LEATHER MINE

สำรวจขั้นตอนการผลิตของแบรนด์เครื่องหนังระดับคุณภาพ

TEXT: Boonake A.
PHOTO: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
ASSISTANT PHOTOGRAPHER: กมลรัตน์ ศรีสุข

ในคอลัมน์ Day Factory ฉบับนี้เรามีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานของ Leather Mine แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องหนังที่มีการผลิตสินค้าที่ครบวงจรมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ ทั้งของพรีเมี่ยม ของใช้ในโรงแรม เฟอร์นิเจอร์หนัง กล่องจิวเวลรี่ กล่องส่งมอบบ้าน ชุดเครื่องเขียน และอีกมากมายหลายชนิด

มากกว่านั้น Leather Mine ยังต่อยอดการผลิตให้ครบวงจรมากขึ้นด้วยการสร้างแบรนด์Folio เครื่องหนังและสินค้าStationary สำหรับคนรุ่นใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ “Work for All”รวมถึงแฟชั่นแบรนด์เครื่องหนังอย่างPLINN ขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการสินค้าเชิงไลฟ์สไตล์ที่มีความโดดเด่นทั้งภาพลักษณ์และการใช้งาน

แต่ก่อนจะไปเจาะลึกถึงภายในโรงงาน คุณศุภดนัย ศุภผลศิริProject Manager ของ Leather Mine จะพาเราไปรู้จักเรื่องราวการเกิดขึ้นของแบรนด์ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์เครื่องหนังแห่งนี้ให้เราได้ฟังกันก่อน

  

ต้นกำเนิดแบรนด์Leather Mine

ในส่วนของ Leather Mineก่อตั้งมาประมาณ 35 ปี คือเริ่มต้นตั้งแต่ยุคที่คุณน้าของผมท่านกลับจากต่างประเทศแล้วมีเพื่อนชาวอเมริกันที่รู้ว่าครอบครัวเราทำเรื่องเครื่องหนังอยู่ ซึ่งเขาก็มองเห็นว่าทางนั้นมีความต้องการสินค้าด้านออกาไนเซอร์ที่มีปกหนัง ก็เลยบอกใหคุณน้าลองทำดู เพราะมันมีโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งทางน้าผมก็เห็นเช่นนั้น เลยตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อผลิตออกาไนเซอร์ส่งออกก่อนจะต่อยอดไปยังการทำธุรกิจเกี่ยวกับ Stationaryที่มีตัวหนังมาเป็นส่วนประกอบ รวมถึงงานรับจ้างผลิต(OEM) ด้านสินค้าของขวัญอย่างกล่องหุ้มหนัง  ถาดหุ้มหนัง กรอบรูปให้กับแบรนด์ต่างๆ

ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ของตนเอง

ทำมาได้สักพักก็เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจซึ่งเกิดจากการตั้งคำถามว่า ถ้าบริษัทเรามีแบรนด์เป็นของตัวเองก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ แล้วก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ที่เรามีความสามารถในการผลิตของเหล่านี้อยู่แล้ว เลยมีการสร้างแบรนด์ Folio ขึ้นมา โดยเริ่มแรกเราทำร่วมกันกับคุณจักร โกศัลยวัตรจนเขาลาออกไปทำโปรเจกต์อื่น ผมเองก็รับช่วงมาทำต่อมาประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา

พัฒนาการของแบรนด์Folio

แบรนด์ Folioเองมีวิวัฒนาการของแนวคิดของตัวเองมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคแรกคือในส่วนของสินค้า Stationary เมื่อก่อนจะมีคาแรคเตอร์ที่จำกัด คือถ้าไม่เป็นสีเข้มๆทึมๆ ก็สดใสเป็นลายHello Kitty ไปเลยโดยไม่มีสีกลางๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่Folio เลยนำแนวคิดนี้มาออกแบบสินค้าให้มีสีสันสดใสเรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดในภาพลักษณ์นี้ จนถึงวันนี้Folio มาถึงจุดที่เราตั้งคำถามว่าเรามีอยู่เพื่ออะไร? ซึ่งคำตอบคือเราอยากเราเป็นเครื่องมือที่คนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงเพราะฉะนั้นปรัชญาในการสร้างสินค้าของเราคือ “Work for All” ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า ทน ตอบจุดประสงค์ของการทำงานรูปแบบใหม่และมีความ Work ต่อผู้อื่นด้วย รวมถึงสิ่งแวดล้อมโลกใบนี้ด้วย

