HOF : HOME AND OFFICE / INTEGRATED FIELD

00

(ทำงาน) ที่ไหนจะสุขเท่าบ้าน  

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เกตน์สิรี วงศ์วาร
Architect: IF (Integrated Field Co.,Ltd.)
Mockup unit mood: วงศ์ณิชา วงศ์สืบชาติ
Structural engineer: ปิยพงษ์ สุวรรณมณีโชติ
Mechanical engineer: นพรัตน์ เกตุขาว, มงคล พิชญกิตติสิน
Corporate Identity: Symbolist Co.,Ltd.

ห้องแถวหรือตึกแถว เป็นอาคาร Mix-Use แบบพื้นฐานที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี คนไทยใช้อาคารตึกแถวทั้งในรูปแบบของร้านค้า ร้านอาหาร ที่อยู่อาศัย จนปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบของที่ทำงาน บาร์ แม้กระทั่งโรงแรมเล็กๆ หรือโฮสเทล การผสมผสาน ต่อเติม และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอย จึงเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและสามารถจัดการการใช้สอยพื้นที่ในแบบของตัวเองได้อย่างมีเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตาม รูปแบบอาคารแบบพื้นฐานที่เหมือนกันในแทบทุกที่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้ากับวิถีชีวิตที่แตกต่างกันได้ในแต่ละครอบครัว เพราะถึงแม้ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบใช้สอยได้ตามใจ แต่ก็เป็นการสิ้นเปลือง และก่อให้เกิดเศษเหลือในการอยู่อาศัย ที่รังแต่จะสร้างความ ‘ไม่สบาย’ ให้กับผู้อาศัยในบ้านที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตัวเองตั้งแต่ต้น

บ้านและสถานที่ทำงานที่หลอมรวม จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ถูกส่งต่อมาสู่ทีมสถาปนิกมากฝีมือ ‘IF (Integrated Fields)’ ในการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยเพื่อคนเมืองในรูปแบบของห้องแถวให้แตกต่างไปจากในอดีต

บ้านและสถานที่ทำงานที่หลอมรวม จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ถูกส่งต่อมาสู่ทีมสถาปนิกมากฝีมือ ‘IF (Integrated Fields)’ ในการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยเพื่อคนเมืองในรูปแบบของห้องแถวให้แตกต่างไปจากในอดีต เมื่อชัดเจนว่าต้องการพื้นที่แบบ ‘โฮมออฟฟิศ’ พื้นที่ทำงานกับพื้นที่อยู่อาศัย ในบริบทที่จะสามารถเชื่อมต่อพวกเขากับเมืองได้อย่างสะดวก จึงกำเนิดขึ้นในรูปแบบอาคารที่กะทัดรัดแต่ยืดหยุ่น สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานหรือครอบครัวเล็กๆ ที่ต้องการพื้นที่ทำงานของตัวเองสำหรับธุรกิจขนาดย่อม หรือพื้นที่สำหรับทำงานอิสระ ที่ไม่ต้องการถูกจำกัดอยู่ด้วยเวลาการทำงานที่ตายตัว

ไม่ใกล้ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสถานีอุดมสุข ในเขตเมืองที่กำลังเติบโต บ้านแถวจำนวน 4 หลังในรูปลักษณ์ทันสมัยที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนภายในซอยของถนนสุขุมวิท 101/1 ‘HOF’ อาคารตึกแถวนิยามใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ของการพัฒนาพื้นที่ทำงานให้สอดคล้องไปกับพื้นที่อยู่อาศัย เพราะเมื่อเทรนด์การทำงานที่บ้านเริ่มไม่ใช่เรื่องใหม่ เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อโลกเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างอินเตอร์เน็ต ทำให้วิถีชีวิตของคนทำงานในเมืองเริ่มเปลี่ยนจากชีวิตแบบเดิมๆ ที่ต้องเข้า 9 โมงเช้าออก 5 โมงเย็น มาสู่ทางเลือกในรูปแบบการทำงานที่

