MODERN CHINESE RESORT


อยู่สบายในบ้านจีนโมเดิร์น

 

บ้านโมเดิร์นหลังงามยืนสง่าอยู่บนเกาะซึ่งล้อมด้วยคูน้ำท่ามกลางสวนในที่ผืนสวยแห่งนี้ เป็นการหลอมรวมสไตล์จีนและแนวคิดอย่างไทยเข้าไว้ด้วยกันโดยมีความโมเดิร์นเป็นสื่อกลาง โจทย์ที่ดูเหมือนจะซับซ้อนนี้ ที่จริงแล้วถูกตั้งขึ้นอย่างง่ายๆ เพียงเจ้าของบ้านบอกว่า “ต้องการบ้านสไตล์จีน ที่อยู่สบาย และปลอดภัย” และเมื่อเจ้าของบ้านให้อิสระในการออกแบบเต็มที่ คุณภูเก็จ จันทรเวช  สถาปนิกและคุณสมิทธิ สุธรรมชัย สถาปนิกภายใน ก็ได้เข้าไปทำความรู้จักตัวตนของเจ้าของบ้าน และสร้างโจทย์เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างเหมาะสมลงตัว

ภายในรั้วรอบขอบชิดนี้มีคูน้ำถูกขุดขึ้นกลายเป็นปราการอีกชั้น เพื่อบีบทางเข้าบ้านให้เหลือเพียงทางเดียว เป็นการสร้างความปลอดภัยขึ้นในบ้านหลังใหญ่ ประตูทางเข้าเพียงหนึ่งเดียวนี้บ่งบอกเอกลักษณ์ด้วยรูปทรงกลมแบบจีน พร้อมบานเลื่อนไม้ลายจีนเปิดเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งต้อนรับด้วยโถงลานกลางกว้างเพดานสูงเปิดรับลมเต็มที่ สายลมแรงพัดผ่านสระว่ายน้ำมาสู่ส่วนนั่งเล่นอเนกประสงค์ ประกอบกับการออกแบบอาคารโดยรอบที่สวยงาม สร้างความรู้สึกคล้ายกำลังนั่งอยู่ในรีสอร์ทที่แสนสบาย

สถาปนิกออกแบบโครงสร้างบ้านเป็นตัว U โดยมีกลุ่มอาคารล้อมคอร์ตตรงกลางไว้ ความที่แยกอาคารออกเป็นกลุ่มก้อนทำให้สายลมและแสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงทุกอาคารและทุกห้องไว้ได้ทั้งหมด นี่เป็นแนวคิดหลักแบบบ้านไทยที่สัมผัสได้แม้จะอยู่ในโครงสร้างโมเดิร์นและองค์ประกอบแบบจีน ภาพรวมของบ้านดูโอ่อ่าสง่างามทว่าเรียบง่าย และคำนึงถึงการดูแลรักษาที่สะดวกสบาย อย่างการเลือกใช้วัสดุภายนอกที่กรุผิวกระเบื้อง ซึ่งไม่ต้องดูแลมากเหมือนงานทาสี

ด้านหน้าสุดของบ้านคือห้องรับประทานอาหารและแพนทรีซึ่งมีอุปกรณ์ครบครันสำหรับงานครัว ห้องนี้เน้นความโปร่ง จึงสามารถเปิดบานเลื่อนด้านหน้าและด้านที่ติดกับระเบียงสระว่ายน้ำได้จนสุด เมื่อมีปาร์ตี้สังสรรค์จะสามารถขยายพื้นที่สันทนาการออกไปได้กว้างขวาง พร้อมกับกิจกรรมที่หลากหลาย สระว่ายน้ำที่ทำน้ำล้นออกไปด้านนอกเพื่อความสวยงาม ยังมีรายละเอียดที่การปูกระเบื้องสลับลายแบบจีนและเติมแต่งด้วยกระเบื้องแวววาวรับกับการออกแบบแสงไฟใต้น้ำที่เปลี่ยนสีได้สวยงาม และยังปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นและรูปทรงน่ามองเหนือวิวสระว่ายน้ำ ด้านในของสระติดกับตัวบ้าน สถาปนิกออกแบบเป็นสะพานไม้ดูต่อเนื่องกับระเบียง ซึ่งไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่อความกลมกลืนทางสายตาเท่านั้น แต่ยังมีการใช้งานซ่อนอยู่ โดยเป็นทางเดินขึ้นจาก

