KAMAKURA SHIRTS RETAIL THAILAND


เปลี่ยนบ้านดิบเท่เป็นรีเทลช็อปคลาสสิก

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

อันที่จริงแล้วเราเองก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่า ความคลาสสิกในแบบผู้ชายมาดเนี้ยบ กับความไม่สมบูรณ์แบบของงานคอนกรีตเผยผิวเปลือยเปล่า จะดูเข้ากันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ กระทั่งเมื่อเปิดประตูเหล็กก้าวผ่านเข้ามาภายในอาคารที่เปลี่ยนจากบ้านมาเป็นรีเทลช็อปขายเสื้อเชิ้ตสัญชาติญี่ปุ่นแบรนด์ Kamakura ในซอยอารีย์สัมพันธ์ 5 แห่งนี้ Kamakura Shirts Retail Thailand เป็นรีเทลช็อปที่เกิดขึ้นมาจากความชื่นชอบการแต่งตัวในแบบผู้ชายคลาสสิกที่ดูมาดเนี้ยบแต่ทันสมัยของ คุณกาย-ศิริพล ฤทธิประศาสน์ และ คุณบอล-วรงค์ ภัทรชัยกุล หุ้นส่วนของร้าน ปัจจุบันพื้นที่ชั้นล่างเปิดเป็นรีเทลช็อปของแบรนด์ Kamakura ทั้งหมด ส่วนในอนาคตบนชั้นสองของอาคารคุณกายกำลังจะเปิดเป็นร้านรองเท้าและร้านตัดสูท ที่จะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของสุภาพบุรุษที่มีรสนิยมเดียวกัน ซึ่งกำลังมองหาเสื้อเชิ้ตหรือสูทที่คุ้มค่าทั้งราคาและคุณภาพ พร้อมกันนี้ยังเปิดให้คำปรึกษาด้านภาพลักษณ์และการเลือกจับคู่สีสันของเสื้อผ้าและการแต่งตัวให้เหมาะกับบุคลิกภาพของแต่ละคนอย่างเป็นกันเอง

“เราอยากให้ที่นี่เป็นที่ศูนย์รวมครบวงจรสำหรับผู้ชายที่ต้องการจะแต่งตัวสไตล์คลาสสิก”

ศิริพล ฤทธิประศาสน์

มุมมองจากด้านหน้าอาคารที่หันหน้าสู่ทางทิศตะวันตก สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้อาคารมีช่องเปิดช่วยสร้างคาแรกเตอร์ให้กับแต่ละแพลตฟอร์มในบ้าน อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการที่ร่นพื้นอาคารในแต่ละจุด ซึ่งแสงแดดช่วงบ่ายสามารถลอดผ่านช่องเปิดเข้าไปจนถึงบันไดทางขึ้นด้านใน

ส่วนห้องนั่งเล่นที่ยกระดับพื้นสูงจากประตูทางเข้า 30 เซนติเมตร ปรับใช้เป็นดิสเพลย์แสดงสินค้า ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวสไตล์วินเทจ

พร็อพที่ตกแต่งอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นชั้น 2 บ่งบอกถึงความเป็นรีเทลช็อปแห่งนี้ได้ดี

“เราอยากให้ที่นี่เป็นที่ศูนย์รวมครบวงจรสำหรับผู้ชายที่ต้องการจะแต่งตัวสไตล์คลาสสิก ด้านล่างจะเป็นของแบรนด์ Kamakura ทั้งหมด ด้านบนจะเปิดขายรองเท้า ขัดรองเท้า และซ่อมรองเท้าด้วย เพราะในเมืองไทยมีคนที่ใส่รองเท้าที่มีราคาสูงเยอะ แต่ว่าเวลามีปัญหาไม่รู้จะไปขัดหรือไปซ่อมที่ไหน เราจึงอยากให้ที่นี่มีทั้งเสื้อเชิ้ต รองเท้า แล้วเราก็จะมีสูทด้วย เพราะในเมืองไทยเวลาหาสไตล์ที่เราชอบเองก็ไม่มีเหมือนกัน สูทที่ใส่แล้วดูไม่แก่แล้วยังเนี้ยบด้วย” คุณกาย กล่าว

ตลอดสามเดือนนับตั้งแต่เปิดบริการที่ผ่านมา คุณกายเล่าว่ามีผู้แวะเวียนมายังรีเทลช็อปแห่งนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ “หนึ่งคือคนชอบเสื้อผ้าและก็ตามอินสตาแกรมผมอยู่แล้ว เพราะในอินสตาแกรมผมจะอัพเดตพวกสูทที่ผมไปลองตัดกับช่าง สองคือได้กระแสคนตามจากตัวตึกและดีไซน์ซึ่งผมได้โจ้มาช่วย เพราะโจ้ค่อนข้างมีชื่อเสียงเรื่องการออกแบบในเมืองไทยอยู่แล้ว ตัวผมชอบอาคารปูน แต่ไม่ชอบอาคารฉาบปูน ชอบความแท้ เลยปล่อยให้โจ้ออกแบบโดยแทบไม่ได้ไปยุ่งเลยด้วยซ้ำ ผมเชื่อใจสถาปนิกเพราะเขาเก่งอยู่แล้ว”

