CRAFTING SHOES TO HANDBAGS


มรดกล้ำค่าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

เริ่มต้นจาก “บักเซ้ง” ปี 1952 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Wagon Way” ในปี 1993 ช่างผู้สร้างพลิกผืนหนัง ละเมียดในการเย็บ ถัก ขึ้นรูปจนได้เป็นรองเท้าหนังคุณภาพดี ส่งจำหน่ายในประเทศ จนไปไกลถึงยุโรปและตะวันออกกลาง กว่า 65 ปีที่ครอบครัววิทยสัมฤทธิ์ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหนังมา ธุรกิจเครื่องหนังเดิมได้ถูกพัฒนาและจึงแตกไลน์เป็นสินค้าใหม่ในนาม 31Thanwa โดยมีเก๋คุณบุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 เป็นผู้ดูแล

เราและทีมช่างภาพ เดินทางตามคำเชิญชวนให้ก้าวเข้าไปยังซอยจำเนียรสุข 1 ที่คูหาสองฝั่ง ส่งกลิ่นทักทายเราอย่างเป็นเอกลักษณ์ว่าถึงที่หมายของโรงงานแปรรูปหนังแล้วล่ะ ภายในซอย คูหาขวา-ซ้าย ถูกแบ่งออกเป็นฝั่งประกอบรองเท้า, กระเป๋า และโชว์รูมเล็กๆ สำหรับโชว์งานที่สำเร็จเป็นรูปร่างเกือบทุกคอลเลคชั่น

“หลักๆ เราจะผลิตรองเท้า Moccasins ซึ่งเป็นรูปแบบคลาสสิคที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียแดง เดิมทีรองเท้าทุกคู่เราจะใช้มือโดยไม่มีอาศัยเครื่องจักร พอมาถึงรุ่นของอาป๊า (ทายาทรุ่นที่ 2) จึงเริ่มนำเครื่องจักรมาใช้ในบางขั้นตอน เพื่อให้เหมาะสมกับกระบวนการ และปริมาณที่เหมาะกับการส่งออกนอกประเทศ แต่ยังคงเสน่ห์ความเป็น Craftsman ship ค่อนข้างสูง ตามมาตรฐานที่ถูกฝึกมาจากรุ่นสู่รุ่น พอมาถึงรุ่นของเก๋ เก๋อยากจะนำองค์ความรู้เดิมมาพัฒนา และต่อยอดเป็นงานเครื่องหนังที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันจึงได้ต่อยออดออกมาเป็นงานกระเป๋า

ซึ่ง Wagon Way ยังคงเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว เป็นชื่อที่ไว้สำหรับขายในต่างประเทศ โดยมี  Youngfolks เป็นแบรนด์ที่เอาไว้สำหรับขายในประเทศ  ซึ่ง Youngfolks เราตั้งใจให้เป็นรองเท้าสำหรับทุกคน ใครๆ ก็ใส่ได้ จึงเน้นที่ราคาที่ไม่สูงมากส่วนหนึ่งอาจเพราะเราผลิตเอง และแบรนด์ 31 ธันวา แบรนด์กระเป๋าของเก๋เอง ที่ต่อยอดมาจากรองเท้าอีกที ซึ่งจะเน้นลูกค้าที่ลักซ์ซัวรี่หน่อย มีกำลังซื้อมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความที่เป็นลิมิเต็ด ออกคอลเลคชั่นเพียงปีละ 1 ครั้ง ราคาก็จะสูงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นข้อดีของเราในการเลือกลูกค้าให้ตรงกับแต่ละทาร์เก็ต

รูปทรงสวยงามหลังจากผ่านการอบด้วยความร้อน

แบรนด์รองเท้าถูกจัดกลุ่มเรียงไซส์รอสู่ขั้นตอนถัดไป

กว่าจะได้เป็นรองเท้าในแต่ละคู่ ช่างในโรงงานจะเริ่มจากการวาดแพทเทิร์นรองเท้า และนำแบบที่ได้มาวาดลงบนหนัง ตัดและตอกตามลวดลายที่ต้องการ จากนั้นนำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเย็บเข้าด้วยกัน ก่อนจะนำหนังหน้ารองเท้าใส่หุ่น นำเข้าเครื่องอบ เพื่อให้รองเท้าเป็นทรง จากนั้นนำมาประกอบกับพื้นโรงเท้าด้วยกาว และเย็บมือตามรูปแบบของการทำรองเท้า ซึ่งที่โรงงานแห่งนี้ยังคงเน้นกรรมวิธีแบบดั้งเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ 1952  นั้นก็คือการเย็บมือ ในการทำรองเท้าแต่ละคู่ของแม้จะอาศัยแฟลตฟอร์มที่มี แต่คุณเก๋ยังคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก

“อย่างลูกค้า UAE ที่เป็นไซส์ใหญ่ เราก็จำเป็นต้องใช้หุ่นแบบที่มีขนาดใหญ่ และกว้างเป็นพิเศษจากปกติ เป็น 3E จนถึง 4E เราค่อนข้างใส่ใจว่าลูกค้าของเราเป็นใคร มาจากไหน เพื่อที่จะได้เลือกฟิตติ้งหุ่นที่เหมาะสม เพื่อในเวลาที่ทำออกมามันจะได้พอดีกับเท้าของลูกค้าได้มากที่สุด”

