MIXOLOGY MOVE & SOUND


ส่วนผสมที่ลงตัวจากโปรเจ็กต์ดนตรีทดลอง

Text : ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

แม้ในช่วงหลัง เราจะได้ยินได้ฟังการเกิดใหม่ของบทเพลงที่มาจากการผสมผสานดนตรีสมัยใหม่ และดนตรีท้องถิ่นอยู่บ้าง แต่หากให้พูดถึงวงดนตรีที่ยึดเอาการผสมผสานทางดนตรีมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในการทำเพลง คงจะเป็นวงไหนไปไม่ได้นอกจาก ‘รัสมี’ วงที่เกิดจากการรวมตัวของคนดนตรีต่างที่มา แต่มีสิ่งเชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ‘ดนตรี’ ในฉบับพิเศษที่เราเยือนถิ่นเชียงใหม่นี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับส่วนหนึ่งของสมาชิกในวงอย่าง คุณแป้ง-รัสมี เวระนะ (ร้องนำ), คุณอรรถ-อรรถสิทธิ์ กองมงคล (เพอร์คัชชัน), คุณก้อง-สาธุการ ทิยาธิรา (มือกีตาร์) คุณเพชร-เพชรสุวรรณ วรรณโชดก (กลอง) เรามาทำความสนิทสนมกับสิ่งของ และถ้อยคำจากบทสัมภาษณ์ถึงที่มาและแรงบันดาลใจของพวกเขากัน

รัสมี เวระนะ ‘ธรรมชาติบันดาลทุกสิ่ง’

“เดิมทีเป็นคนอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มร้องเพลงตั้งแต่ 5 ขวบ โดยมีคุณพ่อ ครูสอนเจรียง (เพลงพื้นบ้านเขมร) เป็นผู้สอนให้ เริ่มทำวงจริงจังเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่ได้มาอยู่เชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่วงดนตรีในมหาวิทยาลัย วงแจ๊ซสำหรับเล่นตามคลับและบาร์ จนเมื่อปีที่แล้วเริ่มอยากจะมีอัลบั้มจึงได้ฟอร์มวง จริงๆก็เริ่มกับก้องแค่ 2 คนเล่นดนตรีแนวอีสานโซล พอเราเล่นสดก็เริ่มทดลองดนตรีด้วยการชักชวนคนที่เล่นดนตรีชนิดอื่นเข้ามา การเติมเต็มมันทำให้คนเสพรู้สึกดี

จริงๆ เราไม่คิดว่ามันจะต้องเป็นอีสานโซล อีสานบลูส์ อีสานแจ๊ซ หรืออะไร เราแค่อยากทดลอง โดยมีพื้นฐานหลักจริงๆ คือหมอลำ เราแค่อยากทดลองว่าหมอลำมันจะแตกแขนงไปในทิศทางไหนได้บ้าง เวลาไปเล่นคอนเสิร์ตบางทีไปงานต้องขนของ อาจลำบาก อาจทุลักทุเล แต่การเดินทางมันมีความประทับใจเกิดขึ้นเยอะมาก ขอบคุณทุกที่มาด้วยกัน ที่อดทน และเหนื่อยมาด้วยกัน ตั้งแต่เริ่มทำวง ทำคอนเสิร์ตด้วยกันมา ดนตรีมันนำพาเราไปทุกที่เลยนะ ไปเจอคนที่น่าสนใจ ได้ร่วมงานกับนักดนตรีเก่งๆ จากทั่วทุกมุมโลก ได้เดินทางไปเล่นในที่ต่างๆ มันเหนือความคาดหมายไปเยอะมาก

สำหรับเราแรงบันดาลใจมันมาจากเสียงรอบๆ ตัวเสียงธรรมชาติมีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของมัน อย่างเสียงฝนตกก็มีจังหวะซ่อนอยู่ในนั้น เสียงกระดิ่งวัวที่คล้ายๆ กับเพอร์คัชชัน แม้แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเสียงของเครื่องยนต์เจ็ทสกี ซึ่งฟังดีๆ มันก็มีความคล้ายเสียงของเครื่องดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์”


เพชรสุวรรณ วรรณโชดก ‘เสียงที่ซ่อนอยู่ในบทเพลง’

“เดิมทีเป็นผมคนภาคกลาง จังหวัดพิจิตร เล่นดนตรีกลางคืนมาตลอด จนได้มาเรียนที่เชียงใหม่ ก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย สำหรับผมกับรัสมี มันเริ่มจากคอนเสิร์ตงานหนึ่งได้ไปเล่นได้โชว์ร่วมกันบนเวที ซึ่งตอนนั้นรัสมียังไม่มีมือกลอง พอได้มาแจมกันในเพลง ‘สวยไทย’ เขาคงเห็นอะไรบางอย่างก็เลยชักชวนเราให้มาเล่นด้วยกันครับ