Work for All ดีต่อโลกสิ่งแวดล้อมอย่างไร

กับคอนเซ็ปต์ของสินค้าที่มีความWork ต่อโลกของ Folioเรามีแนวคิดว่านอกจากการใช้งานที่ดี สินค้าที่เราสร้างขึ้นมันทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้ด้วย ก็มาลงลึกที่การใช้หนังของเรา ซึ่งตอนนี้ในโรงงานผลิตใช้อยู่สองตัวคือหนังแท้ และหนังที่สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีของการรีไซเคิล โดยปฏิเสธการใช้หนัง PVC ที่สร้างมลพิษตั้งแต่ต้นทาง และหนัง PU ที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้นทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรในด้านต่างๆ มาก

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับหนังรีไซเคิล

หนังรีไซเคิล คืออะไรผมอธิบายแบบนี้ครับ คือในโรงงาน เวลาที่เขาได้หนังแท้มาหนึ่งชิ้น ก็ต้องมีการปาดปรับผิวให้มันเรียบทั้งผืนก่อนจะนำไปฟอกซึ่งในส่วนที่ถูกปอกออกมาเป็นเศษเหลือ จะถูกนำไปทิ้งหรือนำไปเผาทิ้งแล้วแต่ ซึ่งผมก็มองว่ามันน่าจะนำมาใช้ต่อได้ ก็เลยลองทำดู ประกอบกับในโรงงานมีเทคโนโลยี ที่สามารถเอาเศษเหล่านี้กลับไปอัดกลับมาเป็นแผ่นหนังได้ ก็ลองปรับทดลองกันหลายครั้ง จนมันมีความยืดหยุ่นที่มากพอจะนำมาใช้สร้างสินค้าได้ โกลล์ของเราจึงมุ่งมาที่หนังตัวนี้เลย

สร้างแบรนด์ใหม่ให้ตอบโจทย์แฟชั่นไลฟ์สไตล์

นอกจากการทำแบรนด์ Folio เรายังมีการสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นเครื่องหนังขึ้นมาขึ้นมาอีกแบรนด์ก็คือPLINN เป็นแบรนด์ที่เกิดจากพี่สาวของผม เน้นเรื่องสินค้ากระเป๋าที่ผลิตขึ้นจากหนัง Exotic อาจจะเป็นหนังจระเข้ หนังงู หนังปลากระเบน เป็นหลัก  โดยสร้างสัมผัสของความเรียบหรู แต่มีดีเทลในรายละเอียดที่ถูกแอบซ่อนไว้ ถ้าจะให้เปรียบให้เห็นภาพก็คงเป็นผู้หญิงไฮโซที่ดูภูมิฐาน มีรสนิยม สุขุมลุ่มลึก ไม่โหวกเหวกโวยวายเพื่อเรียกร้องหาความสนใจจากภายนอก ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายก็มีที่พารากอน,เอ็มโพเรียม,เซ็นทรัลเวิล์ด สยามดิสคัฟเวอรี่และล่าสุดที่ไอคอนสยามครับ

ในขั้นตอนการผลิตของ Leather Mine

หลังจากที่ได้คุยถึงที่มาที่ไป รวมถึงความโดดเด่นของสินค้าภายใต้แบรนด์Leather Mine แล้ว ทีนี้มาถึงการเข้าชมการผลิต โดยคุณศุภดนัย เป็นผู้นำชมภายในโรงงานทั้ง 2 ส่วนบนพื้นที่กว่า 7 ไร่แห่งนี้  ซึ่งคุณศุภดนัยได้สรุปให้เราฟังว่าภายในโรงงานประกอบด้วยคนงานจำนวน 300 คน การผลิตส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตสินค้าของขวัญ และสินค้าพรีเมียมตามออร์เดอร์จากลูกค้าเป็นหลัก  ขอให้เข้าใจตามนี้ก่อนออกชมโรงงาน

การผลิตเริ่มขึ้นที่หน่วยแรกนั่นคือในส่วนงานออกแบบ ที่มีหน้าที่ในการรับคำสั่งจากลูกค้า เพื่อนำมาสร้างเป็นชิ้นงานสำเร็จรูปออกมาเป็นต้นแบบ ในระหว่างการสร้างต้นแบบจะมีวัดคำนวณสัดส่วนของชิ้นงาน รวมถึงแตกรายละเอียดของวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตอย่างละเอียดด้วย ก่อนจะนำรายละเอียดที่ได้บันทึกไว้ในกระดาษสั่งงานเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนในการเตรียมวัตถุดิบ

เมื่อใบสั่งงานเดินทางยังในส่วนการเตรียมการผลิต พนักงานในโรงงานส่วนนี้ ก็จะรีบจัดแจงเตรียมวัตถุดิบทั้งหมด ทั้งแผ่นหนังทั้งหนังแท้ หรือหนังรีไซเคิล รวมถึงเตรียมไม้รูปแบบต่างๆ เพื่อนำใช้ในการผลิตสินค้าตามที่ได้รับคำสั่งมา กระจายพร้อมใบสั่งงานไปยังหน่วยการผลิตทั้งหมด

