NEUER ZOLLHOF


วาววับด้วยฝีมือ แฟรงก์ เกห์รี

หนึ่งในผลงานการออกแบบของ Frank Gehry (แฟรงก์ เกห์รี) สถาปนิกชื่อก้องโลกชาวอเมริกัน-แคนาเดียน เจ้าของรางวัล Pritzker Prize เมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ Vanity Fair ยกย่องให้เขาเป็นสุดยอดสถาปนิกเอกแห่งยุค และเช่นเดียวกับงานออกแบบทั้งหลายที่ล้วนเต็มไปด้วยชื่อเสียงของเขา Neuer Zollhof ก็มีรูปทรงบิดเบี้ยวลื่นไหลได้ราวกับว่ามันมีจิตวิญญาณในตัวเอง และแม้ว่างานของ Gehry จะดูล้ำยุคหลุดจากกรอบ แต่ตัวของเขากลับได้ชื่อว่าเป็นศิลปินคลาสสิกผู้รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก รวมถึงศิลปะร่วมสมัยด้วย

Neuer Zollhof : The Rheinhafen Centre of Arts and The Media ที่ริมฝั่งแม่น้ำไรน์ เมืองดุสเซลดอล์ฟ ประเทศเยอรมนี เป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 เพื่อพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมริมฝั่งแม่น้ำให้กลายเป็นพื้นที่สำนักงานแห่งใหม่ รวมถึงกิจกรรมด้านศิลปะด้วย

ในช่วงต้นของโครงการนั้น Zaha Hadid คือผู้ชนะการประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ แต่ด้วยแบบของเธอที่ล้ำสมัยจนไม่สามารถเป็นจริงเพื่อใช้งานได้ทันสำหรับปี ค.ศ.1994 โครงการจึงถูกระงับไป

โครงการนี้ประกอบไปด้วย 3 อาคารที่อยู่ร่วมกันได้ทั้งที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากทั้งรูปทรงและวัสดุพื้นผิวภายนอกอาคารที่ไม่เหมือนกันเลย ราวกับเป็นประติมากรรม 3 ชิ้น ที่นำมาวางรวมกันอย่างลงตัว อาคารด้านซ้ายเป็นทรงโค้งวงกลมพื้นผิวพลาสเตอร์ขาวด้าน ขณะที่อาคารด้านขวาเป็นทรงเหลี่ยมสร้างด้วยอิฐสีแดง ส่วนวัสดุที่กรุผิวอาคารหลังกลางซึ่งเป็นอาคารหลักที่เรากำลังจะพูดถึงนั้นผิวนอกเป็นสแตนเลสสตีล ซึ่งมีความมันวาวมาก สามารถสะท้อนภาพเงาของอีกสองอาคารด้านซ้ายและขวา นี่คือการสร้างความเชื่อมโยงของทั้ง 3 อาคารเข้าด้วยกันอย่างเหนือชั้นนั่นเอง

อาคารหลังสีขาวคืออาคารที่สูงที่สุดใน 3 อาคาร มีความสูง14 ชั้น ในขณะที่อาคารหลักหลังกลางสูงเพียง 7 ชั้นเท่านั้น

Neuer Zollhof ดูราวกับเป็นอาคารแห่งอนาคต ด้วยการกรุวัสดุสแตนเลสสตีลสีเงินมันวาวทั้งหลัง รวมถึงรูปทรงของอาคารที่บิดโค้งเป็นคลื่น ไม่มีแกน ไร้จุดเชื่อมต่อ จึงเกิดภาพของแสงและสีที่สะท้อนตกกระทบทั้งจากสีขาวและสีแดงอิฐของอาคารอีก 2 หลังซึ่งสูงใหญ่กว่าเกือบเท่าตัวที่ตั้งขนาบข้างอยู่ รวมถึงแสงสีของท้องฟ้า แสงแดด และเงาสะท้อนจากแม่น้ำในแต่ละช่วงเวลา ทำให้อาคารหลักหลังกลางนี้มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก แม้ตัวอาคารจะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่โตนัก

รูปทรงที่ซับซ้อนของ Neuer Zollhof นี้ถือเป็นการพิสูจน์ความท้าทายของการก่อสร้างที่เริ่มเมื่อปี ค.ศ.1998 (จนแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1999) ทั้งความไม่สมดุล พื้นผิวที่บิดไปมานี้ย่อมไม่สามารถเขียนแบบก่อสร้างด้วยวิธีมาตรฐานแบบเดิมได้ โปรแกรม 3 มิติ (CATIA) จึงถูกนำมาใช้เพื่อความสมบูรณ์แบบตามจินตนาการของผู้ออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบหล่อคอนกรีตโค้งซึ่งต้องใช้เทคนิคการผลิตแบบใหม่ ช่องหน้าต่างแต่ละบานที่โผล่ยื่นพ้นออกมาจาก Façade โค้งมนนั้น ยิ่งต้องได้รับการออกแบบรายละเอียดเป็นพิเศษเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ

อาคารทั้ง 3 หลังของโครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 2 ปี อาคารหลังสีขาวคืออาคารที่สูงที่สุดด้วยความสูง 14 ชั้น ในขณะที่อาคารหลักหลังกลางสูงเพียง 7 ชั้น และทั้งโครงการมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันกว่า 28,000 ตารางเมตร

ช่องหน้าต่างแต่ละบานที่โผล่ยื่นพ้นออกมาจาก Façade โค้งมน ได้รับการออกแบบรายละเอียดเป็นพิเศษเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ

รูปทรงของอาคารที่บิดโค้งเป็นคลื่น ไม่มีแกน ไร้จุดเชื่อมต่อ

อาคารกรุวัสดุสแตนเลสสตีลสีเงินมันวาว จึงเกิดภาพของแสงและสีที่สะท้อนตกกระทบทั้งจากสีขาวและสีแดงอิฐของอาคารอีก 2 หลัง และสีของท้องฟ้า แสงแดด และแม่น้ำ

อาคารกรุวัสดุสแตนเลสสตีลสีเงินมันวาว จึงเกิดภาพของแสงและสีที่สะท้อนตกกระทบทั้งจากสีขาวและสีแดงอิฐของอาคารอีก 2 หลัง และสีของท้องฟ้า แสงแดด และแม่น้ำ

Text: Athi Aachawaradt
Photo: Athi Aachawaradt

Leave A Comment