FYI CENTER / CREATIVE CREWS

00

ฮับสร้างสรรค์ใหม่กลางมหานคร

Text: กรกฎ หลอดคำ 
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
Architect: Creative Crews
Landscape architect: Shma Co., Ltd.
Lighting design: Be Lit Co., Ltd.
Signage & Graphic design: Archibrand Co., Ltd.
Structural engineer: Warner Associates Co., Ltd.
จากคอลัมน์ BLUEPRINT, DAYBEDS 165 

‘Work Hard, Play Hard’ หนึ่งคำขวัญยอดนิยมที่ครองใจคนวัยทำงานในยุคปัจจุบันมาอย่างยาวนาน กาลเวลาเปลี่ยนพร้อมกับการเข้ามาของคนเจเนอเรชั่นใหม่ ความเป็นปัจเจก และกระแสการทำงานแบบอิสระ ส่งต่อแรงกระเพื่อมต่อคลื่นของผู้คนที่อาจไม่ได้ต้องการการทำงานหนักเพื่อการพักผ่อนอย่างสุดเหวี่ยงอีกต่อไป บนทางเลือกของชีวิตที่หลากหลาย สิ่งที่พวกเขาต้องการมากไปกว่านั้นอาจเป็นการ ‘ทำงาน’ และการ ‘เล่น’ ที่ไม่จำเป็นต้องถูกแยกออกจากกัน

การเกิดขึ้นของพื้นที่แบบ 3rd Place อย่างพื้นที่ของร้านกาแฟ จนกลายพันธุ์เป็นพื้นที่แบบ Co-Working Space หนึ่งในเหตุผลนั้น ก็เพราะผู้คนในทศวรรษปัจจุบัน เริ่มที่จะสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างขนส่งมวลชนระบบรางคุณภาพและเครือข่ายไร้สายอย่างอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก กอปรกับความคิดที่เริ่มใฝ่หาพื้นที่และเวลาที่เป็นอิสระของคนรุ่นใหม่ เราจึงได้เห็นผู้คนเริ่มที่จะเลือกทำงานของตัวเองนอกสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ระหว่างการเดินทางไปในที่ต่างๆ หรือสถานที่แบบ 3rd Place เองก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่แบบ 2nd Place อย่างอาคารสำนักงานที่เคยยึดครองชีวิตการทำงานของผู้คนมาโดยตลอด ในปัจจุบันจึงค่อยๆ ปรับตัวไปในทิศทางใหม่ๆ อย่างช้าๆ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่มีให้เห็น มีตั้งแต่ในสำนักงานขององค์กรระดับโลกอย่าง Google หรือ Apple จนถึงองค์กรสร้างสรรค์เติบโตเร็วอย่างสตาร์ทอัพน้อยใหญ่ ที่ต่างก็กำลังแสวงหาทิศทางของการทำงานและรูปแบบของสำนักงานที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ต่างจากอาคารสำนักงานแนวคิดคนรุ่นใหม่ สำนักงานแห่งความสร้างสรรค์บนหัวมุมสี่แยกของถนนรัชดาฯ-พระราม 4 ใจกลางกรุงเทพมหานคร แห่งนี้

02

‘FYI Center’ ในการพัฒนาของ Golden Land Property Development PLC จากฝีมือการออกแบบของทีมสถาปนิก Creative Crew ความคิดสร้างสรรค์ที่แฝงอยู่ในชื่อ ‘FYI’ บอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองได้ครบถ้วนภายในประโยคจากชื่อเต็ม ‘For Your Inspiration’ ในอาคาร 12 ชั้น บนพื้นที่ดินกว่า 9 ไร่ เส้นโค้งหยักลื่นไหลที่วิ่งตัดไปบนพื้นหลังของท้องฟ้า ของอาคาร 12 ชั้นสามารถมองเห็นได้จากที่ไกล เพียงแรกก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณของสถาปัตยกรรม หุ่นสีเหลืองขนาดมหึมาที่กำลังวิ่งโผเข้าหากันกลางสวนเขียว  Mr. และ Mrs. Spark โดยคุณสาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Propaganda ที่สามารถมองเห็นได้จากทั้งทางเข้าด้านหน้าและจากภายในสำนักงาน ก็อาจคล้ายว่ากำลัง Spark ความคิดของผู้คนที่ผ่านไปมา ให้ประกายความสร้างสรรค์สดใหม่ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

