SINGHA D’LUCK CINEMATIC THEATRE / A49


THE UNIQUENESS ‘Cinematic Theatre’
วิจิตรจินตทัศน์ เสน่ห์ไทยลุ่มลักษณ์สละสลวย

Text: ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

จากตัวเมืองพัทยาใต้ จุดมุ่งหมายในการเดินทางของเราในครั้งนี้ไม่ใช่ท้องทะเล แต่กลับเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ริมถนนเทพประสิทธิ์  SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre นวัตกรรมสิ่งก่อสร้างที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานกว่า 3 ปี ระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาคสถาปัตยกรรม ภาคการแสดง และอีกหลากสาขาวิชาชีพ ผสมผสานไอเดียเกิดเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ที่เป็นมากกว่าโรงละคร

นับเป็นโอกาสดีของทีมเดย์เบดส์ที่นอกจากจะได้ชมการแสดง KAAN ที่บรรจุอยู่ภายในโรงละคร ยังได้พูดคุยกับทีมผู้ออกแบบตัวอาคาร คุณเล็ก-ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด สถาปนิกอาวุโส เจ้าของผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สร้างชื่อในหลากรูปแบบ และ ดร.กอล์ฟ-ณรงค์วิทย์ อารีมิตร สถาปนิกนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน  ถึงคอนเซ็ปต์การดีไซน์แห่งนี้             

DAYBEDS: อยากให้เล่าถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre

PRAPAKORN:  โปรเจ็กต์นี้เป็นงานที่แข่งขันกันระหว่างทีมออกแบบเจ้าอื่น ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง แต่สิ่งหนึ่งเลยที่ทีมของเรามีผม ดร.กอล์ฟ น้องๆ สถาปนิก และทีมแลนด์สเคป จาก A49 ตั้งใจทำ คือ เราจะตีโจทย์ที่ได้มาอย่างไร เพราะเวลาเราดูโรงละครทั่วไป ก็จะรู้สึกแค่ว่ามันคือโรงละคร ไม่ Wow หรือ Impress กับสิ่งก่อสร้างด้านหน้า ก็แค่เข้าไปตื่นเต้นกับการแสดงโชว์ข้างในอย่างเดียว

แต่ความตั้งใจของเราคือ อยากให้ตัวสถาปัตยกรรมโรงละครสอดคล้องกับการแสดงด้านใน และจะทำยังไงให้โรงละครนี้ไม่เหมือนโรงละครทั่วไป ก็มีหลากทางเลือกมาก จากคอนเซ็ปต์หลักนั่นคือ “มายา” ซึ่งเราตีโจทย์คำว่า Illusion ออกมาเป็นตัวอาคารที่มีความเป็นมายาคติ แต่เดิมเราคิดแค่ว่าให้ Façade ตัวนี้ลอยได้โดยมีกลบทที่เป็นกระจก และสร้าง Movement ของตัวอาคารด้านบนด้วยเทคโนโลยี High Definition Projection  Mapping ซึ่งเป็นการฉายภาพกราฟฟิกเคลื่อนไหวลงบนพื้นผิวอาคาร แต่ทีนี้มันจะมีปัญหาในตอนกลางวัน อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่ใช้ และเรื่องของการ Maintenance ซึ่งเราไม่ได้ต้องการตรงนี้ เราต้องการลดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเคลื่อนไหวหรือไปยุ่งกับมันมาก ทางดร.กอล์ฟจึงต่อยอดความคิดของคำว่า “มายา” ก็คิดอยู่หลายวิธี จนมาจบที่ Kinetic Wall

NARONGVIT: คำว่ามายามันคือการสร้างภาพลวงตา เราทำการบ้านกันเยอะมาก ออกแบบไว้หลายรูปแบบ จนมาจบที่ Kinetic Wall บนรูปแบบของตัวอาคารที่เป็น Levitation หรือ “ลอย”

หากมองเผินๆ เสมือนกล่องสี่เหลี่ยมสีทองขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่เหนือพื้น

“ความตั้งใจของเราคือ อยากให้ตัวสถาปัตยกรรมโรงละครสอดคล้องกับการแสดงด้านใน และจะทำยังไงให้โรงละครนี้ไม่เหมือนโรงละครทั่วไป”

