CONTEXT STUDIO

00

เรื่องราวของบริบทในงานออกแบบ

Text: พีรยา เชื้อสุนทรโสภณ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, พุทธิพงศ์ ศรีสุวรรณ
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ Take a Seat, Daybeds 164 เดือนพฤษภาคม 2559

ถ้าพูดถึงเรื่องราวในวงการนักออกแบบ เชื่อว่าใครหลายคนคงได้เคยมีโอกาสเห็นผลงานที่น่าสนใจมาแล้วมากมาย แต่เมื่อพูดถึงนักออกแบบที่กำลังมาแรงไม่แพ้กันนี้คงได้มีชื่อของ Context Studio เป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน และหากถามว่าทำไมงานของเขาจึงน่าสนใจนัก คำตอบคงชัดเจนอยู่แล้วจากผลงานที่ผ่านมา ทั้งงานร้านชลาชล สาขาเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลลล์ และสาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต, ร้านกาแฟคุณชั้น สุขุมวิท 58, ฟลายนาว เอาท์เล็ท ปากช่อง รวมถึงงานที่พักอาศัยอื่นๆอีกมาก ที่เป็นเครื่องการันตีในคุณภาพ และความมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร

6FN Outlet Pakchong

คุณต้น-บดินทร์ พลางกูร ชายหนุ่มผู้มากฝีมือและเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ที่แม้จะทำงานออกแบบด้วยตัวคนเดียว แต่เขากลับมองว่ามันเป็นข้อดีที่ทำให้ได้รับรู้ความต้องการของลูกค้าได้โดยตรง และสามารถเข้าถึงตัวผู้ออกแบบได้มากกว่า ซึ่งคุณต้นเรียนจบด้านอินทีเรียดีไซน์จากประเทศอังกฤษ ก่อนจะได้มาทำงานให้กับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ครัวและห้องน้ำที่กลายมาเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกงานจนถึงปัจจุบัน

คุณต้นเล่าว่า “เพราะว่าเราทำคนเดียว ช่วงแรกก็มีทำงานช้าบ้าง แต่พอเราโตขึ้น ทุกอย่างมันต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ทำสัญญามีพลาดบ้าง อย่างตอนเรียนจบแล้วกลับมาใหม่ๆ ต้นได้ทำงานกับ B&B Boffi เราก็ได้ประสบการณ์ทำโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ ได้ดีเทลการทำครัวหรือห้องน้ำ ซึ่งมันกลายเป็นดีเทลที่สำคัญที่สุดของทุกงาน”

สำหรับแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณต้นคือ การหยิบยกเอาเรื่องราวธรรมชาติมาออกแบบ ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนรักการเดินทาง เมื่อได้ไปต่างจังหวัด คุณต้นมักชอบแวะตามสถานที่ต่างๆ และพยายามมองหาสิ่งที่มีแค่เขาที่มองเห็น แล้วถ่ายรูปเก็บเอาไว้ เพราะถึงคนอื่นจะไปที่เดียวกันแต่สิ่งที่มองเห็นอาจไม่เหมือนกัน แล้วเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้กับงานออกแบบ รวมถึงการเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมและเรียนรู้กับงานคราฟแมนชิพของแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน

5TAKTAI

นอกจากนี้อีกสิ่งที่คุณต้นเลือกใส่ลงในงานออกแบบคือการนำตัวตนและบริบทโดยรอบของลูกค้ามาปรับใช้  “ต้นเชื่อว่ามันมีคอนเท็กซ์เจอร์สตอรี่ของมันเอง เวลาเราออกแบบทุกงาน ลูกค้าเขาจะมีคาแร็กเตอร์ มีตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นไอเดนติตี้ ที่ที่เราจะไปอยู่ สภาพแวดล้อมที่เราจะไปลงงาน สมมติถ้าเป็นบ้าน มันก็จะเป็นวิธีของลูกบ้านที่เขาใช้สอยบ้านอย่างไร เพราะแต่ละคนใช้บ้านไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราก็จะเน้นตรงนั้น เพราะฉะนั้นทุกงานก็จะไม่มีงานไหนที่เหมือนกัน เพราะทุกงานจะตีโจทย์จากตัวตนของลูกค้าเป็นหลัก”

และเมื่อถามถึงเทรนด์ในงานออกแบบของคุณต้น เขากลับบอกว่าไม่อยากให้ทุกคนออกแบบตามเทรนด์ทุกอย่าง ให้คิดว่างานแต่ละงานมันควรจะเป็นของมันเอง

“ต้นว่าทุกงานไม่ควรมีเทรนด์ ไม่ควรมีสไตล์ เพราะว่ามันกลายเป็นว่าดูแล้วไม่เจริญ หรืออย่างเวลาเราไปเขาใหญ่ มันคืออะไร อะไรคือความจริง มันคือของปลอมไปหมดเลย ช่วงนี้ฉันกำลังฮิตแบบวินเทจ ช่วงนี้เป็นลอฟท์ ก็ไปลงจนกลายเป็นว่าตามเทรนด์ แล้วพอทุกคนลงเหมือนกัน มันกลายเป็นว่าไม่มีอะไรที่โดดเด่นขึ้นมา มันกลายเป็นเบลอไปหมด จนกลายเป็นเราไม่รู้ว่าอะไรคือของจริง อย่างร้านสเต็กบางร้านก็ตกแต่งเป็นลอฟท์มาเลย หรือธนาคารบางแห่งก็เป็นลอฟท์จนดูไม่ออกเลยว่าเป็นธนาคาร ซึ่งจริงๆแล้วมันคือการตกแต่งหรือเปล่าไม่ใช่การออกแบบ มันคือการเอาของไปวาง เป็นแค่การตกแต่งในสไตล์นี้เท่านั้น”

10Supabburut Barber

สำหรับเป้าหมายในอนาคตคุณต้นตั้งใจไว้ว่าอยากทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยไม่ได้มีแค่งานในประเทศไทยเท่านั้น แตยังรวมถึงในต่างประเทศ และการได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในการจัดแสดงผลงานออกแบบมากกว่าเพียงแค่ได้ไปเดินงานในฐานะนักท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อมองจากความมุ่งมั่นและผลงานทั้งหมดแล้ว เราเชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าคงได้มีโอกาสเห็นผลงานของ Context Studio ไปจัดแสดงที่ต่างประเทศอย่างที่คุณต้นตั้งใจไว้แน่นอน

“เวลาเราออกแบบเราเชื่อในตัวตนของแต่ละคนมากกว่าว่าไปชอบสไตล์ไหน เหมือนถ้าคุณขายก๋วยเตี๋ยวน้ำตกแล้วจะไปแต่งสไตล์ลอฟท์หรอ มันก็ต้องมีความเป็นไทยเข้ามา ก็น่าจะเรียกเป็นรัสติกไทย ไม่ใช่ว่าเป็นอะไรก็ได้ เพราะแต่ละคนก็ต้องมีตัวตนของตัวเอง”

บดินทร์ พลางกูร

4Mini TCDC

Leave A Comment