สระว่ายน้ำตรงเข้าสู่ห้องน้ำได้แลย ไม่ต้องมีน้ำหยดเปียกพื้นที่ส่วนอื่น รายละเอียดนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านชื่นชมมากพอๆ กับแนวคิดในโครงสร้าง อีกฟากหนึ่งของสระว่ายน้ำคือห้องรับแขก ต่อเนื่องกับห้องทำงานซึ่งเป็นห้องหนังสือไปในตัว มุมนี้รับทั้งวิวสระและวิวสวนหน้าบ้าน ห้องนี้ตกแต่งแบบเรียบหรู เน้นเฟอร์นิเจอร์ไม้ดูแข็งแรง และสถาปนิกภายใน

ผู้ออกแบบก็ได้เติมลวดลายจีนเข้าไปเล็กน้อย นำมาจับคู่กับเก้าอี้ของฟิลลิป สตาร์ค ซึ่งนำสไตล์ของเก้าอี้จีนคลาสสิกมาลดทอนในแบบโมเดิร์น จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว เมื่อเดินจากห้องรับแขกข้ามสะพานบ่อเลี้ยงปลาไป จะพบกับห้องนอนแขกและห้องน้ำซึ่งใช้ร่วมกันเป็นห้องน้ำส่วนกลาง ห้องนอนแขกนี้ดูเป็นสัดส่วน ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เปิดออกหาธรรมชาติได้ง่าย ทั้งส่วนที่สามารถเปิดบานกระจกมานั่งห้อยเท้าเหนือบ่อปลาได้ และฝั่งระเบียงด้านหลังที่สามารถนั่งเล่นรับลมด้วย ระเบียงนี้ต่อเนื่องกับห้องน้ำซึ่งออกแบบให้กว้างขวาง และสามารถเปิดเชื่อมมาถึงระเบียงห้องนอนแขกได้ การออกแบบที่เรียบง่ายแฝงสไตล์จีน แต่ซ่อนรายละเอียดการใช้งานที่ปรับเปลี่ยนได้นี้ เราสามารถพบได้ในทุกห้องของบ้าน

ชั้นสอง เป็นส่วนพักอาศัยส่วนตัว ซ่อนบันไดทางขึ้นอยู่หลังประตูไม้ลายจีนบานสูง ออกแบบลวดลายให้ต่อเนื่องไปถึงราวบันไดและโคมไฟเพดานนำสายตาขึ้นมาพบกับโถงทางเดินซึ่งแยกเป็นห้องนอนใหญ่ และห้องนอนลูกๆ โถงทางเดินซึ่งมองออกไปเห็นคอร์ตกลางบ้านนี้สร้างเป็นชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีไลท์ติ้งช่วยเรื่องความงามราวกับชั้นแสดงงานประติมากรรมพุทธศิลป์

จะสังเกตได้ว่าในความเป็นจีนโมเดิร์นนี้ สถาปนิกยังแฝงความดิบไว้ที่เสาคอนกรีตกลมซึ่งโชว์พื้นผิวแท้ๆ แทนที่จะซ่อนเสาเข้าไปในผนังเรียบ เป็นการผนวกแนวคิดของความเป็นโมเดิร์นเข้าไปกับความเป็นจีนซึ่งนิยมโชว์เสากลมในงานสถาปัตยกรรม ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เสาดูทึบตันด้วยการประกบกระจกให้ดูลอยตัว และมีรายละเอียดในการตกแต่งเพิ่มขึ้นด้วย