ประภากร วทานยกุล

DAYBEDS: จากงานโครงสร้างปกติที่เราคุ้นชิน สู่รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมลอยได้ อยากให้อธิบายถึงขั้นตอนและความยากง่ายในการก่อสร้างให้เราฟังหน่อยค่ะ

PRAPAKORN:  ตอนที่เราคิด เราได้ทดลองทำกับโมเดล ซึ่งมีขนาดเพียงแค่ 5 นิ้ว ซึ่งพอเราติดตัวกระจกลงไปในส่วนที่เป็นฐานรองรับกล่องสี่เหลี่ยมข้างบน จากภาพ เราเห็นมิติที่แตกต่างของวัตถุ 2 ชิ้น อาคารด้านบนลอยได้อย่างที่ใจคิดจริงๆ แต่เราไม่รู้เลยว่าในตอนที่ก่อสร้างจริงนั้น มันจะสามารถลอยได้อย่างที่คิดไหม

NARONGVIT: ต้องบอกก่อนว่าในไซส์ขนาดนี้ ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน ซึ่งมันก็ค่อนข้าง Experiment สำหรับเราพอสมควร ไม่ใช่แค่ออกแบบแล้วโยนให้ช่างทำ แล้วเราก็ไปนั่งรอสบายๆ แต่เราต้องเฝ้าดูในทุกกระบวนการเพื่อให้ได้อย่างที่เราคิดไว้ตอนแรก

PRAPAKORN: จากแบบที่เราร่างไว้ เดิมคือตัวกล่องด้านบนจะต้องยื่นออกมามากกว่านี้ แต่เราถึงเวลาที่ต้องทำงานจริง ด้วยข้อจำกัดในหลายองค์ประกอบ เท่าที่เราทำได้คือแค่ 8 เมตรเท่านั้น  ซึ่งถ้ายิ่งยื่นออกมามากเท่าไหร่ ตัวกล่องด้านบนจะยิ่งเกิด Reflects กับส่วนโครงสร้างหลักที่เป็นกระจกด้านล่าง และพื้นที่โดยรอบตัวอาคารมากขึ้นเท่านั้น

DAYBEDS: ส่วนหนึ่งจากการสังเกตุของเรา นอกจากตัวกระจกที่ทำให้เกิดมิติ หรือมายา ความพิเศษที่เกิดจากพิกเซลเล็กๆ ที่มองจากภายนอกก็สร้างภาพลวงได้ไม่แพ้กัน

NARONGVIT:  เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของตัวอาคารนี้ คือ Façade หรือผิวด้านหน้าอาคารที่สะท้อนคำว่ามายาโดยวัสดุที่ใช้คือ เรานำแผ่นอะลูมิเนียมมากัดสีจนได้สีทอง ตัดขนาดสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด จากนั้นนำมาเรียงตัว และทำ Fitting ในกระบวนการที่จะไม่ทำให้แผ่นอะลูมิเนียมแต่ละแผ่นซ้อนทับกันขณะเคลื่อนไหว ซึ่งแผ่นอะลูมิเนียมคือความตั้งใจที่เราอยากจะสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย และอยากให้เชื่อมโยงกับรูปแบบการแสดงภายในตัวอาคาร

PRAPAKORN: ในตอนที่เราทดลองกับตัวโมเดล เราทึ่งกับการเคลื่อนไหวของแผ่นอะลูมิเนียมค่อนข้างมาก ซึ่งพอนำมาเรียงบนไซต์งานจริง กว่า 30,000 แผ่น พอเขาโดนลม หรือทำปฏิกิริยากับอากาศและช่วงเวลา ภาพที่สะท้อนจะแตกต่างกันออกไป ต่อให้อาคารนี้ผ่านระยะเวลาไปสัก 5 ปี มันก็จะยังมีความพิเศษในตัวมัน เป็นอาคาร Timeless อย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากวัสดุที่ใช้ทั้งกระจก แผ่นอะลูมิเนียม สระน้ำที่อยู่ด้านหน้า ก็เป็นความตั้งใจ ที่เราร่วมคิดกับทีมออกแบบภูมิทัศน์ L49 เพื่อที่อยากจะให้น้ำเป็นตัวสะท้อนภาพมายาที่เห็นจากด้านหน้าให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

