นอินดัสเทรียลผสมกับโมเดิร์นลอฟต์ปนๆ กัน” คุณเชษฐ์กล่าวถึงแนวคิดหลักของบ้านที่มาจบในสไตล์เรียบง่ายแบบมีเท็กซ์เจอร์อย่างโมเดิร์นลอฟต์ตามความชอบส่วนตัวของเขาและภรรยา

เพื่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานให้ตรงกับความต้องการมากที่สุดการรีโนเวตทาวน์เฮาส์ทั้ง 3 ชั้น จึงเริ่มจากการทุบแทบทุกอย่างทิ้งเหลือไว้เพียงโครงสร้างเดิม พื้นที่ชั้น 1 ถูกปรับเปลี่ยนโดยการทุบผนังทั้งหมดเพื่อยืดพื้นที่การใช้งานให้กลายเป็นห้องเดียวกันตลอดตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงหลังบ้านกั้นพื้นที่อย่างเบาบางด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และชุดครัวที่ออกแบบขึ้นใหม่ ส่วนซักล้างถูกยกขึ้นไปสู่บริเวณชั้น 2 บริเวณหลังบ้าน ต่อเนื่องไปกับห้องนอนสำหรับแขก โดยหน้าบ้านเน้นเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนที่ประกอบด้วยห้องโฮมเธียเตอร์ ต่อเนื่องกับระเบียงหน้าบ้านที่กว้างขวางปูด้วยหญ้าเทียมสำหรับสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน โดยตลอดพื้นที่ชั้น 2 จะสามารถเปิดประตูหน้าบ้านกับหลังบ้านเพื่อปล่อยให้อากาศไหลผ่านได้ ทำให้สามารถระบายอากาศของพื้นที่ส่วนใหญ่ในบ้านได้มากกว่าบ้านทาวน์เฮาส์แบบปกติโดยทั่วไปจึงทำให้บ้านไม่รู้สึกอึดอัด ส่วนพื้นที่ชั้น 3 ถูกเปลี่ยนให้เป็นชั้นของมาสเตอร์เบดรูมเชื่อมต่อกับห้องน้ำส่วนตัวพร้อมกับอ่างจากุซซี่่ สถาปนิกจึงเพิ่มความเป็นส่วนตัวด้วยการกั้นผนังกระจกอีกชั้นตั้งแต่ทางขึ้นจากบันได เพื่อแยกชั้นของห้องนอนหลักออกจากส่วนอื่นๆ ของบ้านได้โดยสิ้นเชิง

“ตอนแรกก็ชอบลอฟต์นะ แต่คุยกันแล้วว่าถ้าเกิดเป็นลอฟต์อย่างเดียวมันอาจจะดิบเกินไปสำหรับที่จะเป็นบ้าน ก็เลยพยายามปรับให้มันแข็งน้อยลง ใช้สีขาวเยอะขึ้น อะไรพวกเนี้ยครับ ตอนแรกจะทำพื้นเป็นปูนดิบ ก็ดูแล้ว อาจจะไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นกระเบื้องแทน แต่ยังคงให้มีกลิ่นแบบเดิม” คุณเชษฐ์เสริมในเรื่องกระบวนการระหว่างการออกแบบ ที่ตัวเขาเองจะเป็นคนดูแลฟังก์ชันของบ้านโดยภาพรวมส่วนคุณเพ็ญจะดูแลในเรื่องของมู้ดโทนและบรรยากาศของสีสันภายในบ้านตลอดทั้งชั้น 1 ถึง 3

พื้นที่ที่จำกัดของบ้านทาวน์เฮาส์ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการใช้ชีวิตในบ้านแต่อย่างใด กลับกัน พื้นที่ที่คอมแพ็คนั้นกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการได้ง่ายด้วยความเข้าใจในพื้นที่ทุกส่วนในบ้านเป็นอย่างดีห้องทุกห้องจึงถูกใช้งานอย่างเป็นสัดส่วนตลอดพื้นที่ทาวน์เฮาส์ทั้ง 3 ชั้น โดยที่ไม่มีเศษเหลือเพราะพื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ถูกออกแบบผ่านกระบวนการพูดคุยและเลือกสรรแล้วถึงสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการอยู่อาศัยที่เกิดขึ้นจริงจากตัวตนของพวกเขา

“อยากได้ทาวน์เฮาส์ที่มีความเป็นบ้านมากขึ้นน่ะครับแล้วก็พยายามให้เขาออกแบบให้บ้านมันเชื่อมถึงกัน ไม่ปิดทั้งหมด เพราะจริงๆ บ้านมันก็เล็กอยู่แล้วอย่างโต๊ะก็ใช้ร่วมกันเป็นทั้งโต๊ะกินข้าว แล้วก็โต๊ะทำงาน เพื่อจะได้เซฟสเปซไป อย่างอื่นก็คือโจทย์ของผมกับแฟนเอง แฟนอยากได้จากุซซี่อยู่ในบ้านผมอยากได้ห้องดูหนังส่วนตัวของผมเองอะไรแบบนี้” คุณเชษฐ์เสริม

ทำเลที่คุ้นชินและด้วยความที่เป็นละแวกบ้านของครอบครัวเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเชษฐ์ไม่ต้องการที่จะย้ายไปอยู่ที่ไหนที่อื่นไกล แม้ว่าการปรับปรุงบ้านเก่าอาจต้องแลกมาด้วยเวลาและความเสี่ยงหลายอย่างรวมถึงราคาที่ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการซื้อบ้านหลังใหม่เท่าใดนัก