โฮมเธียเตอร์ออกแบบตามสเปคห้องเครื่องเสียงทุกจุด เว้นแต่ว่าจริงๆ แล้วโฮมเธียเตอร์ควรปิดทึบไม่ต้องการแสงสว่างเลย แต่เจ้าของบ้านต้องการใช้งานห้องนี้แบบอเนกประสงค์ด้วย จึงทำบานปิดเปิดไว้ สามารถรับแสงธรรมชาติได้ตามต้องการ ส่วนการบุผนังก็ได้ออกแบบผ้าบุใหม่เป็นลายกิ่งไม้จีน และเลือกใช้สีโทนน้ำตาลปนสีทองตามเพื่อให้เข้ากับความชอบของเจ้าของบ้านแทนที่จะใช้สีดำสนิทอย่างที่นิยมกัน ส่วนชั้นวางซีดีมีดีไซน์เก๋กลมกลืนกับไปผนัง

ผ่านโฮมเธียเตอร์มาสู่ห้องนอนใหญ่ ซึ่งใช้โทนสีขาวสว่างนวล เน้นความเป็นธรรมชาติ ด้วยพื้นและเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง หยอดความเป็นจีนเข้าไปที่ลวดลายเมฆประดับที่หน้าบานทุกจุด แบ่งพื้นที่ห้องนอนแยกจากห้องน้ำและพื้นที่ออกกำลังกาย มีประตูกั้นอีกชั้น ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว มีการตกแต่งผนังหัวเตียงด้วยการวางจังหวะไม้ในคอนเซ็ปต์ป่าซึ่งทอนรายละเอียดเหลือแต่เส้นสายที่น่าสนใจ ในส่วนของห้องน้ำมีการแบ่งส่วนแห้งส่วนเปียกชัดเจน และยกพื้นเป็นส่วนแต่งตัวที่มีวอล์กอินคลอเซตเก็บเสื้อผ้าข้าวของได้อย่างจุใจ เป็นห้องน้ำกว้างขวางที่มีการใช้งานได้สะดวกสบาย

จากห้องนอนจะมองเห็นเรือนพระในจุดที่สวยที่สุด เรือนพระหลังนี้เจ้าของบ้านขอให้สร้างแยกออกมาจากตัวบ้าน เพื่อความสงบเงียบอย่างแท้จริง ซึ่งเรือนพระได้เป็นดั่งองค์ประธานของบ้าน โดยจำลองลักษณะของโบสถ์โบราณมา แต่ตัดทอนส่วนหลังคาให้ดูร่วมสมัยขึ้น ใช้ไม้เก่านำมาจัดเรียงใหม่เป็นหน้าบัน ส่วนเสาสูงนั้นก็เป็นเสาไม้เก่าที่ให้ความรู้สึกขรึมขลัง ภายนอก

กรุกระเบื้องลายจีนที่มีความวาวอยู่ในตัว สะท้อนสวยงามเมื่อต้องแสงไฟยามค่ำคืน ภายในเน้นสีขาวสว่างดูสงบ และประดิษฐานพระประธาน โดยออกแบบปั้นขึ้นมาใหม่มีกลิ่นอายพระพุทธรูปคันธาระของอินเดียซึ่งมีความละม้ายมนุษย์มากกว่าพระพุทธรูปตามคติไทย อยู่ภายในหลังคาสูงให้ความรู้สึกสงบเย็นเหมาะสำหรับนั่งอ่านหนังสือ สวดมนต์ และเดินจงกรมโดยรอบได้

เมื่อได้เข้ามาสัมผัสกับบ้านนี้แล้วจะรู้สึกได้ว่า ในความโอ่อ่ากลับมีบุคลิกสบายๆ เน้นการใช้งานที่สะดวก เรียบทันสมัยแต่มีรายละเอียด และเลือกวัสดุคุณภาพสูงแต่ดูแลง่าย บ้านหลังนี้จึงมิได้เน้นความหรูหราอย่างฉาบฉวย แต่เป็นความหรูหราจากภายในคือแนวคิดการออกแบบซึ่งสถาปนิกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองโจทย์และสื่อความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านออกมาได้อย่างชัดเจน

Text: อาศิรา พนาราม
Photo: ปวีณ สมบูรณ์
Interior designer: สมิทธิ สุธรรมชัย

Leave A Comment