หลากหลายของคนยุคใหม่ จนเกิดเป็นกระแสของการทำงานอิสระหรือฟรีแลนเซอร์ เพราะเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ เพียงเรามีสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์น็ตบุ๊ค ทุกๆ ที่ก็สามารถเป็นสถานที่ทำงานได้อย่างไม่แตกต่างกัน รูปแบบที่อยู่อาศัยดังกล่าวจึงกำลังเป็นที่นิยม และเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเมืองที่หนาแน่นและกระชับเข้าสู่ใจกลางมากกว่าที่จะแผ่ขยายอย่างไร้ทิศทางอย่างเช่นในอดีต ของกรุงเทพมหานคร

แนวคิดดังกล่าว สะท้อนอยู่ในแปลนทั้ง 3 ชั้น (กับอีกหนึ่งชั้นลอย) ของอาคารตึกแถวในพื้นที่ใช้สอยรวม 286 ตารางเมตรต่อ 1 คูหา สถาปนิกตั้งใจให้พื้นที่ใช้สอยเบื้องต้นของอาคาร ดำเนินไปตามลักษณะแบบเดิมของอาคารตึกแถวโดยทั่วไป คือ พื้นที่ในชั้นแรก ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นสาธารณะสูง ให้ปรากฏเป็นฟังก์ชันของพื้นที่สำหรับการทำงาน ในขณะที่พื้นที่ในชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปจะค่อยๆ ไล่ลำดับความเป็นส่วนตัว พื้นที่ในชั้น 1 และชั้นลอย จึงถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนของออฟฟิศ ในขณะที่ส่วนของการใช้งานในบ้านจริงๆ อาทิ ส่วนนั่งเล่น ครัว รวมถึงส่วนรับประทานอาหาร จะเริ่มที่ชั้น 2 จนกระทั่งถึงพื้นที่ชั้นบนสุดคือชั้น 3 ที่ถูกกำหนดให้เป็นฟังก์ชันของห้องนอนสำหรับผู้อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดในบ้าน ถูกเปิดปล่อยให้เป็นพื้นที่แบบ Free Plan เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านสามารถจัดการพื้นที่ใช้สอยได้เองตามที่ต้องการ

สถาปนิกเพิ่มขนาดหน้ากว้างของตึกแถวให้กว้างเป็น 6.30 เมตร จากเดิมที่บ้านตึกแถวมักมีความกว้างอยู่ที่ 4 – 5 เมตร เพื่อขยายขอบเขตพื้นที่ชั้น Ground Floor ที่ถูกกดพื้นให้มีระดับต่ำกว่าพื้นดิน ให้พื้นที่ทั้งชั้นสามารถใช้เป็นพื้นที่จอดรถได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน สัดส่วนที่ถูกขยายมากขึ้นกว่าขนาดของตึกแถวแบบปกตินั้น ก็สามารถใช้เป็นส่วนจัดการพื้นที่ที่มักเป็นเศษเหลือของการอยู่อาศัย เช่น พื้นที่ของบันได พื้นที่ส่วนห้องน้ำ ห้องเก็บของ และพื้นที่อื่นๆ สถาปนิกใช้วิธีจัดการด้วยการรวบพื้นที่ดังกล่าวให้เข้าไปอยู่ในด้านในด้านหนึ่งของตึกแถว วิธีดังกล่าวยังช่วยให้พื้นที่ใช้สอยที่เหลือสามารถเปิดโล่ง และเชื่อมต่อถึงกันหมดตั้งแต่ด้านหน้าถึงด้านหลัง ประกอบกับหน้าต่างกระจกที่ถูกกรุตลอด Facade ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้าน ทำให้ ‘HOF’ มีความโปร่งโล่งตลอดทั้งอาคาร แตกต่างจากตึกแถวโดยทั่วไปที่มักมีข้อเสียคล้ายกันคือ มักปิดทึบ ทำให้ขาดทั้งอากาศที่ถ่ายเทและแสงธรรมชาติที่เป็นประโยชน์

