INTEGRATED FIELD

เลือดใหม่แห่งวงการสถาปัตยกรรมไทย

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม, Wison Tungthunya & IF

ผมเคยตั้งคำถามว่า “ทำไมบริษัทนี้ถึงมีพาร์ทเนอร์เยอะเหลือเกิน” เมื่อครั้งได้เข้าร่วมฟังเสวนาหัวข้อ ‘Living for Tomorrow’ ซึ่งจัดโดยเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ เมื่อปลายปี 2013 ในวันนั้น Integrated Field หรือ IF ดำเนินการบรรยายได้อย่างน่าสนใจทีเดียวทั้งรูปแบบการนำเสนอ ภาษาในการบรรยาย และภาษาในงานสถาปัตย์ที่ออกแบบอย่างโดดเด่น กล่าวได้ว่าเลือดใหม่แห่งวงการสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้กระตุ้นให้ผมอยากทำความรู้จักยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Daybeds ชวนพวกเขามาหาคำตอบ

00

DBs: การรวมตัวของ IF
IF:
พวกเราเรียนและทำโปรเจ็กต์มาด้วยกัน ตอนเริ่มทำงานมีการประกวดออกแบบรัฐสภาใหม่ ทีมเราเป็นทีมที่เด็กที่สุดเข้าไปอยู่ในรอบ 10 ทีมสุดท้าย ตอนนั้นทุกคนยังมีงานประจำ เสร็จงานตอนเย็นจะมารวมกันทำ พอได้เข้ารอบเราก็เริ่มรู้สึกกว่าเราเข้าขากัน คิดอะไรคล้ายๆ กัน ทำงานด้วยกันได้นะ ด้วยความที่เราคุยกันรู้เรื่อง เลยตัดสินใจออกมาทำงานด้วยกัน

DBs: ประสบการณ์จาก Bunnag Architects International consultants, Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP), A49, Department of Architecture, ARbay, Plan Architect, MJ. Garden, JGP Architecture มารวมกันเป็น IF ต้องปรับตัวหากันมากน้อยแค่ไหน
IF:
แต่ละคนมีความถนัดกันคนละแบบ แต่ยิ่งถนัดคนละแบบมันก็ยิ่งดี เวลามาทำงานด้วยกันมันก็ยิ่งทำให้งานมันกลมขึ้น มันไม่มีอะไรที่ชัดเจนไปทางใดทางหนึ่ง แต่มันกลายเป็นงานภาพใหญ่ที่กลมมากขึ้น เวลาเราไปพรีเซ้นท์ลูกค้าแต่ละทีน้อยมากๆ ที่ลูกค้าจะปฏิเสธเราไปเลย เพราะเราคิดกันมากลมมากๆ มันเลยทำให้แก้ข้อเสียของแต่ละฝั่งไปด้วยการที่เรารวมพลังกัน

DBs: เมื่อเจอปัญหาในการทำงานร่วมกัน IF แก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยวิธีใด
IF:
ข้อดีของพวกเราอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เราเคยคุยกันมาตั้งแต่ต้น โชคดีด้วยที่พวกเราทุกคนเป็นกันอย่างนั้น คือเราแยกออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับงาน เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือให้งานเราออกมาดีที่สุด โซลูชั่นที่ออกมาเมื่อได้งานที่ดีที่สุดทุกคนก็จะยอมรับกันเอง มันจะไม่ใช่เป็นการทะเลาะ เรียกว่าเป็นการถกดีกว่า เหมือนเป็นวัฒนธรรมของการทำงานที่นี่ ไม่ใช่งานของผมที่ดีที่สุด แต่เป็นงานของ IF ที่ดีที่สุด พวกเราไม่เคยมีใครบอกว่างานผม มีแต่คำว่างานเรา ผมว่ามันเชยแล้วที่บริษัทสถาปนิกจะทำคนเดียว ผมว่ายุคนี้มันต้องทำงานร่วมกันมันถึงจะเท่

DBs: ที่มาของชื่อ IF
IF:
พวกเราถนัดกันคนละแบบ แต่ละคนทำงานคนละแบบ มันเลยทำให้ได้ชื่อบริษัท Integrated Field คือรวมหลายๆ อย่าง ตอนนั้นคุยกันเล่นๆ เรื่องชื่อ พวกผมก็ชอบทำกิจกรรมอื่นๆ เลยคุยกันว่าจะทำเสื้อลายใหม่ชื่อ IF เลยรู้สึกว่าเป็นคำที่ครีเอทีฟดี เป็นคำที่พวกผมเวลาทำงานจะคุยกันว่า ถ้ามันเป็นแบบนี้ล่ะมันจะเป็นอย่างไร? ผมว่าบริษัทออกแบบส่วนใหญ่จะมีคำถามแบบนี้ ถ้ามันเป็นแบบนี้มันจะโอเคไหม? ถ้ามาลองทางนี้ดูหละจะเป็นอย่างไร? พอคุยกันเพื่อนก็บอกว่าน่าสนใจ เลยเป็นที่มาชื่อออฟฟิศ ดูน่าจะเหมาะกับเนเจอร์ของการทำงาน พวกเราเป็นเจ้าหนูจำไม ชอบถาม บางทีลูกค้าก็เรียกเราบางคนว่า IF มันก็เลยสะท้อนไปถึงมุมมองของคนภายนอกได้เหมือนกันว่าเราเป็นทีมมากกว่าบุคคล เหมือนดาราเกาหลียังจำเป็นแก๊งค์แบบ BIGBANG หรือ Girls’ Generation