ทุกคนคือคนที่คุ้นๆ หน้ากันอยู่ อย่างอาจารย์อรรถและแป้งเคยร่วมทำงานดนตรีด้วยกัน น้องก้องเองก็ทำงานขายเครื่องดนตรีที่เราเป็นลูกค้าประจำมาก่อน สิ่งที่เราทึ่งคือความเป็นตัวเองของรัสมี และก้อง ซึ่งคาแร็กเตอร์ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนที่สร้างงานเพลงหรือต่อเนื่องไปเป็นศิลปิน อะไรที่เป็นไปตามเมนสตรีม มีขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป แต่การเป็นตัวของตัวเองตรงนี้สำคัญมากครับ มันเลยทำให้ผมรู้สึกดีใจ และประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงนี้

สำหรับแรงบันดาลใจของผม ผมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในวัยเด็กเราโตมากับวิทยุทรานซิสเตอร์ และแน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง สำหรับผมมันเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้เราสนใจทางด้านดนตรี เจาะจงไปอีกคือผมสนใจเฉพาะกลอง ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมถึงเลือกที่จะตีกลอง วงรัสมีประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิด หลักๆ เลยผมจะเล่นเฉพาะ Full Band โดยจะเล่นร่วมกับอาจารย์อรรถ เพอร์คัชชันครับ”

สาธุการ ทิยาธิรา ‘เรียนรู้ในความแตกต่างทางดนตรี’

“เดิมทีผมเล่นดนตรีคัฟเวอร์เพลงสากลกับพี่แป้งมาก่อนครับ พอเราเล่นไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่าเบื่อ เลยลองเล่นแนวอื่นดูบ้าง ซึ่งมันทำให้เรารู้ว่าเสียงของเขาพิเศษมาก เราเลยลองฟอร์มวงขึ้นมา และทำงานเพลง
หลากหลายมากยิ่งขึ้น จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พี่แป้งและผมอยากจะทำอัลบั้มเป็นของตัวเองเกิดเป็น Isan Soul แล้วก็เริ่มชักชวนสมาชิกคนอื่นๆ ให้มาร่วมวงครับ

ผมประทับใจอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ การเริ่มต้นทำเพลงใหม่ๆ ด้วยแนวเพลงที่ค่อนข้างแปลกมันเลยเซอร์ไพร์สผมทุกครั้งที่เอาดนตรีหมอลำเข้าไปผสม กระบวนการทำมันสนุกมาก ผมรับหน้าที่เป็นคนเขียนทำนอง และพี่แป้งจะเป็นคนเขียนคำร้อง ผมคิดว่ามันเป็นความดิบ เพลงอีสานส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวที่เป็นพื้นถิ่น ในขณะที่เราพูด หรือเขียนเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขาไปด้วยโดยเราไม่รู้ตัวเลย ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงแล้วมาพบกันมันเป็นความกระด้างจนเกินไป แต่ผมนำความเป็นอีสานมาเป็นไอเดียในการทำเพลง ก็เลยกลายเป็นเพลงอีสานที่มีความโมเดิร์น

สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผมคือกีตาร์ ตัวนี้เป็นกีตาร์ Taylor รุ่นที่เราอยากได้มาก เงินทุกบาทที่ซื้อผมเก็บมาจากการที่เล่นดนตรี ซึ่งตอนแรกที่พวกเราเล่นดนตรีด้วยกัน พวกเราได้เงินน้อยมาก แต่ด้วยความอยากได้ ผมก็เจียดมาเก็บไว้ เก็บอยู่ประมาณปีกว่าถึงค่อยไปซื้อ มันอาจไม่ใช่กีตาร์ที่ดีมาก แต่มีความหมายกับเราทุกครั้งที่หยิบมาเล่น มันเป็นความพิเศษ มันทำให้เราละเอียดละออให้การเล่นดนตรีเพิ่มมากขึ้นครับ”

อรรถสิทธิ์ กองมงคล ‘ต่างวาระ หนึ่งความชอบ’

เราอาจจะมีหลากหลายอาชีพ ฝั่งหนึ่งเราอาจจะอยู่กับฝั่งสถาปัตยกรรม และงานออกแบบ (Fullscale
Studio) อีกฝั่งคือด้านดนตรี ซึ่งเราทำมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ มันมีบางอย่างที่เชื่อมโยงหากันได้ แม้จะเป็นศิลปะคนละแขนง ทั้งสองอย่างมันเหมือนเราหยอดกระปุกไปละนิด กระปุกเราอาจจะไม่โตเหมือนคนอื่น แต่เราไม่เคยทิ้งกระปุกเลยสักใบ

