MAKE ‘SOMETHING’ DIFFERENT

04

เส้นทางที่เลือกเดินของกวิศ โกอุดมวิทย์

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: พุทธิพงศ์ ศรีสุวรรณ, ฉัตรชัย เจริญพุฒ
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ Take a Seat, Daybeds 162 เดือนมีนาคม 2559

จากเด็กมัธยมปลายคนหนึ่งที่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองอยากเรียนอะไรแน่ บังเอิญนั่งรถผ่านตึกสูงใจกลางมหานครแล้วเกิดความคิดในใจขึ้นว่า ถ้าสักวันหนึ่งเขาได้บอกพ่อกับแม่ว่าตัวเองเป็นคนออกแบบตึกซึ่งเป็นวัตถุพยานเด่นชัดเหล่านี้คงมีความภูมิใจไม่น้อย แรงบันดาลใจของเด็กชายที่มีคุณพ่อเป็นศิลปินจึงเลือกที่จะเรียนต่อสถาปัตย์ เพื่อเป็นสถาปนิกตามทางฝันของตัวเอง แม้จะเริ่มต้นอย่างกระท่อนกระแท่นจนเจ้าตัวยังเอ่ยปากเองว่าเกือบไปไม่รอด แต่ความจริงวันนี้เขาได้กลายมาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในยุคเปลี่ยนผ่านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ Daybeds นั่งคุยอยู่กับอาจารย์กวิศ โกอุดมวิทย์ ถึงแนวคิดและตัวตนของเขาในแง่มุมที่ใครหลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

03
อาจารย์กวิศ หรือคุณเพนท์ เรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และสมัครเข้าเป็นอาจารย์พิเศษที่สถาบันเดียวกัน จนหนึ่งปีผ่านหลังจากนั้นไปเขาตัดสินใจบินไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาต่อที่ Architectural Association School of Architecture ในระหว่างนั้นเองเขาและเพื่อนนักศึกษาได้สร้างโปรเจ็กต์ Timber Seasoning Shelter ขึ้นในปี 2014 ซึ่งเป็น Built projectsของ AA Design & Make โดยเป็นอาคารหลังแรกๆ บนโลกที่ใช้ Steam bending หรือการดัดไม้ด้วยไอน้ำ เสมือนเทคนิคของการทำเฟอร์นิเจอร์มาใช้ในโครงสร้าง (ดูข้อมูลทั้งหมดที่ designandmake.aaschool.ac.uk) “มันก็เหมือนการเปิดโลกเราไปอีกมุมหนึ่ง” เขากล่าว “ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ในประเทศไทยมันเหมือนกบในกะลา ที่อื่นเขาก็คิดอะไรเยอะแยะไปหมด ก็ได้ในแง่ว่าเราเห็นอะไรเยอะขึ้น รู้อะไรเยอะขึ้น”

“ผมไม่เคยเข้าออฟฟิศด้วย ก็เลยมีประสบการณ์น้อยมากถ้าพูดกันตรงๆ ระหว่างหลังเรียนกับทำงานมาก็จะเป็นคนละแบบกัน ขั้นตอนการออกแบบเหมือนกัน แต่ขั้นการออกแบบแล้วจะไปให้สร้างเสร็จจะเป็นเรื่องใหม่หมดเลย” บุตรชายของศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ เล่าให้เราฟังถึงอีกบทบาทหนึ่งที่แตกต่างไปจาการสอนหนังสือ นั่นคือการเป็นสถาปนิก ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม โดยมีผลงานชิ้นแรกที่ทำตอนเรียบจบใหม่ๆ ร่วมกับเพื่อน คือการรีโนเวทร้านแจ่มจันทร์ บนรูฟท็อปโรงแรมฟอร์ทวิลล์เกสท์เฮาส์ ถนนพระอาทิตย์ และ Timber Seasoning Shelter เป็นผลงานชิ้นที่สอง “ผมถือว่าโชคดีที่ลูกค้าคนแรกเขาค่อนข้างดี ไม่ได้ปิดกั้นความคิดเราสักอย่างเลย” เขาเล่าต่อ “งานแรกที่ทำเป็นโครงสร้างเหล็ก โจทย์มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นระบบการก่อสร้างแบบแห้งหมดเลย ที่อังกฤษก็เป็นอีกสไตล์หนึ่งไปเลย ใจความหลักๆ คือไปทำตัวหลังคา ดีไซน์หลังคาใส่ พยายามผสมเทคนิคการทำเฟอร์นิเจอร์กับพันธุ์ไม้ท้องถิ่นแล้วก็ระบบโครงสร้างเข้าด้วยกัน”