ในทำเลที่เชื่อมต่อจากขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพมหานคร  MRT สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ จากทางเข้า อาคารสำนักงานถูกแบ่งโซนออกเป็นอาคารหลัก 2 หลัง พื้นชั้นกราวนด์ที่สามารถเดินเชื่อมถึงกันเลื่อนไหลไปตามแมสฟอร์มอาคารรูปตัวแอล สอดคล้องกับแลนด์สเคปดีไซน์โดยภูมิสถาปนิก Shma ที่ถูกออกแบบให้รับไปกับการโอบล้อมกลายๆ ของอาคารโดยรอบ ขั้นบันไดของสวนเขียวถูกไล่เป็นลูกเล่นให้สามารถใช้ได้ทั้งเดินผ่าน นั่งเล่นใต้ร่มไม้ กระทั่งแวะชมถ่ายรูปตุ๊กตาตัวใหญ่มาสคอตประจำโครงการ ชั้น 1 และชั้น 2 ของอาคารหลักไหลเวียนต่อเนื่องกันด้วยฟังก์ชันของล็อบบี้และร้านค้าต่างๆ ที่ในอนาคตก็จะถูกใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หยุดพักความคิด เติมพลังงาน จนถึงกระตุ้นไอเดียของพนักงานให้สดใหม่ เพราะพื้นที่รีเทลที่กว้างขวางนี้ กำลังรอการมาถึงของทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ยิมฯ แม้แต่พื้นที่แบบ Co-Working Space ก็อาจมาปรากฏในสถานที่แห่งนี้ด้วย

14

โถงล็อบบี้ถูกตกแต่งด้วยวัสดุที่ลดทอนความเป็นทางการลง แต่เพิ่มความขบขันและสนุกสนานเข้าแทนที่ เคาน์เตอร์สีเหลืองสด รูปร่างล้อเลียนโครงสร้างเหล็กรูปตัวไอ ได้แนวคิดมาจากเอกลักษณ์ของท่าเรือคลองเตย ท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ในละแวกข้างๆ ลูกเล่นสนุกๆ นี้ยังสะท้อนอยู่บนฉากหลังในหน้าตาของผนังตู้เหล็กคอนเทนเนอร์สีขาว สอดรับกับกราฟิกดีไซน์ที่หยิบเอาบรรยากาศในโถงมาบิดให้สนุกสนาน เช่น การเน้นปุ่มสัญญาณดับเพลิงด้วยเครื่องหมายตกใจสีแดงสด หรือ Quote คำพูดที่ทั้งชวนหัวและกระตุ้นความคิด ที่ปรากฏอยู่ไม่เพียงแต่ในโถงต้อนรับ แต่ยังปรากฏอยู่ตลอดทั่วทุกพื้นที่ในอาคาร ไม่ว่าจะในโถงลิฟต์ ชั้นรีเทล พื้นที่ส่วนกลางชั้นสำนักงาน ไม่เว้นแม้แต่ในห้องน้ำ

พื้นที่ชั้นสำนักงานของอาคารถูกแบ่งออกเป็น 2 หลังตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 5 ในขนาดพื้นที่ให้เช่าแยกแต่ละหลังราว 2000 ตารางเมตร ในขณะที่ชั้น 6 ถึงชั้น 12 พื้นที่สำนักงานทั้งหมดจะเชื่อมต่อกันเป็นอาคารเดียว ทำให้ได้พื้นที่ให้เช่าที่เชื่อมต่อกันสูงสุด 4000 ตารางเมตร  จากภายใน แม้จะไม่ได้ใช้ไฟฟ้า แต่พื้นที่ชั้นสำนักงานทั้งหมดก็สว่างด้วยแสงธรรมชาติ เทคโนโลยีกระจก 3 ชั้นกันความร้อน Low-E ถูกกรุรอบชั้นพื้นที่สำนักงานและตลอดทั้งอาคาร สถาปนิกออกแบบให้กระจกแต่ละผืนไล่ลอนคลื่นสลับโดยไม่วิ่งเป็นเส้นตรงไปในระนาบเดียวกัน เมื่อแสงอาทิตย์ลอดผ่าน จังหวะของผืนกระจกที่ยกตัว เว้นว่าง สลับสับหว่างไม่เท่ากัน จะก่อให้เกิดการหักเหของแสงไม่ให้ตกกระทบโดนพื้นที่ใช้งานของสำนักงานโดยตรง ช่วยลดความร้อนที่จะแผ่เข้าสู่พื้นที่ใช้งานอาคาร ในขณะที่ผู้ใช้งานก็ยังได้ความสว่างของแสงแดดในช่วงกลางวันอย่างเต็มที่ ดีเทลและรายละเอียดที่ยิบย่อยนี้สะท้อนออกมาในภาพรวมทั้งภายในและภายนอกของสถาปัตยกรรมอย่างตรงไปตรงมา สร้างเอกลักษณ์ และสอดประสานไปกับแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาด

