ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง 

Text : Doowoper
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ

 

ส่วนผสมทางความคิดอันลงตัวระหว่างปุ้ม-นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ นักออกแบบผู้มีไอเดียสดใหม่ กับตี้-กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ นักครีเอทีฟผู้หลงใหลงานดีไซน์ สู่การสร้างแบรนด์ Moreover ผลิตของใช้ของตกแต่งบ้านมากไอเดียที่ให้ลูกค้าสามารถต่อยอดการใช้งานได้ในแบบเฉพาะตัว เผยสมการ 1+1 > 2 ที่ชวนสนุกและสร้างสรรค์

  • สิ่งที่จุดประกายให้เกิดการสร้างแบรนด์ 

ตี้ : ผมและปุ้ม ต่างชื่นชมในความสามารถของกันและกันครับ เท้าความสักนิดคือหลังจากเรียนจบด้านสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ผมได้ทำงานเป็นครีเอทีฟอยู่ประมาณ 4-5 ปี ก็รู้สึกอิ่มตัว ระหว่างนั้นจึงหันไปลงคอร์สเรียนสั้นๆ เกี่ยวกับ Interior Design เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผมอยู่แล้วประจวบเหมาะได้มาพบกับปุ้มตามงานอีเวนท์ต่างๆ โดยส่วนตัวปลื้มผลงานของเขาด้วย พอมีโอกาสได้พูดคุย สุดท้ายจึงตกลงร่วมทำแบรนด์กันอย่างจริงจังครับ 

ปุ้ม : ส่วนผมเรียนจบ สาขาศิลปอุตสหกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท สาขา Creative Entrepreneur ที่ Goldsmiths, University of London  หลังจากนั้นก็ทำงานหาประสบการณ์อยู่ที่สองที่ พร้อมกับเริ่มต้นทำแบรนด์ Moreover  โดยนำโปรเจ็คท์ที่เคยส่งมหาวิทยาลัย มาพัฒนาต่อเป็นผลงานชิ้นแรก แต่… ผมไม่รู้วิธีโปรโมท ไม่มีทิศทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคที่ดี เมื่อได้รู้จักพี่ตี้ ทราบว่าเขาเก่งด้านมีเดีย มีจุดเด่นทางด้านการสร้างแบรนด์ และมีความสนใจเรื่องโปรดักซ์ ดีไซน์ นั่นจึงเป็นที่มาให้เราได้ทำงานร่วมกันครับ  

  • จุดเด่นของแบรนด์ Moreover 

ปุ้ม : การสร้างสรรค์ creative functions ครับ ซึ่งถ่ายทอดผ่านงานออกแบบที่เป็นอะไรได้มากกว่าหนึ่งเสมอ ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึงของหนึ่งชิ้นสามารถเป็นได้ถึง 5 หรือ 6 อย่าง แต่ภายใต้แนวคิด creative is more ของแบรนด์ ต้องการให้ผู้ซื้อนำผลิตภัณฑ์มาต่อยอดสร้างสรรค์การใช้งานได้ในแบบที่ต้องการ 

ตี้ : ขยายความอีกนิดคือ… เราออกแบบขึ้นเสมือนเป็นสื่อกลางในการส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ไปยังผู้ใช้ครับ ผ่านแง่มุมของการเพิ่มฟังก์ชั่น หรือวิธีคิดใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความแตกต่างภายใต้รูปฟอร์มที่มีศิลปะ ซึ่งสามารถสอดรับกับการตกแต่งบ้านได้หลากหลายสไตล์นั่นเอง   

  • แรงบันดาลใจในการออกแบบได้มาจาก… 

ปุ้ม : ส่วนใหญ่ผมมักได้อิทธิพลมาจากความคิดสร้างสรรค์รอบตัวครับ อย่างคอลเลคชั่นแรก Origami Collection ผมนำศิลปะการพับกระดาษสไตล์ญี่ปุ่นมาถ่ายทอดสู่งานออกแบบของใช้ของตกแต่งบ้านที่ทำขึ้นจากวัสดุเหล็กครับ โดยมีการทดลองร่วมกับช่างฝีมืออย่างหนัก เพื่อหาเทคนิคการพับขึ้นรูปเหล็กที่สร้างให้เกิดมิติอันงดงาม ทุกชิ้นจึงค่อนข้างพิสดาร บ้างใช้เวลาเกือบสองปีกว่าจะลงตัวเลยล่ะครับ 

“ไม่ว่าปัญหาใด เพียงเราตั้งเป้าหมายให้มั่นคง หรือวางกลยุทธแบรนด์ในอนาคตแบบแน่วแน่ ทุกอย่างก็จะกลายเป็นเพียงปัญหารายวันแสนธรรมดาที่สามารถแก้ไขให้จบลงได้ทั้งนั้น”  

ตี้-กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์​ Moreover

 

ตี้ : สำหรับคอลเลคชั่นที่สอง คือ Seasons Collection นี่ก็หยิบเรื่องของฤดูกาลมาเล่น แต่เพิ่มจุดเด่นในเรื่องของการผสมผสานวัสดุไม้ หรือสแตนเลสมิลเลอร์เข้ามาด้วย ส่วนคอลเลคชั่นล่าสุด Oasis Collection เราก็จะพูดถึงแรงบันดาลใจจากท้องทะเลทราย ซึ่งนำแหล่งความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ที่หลงเหลืออยู่บนความแห้งแล้ง มาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ครับ

  • สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในแง่ของการออกแบบ

ปุ้ม : ความสมดุลของเรื่อง Function Form และ Emotion ไล่ลามไปถึงในแง่เชิงธุรกิจด้วย เพราะสินค้าที่ประสบความสำเร็จ คือการตอบโจทย์ทุกด้าน ไม่ได้หมายถึงดีที่สุดทุกด้าน แต่ต้องทำให้มันเกิดความกลมกลืนและลงตัว สามารถสอดรับไปในทิศทางเดียวกันได้

ตี้ : ส่วนประเด็นนี้ ผมจะช่วยเสริมด้านแง่มุมจากผู้บริโภคให้ปุ้ม คือเราจะมีการคุยและปรึกษากันเกี่ยวกับสินค้าที่ออกแบบ เมื่อถูกนำไปจัดวางในบ้านจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร ฉะนั้น mood & tone ของแบรนด์ส่วนใหญ่ที่ดีไซน์ขึ้นจึงเน้นการสรรค์สร้างให้เข้ากับที่อยู่อาศัยทุกประเภทและทุกสไตล์ โดยสะท้อนผ่านความเรียบง่าย น้อยแต่มากด้วยฟังก์ชั่น  

“การเข้าใจบริบทรอบตัวได้อย่างถ่องแท้ สามารถเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่รู้จบ”

 ปุ้ม-นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Moreover

  • กลุ่มเป้าหมายของคุณคือ

ปุ้ม : กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ศรัทธาในความคิดสร้างสรรค์ อายุราวยี่สิบกลางๆ ไปจนถึงสี่สิบครับ มีกำลังซื้อประมาณหนึ่ง และเชื่อว่างานดีไซน์สามารถทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้   

ตี้ : อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก็คือ กลุ่มคนสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจใหม่ๆ หรือกลุ่มคนเมืองผู้ที่รักในการตกแต่ง ออฟฟิศ บ้าน หรือคอนโดฯ ที่มองว่าโปรดักซ์มีดีไซน์สามารถสร้างบรรยากาศและสุนทรียะของการอยู่อาศัยให้กับตัวเองได้ 

  • ช่วยกตัวอย่างปัญหาในการทำงาน และวิธีแก้ไขในแบบตัวคุณ

ปุ้ม : ปัญหาหลักคือเรื่องราคาครับ เพราะเป็นขั้นตอนที่ลำบากที่สุดสำหรับผม (หัวเราะ) ซึ่งต้องออกแบบให้ลงตัวกับต้นทุนที่มี เชื่อว่าผู้ที่เรียนด้านการออกแบบสามารถดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้สวยได้ทุกคน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องคิดและทำออกมาให้ขายได้จริงๆ สำหรับแบรนด์ของผมไม่ได้ขายเฉพาะในประเทศ แต่มีส่งออกด้วย ฉะนั้นการทำราคาสำหรับการส่งออก ค่อนข้างซับซ้อนและก็มีปัจจัยอื่นๆ ให้คิดมากมาย

ตี้ : ส่วนผมคิดว่า… ปัญหามันมีทุกที่ล่ะครับ แต่ไม่ว่าปัญหาใด เพียงเราตั้งเป้าหมายให้มั่นคง หรือวางกลยุทธของแบรนด์ไว้ในอนาคตแบบแน่วแน่ ทุกอย่างก็จะกลายเป็นเพียงปัญหารายวันแสนธรรมดาที่สามารถแก้ไขให้จบไปได้ทั้งนั้นครับ 

 

 

 

 

  • ขายของสักหน่อย….

ตี้ :  ณ เวลานี้นอกจากขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ FB : moreoverdesign สินค้าเรายังมีวางจำหน่ายอีกประมาณ 14 จุดในประเทศ อาทิเช่น  ร้าน Room concept store (3 สาขา)  ร้าน Happening shop (2 สาขา) CIO ที่เซ็นทรัล (2 สาขา) และร้าน anyroom at the jam factory ซึ่งมีทั้งที่เราติดต่อเองโดยตรง และก็ทางร้านได้ติดต่อเข้ามา สำหรับส่งออกต่างประเทศอาทิเช่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งได้จากคอนเนคชั่นส่วนตัวบ้าง และบางที่ก็ได้จากการไปออกบู๊ธตามงานแฟร์ต่างๆ อย่างล่าสุดที่งาน Style ในไทย และงาน Ambiente ประเทศเยอรมัน 

  • ฝากคำแนะนำถึงว่าที่นักออกแบบในอนาคตสักนิด

ปุ้ม :  สำหรับน้องที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักออกแบบ ผมคิดว่าสิ่งที่ทุกคนควรทำคือการใฝ่หาความรู้รอบด้านให้ได้มากที่สุด ซึ่งในช่วงเรียนอาจถูกสอนในเรื่องดีไซน์ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรือเรื่องฟังก์ชั่นต่างๆ แต่เมื่อก้าวถึงจุดหนึ่งมีประสบการณ​์ในการทำงานมากขึ้น เราก็ไม่ควรหยุดอัพเกรดตัวเองในเรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจสังคม หรือเรื่องวัฒนธรรมด้วย คือไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศนะ แต่ผมหมายถึงต้องพยายามเข้าใจในบริบทโลก เพราะปัจจุบัน งานดีไซน์ไม่ได้แข่งกันเอง เราแข่งกันทั่วโลก ฉะนั้นการเข้าใจบริบทรอบตัวได้อย่างถ่องแท้ ก็สามารถเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่รู้จบ  

 

Leave A Comment