พื้นที่บริเวณเคาน์เตอร์ครัวและบาร์ถูกปรับฟังก์ชันให้เป็นมุมนั่งทำงานของคุณบอล (คนซ้าย) และคุณกาย (คนขวา)

เชิ้ตสวยๆ กับสูทเนี้ยบๆ ของคุณกาย

เสื้อเชิ้ตลวดลายและสีสันต่างๆ ของแบรนด์ Kamakura แขวนประดับไว้บนราวอย่างเป็นระเบียบ

“ผมต้องการจะทำบ้านขนาดพื้นที่ 80 ตารางเมตร ที่ค่อนข้างแน่นมากๆ ให้ใหญ่ที่สุด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ผมเลือกใช้ตัวคอนกรีตเปลือยโชว์ไม้แบบ เพราะว่าลักษณะของผนังแบบนี้จะเป็นผนังที่คนเวลาดูแล้วเขาจะรู้สึกได้เลยทันทีว่าด้านในเป็นอย่างไร ด้านนอกจะเป็นอย่างนั้น”

พัชระ วงศ์บุญสิน

อาคารคอนกรีตแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัท พอ สถาปัตย์ นำโดย คุณโจ้-พัชระ วงศ์บุญสิน ผู้เป็นเพื่อนกับคุณกายมาตั้งแต่สมัยเรียน, คุณนิ้ม-อรณิชา ดุริยะประพันธ์ และคุณธนกร สมสุข คุณโจ้กล่าวกับเราผ่านเสียงปลายสายนอกรอบว่า “บ้านนี้จะไม่เหมือนบ้านอื่นที่ผมเคยทำ เพราะเจ้าของให้สถาปนิกออกแบบอะไรก็ได้ และปกติผมไม่เคยออกแบบบ้านกล่องขนาดเล็กเท่านี้มาก่อน อาคารนี้จะค่อนข้างเป็นเหมือนการทดลองในเชิงการออกแบบโครงสร้าง โครงสร้างภายนอกจะเป็นผนังรับน้ำหนัก (Wall bearing) รอบด้าน ซึ่งจะรับน้ำหนักหลังคาซึ่งเป็นคอนกรีต ส่วนโครงสร้างเหล็กด้านในเสมือนตัวช่วยรับแรงชะลูดของผนังและพื้นไปด้วย และงานนี้เราพยายามที่จะใช้ไม้แบบหน้า 5 เพราะเราอยากจะใช้ไม้แบบกับไม้ที่มาใช้ปูพื้นมีขนาดเดียวกัน”

ส่วนห้องนั่งเล่นที่ยกระดับพื้นสูงจากประตูทางเข้า 30 เซนติเมตร ปรับใช้เป็นดิสเพลย์แสดงสินค้าที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวสไตล์วินเทจ

จากมุมมองบริเวณบันได ผนังรับน้ำหนักที่แสดงให้เห็นร่องรอยของไม้แบบ ตลอดจนการร่นระยะและยกระดับพื้นช่วยให้เส้นสายของอาคารเกิดความต่อเนื่องเชื่อมถึงกันทั้งหมด

บนชั้น 2 สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เป็นห้องนอน ถูกปรับฟังก์ชันมาเป็นห้องเก็บสต็อกเสื้อผ้า ซึ่งในอนาคตจะปรับเป็นร้านขายรองเท้าและตัดสูท

นอกจากนี้สถาปนิกยังอธิบายเพิ่มเติมถึงการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารต่อไปอีกว่า “โจทย์ของผมคือเนื่องจากพื้นที่มันเล็กมากเพียง 7×8 เมตร แต่ผมอยากจะทำห้องให้รู้สึกว่ามันเต็มพื้นที่ ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 จึงสร้างเต็มพื้นที่แต่ว่ามีพื้นที่โล่งหรือมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานให้มันเชื่อมชั้นบนกับชั้นล่างอยู่แค่ประมาณไม่เกิน 15% ของพื้นที่บ้าน ก็เลยคล้ายกับว่าเป็นการทดลองเสมือนมีการร่นพื้นออกมาจากผนัง มีการเปลี่ยนระดับความสูงของพื้นแต่ละชั้น โดยเราใช้หลักการยกระดับพื้นด้านละ 30 เซนติเมตร ทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างความแตกต่างของโซนแต่ละโซน โดยที่แต่ละโซนก็จะมีลักษณะของความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน”

