INCLAY STUDIO POTTERY


นัยที่ซ่อนในก้อนดิน  

Text : ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
Photo : เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม, นวภัทร ดัสดุลย์

InClay Studio Pottery ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณบ้านของคุณชิ-จิรวงศ์ วงษ์ตระหง่าน ที่พื้นที่เดิมเคยเป็นโรงเก็บของเก่า ท่ามกลางพื้นที่ว่างเปล่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย คุณชิเปิดสตูดิโอหลังจากเรียนจบ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำโรงงานปั้นเซรามิกเล็กๆ ที่ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ตอนนี้โรงไม้หลังย่อมถูกแปลสภาพโดยยึดเสาโครงอาคารเดิมไว้ ที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นสตูดิโอ ยังเสมือนโชว์รูมและสถานที่เวิร์กช็อปสำหรับผู้คนที่สนใจงานปั้นเซรามิกอีกด้วย

“จริงๆ ผมเรียนคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ระหว่างที่เรียนได้ลองศึกษาศิลปะแขนงอื่นๆ เลยทำให้รู้ว่าจริงๆ เราชอบเซรามิกที่สุด อาจเป็นเพราะมันสามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้หลังจากที่เรียนจบ ระหว่างเรียนก็เริ่มทำงานเซรามิกออกมาขาย  พอเรียนจบจึงเริ่มคิดที่จะเปิดเป็นสตูดิโอ และเริ่มตั้งชื่อแบรนด์ว่า InClay ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในดิน”

จากพื้นที่โรงเก็บของเก่า คุณชิยึดโครงสร้างเดิมของหลังคาไว้ ก่อนจะต่อเติมเพิ่มเพื่อขยายพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น

จากวันแรก จนถึงวันที่สร้างแบรนด์ InClay คุณชิทำงานเซรามิกมากว่า 5 ปี นอกจากทำงานขายในแบรนด์ตัวเอง และทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง ยังมีเปิดเวิร์กช็อปสอน และเปิดพื้นที่ให้เป็นสตูดิโอสำหรับคนที่อยากทำงานซารามิกได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์งานอีกด้วย

“งานส่วนใหญ่เป็นของใช้บนโต๊ะอาหาร จำพวก จาน แก้ว ชาม  ไม่ค่อยเป็นของตกแต่งเท่าไหร่ เพราะอยากให้คนนำของที่เราทำมาใช้ และอีกอย่างคือเราอยากพัฒนาชิ้นงานไปมากกว่าของตกแต่งที่ทำมาเพื่อตั้งโชว์เพียงอย่างเดียว โดยดินที่นำมาปั้นนั้นเราใช้ดินจาก 2 แหล่ง คือดินที่ใช้ตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป จำพวก ดินขาว (Kaolin) กับดินที่มาจากบ้านป่าตาล และแม่ริม ซึ่งเป็นดินที่ได้จากท้องถิ่น จากนั้นนำดินที่ต้องการปั้นมานวดเพื่อไล่อากาศโดยใช้บริเวณอุ้งมือนวดเฉียงจากด้านในดันออกไปด้านนอกตัวคล้ายการนวดแป้งทำขนมปัง หลังจากนวดไปสักระยะใช้มีดตัดแบ่งดินเพื่อตรวจสอบฟองอากาศ หากไม่มีก็เป็นอันว่าใช้ได้

จากนั้นนำดินมาขึ้นรูป ทำได้ 2 วิธี คือการขึ้นรูปด้วยมือ และด้วยเครื่อง เมื่อได้ชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว วางผึ่งทิ้งให้แห้งสนิท ประมาณ 3-4 วันตามสภาพอากาศ จากนั้นนำเข้าเตาเผา ในการทำเซรามิก เราจะเผาทั้งสิ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเรียกว่าการเผาดิบ (Biscuit Firing) ที่อุณหภูมิ 800 องศา ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง ก็จะได้เครื่องปั้นดินเผาจำพวกกระถางต้นไม้ หรืออิฐที่ไม่ซับน้ำเท่าไหร่”

 

“ด้วยความที่มันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ต้องทดสอบค่อนข้างเยอะ ว่าดินชนิดนี้สามารถทนอุณหภูมิขนาดไหนได้บ้าง แล้วจะออกมาเป็นแบบไหน ผมว่ามันท้าทายคนที่ทำงานเซรามิกมาก เพราะต้องใช้ทั้งสองศาสตร์ ทั้งศิลปะ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน”