ในส่วนของขั้นตอนการทำกระเป๋า จะมีลักษณะคล้ายกันกับการเย็บรองเท้า คือต้องวาดแบบร่างขึ้นมาก่อน จากนั้นตัดแต่ละชิ้นส่วน ซึ่งตรงนี้ฝั่งกระเป๋าจะมีชิ้นส่วนที่เยอะกว่า ทั้งงานผ้า และงานหนัง ก่อนจะใช้เครื่องจักรในการเย็บเข้ามุมต่างๆ จากนั้นใช้กรรมวิธีอัดกาวด้วยมือ เพื่อความละเอียด และแน่นหนา ซึ่งความพิเศษของแบรนด์ 31 ธันวา คือกระเป๋า 1 ใบ ต่อช่าง 1 คน ทำทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนจบ

“วัสดุหลักของเก๋คือ ‘หนัง’ วัสดุบุหรืออะไรก็ตามที่ต้องใช้ผ้า เก๋จะใช้ผ้าไหมไทย หรือกำมะหยี่ที่ทอมือ เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ และเพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทอผ้ามากยิ่งขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านและงานออกแบบ เก๋รู้สึกว่าเราโตมาโชคดีกว่าคนอื่น เราเห็นความลำบาก ความตั้งใจ และยิ่งได้มาดูแลโรงงานเองยิ่งทำให้เราตระหนักถึงองค์ความรู้ ต้นทุนที่มากกว่าคนอื่น ก็เลยนำสิ่งนี้มาต่อยอด เก๋ว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่เราหาหรือซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ช่างฝีมือตอกหนังและพื้นเพื่อความแน่นหนาของรองเท้า

บรรจงปาดกาว รอเวลาที่พอเหมาะ นำชิ้นส่วนวางประกบเพื่อรองเท้าที่สมบูรณ์

เสน่ห์ของงานคราฟท์ต้องใช้กำลังภายในค่อนข้างเยอะมากนะ ต้องใช้ใจ ต้องรักมัน ต้องใช้สมาธิ และต้องใช้สติในการทำ กว่าจะเสร็จสักหนึ่งชิ้น ถ้าใจร้อน หรือไม่ได้รักงานที่ทำ ทำไม่ได้แน่นอน เสน่ห์มันเลยอยู่ที่พลังของคนๆ หนึ่งที่จะส่งต่อให้กับอีกคนหนึ่ง เก๋ว่ารสนิยมคนตอนนี้มันหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมนะ แต่แอบเสียใจที่ความละเมียดละไมมันหายไปเยอะมาก มันเหมือนพอเราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย  มันก็ฉาบฉวย เปลือกหมด ซึ่งแตกต่างจากคนสมัยก่อนที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจในคอนเซ็ปต์ และคุณค่าของมัน

ช่วงเวลาที่ได้รับฟังตำนานการทำรองเท้าจากคุณเก๋ และได้เยี่ยมชมโรงงาน สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้ นอกจากรายละเอียดความเป็นมาเป็นไป ความขลังที่ซ่อนตัวอยู่ในความสึกหรอของเครื่องไม้เครื่องมือ ยังเป็นความเก๋าของช่าง ที่คุณเก๋เรียกว่า “ครู” อีกด้วย

ช่างที่นี่เก๋เรียกว่า ‘ครู’ หมด เพราะเก๋ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการทำรองเท้ามาก่อนเลย ช่างที่นี่จึงเปรียบเสมือนครูของเก๋ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน หรือหน้าร้าน เก๋จะบอกทุกคนที่เข้ามาว่า เราคือครอบครัว  อย่าคิดว่าเราเป็นเจ้านาย และคุณเป็นลูกน้อง เพราะเก๋ถือว่าเราเติบโตไปด้วยกัน ถ้าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี คุณก็จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน เก๋ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้โรงงานเติบโตและพัฒนาไป คือสภาพจิตใจ ด้วยความที่เราเป็นเด็กด้วย เป็นรุ่นเจน 3 ที่ยังใหม่มาก ช่างฝีมือทุกคนที่นี่แก่กว่าเก๋หมด

ช่วงแรกๆ ในการเข้ามาทำงานอาจจะเหนื่อย ด้วยความที่เขามีความอาวุโสกว่า และที่สำคัญเก่งกว่าเราด้วย  ก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราอยู่กับเขานะ ไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิงที่แต่งตัวไปวันๆ แต่ลงมาคลุกคลีใช้ชีวิตอยู่กับเขาด้วยเลย  เวลาเขามีปัญหาอะไร เขาก็จะวิ่งมาหาเรา เพราะเราอยู่กับเขาตลอด เราเป็นครอบครัวกับเดียวกับเขาจริงๆ”

ตู้อบที่เต็มไปด้วยร่องรองการใช้งานมาจากรุ่นสู่รุ่น

คุณเก๋กับอาณาจักรเครื่องหนัง วัสดุหลักที่ใช้ทำรองเท้า และกระเป๋า

เร่ิมต้นจากช่างรองเท้าค่อยๆพัฒนาองค์ความรู้สู่ช่างทำกระเป๋า

หลากชิ้นส่วนถูกปะ ตัดด้วยกาวก่อนเย็บเป็นกระเป๋า

ช่างที่นี่ถูกเรียกว่า”ครู”

บรรยากาศบนชั้น 2 ของโรงงาน

กระเป๋า 1 ใบ ต่อช่าง 1 คน

บรรยากาศภายในโรงงาน

Youngfolks

Text: ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

Leave A Comment