เฉลียงลอย เหนืออันดามัน

บนหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในหาดทะเลใต้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ที่ตั้งที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากผืนทรายเม็ดละเอียด สถาปัตยกรรมสีน้ำเงิน 2 กล่องตั้งตระหง่านเรียงตัวอยู่ในขอบเขตที่ตั้งหน้าตาประหลาด กับระเบียงแผ่นกว้าง ที่เกาะเกี่ยวอยู่บนหน้าตาของตึก พ้องกับชื่อที่ถูกตั้งให้ตามความโดดเด่นและความคิดที่แฝงอยู่ภายในตัวตนของอาคาร ‘The Deck’

ด้วยฝีมือการออกแบบของทีมสถาปนิกมากประสบการณ์ Somdoon Architects ‘The Deck’ ทำหน้าที่เป็นที่พักอาศัยในรูปแบบของคอนโดมิเนียม Mid-rise ที่โดดเด่นด้วยความสุขุมของรูปลักษณ์ภายนอกที่มาพร้อมกับระเบียงขนาดใหญ่ ยื่นล้ำสลับสับหว่างอย่างเป็นจังหวะบนกล่องของอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียบตัดเป็นฉากหลัง มิติที่ดึงดูดสายตาด้วยความลึก และเส้นสับหว่างบนกล่องเรียบสีเข้ม ให้ภาพที่น่าสนใจที่ไม่ได้พบเห็นได้บ่อยนักในอาคารอื่นทั่วไป

“The Deck เนี่ย โปรเจคมันอยู่ที่ป่าตอง อันนั้นก็ค่อนข้างชัดเจนว่า Target Group จะเป็นชาวต่างชาติที่จะมาเช่า ซึ่งเขาก็ชอบที่จะใช้ชีวิตเอ้าท์ดอร์” คุณพันธุ์พงษ์ วิวัฒนกุล ผู้นำทีมสถาปนิก Somdoon Architects เล่าแนวคิดเบื้องหลังถึงที่มาที่ไปของระเบียงขนาดใหญ่ ที่ได้กลายมาเป็นทั้งภาพลักษณ์ภายนอก และชื่อของอาคาร ที่ได้เดินทางไปคว้ารางวัล Property Award จากประเทศมาเลเซียมาแล้วในปี 2015  โดยแนวคิดที่ก่อให้เกิดการใช้งานในภาพรวมของ The Deck นั้น ประกอบไปด้วย 3 ความต้องการหลัก หนึ่ง เพื่อขยายพื้นที่อาคารให้ได้มากที่สุดในขอบเขตพื้นที่ดิน สอง เพื่อดึงทัศนียภาพเข้าสู่ตัวอาคารให้ได้อย่างเต็มที่ และ สาม เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวภายนอกอาคารในแต่ละยูนิต ในลักษณะของระเบียงเอาท์ดอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้อยู่อาศัย

ภาพรวมของอาคารทั้งหมด เชื่อมต่อกันด้วยสระว่ายน้ำและแลนด์สเคปที่ทำหน้าที่เป็นทางเดินเชื่อมผ่านสวนไปด้วยพร้อมๆ กัน

ในขนาดของขอบเขตที่ตั้งกว่า 8600 ตารางเมตร อาคารสูง 23 เมตร 7 ชั้น จำนวน 2 หลัง ประกอบด้วยยูนิตพักอาศัยทั้งสิ้น 270 ยูนิต แบ่งเป็นอาคาร A 139 ยูนิต และ อาคาร B 131 ยูนิต ในขนาดของยูนิตตั้งแต่ 40 – 70 ตารางเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าห้องพักคอนโดมิเนียมสำหรับอยู่อาศัยทั่วไป สำคัญกว่านั้นคือลักษณะการใช้สอยในห้องพัก ที่เมื่อเดินผ่านโถง เปิดประตูเข้าสู่ที่พักของตัวเอง ก็จะมองเห็นทัศนียภาพภายนอกเบื้องหลัง ผ่านระเบียงขนาดใหญ่ที่ยื่นไกลออกไป แทบจะในทันที เพื่อดึงประสบการณ์ของการพักผ่อนให้ขยับเข้ามาสัมผัสกับผู้อยู่อาศัยได้ใกล้มากขึ้นอีกนิด