DBs: งานออกแบบสไตล์ IF
IF:
ไม่มีสไตล์อะไรเลย เราคิดจากโจทย์ที่เราได้รับ งานออกแบบเหมือนโจทย์แล้วเราเป็นคนหาโซลูชั่นที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นบางทีมันก็อาจจะได้คำตอบไม่เหมือนกัน วิธีการก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราก็เลยไม่มีสไตล์ที่บอกว่างานนี้คือของ IF แต่ว่าดูลึกๆ แล้วจะดูออกที่โซลูชั่น วิธีคิด การแสดงออกแบบนี้มากกว่า นั่นคือวิธีการทำงานที่เป็นระบบของเรา เวลาคิดงานเราจะคิดรวมกัน แต่สุดท้ายมันจะมีคนที่รันโปรเจ็กต์นั้น คอยดูแลความเรียบร้อย ดูรายละเอียดให้มันครบถ้วน แต่เวลาที่มีรายละเอียดที่จะตัดสินใจกัน จะเป็นประเด็นไหนเราก็จะพยายามเอามาคุยกันให้บ่อยที่สุด เพื่อให้มันได้คำตอบที่มันเหมาะสมที่สุดสำหรับโปรเจ็กต์นั้น เวลาไปพรีเซ้นท์คนที่จะเล่าเรื่องต่อตรงนั้น คือคนที่รู้เรื่องโปรเจ็กต์นั้นมากที่สุดในขณะนั้น หรือกระทั่งเวลาเราทำสไลด์ไปเลกเชอร์ เราก็ช่วยกันทำทั้งหมด ดูว่าตรงไหนดี ไม่ดี เวลาเราไปเลกเชอร์แต่ละทีเราจะรู้สึกไม่อยากให้มันดูน่าเบื่อ รู้สึกคนไทยขายอารมณ์ขัน ตัวเราชอบอะไรตลกๆ เราก็พยายามจะใส่เข้าไปในงาน เหมือนตอนเราไปเลกเชอร์ มันก็ดูผ่อนคลายดี เวลาเราไปขายงานลูกค้า เราไม่เคยขายงานว่าตรงนั้นมันคือสเปซสวยมากเลยครับ หรือว่าดีไซน์คอนเซ็ปต์ตรงนี้มันเท่มากเลยครับ เพราะลูกค้าฟังไม่รู้เรื่อง เราเลยรู้สึกว่าเวลาเราไปพรีเซ้นท์อะไร เวลาเราเป็นเขา เขาไม่เข้าใจความเป็นดีไซน์จะทำอย่างไรที่จะเล่าเรื่องให้มันง่ายที่สุด ก็เลยเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้คนฟังฟังแล้วสมูท เวลาพูดเรามักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดยากๆ อย่าง Technical Terms, Circulation ผมจะพูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ สื่อสารง่าย ๆ ผมว่าแบบนี้มันคุยง่ายกว่า

DBs: งานของ IF ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งหมด
IF:
ไม่ใช่เราแค่ 6 คน หรือ 12 คนที่คิดงานเท่านั้น น้องๆ มีสิทธิ์เสนอไอเดียได้ ทุกคนแชร์กัน ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ อย่างน้องๆ ที่เพิ่งจบมาเขาก็เหมือนเปิดมุมมองที่พวกเขาเรียนมาแล้ว 5 ปี พอมาอยู่ที่นี่บางทีโปรเจ็กต์ที่ไม่มีแลนด์สเคปอยู่ในนั้นเลยเราก็เอามาแชร์กัน เราอาจจะได้ไอเดียจากน้องแลนด์สเคปเข้ามาที่มันเป็นเฟรชไอเดียที่เขาอยู่ตรงนั้นมาเสริมแทรกทำให้งานเรามันดูดีขึ้น พวกเราเชื่อกันว่างานดีไซน์มันไม่ได้ถูกแยกจริงๆ สถาปัตย์ อินทีเรีย หรือผังเมือง ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด มันเป็นอะไรที่เกี่ยวโยงกันเป็นเส้น เพราะฉะนั้นคุณทำอันหนึ่งมันก็เกี่ยวโยงกัน ถ้าคุณทำก้อนเดียวไม่สนใจคนอื่นเลย เราเอากรรไกไปตัดก็ตัดไม่ได้เพราะทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด ทางที่เราควรทำตรงนี้ให้ดีที่สุด แต่เราก็ต้องสนใจรอบข้างด้วย มันเลยเป็นไอเดียการทำงานที่อยากทำให้ทุกอย่างมันกลมมากขึ้น

Integrated Field ก่อตั้งบริษัทในปี 2011 จากการรวมกลุ่มของเพื่อนสนิท 12 คน โดย 11 คนมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีก 1 คน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง IF มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากมาย เช่น บ้านมุม (BAAN MOOM) บ้านกล่องสีขาวเรียบเท่, The public fulfills the democracy ผลงานที่ติดเป็น 1 ใน 10 ผู้เข้ารอบโครงการ New Thai Parliament Design Competition เมื่อปี 2009, Dental Bliss, Ingfah Restaurant ที่เขาหลัก จ.พังงา เป็นต้น

1/4

Contact:
โทร. 0-2291-3439
www.integratedfield.com

Leave A Comment