54th ANNIVERSARY SPORT AUTHORITY OF THAILAND

“54th ANNIVERSARY SPORT AUTHORITY OF THAILAND”

นับตั้งแต่กิจกรรมกีฬาสากลได้แพร่หลายในประเทศไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา กีฬาสากลในประเทศไทยก็ได้รับ การส่งเสริมและเป็นที่ฟสนใจของประชาชนควบคู่กับกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาประเพณีมาโดยตลอด ซึ่งการดำเนินการกีฬาในสมัยนั้นได้รับพระราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาเพื่อเป็นแนวทาง การสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา ตลอดจนการรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยเหลือการกีฬา ในประเทศ โดยมีกระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบ ให้เป็นผู้ดำเนินการ

 

กิจการกีฬาในประเทศไทยได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง กีฬาชนิดต่างๆ ได้รับความนิยมจากประชาชน อย่างแพร่หลาย การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาระหว่างประเทศในขณะนั้น เป็นการดำเนินงานของสมาคมกีฬา ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกีฬาของรัฐให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับนานาประเทศ การเข้าแข่งขันของทีมกีฬาไทย จึงมักจะประสบปัญหาด้านงบประมาณและไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้บุคคลในวงการกีฬาของไทย ในสมัยนั้น ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สนใจในกีฬา และเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมกีฬาต่างๆ และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยควรมีหน่วยงาน ที่รับผิดชอบการกีฬา ของประเทศ ในภาครัฐบาลขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่ด้านนโยบายของประเทศ ตลอดจนดูแลและประสานงานส่งเสริมกีฬาระดับประชาชน ให้ประชาชนได้เล่นกีฬาอย่างกว้างขวาง และมีโอกาสคัดเลือกนักกีฬาที่มีศักยภาพไปแข่งขันกับต่างประเทศ

ซึ่งในปี 2507 ความพยายามที่จะก่อตั้งองค์การกีฬาระดับรัฐเป็นผลสำเร็จ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2507 ขึ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2507 (เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากกีฬาเป็น สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการสร้างเสริมพลังกายและกำลังใจของบุคคลให้รู้จักตัดสินใจในทางที่ถูกที่ควร เป็นการเผยแพร่ให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก และเป็นเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผูกพันทางมิตรภาพ ระหว่างประเทศ แต่ขณะนี้กีฬาของประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จำเป็นต้องเร่งรีบส่งเสริม ให้ทัดเทียมนานาประเทศ โดยสนับสนุนให้เกิดความสนใจและนิยมกีฬามากยิ่งขึ้น อีกประการหนึ่ง คณะกรรมการเกี่ยวกับกีฬาต่าง ๆ ยังกระจัดกระจายกันอยู่ การดำเนินงานไม่สะดวกและรวดเร็วตามต้องการ สมควรต้องมีองค์การรับผิดชอบโดยเฉพาะขึ้น เพื่ออำนวยบริการแก่ประชาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ คือ ส่งเสริมกีฬา,ช่วยเหลือ แนะนำ และร่วมมือในการจัดและดำเนินการกีฬาสมัครเล่น, สำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่สำหรับกีฬาสมัครเล่น,ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาสมัครเล่น ทั้งในประเทศและนอกราชอาณาจักร, ประกอบธุรกิจอื่นๆ หรือเพื่อประโยชน์ของกีฬาสมัครเล่น, เสนอแนะแก่หน่วยราชการ หรือองค์การของรัฐบาลในเรื่องกีฬาเพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือชักจูงเร่งเร้า ให้เกิดความนิยมในกีฬาอย่างกว้างขว้าง, เสาะแสวงหาและรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ จากหน่วยราชการ องค์การของรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติเกี่ยวกับกีฬาสมัครเล่นเพื่อดำเนินการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ให้ อ.ส.ก.ท.มีอำนาจรวมถึงการสอดส่องและควบคุมการดำเนิน กิจการกีฬาสมัครเล่น เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่นกีฬา หรือเกิดความเสียหาย หรือเป็นภัย แก่ประเทศชาติด้วย

องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (อ.ส.ก.ท.) ได้ย้ายที่ทำการชั่วคราวจากอาคารสระว่ายน้ำ โอลิมปิคในกรีฑาสถานแห่งชาติ มาตั้งสำนักงานที่อินดอร์สเตเดี้ยม สนามกีฬาหัวหมาก ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2511 และเนื่องจากมีความจำเป็นต้องซ่อมแซมอาคารอินดอร์สเตเดี้ยมเป็นส่วนใหญ่ องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้ย้ายที่ทำการจากอาคารอินดอร์สเตเดี้ยม ไปอยู่ที่ อาคารศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม ในสนามกีฬาหัวหมาก ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2519 ต่อมาในปี 2520 อ.ส.ก.ท.ได้จัดสร้างอาคารที่ทำการถาวรขึ้นใหม่ที่บริเวณด้านหน้าของสนามกีฬาหัวหมาก และเป็นที่ทำการสำนักงานถาวร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2521

แม้ว่ามีองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย(อ.ส.ก.ท.) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐรับผิดชอบ การกีฬาของประเทศ แล้วก็ตาม แต่โดยฐานะของ อ.ส.ก.ท. ก็เป็นเพียงหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาฯ  ซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานกีฬาของชาติเป็นส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาด้านงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลไม่เพียงพอกับการขยายตัวของการกีฬาในชาติ และปัญหาการสอดส่อง การดำเนินกิจกรรมกีฬาของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ ประกอบกับได้มีบุคคลในวงการกีฬาหลายฝ่ายเห็นว่า การบริหารกีฬาของไทยยังไม่มีแบบแผนที่ดี ขาดประสิทธิภาพต่อการส่งเสริมกีฬาอย่างแท้จริง รวมทั้งปรากฎว่า มีกลุ่มบุคคลนำกีฬา ไปสร้างความไม่ดีไม่งาม อันกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ โดยที่ไม่มีหน่วยงานใด สามารถควบคุมหรือสอดส่อง เพื่อระงับและป้องกันการกระทำดังกล่าวได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการกีฬา แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 ขึ้น ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 149 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2528 โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อจัดตั้ง “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) แทน ”องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย” และให้การกีฬาแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการ ส่งเสริมการกีฬา และควบคุม การดำเนินกิจการกีฬาได้กว้างขวาง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. จึงได้รับการสถาปนาขึ้นแทน องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2528 เป็นต้นมา 

ต่อมา ในปี พ.ศ.2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ขึ้น โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการจัดตั้ง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 และได้มีพระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 โดยนัยแห่งพระราชกฤษฎีกานี้ มีผลให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ละกีฬาเป็นประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทยได้โอนไปสังกัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแทนสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป และเปลี่ยนอธิบดีกรมพลศึกษา เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ และต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ให้คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีกรรมการ จำนวน 15 คน 

ปัจจุบันในวาระครบรอบวันสถาปนาการกีฬาแห่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ปีที่ 54 การกีฬาแห่งประเทศไทย จะสร้างมิติใหม่ให้กับวงการกีฬา อย่างการปรับแผนการเตรียมความพร้อมนักกีฬาทีมชาติไทยให้มากขึ้น กว่าเดิม ทั้งการเพิ่มระยะเวลาการเก็บตัวให้ต่อเนื่องมากที่สุด และส่งไปเก็บตัวฝึกซ้อมและแข่งขัน ในรายการต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะรายการ ที่มีการเก็บคะแนนสะสม เพื่อไปแข่งขันรายการใหญ่ๆ หรือโอลิมปิกเกมส์, สนับสนุน การจ้างโค้ช ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาดูแลนักกีฬา ให้มากขึ้น เพื่อให้เห็นว่าสมาคมกีฬามีความมุ่งมั่น จริงใจและจริงจังดำเนินงานเพื่อพัฒนาวงการกีฬาไทย อีกทั้งยังเชื่อว่า การร่วมมือกัน จะช่วยให้ ผลงานนักกีฬาไทยดีขึ้น และวงการกีฬาของประเทศไทย จะก้าวไกล มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

Leave A Comment