“ห้องที่เราจัด Bedroom กับ Living เนี่ย ก็จะเปิดต่อกันได้ เป็นบานเลื่อนที่เชื่อมต่อเป็นห้องเดียวกันได้ ห้องน้ำก็ไม่ได้เอาไปวางข้างใน เราก็เอาไปวางติดหน้าต่าง มีแสงธรรมชาติโดยตรงระบายอากาศได้ ที่พิเศษคือให้ระเบียงที่ค่อนข้างจะมีขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดเอา Sun Bed ไปวางได้ เพื่อที่ว่าจะให้ Activity มันสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย” อีกไม่กี่อึดใจก็จะถึงทะเล การขยายส่วนที่สัมผัสกับอากาศภายนอกอย่างระเบียงให้กลายเป็นพื้นที่โดดเด่นของห้องไม่ต่างจากห้องนั่งเล่นหรือห้องนอน ชวนให้ผู้เข้าพักเดินออกไปสูดกลิ่นอายและจินตนาการถึงเสียงคลื่นที่ซัดสาด ประตูบานเลื่อนบานใหญ่ถูกนำมาใช้ในห้องพักเพื่อให้สามารถเปิดเชื่อมพื้นที่ใช้สอยภายใน ให้ผสานรวมเป็นพื้นที่เดียวกันได้ในทุกตารางเมตร

 

l เอกลักษณ์ของ The Deck ระเบียงขนาดใหญ่ให้พื้นที่พักผ่อนส่วนตัวภายนอกที่เป็นเอกลักษณ์ กล่องระเบียงยื่นสลับสับหว่างกันระหว่างชั้นเพื่อบดบังมุมมอง และใช้องค์ประกอบบดบังสายตาอื่นๆ ช่วยร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้พักอาศัย

นอกจากโจทย์ของการใช้งานภายในที่นำมาซึ่งเอกลักษณ์ของอาคาร ผังที่ดินเดิมที่ไม่ได้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ไม่แม้แต่จะเป็นรูปทรงเรขาคณิตใดๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ท้าทาย สองอาคารเมื่อเกิดขึ้นบนขอบเขตของพื้นที่ตั้งหน้าตาประหลาด การวางผังพื้นและฟอร์มในขั้นแรกจึงเกิดจากประนีประนอมกับเส้นสายของขอบเขตที่ดินรอบข้างเป็นแนวความคิดหลัก ในขณะเดียวกัน ก็มีการคำนึงถึงแนวแกนของอาคาร ที่ถูกคิดให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและทิศทางของชายหาดป่าตองที่อยู่ไกลออกไป ภายในอาณาบริเวณเอง สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ถูกแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างอาคาร ทำหน้าที่ไปพร้อมกับแลนด์เสคปดีไซน์ที่เชื่อมโยงตึกทั้งสองด้วยทางเดินที่วนเวียนไปในสวน นอกจากนั้นยังมีสระว่ายน้ำบนดาดฟ้า เหนืออาคาร A ทางด้านหน้า เปิดรับทัศนียภาพของท้องทะเลได้กว้างไกลสูงสุด