“เมื่อก่อนผมอยู่ข้างในเนี่ย แล้วก็มีบ้านพ่อแม่ผมอยู่ข้างในอีกหลังหนึ่ง ผมก็เลยย้ายออกมาแทน ด้วยเป็นบ้านของที่บ้านอยู่แล้วด้วยครับ มันก็ดีอย่างที่เราจ้างสถาปนิกมา มันเปิดโลกนิดหนึ่ง เพราะไม่งั้นทำเองก็คงทำเป็นกล่องๆ อย่างที่สองคือ มันก็ได้เลย์เอาต์ ได้ฟังก์ชันอย่างที่เราต้องการไม่เหมือนการที่เราเข้าไปอยู่บ้านที่ซื้อปกติ แล้วปรับเปลี่ยนอะไรได้แค่นิดหน่อย อันนี้ก็คือรื้อ แล้วก็ทำอย่างที่เราอยากได้จริงๆ มันก็เปลือง แต่ก็ ยังไงก็อยากอยู่บ้านน่ะครับ” คุณเชษฐ์ตอบด้วยรอยยิ้ม

“ถ้าเทียบกับการซื้อบ้านใหม่ ด้วยความที่เราอยากจะอยู่กลางเมืองส่วนใหญ่ด้วยราคาเท่านี้ บ้านก็คงต้องอยู่นอกเมืองออกไปแล้ว แล้วอีกอย่างนึงคือฟังก์ชันบ้านตรงนั้น ก็คงไม่เหมือนกับที่เราอยากได้ ผมคงไม่ได้มองที่ความคุ้ม แต่มองที่จริงๆ เราอยากได้อะไรมากกว่า”
กุลเชษฐ์ ชลทรัพย์

00
ภาพหน้าฉากของทาวน์เฮาส์สีดำ 3 ชั้น ในสไตล์โมเดิร์นซึ่งเป็นไอเดียของงานออกแบบที่เจ้าของบ้านทั้งสองคนชื่นชอบรูปด้านของระเบียงของชั้น 3 มีการออกแบบให้เฉียงทำมุมหลบแดดบ่ายเพื่อลดความร้อนที่จะตกกระทบโดนห้องสำคัญ นั่นคือห้องนอนหลักของเจ้าของบ้านทั้งสองคนนั่นเอง

04คุณเชษฐ์ และคุณเพ็ญ เจ้าของบ้านทาวน์เฮาส์สีดำ ร่วมกับ เจ้าทิชชู เจ้าของบ้านร่วมพันธุ์เฟรนช์บูลด็อกที่มาทักทายพวกเรา Daybeds อย่างไม่เคอะเขิน

02
โซฟาสีขาวใช้ต้อนรับแขกเหรื่อที่แวะเวียนและเป็นพื้นที่พักผ่อนร่วมกันของคนในครอบครัว

03มุมมองเมื่อมองจากด้านหลังบ้านสู่หน้าบ้าน พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ซักล้าง แบบเดียวกับบ้านตึกแถวทั่วไป ถูกทุบและเชื่อมต่อกับพื้นที่ทั้งหมดภายในโถงชั้น 1 เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานพื้นที่ในชั้น 1 ให้กว้างขวางสูงสุด

05โถงบันไดที่ใช้เชื่อมพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 ถึง 3 ตกแต่งด้วยโคมไฟสีดำเรียบง่ายแต่ไม่น่าเบื่อ เติมอารมณ์ให้บ้านสีขาวด้วยไฟสีอบอุ่น

0706ทางเดินเชื่อมกลางบ้านของพื้นที่ชั้น 2 ใช้เชื่อมส่วนใช้งานหลักคือ ห้องชมภาพยนต์ ห้องน้ำ และห้องนอนแขก

08ห้องชมภาพยนต์ที่เชื่อมต่อไปกับระเบียงหน้าบ้านที่ปูด้วยหญ้าเทียมเป็นพื้นที่พักผ่อนสบายๆ ในเวลาที่ต้องการสังสรรค์กับเพื่อนเจ้าของบ้านยังแอบเติมบาร์เล็กๆ ให้กับตัวเอง เพื่อเติมบรรยากาศดีๆให้กับโอกาสพิเศษที่ไม่ได้มีมาบ่อยๆ

09โถงบันไดสีขาวตกแต่งด้วยราวจับสเตนเลสและกระจกใส สร้างความกลมกลืนไปกับพื้นที่ในบริเวณอื่นๆ ของบ้าน

1011ห้องนอนหลักของเจ้าของบ้านทั้ง 2 คน ยึดเอาพื้นที่ชั้น 3 ของบ้านทั้งหมด ทุบผนังและเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมด ปรับเปลี่ยนห้องนอนที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นห้องน้ำที่ต้องมีพื้นที่เพียงพอเพื่อรองรับอ่างจากุซซี่ สร้างความเป็นส่วนตัวด้วยผนังกระจกที่ปิดกั้นแยกพื้นที่ทั้งหมดออกจากโถงบันได จึงได้พื้นที่ใช้สอย ห้องนอนที่กว้างขวาง เพียงพอให้เจ้าทิชชูร่วมใช้พื้นที่ห้องด้วยอีกคน ห้องคลุมโทนให้อยู่ในโทนสีอ่อนตกแต่งด้วยสีขาวและไม้แบบที่คุณเพ็ญชื่นชอบ ประดับด้วยวอลล์เปเปอร์ลายอิฐสีขาวล้อไปกับพื้นที่รับแขกที่ชั้น 1 ที่ต้องการให้อยู่ในมู้ดและโทนเดียวกัน

12โคมไฟรูปหมวกมอบบรรยากาศเป็นกันเองให้กับห้องไฟสีอบอุ่นช่วยผ่อนคลายอารมณ์ สู่การพักผ่อนในพื้นที่ส่วนตัวให้ความรู้สึกว่าได้กลับบ้านจริงๆ

Leave A Comment