SLEEP IN A COOL WAY, 4 CHIC HOSTELS FOR SNOOZE LOVERS (PART 3)

Untitled-1

4 โฮสเทลชวนฝันสำหรับคนรักงานดีไซน์ (ตอนที่ 3)

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ของศตวรรษที่ 21 เมื่อโลกทั้งโลกสามารถเชื่อมหากันได้อย่างไร้พรมแดน การเดินทางไปในที่ต่างๆ กลายเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต่างออกเดินทางไล่ล่าหาวัฒนธรรมที่แปลกใหม่เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ให้กับชีวิต กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายเหล่านั้น เหล่าบรรดาโรงแรมทั้งใหญ่และเล็กต่างก็พากันชูเอกลักษณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้คนต่างถิ่น อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้คงจะไม่มีอะไรมาแรงไปกว่ากระแสของโฮสเทลที่พร้อมใจเปิดตัวกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเองที่ก็มีโฮสเทลหน้าตาเก๋ไก๋มากมายผุดขึ้นในแทบจะทุกมุมเมือง ฉบับนี้ Daybeds จึงอยากจะชวนไปทำความรู้จักกับโฮสเทลหน้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีย้อนหลังกับ 4 โฮสเทล 4 เอกลักษณ์ ในย่านเมืองที่แตกต่าง ความเข้มแข็งของบริบทหล่อหลอมให้การตกแต่งและดีไซน์สะท้อนความเป็นตัวตนของย่านนั้นๆ ได้อย่างน่าสนใจ และเอกลักษณ์เหล่านั้นก็ยังหมายรวมไปถึงความเป็นกรุงเทพมหานครเองที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน หลากหลาย  และมีสเน่ห์ด้วยความ ไม่ลงตัวที่ประกอบกันแล้วกลับกลมกล่อมพอดิบพอดีได้อย่างน่าประหลาด

01

ONCE AGAIN HOSTEL
การเกิดใหม่ของวิถีชีวิตรอบเกาะรัตนโกสินทร์

Text: พีรยา เชื้อสุนทรโสภณ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, พุทธิพงศ์ ศรีสุวรรณ
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ CREATIVE SPACE, Daybeds 163 เดือนเมษายน 2559

ในยุคที่ความเจริญกำลังคืบคลานเข้าสู่ทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่เขตแดนย่านชุมชนเก่าหลากหลายแห่งในกรุงเทพ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิม บ้างก็สูญหายไปตามกาลเวลา บ้างก็ลดเหลือน้อยจนแทบจะไม่มี ความเป็นเมืองเข้าแทรกซึมการใช้ชีวิต ในขณะที่วัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามากมายกลับถูกมองข้าม ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่เคยเป็นดั่งศูนย์รวมชุมชนหัตถศิลป์มาอย่างยาวนาน ซึ่งกำลังจะหลงเหลือเพียงแค่ชื่อทิ้งไว้ให้ระลึกถึง แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้สัมผัสอีกต่อไป อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มคนเล็กๆที่ยังคงเห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการจะพัฒนาวิถีชุมชนให้กลับคืนมา ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่จะนำรายได้กลับเข้าสู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ภายใต้เบื้องหน้าของ Once Again Hostel

คุณมิก – ภัททกร ธนสารอักษร และคุณศา-ศานนท์ หวังสมบุญ คือสองพาร์ทเนอร์ผู้เป็นหัวเรือหลักในการทวงคืนเสน่ห์ของวิถีชุมชนเก่า ด้วยการรื้อฟื้นโรงพิมพ์เก่าซึ่งเป็นธุรกิจของทางบ้าน มาใส่คอนเซปต์ความเป็นโมเดิร์นไทยลงในงานออกแบบโฮสเทล ในลักษณะไทยประยุกต์ อ้างอิงจากโครงสร้างเดิมของตึกที่มีความดิบ จึงออกมาในรูปแบบที่ผสมผสานความเป็นลอฟท์เข้ากับเส้นสายแบบไทยๆ ทั้งการทำย่อมุมของโครงสร้างภายนอก การนำฝาบาตรมาตกแต่งบนผนังล็อบบี้ การดีไซน์โคมไฟให้เป็นลักษณะของหน้าจั่วบ้าน รวมถึงการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เป็นสีโทนไทย อย่างไม้แดงเข้ม แมตซ์กับปูนดิบ หรือทองแดงให้ดูโมเดิร์นขึ้นได้