สถาปนิกตั้งใจให้พื้นที่ใช้สอยเบื้องต้นของอาคาร ดำเนินไปตามลักษณะแบบเดิมของอาคารตึกแถวโดยทั่วไป คือ พื้นที่ในชั้นแรก ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นสาธารณะสูง ให้ปรากฏเป็นฟังก์ชันของพื้นที่สำหรับการทำงาน ในขณะที่พื้นที่ในชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปจะค่อยๆ ไล่ลำดับความเป็นส่วนตัว

01 เมื่อก้าวเข้าสู่ชั้นที่ 1 ของบ้าน พื้นที่ตลอดตั้งแต่ด้านหน้าและด้านหลังทะลุเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่เดียว สถาปนิกยังออกแบบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นแบบ Free Plan เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งานพื้นที่สูงสุด

02
บานเกล็ดไม้ในส่วนด้านหลังบ้าน ติดตั้งตลอดผนังหน้าต่างกระจก ที่ถูกกรุเต็ม Facade ในทุกๆ ชั้น สเปสยังถูกออกแบบมาให้เป็น Double Volume เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นบนและชั้นล่างอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘HOF’ ที่มอบความโล่งสบายแตกต่างไปจากตึกแถวโดยทั่วไป

03 04 พื้นที่ในชั้นลอย (Mezzanine Floor) ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการทำเป็นพื้นที่สำนักงาน สถาปนิกยังได้วางระบบที่จำเป็นสำหรับการทำงานไม่ว่าจะเป็น ระบบ LAN จุดเชื่อมต่อปลั้กไฟ และงานระบบอื่นๆ ที่เอื้อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายในพื้นที่ส่วนนี้

 

สอดคล้องกับความโปร่งโล่งที่เป็นโจทย์สำคัญในออกแบบพื้นที่ตึกแถวภายใต้นิยามของ IF บันไดบ้านที่ถูกแบ่งเป็นสองชุดแยกการใช้งานระหว่างส่วนออฟฟิศและส่วนที่พักอาศัยออกจากกันโดยสิ้นเชิง ในส่วนนี้เองที่สถาปนิกใช้ความสัมพันธ์ระหว่างที่อยู่อาศัยในชั้น 2 และชั้น 3 สร้างความเชื่อมต่อระหว่างชั้นด้วยคอร์ทกลางแจ้ง ที่เปรียบเสมือนสวนภายในบ้านที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามต้องการ พื้นที่สีเขียวเล็กๆ นี้ยังอนุญาตให้แสงธรรมชาติจากภายนอกลอดผ่านเข้าสู่อาคาร แลกเปลี่ยนบรรยากาศกับพื้นที่อยู่อาศัยภายในได้อย่างมีมิติเสมือนให้อาคารสามารถได้หายใจ ในขณะเดียวกัน แสงที่ลอดผ่านเข้าสู่อาคารนั้นยังสามารถส่องผ่านไปสู่ทุกๆ ห้องที่รายล้อมอยู่รอบคอร์ท ไม่ว่าจะเป็นส่วนนั่งเล่น ครัว ส่วนรับประทานอาหาร รวมถึงห้องนอนหลักในชั้นบนสุด พื้นที่ในแต่ละส่วนนอกจากจะสามารถสื่อสารกันได้ตลอดไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในส่วนใดของส่วนพักอาศัยแล้ว บรรยากาศของพื้นที่ทั้งหมดยังถูกหลอมรวมให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งภายนอกและภายใน มอบความปลอดโปร่งสอดคล้องไปกับแนวคิดเรื่องความโปร่งโล่งเดิมที่มีตลอดทั้งภายในอาคาร

05เมื่อก้าวเข้าสู้พื้นที่ชั้น 2 พื้นที่นั่งเล่น เชื่อมต่อไปกับพื้นที่อื่นๆ ในส่วนพักอาศัย ด้วยคอร์ทกลางแจ้งขนาดพอเหมาะพอดี ที่สถาปนิกตั้งใจให้ใช้เป็นทั้งส่วนเชื่อมต่อการใช้งาน และส่วนเชื่อมต่อบรรยากาศ ทั้งภายในส่วนพักอาศัยเอง และกับบรรยากาศภายนอกด้วย