สำหรับคนเมืองสมัยใหม่ที่เริ่มเบื่อหน่ายกับการจราจรในเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาสำนักงานใดๆ ที่จะมีที่จอดจักรยานที่ปลอดภัย รวมไปถึงห้องอาบน้ำ การใช้งานต่างๆ ที่กล่าวถึงมักถูกปัดตกและหลงลืมไประหว่างการออกแบบอาคารสำนักงานทั่วไป ที่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ให้เช่าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สถาปัตยกรรมเพื่อการสร้างสรรค์แห่งนี้เลือกที่จะบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เป็นสาระสำคัญไม่ต่างจากเรื่องของขนาดของพื้นที่ ทั้งห้องจอดจักรยานในชั้นใต้ดินที่ผ่านเข้าออกด้วยคีย์การ์ด ตอบสนองผู้ที่ไม่นิยมใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลัก ห้องอาบน้ำและล็อกเกอร์ที่ติดอยู่กับห้องจอดจักรยานสำหรับนักปั่น รวมถึงบนทุกๆ ชั้นของห้องสำนักงานแยกออกจากห้องน้ำปกติอย่างเป็นสัดส่วน นอกจากนั้น ในทุกๆ 2 ชั้นของมุมอาคาร ยังมีพื้นที่สีเขียวในโถงสูง กับต้นไม้ขนาดพอเหมาะ เป็นพื้นที่พักผ่อนซ่อนอยู่ ในที่นี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่สูดอากาศผ่อนคลายระหว่างวัน ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่คิด ที่คุย ที่แลกเปลี่ยนไอเดียกันระหว่างเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี เพราะความคิดดีๆ ไม่ได้เกิดแต่จากการนั่งมองหน้าจอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่หรือ?

05ภาพรวมของอาคารจากระยะไกล ลอนคลื่นของ Façade ขนาดใหญ่สร้างภาพจำให้ผู้พบเห็น ป้ายสัญลักษณ์ ‘FYI CENTER’ ที่วางอยู่อย่างพอเหมาะพอดี คล้ายจะเชื้อเชิญผู้คนให้เข้าไปทำความรู้จัก

06
หุ่นสีเหลืองขนาดมหึมาที่กำลังวิ่งโผเข้าหากันกลางสวนเขียว  Mr. และ Mrs. Spark โดยคุณสาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Propaganda ที่สามารถมองเห็นได้จากทั้งทางเข้าด้านหน้าและจากภายในสำนักงาน

03 แผงกระจกถูกออกแบบให้วางลดหลั่นต่อเนื่อง ให้ประโยชน์กับการหักเหแสงแดด กรองความร้อนที่จะเข้าสู่ภายในอาคาร ในขณะเดียวกัน เส้นโค้งก็ได้กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของอาคารในภาพรวม

  00000000013
โถงต้อนรับ ชัดเจนด้วยป้ายตัวเลขสีเหลืองบอกตำแหน่งอาคารขนาดมหึมา

0708ภายในตกแต่งด้วยสีขาว เพื่อเป็นเหมือนผ้าใบให้กับงานกราฟิกดีไซน์ที่จะมาแต่งแต้มบนองค์ประกอบต่างๆ

16พื้นที่ภายในพื้นที่ให้เช่าของสำนักงาน ระยะกว้างสูงสุด 13.95 เมตร โปร่งโล่งด้วยระยะพื้นถึงฝ้าที่สูงถึง 2.9 เมตร และอาคารยังอนุญาตให้สามารถถอดแผ่นฝ้าออกได้ สำหรับบริษัทที่ต้องการตกแต่งสำนักงานเพิ่มเติมในสไตล์ของตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้ได้ระยะฝ้าเพิ่มขึ้นอีกถึง 30 เซนติเมตร

6666666666พื้นที่พักผ่อนเอาต์ดอร์ในมุมของทุก 2 ชั้นของอาคาร ให้ประโยชน์กับผู้เช่าที่ได้พื้นที่สำนักงานส่วนนี้ มาพร้อมพื้นที่สีเขียวเล็กๆ และต้นไม้ขนาดย่อม สำหรับเป็นพื้นที่สูบบุหรี่ ที่คิด ที่คุย ในบรรยากาศที่แตกต่าง

01บรรยากาศเมื่อมองลงไปจากชั้นสำนักงาน เห็นสวนเขียวด้านล่างและ Mr. กับ Mrs. Spark ที่วิ่งเล่นหยอกล้อ บนฉากหลังของเมืองหลวงที่สะท้อนอยู่บน Façade กระจกแผงมหึมาอันเป็นเอกลักษณ์

09ห้องจอดจักรยานในชั้นใต้ดินที่ผ่านเข้าออกด้วยคีย์การ์ด ตอบสนองผู้ที่ไม่นิยมใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลัก

10Co-Working Space

12 11Quote คำพูดที่ทั้งชวนหัวและกระตุ้นความคิด ที่ปรากฏอยู่ไม่เพียงแต่ในโถงต้อนรับ แต่ยังปรากฏอยู่ตลอดทั่วทุกพื้นที่ในอาคาร ไม่ว่าจะในโถงลิฟต์ ชั้นรีเทล พื้นที่ส่วนกลางชั้นสำนักงาน ไม่เว้นแม้แต่ในห้องน้ำ

04

Leave A Comment