QUARTIER WATER GARDEN

15   

โอเอซิสลอยฟ้าเหนือมหานคร

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

เสน่ห์ของธรรมชาติที่สอดประสานไปกับความงามของสถาปัตยกรรม เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ เอ็ม ควอเทียร์ ห้างสรรพสินค้าใหม่แห่งย่านการค้าดิ เอ็มดิสทริคแตกต่างไปจากห้างสรรพสินค้าแห่งอื่น การดึงเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าจึงอาจนับได้ว่าเป็นทิศทางใหม่ของแนวความคิดในการออกแบบอาคาร ที่สอดรับกับกระแสความคิดของผู้คนที่เริ่มใฝ่หาความงามของธรรมชาติมากขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน

เมื่อเสียงประกาศที่คุ้นเคยของชื่อสถานี “พร้อมพงษ์” ดังขึ้นในขบวนโดยสารของรถไฟฟ้า ก็ใกล้ถึงเวลาที่พวกเราจะได้ก้าวเข้าไปสัมผัส “โอเอซิสกลางกรุง” ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ในย่านการค้าแห่งล่าสุดของกรุงเทพมหานคร แนวความคิดที่ต้องการรังสรรค์ความร่มรื่นของป่าให้สอดแทรกเข้าไปอยู่ในอาคารศูนย์การค้าที่ทันสมัย เป็นที่มาของ ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เดนท์ พื้นที่สีเขียวกลางกรุงบนชั้น 5 ของอาคาร เดอะ ฮีลิกส์ ควอเทียร์ พื้นที่บนห้างสรรพสินค้ามากกว่า 3,000 ตารางเมตรถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนพักผ่อนสีเขียว ที่ช่วยคืนบรรยากาศสดชื่นและช่วยดึงธรรมชาติให้เข้ามาใกล้ชิดกับผู้คนในเมือง เมื่อใดก็ตามที่ได้มาเยี่ยมเยือนห้างสรรพสินค้าแห่งนี้

16น้ำตกกลางเมืองสูงกว่า 40 เมตร แห่งแรกในเอเชีย

ไฮไลต์แรกที่รอคอยต้อนรับเราก่อนจะเข้าสู่สวนเขียวกลางเมือง นั่นก็คือ น้ำตกและสวนป่าในความสูงกว่า 40 เมตร ณ บริเวณทางเข้า ที่ลดหลั่นลงมาจากอาคารรวม 5 ระดับ ตลอดทั้งชั้นของน้ำตก ยังประกอบด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ที่ประดับประดาอยู่บนด้านหน้าของอาคาร ทั้งต้นกร่าง เสม็ดแดง พยอม เสี้ยว เตยทะเล กระโดน และต้นไทรใบแหลม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชพรรณที่หาชมได้ไม่ง่ายในเมือง

1718
พันธ์ไม้หายากกว่า 10,000 ต้น ในสไตล์ Exotic Tropical

การขนย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นบนอาคารสูง และการออกแบบก่อสร้างเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่สีเขียว เป็นความท้าทายอย่างมากของการสร้างควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เดนท์ สวนเขียวที่รวบรวมต้นไม้กว่า 10,000 ต้น จากพันธุ์ไม้กว่า 1,000 ชนิด ในคอนเซ็ปต์ของสวนสไตล์เอ็กโซติก ทรอปิคอล (Exotic Tropical) ที่คัดเลือกพืชพรรณหายากและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทย เช่น โพธิ์ ไทร ชงโค เสม็ดแดงดอกขาว ปาล์มขนนก หลาวชะโอน และจิก เพื่อขับเน้นบรรยากาศของความสดชื่น มีร่มเงา ให้ความรู้สึกเสมือนเดินอยู่ในป่ากลางเมือง