ส่วนงานชิ้นที่สามของเขานั้นเกิดขึ้นหลังจากเรียนจบกลับมาจากอังกฤษ นั่นคือการออกแบบส่วนล็อบบี้ หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ท รวมถึงช่วยปรับแก้รายละเอียดของห้องพักในช่วงระหว่างการก่อสร้าง “หลังจากไปเรียนมา ได้เจออะไรมากกมาย จะไปเอา 3D Scanner มาสแกน ทำทอร์เรซสวยงาม แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะมันเป็นไอเดียที่ดีแต่มันค่อนข้างแพง” เขาอธิบาย “สุดท้ายก็ย้อนกลับมาในวิธีที่พื้นมากๆ คล้ายกับตอนที่ไปเรียน ทำม็อคอัพหนึ่งต่อหนึ่งบนไซต์แล้วก็หมุนเอา จะได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าขนาดและสัดส่วนเป็นอย่างไร ตำแหน่งเป็นอย่างไร ก็ปรับผังเอาจริงๆ ตามนั้น มันวางผังคร่าวๆ ได้ประมาณหนึ่งว่า ตำแหน่งห้อง 1 ถึง 8 อยู่ตรงไหน จะปิดอย่างไร ข้างล่าง ข้างในจะเสียบไปอย่างไร ตอนทำนี่จะมี Typical Details ของการออกแบบอยู่ 3-4 แบบ คือเวลาแฟลชชิ่งอาคารถ้าเจอกับตัวหินจะเป็นอย่างไร ดีเทลกระจกเวลาเจอกับโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ส่วนขนาดเราปรับเอาตามความเหมาะสม”

0103 “ส่วนล็อบบี้ที่ผมทำมันก็ง่ายมากๆ ตอนแรกหน้าตาคนละแบบกับแบบนี้เลย แบบแรกสุดคุณอนันต์ สถาปนิกใหญ่อีกท่านออกแบบเป็นอาคาร 2 ชั้น ที่ตั้งอยู่ตรงหลังที่ 3 ซ้ายมือของสระน้ำ ตรงนั้นจะเป็นอาคารส่วนกลาง 2 ชั้นใหญ่ๆ และตรงที่เป็นรีเซ็ปชั่นเข้ามาจะเป็นที่จอดรถ สุดท้ายคุยกันไปกันมากับคุณพ่อและคุณอนันต์ เราก็คิดว่าถ้าทำอาคาร 2 ชั้นมันโดดเกินไป มันหลุดออกมาจากสเกลรอบๆ จนมาถึงล่าสุดที่ทำล็อบบี้และร้านอาหารให้มีความรู้สึกปิดล้อม มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ก็เลยสร้างกำแพงสูงขึ้น ทำตรงไปตรงมาไม่มีอะไรซับซ้อนมาก มีแกนกลางอันเดียว เป็นมุมนำสายตาจากทางเข้าไปสู่สระน้ำ และปลายตาที่เป็นวิวของทั้งหมด ส่วนวัสดุ ผิวสัมผัส อาจารย์ถาวรเขาจะเป็นคนเลือก ผมก็ทำหน้าที่เหมือนวางพื้นที่ให้เขา ตรงไหนจะออกไปอย่างไร จะมองอย่างไร จะใช้งานอย่างไรบ้าง ต้องขอขอบคุณ คุณหมอ หรือคุณอนันต์ มาก ให้คำแนะนำในการประกอบวิชาชีพกับผมมากมาย ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานเยอะมากๆ จากประสบการณ์ที่สั่งสมมานานของคุณหมอ ทั้งเวลาออกแบบ คุยกับลูกค้าและผู้รับเหมา ถ้าไม่มีเขาช่วยสอนคงออกมาแย่กว่านี้เยอะครับ”

19

“ผมเลือกเป็นอาจารย์เพราะคิดว่าที่เรามีตอนนี้มันก็โอเคแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก เราคืนอะไรให้คนอื่นดีกว่า เราพัฒนาคนมันได้อะไรกับอนาคตมากว่า ถ้าเราพัฒนาแต่ธุรกิจตัวเราเองก็ได้แค่ตัวเราเอง” 

อาจารย์กวิศ โกอุดมวิทย์

ต่อหนึ่งในคำถามที่เราเองใคร่รู้ เราถามคุณเพนท์ว่าในอนาคตอยากกลับมาเป็นสถาปนิกเต็มตัวไหม “อยากมากเลยครับ” เขาตอบคำถามด้วยแววตามุ่งมั่นและน้ำเสียงที่หนักแน่นกลับมา “เหมือนมันเป็นสิ่งที่คาใจผมมาตลอดว่าเราไม่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงนี้ผมก็อยากจะช่วยคุณพ่อก่อน เหมือนเขาตั้งใจทำรีสอร์ทให้ผมช่วยบริหาร แล้วผมก็มองว่ารีสอร์ทมันเป็นธุรกิจที่พอผ่านไปสักพักมันจะดำเนินไปได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใส่พลังงานของเราเข้าไปเยอะ ถ้าผ่านจุดนั้นจะเหลือแค่งานสอนกับงานออกแบบ เคยคุยกับเพื่อนไว้เยอะมาก ว่าจะทำงานออกแบบที่ไม่ใช่แค่ออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรม เพียงอย่างเดียวมีความเป็น Multidisciplinary Design ผมก็มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด มันมีแต่มนุษย์เรานี่แหละมาแบ่งเพื่อการศึกษา เรียนรู้ทีละเรื่องเพื่อให้มันง่ายลง ตอนนี้ผมติดอยู่ว่า ทำมันออกมาในรูปธรรมอย่างไรเท่านั้น”