เมื่อวัตถุดิบถูกกระจายไปยังหน่วยการผลิตแล้ว พนักงานทั้งหมดก็เริ่มต้นงานไปพร้อมกัน ในส่วนงานไม้ก็จะเริ่มการตัดไม้ให้ได้ขนาด นำไม้มาตัดเลื่อย กลึงผิวให้เรียบ ตัดเป็นชิ้นๆ เจาะรู ถากรอยลิ่ม แล้วนำมาประกอบเข้าไว้ด้วยกันให้ด้วยตะปู ยิงแม๊ก และอัดกาวเชื่อมประสานรอยให้เรียบเนียน พ่นสี จนได้ออกมาเป็นกล่องไม้ ถาด หรือกรอบรูป ตามคำสั่งผลิต

ในไทม์ไลน์เดียวกันนี้ทีมงานสำหรับการทำหนังก็เริ่มงานของตัวเองเช่นกัน ตั้งแต่การรับใบสั่งงานเพื่อนำไปใช้เลือกแผ่นหนังในโกดังเก็บ เมื่อได้หนังตามที่ใบสั่งที่ต้องการแล้ว ทางทีมก็จะนำผืนหนังทั้งหมดส่งต่อไปยังทีมตัดหนังอีกทอด ทีมตัดก็จะนำไปวาดแบบเพื่อการตัดที่ถูกต้องที่สุด

คุณศุภดนัยยังได้เล่าเพิ่มเติมในส่วนของการเลือกหนังว่า ที่ได้เห็นคือการใช้ในการผลิตสินค้าของขวัญอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นการเตรียมหนังเพื่อผลิตสินค้าของ Folio และ PLINN แล้ว ตัวเขาเองจะต้องลงไปร่วมในการเลือกด้วย เพราะทั้งสองแบรนด์ใช้หนังที่มีคุณสมบัติแตกต่างออกไป

หลังจากวาดแบบเสร็จ ก็มาถึงขั้นตอนการตัดหนังออกมาเป็นรูปแบบที่ต้องการด้วยเครื่องตัวระบบอิเลกทรอนิกส์ที่มีทั้งเครื่องตัดแบบกดทับ และอีกแบบเป็นเครื่องตัดแบบสวิงอารม์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนมุมองศาให้ได้ออกมาเป็นแผ่นที่มีรายละเอียดซับซ้อน จนสำเร็จเสร็จออกมาเป็นแผ่นหนังที่มาสามารถนำมาหุ้มตัวโครงไม้ได้อย่างพอดี

แต่ขั้นตอนในส่วนหนังยังไม่หมด หากมีคำสั่งเพิ่มเติมให้มีการปั๊มตราสินค้า หรือให้มีทำตัวนูนบนแผ่น แผ่นหนังก็จะถูกส่งไปให้กับทีมที่รับผิดชอบนำไปเข้าเครื่องปั๊มตัวอักษรตามแบบที่สั่งให้เสร็จเรียบร้อย

เมื่อเสร็จออกมาเป็นกล่องไม้ และแผ่นหนังแล้ว  ทั้งสองส่วนก็จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยประกอบที่จะคอยทำหน้าที่ในการนำหนังมาลงกาว ก่อนนำมาห่อหุ้มโครงไม้ที่ได้มาทั้งหมด จนได้ออกมาเป็นชิ้นงาน ก่อนส่งต่อไปยังส่วนทดสอบคุณภาพสินค้าเพื่อตรวจหาจุดบกพร่อง เมื่อไม่มีจุดใดต้องแก้ไข สินค้าก็จะถูกนำไปบรรจุหีบห่อ ก่อนนำไปกระจายส่งให้ลูกค้าตามวันเวลาที่กำหนดไว้ต่อไป เป็นอันเสร็จทุกขั้นตอนของการผลิต

ทั้งหมดที่คุณศุภดนัยได้พาเราชมอย่างใกล้ชิดในโรงงานของแห่งนี้ บ่งบอกให้เห็นถึงคุณภาพการผลิตที่สามารถสะท้อนคุณภาพของตัวสินค้าทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นได้เป็นอย่างดี และนั่นเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมชื่อเสียงของ Leather Mine, Folio และ PLINN จึงได้รับการยอมรับจากแบรนด์สินค้าต่างๆ รวมถึงผู้ใช้งานมาอย่างยาวนานเกินกว่า 3 ทศวรรษของการก่อตั้งบริษัทนั่นเอง

 

Leave A Comment