แชนเดอเลียร์มีชีวิต

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ควบคู่ไปกับสวนเขียวลอยฟ้า นั่นก็คือ แชนเดอร์เลียต้นไม้ (Rainforest Chandelier) ที่ยาวกว่า 100 เมตร โดยฝีมือการออกแบบตกแต่งของนักพฤกษศาสตร์ระดับโลกชาวฝรั่งเศส แพทริก บลังก์ (Patrick Blanc) เส้นโค้งของแชนเดอร์เลียถูกประดับด้วยต้นไม้กว่า 65 สายพันธุ์ ทิ้งตัวยาวลงมาตลอดทางเดินวงกลมของโซนร้านอาหารของอาคาร สอดรับไปกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารเดอะ ฮิลิกส์ ที่มีลักษณะโค้งขึ้นไปเป็นวงกลม

13
5 โซนกิจกรรมของคนเมือง

ภายในสวน ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เดนท์ ประกอบด้วย 5 พื้นที่กิจกรรมหลัก อันประกอบด้วย Bamboo Pavilion ลานเอนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ, Water Garden จุดชมวิวริมสระและสระน้ำที่ประดับด้วยพันธุ์ไม้น้ำหายาก, Creek ธารน้ำไหลลดหลั่นผ่านสวนหินที่ประดับด้วยมอส เฟิร์น และพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย, Cocoon ซุ้มนั่งเล่นทรงเล้าไก่และจุดชมวิว พร้อมด้วยพันธุ์ไม้ในร่มหลากหลายชนิด, Helix Pond สระน้ำที่ประดับด้วยไม้น้ำและบัวนานาพันธุ์ พร้อมด้วยกำแพงน้ำล้นที่ใช้วิธีปลูกไม้น้ำด้วยการฝังรากลงบนกำแพง

1412 11 10 09 08 07 06 05 04 03 02 01ภายในสวน ทางเดินกว้างขวางนำเราไปสู่มุมพักผ่อนต่างๆ ที่มีทั้ง สระน้ำ น้ำตก และพันธุ์ไม้หลากหลาย ทั้งหมดถูกจัดวางร่วมกันในมุมต่างๆ เพื่อสร้างความรู้สึกเพลิดเพลินและผ่อนคลาย ประดับประดาไปด้วยแสงไฟที่เมื่อถึงเวลาค่ำ แสงไฟทั้งหลายก็จะเปลี่ยนต้นไม้และบรรยากาศของสวนลอยฟ้าแห่งนี้ ให้แตกต่างไปจากตอนกลางวันอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น ฉากหลังของสวนเขียวยังเป็นทัศนียภาพมุมสูงของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ถูกออกแบบให้โปร่งโล่งเพื่อเปิดรับเอาบรรยากาศภายนอกเข้ามาสู่สวนสีเขียวได้อย่างเต็มที่ ทางเดินและจุดชมวิวริมขอบของอาคารเป็นอีกหนึ่งจุดที่ผู้คนนิยมมาถ่ายรูป และชื่นชมบรรยากาศของเมืองทั้งตอนเช้าและยามค่ำคืน ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เดนท์ จึงเหมาะกับการมาพักผ่อน พบปะกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลายด้วยธรรมชาติและบรรยากาศที่ไม่เหมือนใคร

สวนเขียวลอยฟ้าที่ถูกเนรมิตขึ้นกลางกรุงนี้ เปิดให้ผู้คนเข้ามาชื่นชมสวนและทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โอเอซิสสีเขียวของเมืองหลวงแห่งนี้จึงไม่ได้เพียงแต่มอบทัศนียภาพสีเขียวที่นับวันยิ่งหาได้ยากยิ่ง แต่มันยังได้มอบพื้นที่และเวลาเพื่อการหยุดพักให้กับผู้คน เป็นเสมือนร่มไม้ในป่าคอนกรีตให้ผู้คนได้พักเพื่อสูดหายใจได้อย่างเต็มปอด ก่อนจะก้าวขึ้นรถเพื่อออกเดินทางไปยังสถานีต่อไปของชีวิต

 

 

Leave A Comment