จิรวงศ์ วงษ์ตระหง่าน

ถ้าเป็นการทำเซรามิกทั่วไป หลังจากการเผาดิบแล้ว ช่างจะนำชิ้นงานที่ได้มาตกแต่งสีด้วยวิธีการเขียนลวดลายหรือสร้างรูปทรงต่างๆ แต่สำหรับ InClay นั้นแตกต่างออกไป แทนที่จะใช้เทคนิคการวาดลายบนเซรามิก คุณชิใช้เทคนิคในการขึ้นลายในขณะที่ปั้น เพื่อให้ได้เซรามิกมีลวดลายทั้งภายในและภายนอก และนี่เป็นเสน่ห์ในการทำเซรามิกภายใต้การทำงานของ In Clay Pottery

“พวกสีเราซื้อมาวาดได้ แต่ดินมีสีเฉพาะของมันเอง เป็นเอกลักษณ์ที่สีทางเคมีทำไม่ได้ ดังนั้นผมจึงเลือกใช้สีจากวัสดุโดยตรง โดยสีพวกนี้เกิดจากแร่หินสกัดเป็นผง และสารที่มาจากผงแก้ว ลายที่ได้ก็เกิดจากดิน งานเลยค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น วิธีการคือการนำดินที่ได้จากหลากที่มาขึ้นลาย โดยการปะ ติด ต่อ เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ ส่วนใหญ่งานของผมจะเป็นลวดลายที่ค่อนข้างเป็นแพตเทิร์นและเทคนิคที่ได้จากการนำเอาวัสดุอื่นๆ อาทิ ลวดลายของเครื่องสาน มากดทับคล้ายการทำภาพพิมพ์ แต่จะมีบางงานที่เป็นงานตามออเดอร์ ที่เขากำหนดสีที่ธรรมชาติไม่มีอย่างน้ำเงิน เราก็ต้องใช้สีทางเคมีผสมลงในดินครับ”

เมื่อเผาดิบในครั้งแรกเสร็จสิ้น คุณชิจะนำงานที่ได้ออกมาเคลือบ โดยทำได้ 2 วิธี คือด้วยวิธีการเทราด เพื่อให้พื้นผิวมันวาวเฉพาะด้านใน หรือด้านนอก หรือการจุ่มหรือชุบผลิตภัณฑ์เพื่อให้พื้นผิวมันเงาทั้งหมด หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายนั่นคือการเผาเคลือบ

“เราเผาเคลือบ (Glost Firing) ที่อุณหภูมิประมาณ 1,260 องศา ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง โดยในการเผาจำเป็นต้องไล่อุณหภูมิจากต่ำไปหาสูงตามระยะเวลา  โดยปริมาณงานที่ใส่ในเตามีผลโดยตรงกับระยะเวลาในการเผา เมื่อกระบวนการเผาเสร็จสิ้นลงแล้ว ต้องทิ้งไว้จนกว่าเนื้อเซรามิกจะลดอุหภูมิกลับเท่าเดิมเพื่อป้องกันงานปริแตก จนได้เครื่องเคลือบดินเผา ทั้งนี้อุณหภูมิในการเผาอาจมากหรือน้อยกว่าที่ตั้งไว้ ขึ้นอยู่กับสารที่ใช้เคลือบ และผิวสัมผัสที่เราอยากได้ หากเผาในอุณหภูมิที่มากขึ้น สารหลอมละลายก็จะมากขึ้นตาม ส่งผลให้ผิวสัมผัสของงานที่แตกต่างกันออกไป”

กว่าจะได้ค่าที่เป็นมาตรฐานทั้งสี อุณหภูมิและระยะเวลาในการเผา คุณชิลองผิดลองถูกมามากกว่า 10 ครั้ง

“ด้วยความที่มันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ต้องทดสอบค่อนข้างเยอะ ว่าดินชนิดนี้สามารถทนอุณหภูมิขนาดไหนได้บ้าง แล้วจะออกมาเป็นแบบไหน ผมว่ามันท้าทายคนที่ทำงานเซรามิกมาก เพราะต้องใช้ทั้งสองศาสตร์ ทั้งศิลปะ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน ไม่มีอันไหนเด่นหรือด้อยกว่ากัน ซึ่งผมชอบกระบวนการเหล่านี้ อาจเป็นเพราะชอบทำอะไรที่มีขั้นตอนด้วยครับ