“ผมต้องการจะทำบ้านขนาดพื้นที่ 80 ตารางเมตร ที่ค่อนข้างแน่นมากๆ ให้ใหญ่ที่สุด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ผมเลือกใช้ตัวคอนกรีตเปลือยโชว์ไม้แบบ เพราะว่าลักษณะของผนังแบบนี้จะเป็นผนังที่คนเวลาดูแล้วเขาจะรู้สึกได้เลยทันทีว่าด้านในเป็นอย่างไร ด้านนอกจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาเรานั่งอยู่ด้านในบ้าน เราจะรับรู้ได้ว่านอกบ้านจะเป็นอย่างไร ความรู้สึกมันจะไม่ถูกตัดขาด แล้วผมรู้สึกว่าไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ตรงจุดไหนภายในอาคาร เราจะสัมผัสได้ถึงภาพรวมของอาคารเสมอ ผมว่ามันเป็นเหมือนตัวที่ทำให้คนรู้สึกว่าอาคารไม่เล็ก ไม่อึดอัด เมื่อเทียบกับผนังทาสีหรือว่าผนังที่กรุอะไรก็ตาม มันจะไม่สามารถสร้างความรู้สึกแบบนั้น”

ในการออกแบบอาคารขึ้นมาเพื่อรองรับการปรับฟังก์ชันการใช้งานโดยไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของสถาปนิกในการตระเตรียมพื้นที่เปล่าเอาไว้ เพื่อรอการปรับใช้อย่างเหมาะสมโดยเจ้าของอาคารในอนาคต ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นรีเทลช็อปในปัจจุบันอย่างที่เห็น เรื่องนี้สถาปนิกอธิบายว่า “อย่างที่ผมกล่าวไปในตอนแรก เนื่องจากว่าโจทย์ที่ได้คือให้ทำอะไรก็ได้ แต่ละห้องของผมจึงเตรียมสเปซไว้เฉยๆ เพราะผมก็ไม่มีทางรู้ว่าเมื่อมันเสร็จแล้วเจ้าของบ้านเขาจะอยากอยู่ตรงไหน หรืออยากจะนอนหันหัวไปทางไหน มันก็เลยเหมือนเป็นการเตรียมสเปซที่มีคุณภาพ สเปซที่มันพิเศษในแต่ละด้านแต่ละจุดไว้ เพราะฉะนั้นการที่เขามาปรับใช้เป็นร้านขายของได้ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไรมาก”

สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้อาคารมีช่องเปิดช่วยสร้างคาแรกเตอร์ให้กับแต่ละแพลตฟอร์มในบ้าน อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการที่ร่นพื้นอาคารในแต่ละจุด

สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้อาคารมีช่องเปิดช่วยสร้างคาแรกเตอร์ให้กับแต่ละแพลตฟอร์มในบ้าน อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการที่ร่นพื้นอาคารในแต่ละจุด

สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้อาคารมีช่องเปิดช่วยสร้างคาแรกเตอร์ให้กับแต่ละแพลตฟอร์มในบ้าน อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการที่ร่นพื้นอาคารในแต่ละจุด

อย่างที่เราเกริ่นนำไว้ในย่อหน้าแรก ความคลาสสิกในแบบผู้ชายมาดเนี้ยบ กับความไม่สมบูรณ์แบบของงานคอนกรีตเผยผิวเปลือยเปล่าที่ดูเข้ากันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน และงานบิลท์อินที่สถาปนิกสร้างไว้ กับของตกแต่งอย่างเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและพร็อพเก่าจากบ้านคุณปู่ของคุณกาย อาทิ ตู้ไม้สำหรับเก็บของ เก้าอี้ ขวดวิสกี้ ไปจนกระทั่งแผ่นเสียง ถูกนำมาจัดเรียงคละกันในพื้นที่ชั้น 1 โดยบริษัท Decus ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับรีเทลช็อปแห่งนี้ดูลงตัวและมีเสน่ห์มากกว่าเดิม ดังคำกล่าวของสถาปนิกที่เห็นภาพรวมของอาคารทั้งหมดแล้วรู้สึกว่า “การที่ไม้หลายๆ โทนดูไปด้วยกันได้ มันคอนทราสมากๆ ระหว่างอาคารที่แข็งมากๆ กับเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ดูมีดีเทลมากๆ ก็ดูนุ่มตาไปอีกแบบหนึ่ง”

Contact: ซอยอารีย์สัมพันธ์ 5
ถนนพหลโยธิน สามเสน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
วันจันทร์-ศุกร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 12.30-20.00 น.
และวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดบริการตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น.
โทร. 08-6533-5255
www.facebook.com/kamakurathailand/

Leave A Comment