ทางส่วนห้องพักถูกแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ Standard Dorm, Temple View Dorm, Lady Dorm และ Superior Dorm ซึ่งมีตั้งแต่ห้องละ 4 เตียง 6, 8 และ 12 เตียง ที่ออกแบบด้วยคอนเซปต์ให้ดูคล้ายกับตรอกเล็กๆ และในหนึ่งตรอกจะเห็นห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง มันจึงดูเหมือนเป็นบ้านเล็กๆ ในดีไซน์บ้านๆ ด้วยประตูลูกฟักไม้สีขาว ที่มีการเล่นจังหวะ สลับบาร์ไม่เหมือนกัน พร้อมด้วยเตียงขนาด 3 ฟุตครึ่งให้กลิ้งตัวได้อย่างสบาย

เสียงตอบรับจากแขกที่มาพัก รวมถึงมิตรไมตรีจากผู้คนในชุมชน เป็นแหล่งพลังใจที่ยิ่งใหญ่และเป็นความสุขที่หาที่ไหนไม่ได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการมอบความรู้สึกของการต้อนรับอย่างอบอุ่นให้กับทุกคนที่แวะเวียนเข้ามา ซึ่งเป็นภาพที่สังเกตได้จากภายในล็อบบี้ ที่บางคนอ่านหนังสือ บ้างเล่นอินเทอร์เน็ต บ้างนั่งทานขนมจากคาเฟ่วิโลโดม เสมือนพวกเขากำลังนั่งเล่นอยู่ในบ้านหลังใหญ่ ที่แม้พวกเขาจะกลับออกไป แต่แล้วเราจะพบกันใหม่ “See you once again”

ด้วยคอนเซปต์ความเป็นโมเดิร์นไทยใส่ลงในงานออกแบบโฮสเทล ในลักษณะไทยประยุกต์ อ้างอิงจากโครงสร้างเดิมของตึกที่มีความดิบ จึงออกมาในรูปแบบที่ผสมผสานความเป็นลอฟท์เข้ากับเส้นสายแบบไทยๆ

08
พื้นที่ที่เป็นทั้งล็อบบี้และคาเฟ่ ซึ่งได้ร่วมกันกับคาเฟ่วิโลโดมในการมาเปิดสาขา 2 ออกแบบโคมไฟให้มีลักษณะคล้ายกับหน้าจั่วบ้าน โดดเด่นด้วยการใช้ปูนตัดกันกับเฟอร์นิเจอร์ไม้สีน้ำตาลเข้ม และไม้เก่า ที่เป็นสีโทนไทย

02ผนังที่เต็มไปด้วยฝาบาตร เป็นเอกลักษณ์ที่ได้ไอเดียจากชุมชนบ้านบาตร ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของย่านนี้

03ส่วนห้องพักที่มีคอนเซปต์เป็นบ้านในตรอกถนนเล็กๆ โดยนำแนวคิดประตูลูกฟักไม้สีขาว มาออกแบบเป็นประตูกั้นแต่ละเตียง ซึ่งจะมีการวางสลับบาร์ที่ไม่เหมือนกัน

05พื้นที่เอาท์ดอร์บนดาดฟ้าชั้น 3 ยังคงคอนเซปต์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการใช้โต๊ะและเก้าอี้ไม้สีแดง โทนไทยแท้

06บอร์ดตารางกิจกรรมในแต่ละเดือน ที่ใช้เชือกแทนเส้นตาราง ตัดกันกับผนังปูนซีเมนต์ได้อย่างโดดเด่น

07โครงสร้างภายนอกใช้เหล็กฉีกในการพับเป็นแพทเทิร์นมาซ้อนทับกัน เพื่อไล่ความห่างและความถี่ ให้เสมือนมีการมูฟเมนท์เกิดขึ้นที่อาคาร และเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับห้องที่อยู่ติดกับวัด

Contact:
22 ซอยสำราญราษฎร์ ถ.มหาไชย
เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 09-2620-5445

 

 

Leave A Comment