องค์ประกอบสำคัญในการทำงานเซรามิกอยู่ที่เวลา เพราะดินค่อนข้างแห้งตัวไว และความพอดีของตัวช่าง เพราะหากใจร้อนเกิน งานที่ออกมาก็จะไม่ได้รูปทรง หากใจเย็นเกินไป ดินก็จะแห้งจนปั้นขึ้นรูปไม่ได้ เซรามิกเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติหมด ทั้งตัวเนื้อของวัสดุ และตัวเคลือบที่ได้จากทราย วัสดุตามธรรมชาติที่ไม่ต้องสกัดจากสาร เป็นสิ่งที่คงทน เป็นเซรามิกแฮนด์เมดที่รับใช้มนุษย์ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน” นั่นคือเสน่ห์ทั้งหมดที่ทำให้คุณชิหลงใหลงานเซรามิก และเป็นที่มาของการทำแบรนด์ InClay จนถึงทุกวันนี้

 

ฟากหนึ่งของสตูดิโอถูกแบ่งเป็นห้องทำงานส่วนตัวของคุณชิ และชั้นเก็บเครื่องมือสำหรับทำงานปั้น

นอกจากชิ้นงานที่ถูกวางขายที่ 11 แกลลอรี่ ในซอยนิมมาน 11 ที่นี่ยังเสมือนโชว์รูปขนาดย่อมๆ ที่รวบรวมผลงานภายใต้การทำงานของ InClay Studio Pottery อีกด้วย

นอกจากชิ้นงานที่ถูกวางขายที่ 11 แกลลอรี่ ในซอยนิมมาน 11 ที่นี่ยังเสมือนโชว์รูปขนาดย่อมๆ ที่รวบรวมผลงานภายใต้การทำงานของ InClay Studio Pottery อีกด้วย

นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเวิร์กช็อป มักเป็นชาวต่างชาติ เพิ่งมา 3-4 ปีหลัง ที่คนเริ่มให้ความสนใจงานปั้นเซรามิกเพิ่มขึ้น

นักเรียนที่เข้ามาเวิร์กช็อป

นักเรียน (คนไทย) ที่เข้ามาเวิร์กช็อป

อุปกรณ์การทำงานปั้น และแต่งลวดลาย คล้ายกับการวาดรูป แตกต่างที่พื้นผิววัสดุเป็นดิน ไม่ใช่กระดาษ

อุปกรณ์การทำงานปั้น และแต่งลวดลาย คล้ายกับการวาดรูป แตกต่างที่พื้นผิววัสดุเป็นดิน ไม่ใช่กระดาษ

มาตรวัดแรงดันภายในเตาหลอม ทุกตัวเลขจำเป็นต้องจดสถิติ เพื่อเทียบทุกครั้งเมื่อทำการเผา ส่วนหนึ่งเพื่อการคำนวณระยะเวลาในการเผาที่แน่นอน และเพื่อตรวจสอบความผิดพลาดซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสียหายของเซรามิก

มาตรวัดแรงดันภายในเตาหลอม ทุกตัวเลขจำเป็นต้องจดสถิติ เพื่อเทียบทุกครั้งเมื่อทำการเผา ส่วนหนึ่งเพื่อการคำนวณระยะเวลาในการเผาที่แน่นอน และเพื่อตรวจสอบความผิดพลาดซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสียหายของเซรามิก

คุณชิ สาธิตการทำเซรามิกขั้นพื้นฐาน พร้อมเล่ารายละเอียดและวิธีการทำทีละขั้นตอนให้กับพวกเราฟังอย่างอารมณ์ดี

คุณชิ สาธิตการทำเซรามิกขั้นพื้นฐาน พร้อมเล่ารายละเอียดและวิธีการทำทีละขั้นตอนให้กับพวกเราฟังอย่างอารมณ์ดี

คุณชิ สาธิตการทำเซรามิกขั้นพื้นฐาน พร้อมเล่ารายละเอียดและวิธีการทำทีละขั้นตอนให้กับพวกเราฟังอย่างอารมณ์ดี

ชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์ถูกนำมาผึ่งแดดทิ้งไว้จนกว่าจะแห้งสนิท ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 3-4 วันตามสภาพอากาศ

Contact: InClay Studio Pottery
ถนนสิโรรส 3 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.08-1785-1943

 

Leave A Comment