06 07
คอร์ทกลางแจ้งเป็นเหมือนกล่องแสงที่นำเอาแสงธรรมชาติเข้าสู่ส่วนใช้งานอาคารไม่เพียงแต่ในส่วนพักผ่อนชั้น 2 แต่ยังเชื่อมต่อไปถึงห้องนอนหลักในชั้น 3 ทำให้บรรยากาศโดยรวมภายในไม่รู้สึกแปลกแยก

08
บันไดชุดที่จะขึ้นไปสู่ส่วนห้องนอนในชั้น 3  ความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจจากการแยกบันไดออกเป็นสองชุดระหว่างส่วนทำงานและส่วนพักอาศัยนี้ เป็นเสมือนการภาพจำลองให้ส่วนพักอาศัยเป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่ตั้งอยู่บนอาคารหลัก ที่มีความเป็นส่วนตัวขึ้นได้มากขึ้นอย่างน่าสนใจ

09สเปสแบบ Double Volume ของระหว่างชั้น 3 และชั้น 2 ของบ้าน สื่อสารและเชื่อมต่อให้พื้นที่ภายในไม่รู้สึกอึดอัด

10
หน้าต่างกระจกถูกกรุไม่เพียงแต่ในส่วนของสำนักงาน แต่ยังกรุเต็มมาถึงส่วนพักอาศัย ทำให้ Facade ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้านสามารถนำแสงธรรมชาติที่มีประโยชน์เข้าสู่ตัวอาคารได้อย่างเต็มที่

11 พื้นที่ของห้องนอนหลัก มีสเปซที่เป็นเหมือนห้องใต้หลังคาทรงจั่ว แต่กว้างขวางด้วยระดับพื้นถึงฝ้าที่พอเหมาะพอดี พร้อมกันนั้นยังมีบานกระจกขนาดใหญ่ ที่มองออกไปเห็นสีเขียวของต้นไม้และทัศนียภาพภายนอกของมหานครได้อย่างไม่รู้เบื่อ

12
พื้นที่ระหว่างคอร์ทสีเขียวที่เชื่อมชั้น 2 และชั้น 3 เข้าไว้ด้วยกัน

พื้นที่สีเขียวเล็กๆ นี้ยังอนุญาตให้แสงธรรมชาติจากภายนอกลอดผ่านเข้าสู่อาคาร แลกเปลี่ยนบรรยากาศกับพื้นที่อยู่อาศัยภายในได้อย่างมีมิติเสมือนให้อาคารสามารถได้หายใจ ในขณะเดียวกัน แสงที่ลอดผ่านเข้าสู่อาคารนั้นยังสามารถส่องผ่านไปสู่ทุกๆ ห้องที่รายล้อมอยู่รอบคอร์ท ไม่ว่าจะเป็นส่วนนั่งเล่น ครัว ส่วนรับประทานอาหาร รวมถึงห้องนอนหลักในชั้นบนสุด

มิติของการอยู่อาศัยที่แตกต่างนี้ เติมเต็มชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้ด้วยขนาดของอาคารไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมแต่อย่างใด สาระสำคัญของที่อยู่อาศัยในปัจจุบันจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ขนาด รูปลักษณ์ หรือวัสดุที่จับต้องได้ด้วยตา แต่คือคุณภาพของที่อยู่อาศัยภายในแบบใดต่างหาก ที่จะสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องทั้งต่อบริบทแวดล้อม เวลา และผู้คนที่เปลี่ยนหน้าอยู่เสมอๆ13
อาคารตึกแถวทั้ง 4 หลังที่นอกจากจะโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่สะดุดตา แสงไฟในเวลากลางคืนยังทำให้รูปทรงจั่วของบ้าน ‘HOF’ แตกต่างอย่างชัดเจน ด้วยแนวคิดของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบสมัยใหม่โดยแท้จริง

Leave A Comment