แรงบันดาลใจของผมมันมาจาก  2 สิ่ง สิ่งแรกคือ กลองทับบล้า (Tabla) ได้มาจากตอนที่มีโอกาสไปทำงานที่อินเดีย วันสุดท้ายของทริปก็เลยใช้ตุ๊กตุ๊ก พาเที่ยว และพาไปซื้อเครื่องดนตรี ซึ่งเขาก็พาไปอ้อมโลกเลยนะ พาไปดูผ้า ดูโน่นดูนี่ ระหว่างทางเราก็ถามเรื่องค่าโดยสารตลอด เขาก็บอกไม่เป็นไร เราเพื่อนกัน จะให้เท่าไหร่ก็ว่ากัน เราก็ทะแม่งๆ ตั้งแต่แรกแล้วละ แต่มันไม่มีทางเลือก สุดท้ายเราก็ไปถึงที่ร้าน ซึ่งเป็นร้านเครื่องดนตรีมือสอง ร้านเล็กๆ ที่มีเครื่องดนตรีเก่าๆ ไปถึงเจ้าของเขาก็โชว์ เล่นให้ดู เราทำการบ้านมาแล้วละเรื่องข้อมูลและราคา หลังจากต่อราคากันไป ผมไปยอมอยู่คำหนึ่ง “ลองฟังเสียงดูสิ แคร์ไหมกับรูปลักษณ์ของมัน” ผมก็เลยยอมซื้อในราคาที่สมเหตุสมผล แต่มันแจ็กพอตตอนจ่ายค่าตุ๊กตุ๊ก เขาชาร์จเราแพงมาก ทะเลาะกันเกือบมีเรื่องกันแล้ว แต่ถ้าถามความคุ้มค่ามันคุ้มมาก แล้วสารภาพเลยนะทุกวันนี้ยังตีไม่เหมือนต้นฉบับเขาเลยครับ เพราะดนตรีอินเดียมันยากมาก แล้วผมเรียนรู้การตีกลองด้วยตัวเอง  ทุกวันนี้เลยเอามาซ้อมบ้าง ฝึกบ้าง แต่ยังไม่กล้าเอาไปเล่นโชว์ที่ไหนเลยครับกับอีกสิ่งนั่นคือ แผ่นเสียง เพิ่งเก็บแผ่นเสียงได้ไม่นาน เด็กๆ เราก็ไม่รู้จักหรอก เคยแต่ได้ยินว่าเสียงมันดีมาก ฟังแล้วเหมือนได้ดูนักดนตรีเล่นสด พอมายุคนี้ เทรนด์มันกลับ เครื่องเล่นแผนเสียงเริ่มหาซื้อได้ง่าย เราเลยเริ่มเก็บแผ่นเสียง แล้วมันจะสนุกมากถ้าเราเป็นคนชอบค้น แผ่นนี้เกิดจากการบังเอิญเจอที่ร้านแผ่นเสียงมือสองที่กรุงเทพฯ แฟนเป็นคนคุ้ยของเก่งมาก หยิบแผ่นนี้มาก เป็นแนวละติน-แจ๊ซ แค่แทร็กแรกที่เปิดมา 3 วินาทีแรกนี่ใช่เลย

สำหรับวงรัสมีตัวกลางที่คอยเชื่อมทุกคนก็คือรัสมีและก้อง พวกเขาเชื่อมความแตกต่างทั้งหลายมาร่วมกัน เราเห็นเขาครั้งแรกที่บาร์แจ๊ซที่เราไปเล่น เขากำลังซ้อมเพลงกับเพื่อนในวงของเขา ซึ่งเราก็ประทับใจตั้งแต่ครั้งนั้นเลย ด้วยแนวเพลงแอฟริกันที่เราชอบอยู่แล้วด้วย ผสมกับเสียงร้องของเขาซึ่งตอนนั้นกำลังร้องภาษาเขมรอยู่ มันเข้ากันมาก มันเจ๋งมาก พอเขาชวนมาฟอร์มวงด้วยกัน มันเลยเป็นอะไรที่วิเศษมาก ผมไม่อยากให้มองว่า รัสมี เป็นวงดนตรีแนวไหน มันคือฐานความคิดบางอย่าง เราต้องการสร้างอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ มันไม่สามารถบอกแนวได้ว่าเป็นแนวเพลงแบบไหน ขึ้นอยู่จะใช้สายตาของใครมอง”

จากซ้ายไปขวา อรรถสิทธิ์ กองสุวรรณ, เพชรสุวรรณ วรรณโชดก, รัสมี เวระนะ และ สาธุการ ทิยาธิรา

Leave A Comment