BAAN S64


มุมสบายใจกลางบ้าน

คอนเซ็ปต์พื้นฐานอย่างคำว่า ‘โปร่ง โล่ง สบาย’ ใช้อธิบายข้อจำกัดด้านภูมิอากาศแบบเมืองร้อน อันเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมาของนักออกแบบสถาปัตยกรรมในทุกยุคทุกสมัย ได้เป็นอย่างดี แม้คอนเซ็ปต์คลาสสิกดังกล่าวจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในงานสถาปัตยกรรม ไม่เพียงบ้านพักอาศัยที่ถูกสร้างขึ้นในถิ่นแถบของบ้านเรา แต่กระบวนการออกแบบที่แตกต่างกันจากนักออกแบบแต่ละสำนัก รวมถึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกคิดขึ้นอย่างไม่ซ้ำกัน ก็ล้วนแล้วแต่สร้างความน่าสนใจให้กับภาพสุดท้ายของงานสถาปัตยกรรมโดยภาพรวม จนอาจนับได้ว่าล้วนแล้วแต่นำไปสู่อัตลักษณ์ของงานออกแบบที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของถิ่นแถบเฉพาะที่โดยแท้

เมื่อได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมเมืองร้อน (Tropical Architecture) การคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น การถ่ายเทของลม ย่อมเป็นสิ่งแรกที่ปรากฏอยู่ในทั้งเบื้องหน้าและแฝงอยู่ในเบื้องหลังของงานออกแบบตามชื่อ ‘เมืองร้อน’ ที่ปรากฏอยู่ในคำเรียกสถาปัตยกรรมเอง สิ่งต่อมาก็ได้แก่องค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันอันจะเอื้อให้ อุณหภูมิ ความชื้น การถ่ายเทของลม คุณสมบัติในการอยู่อาศัยต่างๆ ของสถาปัตยกรรมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในฐานะที่อาคารได้กลายเป็นเหมือนตัวแทนของเครื่องมือในการเชื่อมผู้อยู่อาศัยเข้ากับธรรมชาติที่แวดล้อม โจทย์ของงานออกแบบที่ตรงไปตรงมานี้เองที่เป็นที่มาที่ไปของโครงการบ้านเดี่ยวสำหรับครอบครัวใหญ่ ในใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครในย่านถนนสุขุมวิท 24 ที่นอกเหนือจากโจทย์เรื่องความอบอ้าวของอากาศที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ความแออัดของย่านยิ่งทำให้โจทย์งานออกแบบเพิ่มความท้าทาย ทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ‘Tidtang Studio’ จึงรับโจทย์ที่ว่ามาด้วยความต้องการที่จะมอบที่อยู่อาศัยที่สบาย ด้วยความหลากหลายของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานจากหลากหลายองค์ประกอบจากกระบวนการคิดในแบบเฉพาะพวกเขาเอง

ภาพแรกเมื่อเดินผ่านประตูรั้วเข้าสู่ภายในบริเวณบ้าน คือภาพของสวนเขียวหลังแผงกั้นสีดำโปร่งโล่งเชื่อมต่อมุมทำให้สามารถรับรู้บรรยากาศภายในบ้านได้หมดแม้ยังไม่เปิดประตูเข้าสู่ภายในตัวบ้านเอง

สถาปนิกได้หลอมรวมบรรยากาศภายในบ้านเข้าไว้ด้วยกันผ่านสวนเขียวกลางแจ้งกึ่งกลางบ้านอันเป็นเหมือนจุดเด่นของสถานที่ พื้นที่ในส่วนพักอาศัยโดยเฉพาะห้องรับแขกในชั้น 1 จึงถูกเชื่อมต่อออกสู่พื้นที่ภายนอกจนแทบจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปกับสวนสีเขียว

เบื้องหลังบานรั้วเหล็กสีดำ กล่องอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมสีขาวทึบบนพื้นที่ดิน 100 ตารางวาของเจ้าของบ้าน คุณชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ตั้งตระหง่านชิดแนวรั้วจนยากที่จะคาดเดาบรรยากาศที่อยู่ภายใน ต่อเมื่อก้าวผ่านแนวรั้วที่ทอดยาว ภาพหลังโถงจอดรถขนาด 4 คันที่เชื่อมต่อไปกับโถงทางเข้าหลัก จึงค่อยเผยให้เห็นความสดชื่นของสวนเขียวที่ถูกเก็บงำไว้ภายในคอร์ทสี่เหลี่ยมกลางแจ้งของบ้าน ที่จะมีแต่เฉพาะเจ้าของบ้านเท่านั้นที่จะสามารถรับรู้ ให้กล่องสีขาวหน้าบ้านเป็นเหมือนฉากกั้นโลกที่วุ่นวายจากภายนอก และให้พื้นที่การใช้งานภายในหันหน้าเข้าหากันเสมือนล้อมกรอบของพื้นที่การใช้งานไว้ให้กับเฉพาะโลกภายในของสมาชิกในครอบครัว

