KHAO YAI ART MUSEUM

วามสุนทรียะที่เรียบง่าย

เขาใหญ่ อาร์ต มิวเซียม เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เกิดจากความคิดของ คุณพรชัย จินดาสุข ผู้อำนวยการบริหารโครงการ ที่เพียงแค่ต้องการบ้านพักตากอากาศให้ครอบครัวได้เดินทางมาพักผ่อนร่วมกัน แต่ได้ขยายตัวขึ้น เมื่อชักชวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์ ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินและภัณฑารักษ์ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมาเป็นที่ปรึกษา ประกอบกับโดยส่วนตัวแล้ว คุณพรชัย คือนักสะสมงานศิลปะด้วย ภายในมิวเซียมจึงมีผลงานศิลปะของศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยจำนวนหลายร้อยชิ้น และผลงานของศิลปินต่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นของสะสมของคุณพรชัยแต่เพียงผู้เดียว

สำหรับสถาปัตยกรรมของมิวเซียมนั้น  โจทย์ของลักษณะทางภูมิประเทศเป็นผู้กำหนดรูปลักษณ์ในเนื้องานออกแบบ คือการปรับพื้นดินไปพร้อมกับการออกแบบโครงสร้างและลักษณะของอาคาร ด้วยความที่พื้นที่เดิมค่อนข้างแห้งแล้งมีเนินดินเล็กน้อย จึงมีแนวความคิดการออกแบบด้วยการดึงเอาธรรมชาติของภูเขาในเขาใหญ่ และรูปทรงเรขาคณิตที่มนุษย์สร้างเข้ากับสัญลักษณ์ของมิวเซียมที่ออกแบบให้มีเส้นสายเป็นกรอบสี่เหลี่ยม โดยสร้างหุบเขาขึ้นกลางโครงการ ถมดินสร้างเนิน สร้างสระน้ำ ให้มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมสอดแทรกเป็นแนวเขื่อน

สถาปัตยกรรมของมิวเซียมมีหัวใจอยู่ที่ Living With Art นั่นคือการสร้างอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น โครงสร้างเหล็ก เปลือกของอาคารเป็นปูนเปลือย ผสานเข้ากับการกรุกระจกบานใหญ่ เพื่อให้มองเห็นทิวทัศน์ของเขาใหญ่แบบพานอรามา อาคารแห่งนี้ จัดแบ่งห้องแสดงศิลปะไว้ที่ชั้นหนึ่ง 3 ห้อง ทำการสร้างมุมมองให้งานศิลปะและธรรมชาติประสานกลมกลืนเข้าหากันได้อย่างเรียบง่าย ลงตัว โดยให้การสะท้อนเงาภูเขาและสระน้ำที่บานประตูกระจกหน้าหอศิลป์ ภายในเป็นผนังทึบเพื่อการจัดวางงานศิลปะ ทั้งที่เป็นงานจิตรกรรมและประติมากรรม ให้ได้อย่างลงตัวกับความสะดวกสบายที่จะใช้โมงยามไปกับการชมงานศิลปะล้ำค่า ที่มีความสวยงาม สำหรับที่ชั้น 2 เป็นส่วนของห้องขายของที่ระลึก มีลานตรงกลางซึ่งเชื่อมต่อจากทางขึ้นและเชื่อมพื้นที่ส่วนของห้องอาหารไว้ด้วย

ด้วยแนวคิดการตกแต่งที่เน้นความสอดคล้องและการสะท้อนภาพของอาร์ตมิวเซียม สะท้อนสัจจะของวัสดุต่างๆ เช่น บริเวณเคาเตอร์ของร้านออกแบบโดยใช้เสาไม้เก่าหลายชนิด นำมาผ่าตามขวางและกรุตลอดแนวเคาน์เตอร์ ไม้แต่ละท่อนที่ตัดออกมา จะมีความต่างกัน มีลวดลายต่างกัน เมื่อนำมารวมกันก็เปรียบเสมือนกับตัวศิลปินที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีรูปแบบงานที่ต่างกันไป จากการใช้เวลาฝึกฝนเป็นเวลานานกว่าจะได้แนวทางที่ชัดเจนของตนเอง เช่นเดียวกับพื้นผิวของไม้ ทื่ใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะลวดลาย ส่วนของฝ้าเพดานได้แนวคิดมาจากกรอบรูปของงานจิตรกรรมต่างๆ ที่อยู่ในหอศิลป์ รูปแบบของกรอบรูปที่ต่างกันขึ้นอยู่กับศิลปินแต่ละท่านที่จะเลือกสรร มาใช้กับงานของตน ลักษณะของฝ้าจึงคล้ายกรอบรูปหลายขนาดจัดวางซ้อนกัน เกิดมิติและเค้าโครงที่แปลกตา อีกทั้งได้ประโยชน์ในเรื่องของการออกแบบคือ สามารถซ่อนงานระบบต่างๆ ได้อย่างดี

Leave A Comment