“แผ่นอะลูมิเนียมคือความตั้งใจที่เราอยากจะสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย และอยากให้เชื่อมโยงกับรูปแบบการแสดงภายในตัวอาคาร”

ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร

แผ่นอะลูมิเนียมสีทอง รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว่า 30 ,000 ถูกเรียงร้อยด้วยกรรมวิธีพิเศษ พลิ้วไหวตามแรงลมอย่างอิสระ สะท้อนภาพของตัวอาคารฝั่งตรงข้าม ก้อนเมฆ และทุกสรรพสิ่งในระนาบฟ้า

กระจก แผ่นอะลูมิเนียม และสระน้ำ เป็นตัวสะท้อนภาพมายาที่เห็นจากด้านหน้าให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งภาพสะท้อนบนตัวอาคารเกิดจากการตกกระทบของแสงธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

DAYBEDS: รวมแล้วคือความพิเศษที่ทำให้ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre แตกต่างจากโรงละครอื่น

PRAPAKORN: เราทำงานออกแบบโรงละครมาหลายโรงละครมากนะ อย่างที่ภูเก็ต คอนเซ็ปต์จะค่อนข้างสวิงสวายมาก ซึ่งคนละแบบกับที่นี่เลย จุดมุ่งหมายของแต่ละโรงละครก็แตกต่างกันออกไป อย่างที่นี่คอนเซ็ปต์ที่เราได้ตั้งแต่วันแรกที่พรีเซ็นต์คือ “มายา” ซึ่งมาจากรูปแบบการแสดงที่จัดด้านใน หน้ากากของอาคาร ก็เปรียบเสมือนอาภรณ์อย่างหนึ่งที่ตัวละครใส่ในตอนแสดง เพราะฉะนั้นก็ควรออกแบบให้มีความสัมพันธ์กัน งานสถาปัตยกรรมมันมีอยู่ 2 แบบ งานที่ออกแบบแล้วยั่งยืน กับงานที่ออกแบบเป็นแฟชั่น แน่นอนว่าแฟชั่นมันอยู่ไม่นานหรอก เหมือนรองเท้าสีแดงที่เราเคยใส่ แล้วเราเลิกใส่ แต่สำหรับโครงการนี้มันคืองานสถาปัตยกรรมในเสกลที่พอทำออกมา มันเสมือนการปลุกระดมอะไรบางอย่างกับกลุ่มนักออกแบบ ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตผมเองก็ต้องคิดอะไรที่ แตกต่างจากตัวนี้ให้ได้ สถาปนิกคนอื่นก็เช่นกัน

NARONGVIT: ถ้าเทียบกับโรงละครอื่นๆ เรามักจะไม่ได้ออกแบบเพื่อสิ่งที่จัดแสดงด้านในครับ แต่ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre สิ่งที่เราทำคือการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กัน สำหรับที่นี่รูปแบบการโชว์เขาแตกต่างมาก สิ่งที่เราต้องทำคือออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความแตกต่างและ Reflect กับการแสดงด้านใน สิ่งที่เรา Expect  คือเราเชื่อในสิ่งที่ทำ กับโรงละครนี้ เราก็เชื่อว่ามันไม่ได้เป็นงานออกแบบที่ฉาบฉวย  เราเรียนรู้ว่าถ้าเราตามแฟชั่น เราก็จะต้องห้ามหยุดนิ่ง คือต้องตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปตลอด ซึ่งเอาจริงๆ เราไม่ค่อยเชื่อในสิ่งนี้ เราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นที่มากกว่านั้น เราเชื่อและเราหวังว่าในอนาคตอาคารที่ไม่ฉาบฉวย และตอบสนองกับโครงการ รวมถึงให้ประโยชน์กับผู้ใช้งานจะมีมากขึ้นด้วยครับ

จากพื้นที่ภายนอก เส้นสายที่ปรากฏที่พื้น เปรียบเสมือนไฟนำทางพาเราเข้าไปสู่อีกมิติ ผลงานการออกแบบโดยบริษัทแลนด์สเคป อาร์คิเทค 49 จำกัด ภายใต้ธีม “Flow of Imagination” หรือการเชื่อมต่อจินตนาการ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

Leave A Comment