“เหมือนตอนเด็กๆ เราออกแบบก็จะเขียนเส้น ขีดๆ อย่างเดียว วาดอันนี้สวย ขนาดได้ พอโตขึ้นมาสักนิดจะเริ่มคิดว่าขีดหนึ่งเส้นขึ้นมาเป็นสามมิติยังไง สร้างยังไง ราคาเท่าไหร่ ชุความคิดมันก็จะซ้อนขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าถามว่าเรื่องที่เชื่อว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด ผมก็ยังหาคำตอบที่เป็นคำตอบชัดเจนมากไม่ได้ ผมยังต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์อีกเยอะว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน หรือในวิธีอย่างไร ง่ายสุดเลยที่เคยนึกเลยก็คือถ้าทำเป็นออฟฟิศกับเพื่อน ทำเป็นเฟิร์มออกแบบกับเพื่อนก็จะต้องมีทุกสายงาน เพราะผมก็ไม่คิดว่าสถาปนิกคนเดียวอยู่รอดได้ในสายงานนี้ มันก็ต้องการเพื่อนพึ่งพา ผมว่างาน Collaboration เป็นสิ่งที่อีกสักพักมันจะเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนก็เริ่มเห็นความสำคัญของความเชื่อมโยงในหลายดีไซน์ อันนี้ผมคิดว่าการทำงานกับหลายๆ ศาสตร์น่าจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ น่าสนุกๆ ได้อยู่เสมอๆ ครับ”

02
สำหรับคุณเพนท์กับสุภาษิตที่ว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ อาจดูไม่ใกล้เคียงกับตัวเขานัก แม้จะคลุกคลีกับงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ แต่คุณเพนท์ยิ้มพร้อมสารภาพว่าเขาเองเป็นคนวาดรูปได้แย่มากจนรู้สึกอายแทนพ่อ นั่นจึงเป็นปมในใจที่ทำให้เขาไม่ได้พัฒนาต่อ หรือหันมาเอาดีทางด้านศิลปะเหมือนกับศาสตราจารย์ถาวร “แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นมรดกที่พ่อนั้นมอบให้ผมคือ Taste นะครับ” เขาให้เหตุผล “คือเราก็จะรู้ว่าอันไหนสวยอันไหนไม่สวย เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ไม่สามารถอธิบายได้เหมือนกัน หรือถ้าจะมีอีกเรื่องหนึ่งในงานออกแบบก็คือ Composition เรื่องการจัดองค์ประกอบ คิดว่าเป็นอีกสิ่งที่ราเห็นในงานศิลปะของคุณพ่อมาตั้งแต่เด็ก งานภาพพิมพ์เขาค่อนข้างจะ Abstract ในช่วงต้นชีวิต พอหลังๆ มาก็จะเป็นเพนท์ติ้ง คือชุดความคิดเขาก็จะพิเศษกว่าคนอื่น เขาจะมีการจัดองค์ประกอบที่โดดเด่น”

“สิ่งที่คุณพ่อสร้างมา ผมก็โชคดีกว่าคนอื่น เหมือนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกเป็นอาจารย์ด้วย เราคิดว่าที่เรามีตอนนี้มันก็โอเคแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก ก็เลยคิดว่าเราคืนอะไรให้คนอื่นดีกว่า คือเราพัฒนาคนมันได้อะไรกับอนาคตมากว่า ถ้าเราพัฒนาแต่ธุรกิจตัวเราเองก็ได้แค่ตัวเราเอง มันก็อาจจะจบในรุ่นลูกของเรา แต่อนาคตที่นักเรียนเอาไปสร้างต่อมันออกไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้”

การมีบิดาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะ ผู้เป็นลูกย่อมหลีกไม่พ้นการถูกเปรียบเทียบจากสังคม มีแรงกดดันจากความคิดของผู้คนมากมายที่คอยจับจ้องมองมา แต่เราเชื่อมั่นเสมอว่าทุกคนย่อมมีแนวคิด มีหนทางเป็นของตัวเองที่พร้อมจะเดินไปปะทะกับมันในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับไหน อย่างน้อยวันนี้เขาก็ได้เลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าในฐานะอาจารย์หรือเป็นสถาปนิก

Leave A Comment