MATHEMATICS GALLERY AT SCIENCE MUSEUM / ZAHA HADID ARCHITECTS


ศิลปะความงามในสมการแห่งสายลม

Text & Photo: Gochapoan-May Naruemannalinee (กชพร นฤมาณนลินี)
Architech: Zaha Hadid Architects (ZHA)
Design: Zaha Hadid with Patrik Schumacher, Lighting: Arub lithing

แม้คณิตศาสตร์จะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ทุกแขนง แต่พิพิธภัณฑ์ที่เน้นทักษะการเรียนรู้ด้านนี้กลับพบปัญหาในการนำเสนอบทบาทของคณิตศาสตร์ให้คนทั่วไปหันมาสนใจหรือแม้จะให้เข้าใจง่ายๆ โดยไม่เป็นวิชาการ ส่วนมากมักเกิดจากวิธีการในการนำเสนอเชิงรูปธรรมให้กับศาสตร์ที่เป็นนามธรรม ดังนั้นการเปิดตัวของ Mathematics Gallery ห้องงานแสดงนิทรรศการด้านคณิตศาสตร์ ของ Science Museum ณ กรุงลอนดอน ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่เป็นแนวคิดทั้งในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรมและการนำเสนอความรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจอีกโครงการหนึ่ง เสมือนการตอบโจทย์คำถามที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก นักศึกษา หรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน มักชอบถามครูสอนวิชาคณิตศาสตร์กันทั่วโลกว่า สมการยากๆ พวกนี้เรียนแล้วเอาไปใช้ทำอะไรในชีวิตจริงได้บ้าง?

Mathematics Gallery ที่ Science Museum แห่งนี้ ได้รับการออกแบบโดย Zaha Hadid Architects ซึ่งเป็นหนึ่งในงานออกแบบชิ้นสุดท้ายก่อนที่ Zaha Hadid จะเสียชีวิตลงอย่างกระทันหันเมื่อปีที่แล้ว และเป็นผลงานชิ้นแรกของบริษัทที่สร้างเสร็จสมบูรณ์นับตั้งแต่วันที่เธอลาจากไป ผลงานชิ้นนี้เน้นการนำเสนอความรู้ด้านประวัติความเป็นมาของบทบาทการใช้งานของวิชาคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยใช้แรงบันดาลใจจากคลื่นลมที่เกิดขึ้นขณะเครื่องบินรุ่น Handley Page ‘Gugnunc’ บินอยู่กลางอากาศเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฟอร์มทางสถาปัตยกรรม และในการแบ่งพื้นที่ใช้สอย

The Mathenatics: The Winton gallery ถูกออกแบบมาเพื่อเชิดชู “คณิตศาสตร์” หนึ่งในศาสตร์ที่ Zaha Hadid หลงใหลมากที่สุด

ด้านหลังเครื่องบินคือ 3D โมเดล ในรูปแบบ NURBS (Non-Uniform Rational Basic Spline) โครงสร้างเส้นโค้งไม่ตายตัวสานต่อโยงกัน สะท้อนทิศทางการเคลื่อนที่ของแรงลมขณะเครื่องบินทำงานบนท้องฟ้า

เส้นสายที่ปรากฏใน Mathematics Gallery เต็มพื้นที่เกิดจากสมการจากการเคลื่อนที่ของสายลมใต้ปีกเครื่องบินนั่นเอง

บรรยากาศภายใน Mathematics Gallery

บรรยากาศภายใน Mathematics Gallery

Handley Page ‘Gugnunc’ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1929 เพื่อเข้าประกวดการแข่งขันระดับความปลอดภัยในการบินของเครื่องบินในยุคบุกเบิกการเดินทางบนอากาศ Guggenheim Safe Aircraft Competition เป็นเครื่องบินไม้รุ่นที่มีความสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านอากาศพลศาสตร์เป็นอย่างมาก และเป็นหนึ่งในสองลำเท่านั้นที่สามารถสำเร็จการแข่งขันตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นรุ่นเดียวที่ไม่ได้ระเบิดเสียไป หลังการประกวดเสร็จสิ้นลง

ในการออกแบบโครงสร้างของคลื่นลมจากการบินของ Handley Page ‘Gugnunc’ ครั้งนี้ Zaha Hadid และทีมงานได้ทดสอบแรงลมใน wind tunnel ของเครื่องบินรุ่นนี้แล้วนำมาแปลงเป็นสมการทางอากาศพลศาสตร์เพื่อใช้ในการสร้างประติมากรรมจาก NURBS (Non-Uniform Rational Basic Spline) ฟอร์มสามมิติให้กับเพดานของ Mathematics Gallery ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาในทันทีที่ก้าวย่างเข้ามาใน Mathematics Gallery แต่ในเวลาเดียวกันประติมากรรมจากแรงลมนี้ก็ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นให้ผู้มาเยือนมีความเป็นส่วนตัวในการศึกษาชิ้นงานที่จัดแสดงแต่ละชิ้น แถมยังดึงดูดความสนใจให้เด็กๆได้เข้ามาเล่นซ่อนแอบและเรียนรู้ถึงความสวยงามของสมการตัวเลขกันอีกด้วย

เก้าอี้ถูกดีไซน์ให้มีรูปทรงสามมิติ เพื่อกลมกลืนกับองค์ประกอบของงานดีไซน์อื่นๆ

เก้าอี้ถูกดีไซน์ให้มีรูปทรงสามมิติ เพื่อกลมกลืนกับองค์ประกอบของงานดีไซน์อื่นๆ

แสงไฟที่ใช้ใน Mathematics Gallery ถูกออกแบบเพื่อแสดงให้เห็นความวุ่นวายและการไหลของเส้นสายที่ชัดเจนและเพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ในการเข้าศึกษางานทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์

หากดูผิวเผินการดีไซน์ภายใน Mathematics Gallery แห่งนี้เหมือนไม่ค่อยจะมีเนื้อหา หากแต่เมื่อได้ใช้เวลาสัมผัสและเรียนรู้กับมันกลับรู้สึกได้ว่า Mathematics Gallery นี้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้มาเยือนสูงมากในหลายระดับด้วยสมการของสายลมรอบปีกเครื่องบิน ที่นอกจากจะปรากฏเป็นลวดลายบนเพดานแล้ว ยังถูกใช้เป็นลายพื้นเพื่อเป็นเกณฑ์ในการตั้งวางชิ้นงานที่จัดแสดง ทำให้การเดินชมนิทรรศกรรมยิ่งแปลกไปกว่าปรกติ เพราะเราต้องเดินโค้งไปโค้งมาเหมือนสายลมแทนที่จะเดินตรงๆเหมือนในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ทำให้การดูสิ่งประดิษฐ์ที่อาจจะน่าเบื่อสำหรับหลายๆ คนที่ไม่ได้ชอบวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุกและสวยงามขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://sciencemuseum.org.uk http://zaha-hadid.com

Leave A Comment