“ทั้งสองตึกพอ Balcony มันใหญ่ มันก็จะรู้สึกเตี้ยเวลาเราเดินออกมา เราก็ต้องทำ Balcony ให้มันเหลื่อมกัน แต่ละอันมันจะได้มี Volume ที่สูงขึ้น ทีนี้พอมันเหลื่อมกันมันก็จะสามารถมองเห็นกันได้ ตรงนี้เราจะบังสายตาอย่างไรให้เขายังคงมีความเป็นส่วนตัวอยู่” การเกิดขึ้นของระเบียงห้องพักที่ยื่นยาว สัมพันธ์กับพื้นที่ดิน แนวแกนของอาคาร ทิศทางของการเปิดรับเอาบรรยากาศของสภาพแวดล้อม และสาธารณูปโภคอื่นในอาคาร ในขณะเดียวกันในมิติด้านการใช้สอย ระเบียงนอกจากจะถูกออกแบบให้สามารถใช้สอยได้อย่างกว้างขวาง และปรับเปลี่ยนร่วมกับห้องนั่งเล่นภายในได้อย่างอิสระ เมื่อคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของ การปรับมุมมอง และเพิ่มองค์ประกอบบังสายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างบรรยากาศส่วนตัวให้ผู้อยู่สามารถอาศัยได้อย่างเป็นสุข

ล็อบบี้หลักของอาคาร ตกแต่งด้วยโทนสีที่คลุมโทนด้วยสีเข้ม ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดการอยู่อาศัย

กลิ่นอายของท้องทะเลนอกจากจะปะปนอยู่ในอากาศ การตกแต่งและสีสันที่เลือกใช้ใน ‘The Deck’ ยังช่วยสร้างประสบการณ์ของการมาพักผ่อนทะเลใต้ได้อย่างสัมพันธ์กัน สีน้ำเงินของท้องทะเลลึกถูกเลือกให้เป็นโทนสีหลักของโครงการ บนฉากหลังอันเงียบขรึมของสถาปัตยกรรมสีเทาเข้ม ระเบียงกรุแผ่นอลูมิเนียมสีน้ำเงิน ที่ยื่นล้ำออกสู่ภายนอก ได้สะท้อนเอาบรรยากาศและสีสันของชีวิตที่หลากหลายของผู้คนบนหาดป่าตองให้ปรากฏปะปนอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้เข้ามาพักอาศัย หินอ่อน Lemurian Blue Granite ที่แฝงไปด้วยเส้นของสายแร่สีน้ำเงิน ถูกนำมาใช้สร้างเอกลักษณ์ ทั้งในส่วนต้อนรับ ท็อปเคาน์เตอร์ โต๊ะทำงาน รวมถึงผนังขนาดใหญ่ในห้องฟิตเนส กลิ่นอายของท้องทะเลจึงถูกแทรกอยู่ในทุกๆ องค์ประกอบเล็กๆ น้อย ที่มอบประสบการณ์การอยู่อาศัยอย่างเป็นภาพรวมให้กับผู้เข้าพัก ทั้งภายนอกและภายในสถาปัตยกรรม

ความเป็นดินแดนทะเลใต้ที่สะท้อนอยู่ในองค์ประกอบที่ปรากฏอยู่ทั่วทั้งอาคาร ทั้งความลุ่มลึกของทะเลอันดามัน และสีสันยามค่ำคืนของชีวิตผู้คนบนหาดป่าตอง จึงเสมือนได้ตรึงความทรงจำของทั้งกับผู้คนและกับสถานที่ไว้รวมกัน และสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นภาพจำของชายหาด ที่ที่สีสันและความหลากหลาย ผสมผสานไปกับทัศนียภาพอันสวยงามของธรรมชาติ

แปลนแสดงการใช้งานชั้นล็อบบี้ (ชั้น G)

แปลนแสดงการใช้งานชั้น 2

แปลนแสดงการใช้งานชั้น 3 และ 5

แปลนแสดงการใช้งานชั้น 4 และ 6

แปลนแสดงการใช้งานชั้น 7

แปลนแสดงการใช้งานชั้น ดาดฟ้า

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo:  W Workspace
Architect & Interior Design: Somdoon Architects Co., Ltd.
Landscape Architect: Shma Company Limited

 

Leave A Comment