เช่นเดียวกันกับเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ของบ้านจากนอกรั้ว สถาปนิกกำหนดให้จังหวะของก้าวแรกเมื่อผ่านประตูบ้านจากโถงทางเข้าหลัก สมาชิกจะถูกต้อนรับด้วยสวนเขียวก่อนที่จะเดินผ่านระเบียงเพื่อเข้าสู่ส่วนใช้งานอื่นๆ ภายในบ้าน ทอนอารมณ์และความพลุกพล่านให้เงียบสงบลงเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ในโลกส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน สวนเขียวที่ว่านี้ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนปล่องระบายอากาศไปพร้อมๆ กับทางสัญจรภายในบ้าน ที่เปิดกว้างตลอดตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 3 เส้นรอบรูปภายในคอร์ทสี่เหลี่ยมในทุกๆ ชั้น ถูกล้อมด้วยระเบียงทางเดินที่ทำหน้าที่เป็นระเบียงกึ่งกลางแจ้งเชื่อมต่อส่วนใช้งานต่างๆ ของบ้านเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกันนั้น ผนังด้านหนึ่งของระเบียงทางเดินที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์ของบ้าน จากแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบร้อนชื้น แผงบานเกล็ดไม้ขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้ให้ประโยชน์หลัก 3 อย่าง ได้แก่ การกรองแสงแดดในช่วงเวลากลางวัน กรองน้ำฝนและความชื้นก่อนจะกระทบตัวบ้าน และลดทอนความกระด้างของอาคารรูปทรงเรขาคณิตสีขาว ด้วยความอบอุ่นจากบานเกล็ดวัสดุไม้สักธรรมชาติ ตลอดทั้งทางเดิน แสงแดดในเวลาสายค่อยๆ ลอดผ่านบานเกล็ดไม้ที่ติดตั้งในรูปแบบขึ้น-ลงสลับอย่างเป็นจังหวะ เกิดเป็นริ้วของเงาที่ให้มิติของการอยู่อาศัยมากไปกว่าแค่การลดความจ้าหรือความร้อนจากแสงแดด เสมือนเปิดโอกาสให้ธรรมชาติของสภาพอากาศกับผู้อยู่อาศัยสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนกันได้อย่างไม่อึดอัดคับแคบ อย่างบ้านในรูปแบบโมเดิร์นที่พบเห็นโดยทั่วไป

สถาปนิกได้หลอมรวมบรรยากาศภายในบ้านเข้าไว้ด้วยกันผ่านสวนเขียวกลางแจ้งกึ่งกลางบ้านอันเป็นเหมือนจุดเด่นของสถานที่ พื้นที่ในส่วนพักอาศัยโดยเฉพาะห้องรับแขกในชั้น 1 จึงถูกเชื่อมต่อออกสู่พื้นที่ภายนอกจนแทบจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปกับสวนสีเขียว

บรรยากาศของสวนเขียวที่ผสานกลืนอยู่ในอ้อมแขนของสถาปัตยกรรม แม้จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่ไม่โต แต่สวนสีเขียวที่ถูกห้อมล้อมอยู่ภายในบริเวณของบ้าน ก็ช่วยดึงเอาบรรยากาศดีๆ ของช่วงวัน เข้ามาต้อนรับผู้อยู่อาศัยอย่างไม่รู้เบื่อ

สถาปัตยกรรมสูง 3 ชั้นถูกแบ่งเป็นฟังก์ชันหลักต่างๆ ตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่ต้องการให้บ้านสามารถรองรับสมาชิกในครอบครัวขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยสมาชิกหลากหลายช่วงอายุได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน ในขณะเดียวกัน พื้นที่ใช้สอยที่มาก ก็ต้องถูกจัดการให้ใช้สอยได้อย่างสบาย และไม่ทับซ้อนกันในสัดส่วนการใช้งานของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน โดยส่วนใช้งานสาธารณะทั้งหมดจะอยู่ในชั้นที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยห้องครัวหลัก แยกจากส่วนรับแขกและส่วนรับประทานอาหาร จำนวน 8 คน ซึ่งถูกรวมอยู่ในโถงใหญ่เดียวกันพร้อมแพนทรีเตรียมอาหารเล็กๆ ในขณะเดียวกันส่วนชั้น 1 ก็มีส่วนของที่พักของแม่บ้านแยกเป็นอีกหนึ่งส่วนใช้งานหลัก จนก้าวขึ้นสู่ชั้น 2 ที่จะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นโดยประกอบด้วยห้องนั่งเล่นของครอบครัวและห้องทำงานของเจ้าของบ้าน โดยมีส่วนใช้งานหลักจริงๆ ที่ถูกคำนึงถึงคือส่วนของห้องนอนทั้งหมดที่ต้องการถึง 6 ห้องนอน โดยถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องนอนหลัก และ 3 ห้องนอนย่อย ไล่เรียงขึ้นไปตั้งแต่ชั้น 1 ที่เป็นห้องนอนของผู้สูงอายุในบ้าน ชั้น 2 เป็นห้องนอนหลัก 2 ห้อง และชั้น 3 เป็นส่วนที่สถาปนิกมอบพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นของห้องนอนย่อยทั้งหมด 3 ห้องซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูงสุด

การผสมผสานรูปแบบการอยู่อาศัยสมัยใหม่กับสถาปัตยกรรมแบบร้อนชื้น ยังปรากฏในส่วนต่างๆ ของบ้านในอีกหลากหลายส่วนใช้งาน ไม่เพียงแต่เกือบทุกฟังก์ชันใช้งานในบ้านจะสามารถสัมผัสกับสวนเขียวในกึ่งกลางของบ้านได้โดยตรงเท่านั้น การออกแบบบ้านให้มีเหลี่ยมมุมโดยทำงานร่วมกับช่องเปิดอีกจำนวนมาก ก็สามารถทำให้อากาศถ่ายเทรับลมเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างสะดวก ไม่นับรวมมุมสีเขียวอื่นๆ ทั้งส่วนห้องทำงาน สนามหญ้ารอบบ้าน นอกเหนือจากสวนเขียวหลักกลางบ้านที่ผู้อาศัยจะได้ใช้ชีวิตคล้ายอยู่กลางแจ้งตลอดทั้งวัน ความสบายของการอยู่อาศัยในบ้าน จึงอาจไม่ได้หมายความถึงความเย็นจากเครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือการที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะอากาศในช่วงเวลาระหว่างวันที่เรารับรู้ได้จริง มากกว่านั้นคือการอนุญาตให้บ้านสามารถหายใจได้อย่างสะดวกสบาย ไปพร้อมๆ กับจังหวะหายใจของสมาชิกผู้เป็นเจ้าของบ้านทุกๆ คน

ส่วนรับประทานอาหาจำนวน 8 ท่านเชื่อมต่อไปกับส่วนรับแขก และก็เช่นเดียวกัน ผนังกระจกทั้งสองด้านช่วยให้พื้นที่ไม่รู้สึกอึดอัดและยังสามารถมองเห็นสวนเขียวภายนอกได้ตลอดเวลา

ส่วนรับแขกถูกออกแบบให้เป็นเป็น Double Volume คือเปิดฝ้าสูงทะลุเชื่อมต่อถึงชั้น 2 ทำให้พื้นที่ไม่รู้สึกอึดอัด และยังสัมพันธ์กับผนังกระจก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่ขนาบข้างไปด้วยสวนเขียวที่ร่มรื่นทั้ง 2 ข้างด้วย

ระเบียงทางเดินกึ่งกลางแจ้งในบริเวณชั้น 2 ของบ้าน แผงบานเกล็ดช่วยกรองแสงแดดไม่ให้จ้าและร้อนเกินไปจนไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ ในขณะเดียวกันก็ให้ภาพริ้วของเงาที่ปรากฏอย่างไม่ซ้ำกันเลยในตลอดช่วงของวัน

ทางเดินแบบกึ่งกลางแจ้งช่วยให้พื้นที่ใช้สอยในบ้านไม่รูสึกอึดอัด พร้อมกันนั้นการวางฟังก์ชันของพื้นที่ให้เป็นแบบล้อมคอร์ท ก็ทำให้สมาชิกในครอบครัวที่ใช้งานอยู่ในทุกส่วนของบ้านสามารถมองเห็นกัน ปฏิสัมพันธ์กันได้ตลอดเวลา

พื้นที่ระหว่างภายในห้องและระเบียงทางเดินที่ไม่ถูกแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ด้วยประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่เช่นเดียวกับห้องรับแขกในชั้นที่ 1 เป็นเอกลักษณ์ของบ้านที่สถาปนิกต้องการเปิดพื้นที่ให้เปิดโล่ง มีการถ่ายเทอากาศ ตามแนวความคิดของการสร้างสถาปัตยกรรมแบบเมืองร้อน

บรรยากาศของห้องนอนในมุมต่างๆ มีการตกแต่งเรียบง่ายในโทนสีที่ไม่โดดเด่นไปกว่าสีของไม้ สีขาว เทา และดำ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่คงความเรียบง่ายของเส้นสาย ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับบรรยากาศโดยรวมของการอยู่อาศัยภายในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้

บรรยากาศของห้องนอนในมุมต่างๆ มีการตกแต่งเรียบง่ายในโทนสีที่ไม่โดดเด่นไปกว่าสีของไม้ สีขาว เทา และดำ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่คงความเรียบง่ายของเส้นสาย ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับบรรยากาศโดยรวมของการอยู่อาศัยภายในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้

บรรยากาศของห้องนอนในมุมต่างๆ มีการตกแต่งเรียบง่ายในโทนสีที่ไม่โดดเด่นไปกว่าสีของไม้ สีขาว เทา และดำ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่คงความเรียบง่ายของเส้นสาย ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับบรรยากาศโดยรวมของการอยู่อาศัยภายในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เกตน์สิรี วงศ์วาร
Architect: Tidtang Studio (ภัททกร ธนสารอักษร, เมธาวี ลี, เปรมปิติ อิ่มสงวน)
Interior Designer: Tidtang Studio (ภัททกร ธนสารอักษร, นภัสสร สุดาทิศ)

Leave A Comment