FREEZING THE MOMENT


การ ‘หยุด’ ความงามในช่วงขณะหนึ่งเพื่อต่อยอดไปสู่วัสดุตกแต่งภายในที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดของจาร์เค็น ที่ ‘ไม่เคยหยุด’ คิดค้นและพัฒนาสิ่งสร้างสรรค์

ความเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความสง่างาม คือปรัชญาการออกแบบที่ทำให้งานออกแบบภายใต้ชื่อ บริษัท จาร์เค็น จำกัด หรือ JARKEN ที่มุ่งเน้นสไตล์การตกแต่งเรียบ หรู และสุขุม ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยวและคอนโดนิเนียม รวมไปถึงงานคอมเมอร์เชียล คลินิก ร้านอาหาร โรงพยาบาล และรีสอร์ท กลายเป็นที่ยอมรับนับรวมกว่า 100 โครงการ นับตั้งแต่ถือกำเนิดองค์กรขึ้นในปี 2546 เป็นต้นมา

ในปัจจุบัน จาร์เค็นได้ขยายขอบเขตของงานออกแบบและพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเปิดบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท เจ.เค. บิวเดอร์ส จำกัด หรือ JK Builders ที่รับผิดชอบด้านการรับเหมาก่อสร้าง, บริษัท ออกแบบ พาย จำกัด หรือ pye ซึ่งรับออกแบบตกแต่งภายในสำหรับกลุ่มลูกค้าในระดับกลางถึงบน, บริษัท ไทเกอร์ลิลลี่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ Tigerlily บริษัทเอเจนซี่น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2557 ซึ่งรับงานในด้านการจัดทำประชาสัมพันธ์และเป็นที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์องค์กรของกลุ่มลูกค้า และล่าสุด บริษัท ดีไอ คอนเซ็ปต์ สโตร์ จำกัด หรือ Design Installation (DI) ที่จาร์เค็นเพิ่งเปิดตัวคอนเซ็ปต์สโตร์ รีเทลวัสดุตกแต่งแนวไลฟไตล์แห่งแรกในเอเชียไปเมื่อกลางปีก่อน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการวัสดุตกแต่งที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในหลากหลายรูปแบบและไม่เหมือนใคร ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในด้านต่างๆ ได้อย่างครบวงจร

Daybeds มีโอกาสสนทนากับ ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด และ คุณศศิวิมล สินธวณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท จาร์เค็น จำกัด ถึงภาพรวมของการทำงานภายในองค์กรของพวกเขาปัจจุบัน ตลอดจนเป้าหมายในการขับเคลื่อนจาร์เค็นมุ่งหน้าก้าวไปสู่เป้าหมายในอีกระดับต่อไปจากนี้ ร่วมด้วยตัวแทนทีมดีไซเนอร์จากจาร์เค็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Freezing the moment ซึ่งมาเผยความเป็นมาของโครงการที่เกิดจากความพยายามคิดค้นและมองหาสิ่งรอบตัวที่สามารถนำกลับมาสร้างสรรค์ต่อยอดให้เกิดคุณค่า จนได้ออกมาเป็นผลงานวัสดุเชิงทดลองที่ประสบความสำเร็จ และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงผลงานในงาน SingaPlural Celebrates Design 2017 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ F1 Pit Building ประเทศสิงคโปร์

คุณศศิวิมล สินธวณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท จาร์เค็น จำกัด

DAYBEDS: อยากให้เล่าถึงที่มาของ Freezing the moment

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: Freezing the moment เกิดจากในชีวิตประจำวันที่เราเลือกวัสดุให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไม้ หิน โลหะ หรือกระจก เรามองว่ามันน่าจะมีวิธีอื่นๆ ที่ทำให้วัสดุเหล่านี้น่าสนใจมากขึ้น มากกว่าจะเป็นวัสดุธรรมดา เราก็อาศัยการสังเกตว่าจะทำอย่างไรกับวัสดุได้บ้าง ซึ่งทางทีมดีไซเนอร์ก็สนใจเรื่องของเหล็ก แต่ส่วนหนึ่งคือที่จาร์เค็นมีกิจกรรมเสริมให้น้องๆ ได้คิดสร้างสรรค์ นอกเหนือจากการทำงานในทุกวัน คือโครงการดีไซน์แล็บ (design lab) ซึ่งเป็นพื้นที่ให้น้องๆ ค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ไม่ว่าเป็นเรื่องการทดลองเรื่องวัสดุ หรือทดลองเล่นกับแสง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เขาออกแบบมาเวลานำไปติดตั้งหรือบอกกับลูกค้ามันสามารถใช้งานได้ตามคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้ตั้งแต่แรกได้จริง เป็นโครงการที่เราเริ่มต้นมาได้สองปีแล้ว เพราะเรามองว่าอินทีเรียดีไซเนอร์ก็เป็นดีไซเนอร์คนหนึ่ง ที่ไม่ได้ทำได้แค่งานตกแต่งภายในเท่านั้น อย่างตัวแจนเองก็เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ออกแบบเสื้อผ้าและลวดลายต่างๆ ในวัสดุอื่นๆ ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันเกิดจากการที่เราไม่ได้หยุดคิด เกิดมาจากข้างในเรามีแพสชั่น ความสนุกในการทำงานที่อยากจะต่อยอดเรื่องการออกแบบออกไปเรื่อยๆ

DAYBEDS: ภาพรวมของการทำงานร่วมกันของ JARKEN group of companies

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: ตอนนี้ในส่วน JARKEN group of companies เรามีวิสัยทัศน์ (vision) อยากให้ภาพรวมของบริษัทเป็นระบบนิเวศของการดีไซน์ (Ecology of Design) ที่ครบในทุกวงจร เราไม่ได้มองว่าลูกค้าที่เข้ามาหาเราจะจบแค่งานตกแต่งภายใน หรือว่างานตกแต่งสถาปัตยกรรมภายนอกเท่านั้น เราคิดว่างานดีไซน์ต้องมองจากภาพรวมทั้งหมด ต่อยอดในเรื่องธุรกิจได้ในทุกๆ เรื่อง อย่างเช่นในตอนนี้เรามีบริษัท ไทเกอร์ลิลลี่ ที่ดูเรื่องแบรนดิ้ง และกราฟิกดีไซน์ เรามีบริษัทในเครือที่ดูในเรื่องวัสดุ คือ ดีไอ ที่เริ่มออกแบบในเรื่องวัตถุ (object) ในอนาคตอาจมีโปรดักท์ที่เป็นไลฟสไตล์หรือเฟอร์นิเจอร์ด้วย 

DAYBEDS: ข้อดีของการทำงานครอบคลุมในทุกวงจรทั้งในส่วนการออกแบบ ตกแต่ง ก่อสร้าง และการสร้างแบรนดิ้ง

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: ยกตัวอย่าง เช่น เรามีโปรเจ็กต์สปา (ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ตอนนี้) เราก็ช่วยลูกค้าคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่าชื่อแบรนด์ควรจะออกมาเป็นอย่างไร นำกราฟิกดีไซเนอร์มาคิดเรื่อง Brand Strategy สีสันและโลโก้ควรจะเป็นรูปแบบไหน หลังจากนั้นจึงมองในเรื่องบรรจุภัณฑ์ (packaging) และโปรดักท์ ในขณะเดียวกันอินทีเรียดีไซเนอร์และสถาปนิกจะรู้แล้วว่าคอนเซ็ตป์เป็นอย่างไร ก็จะคิดต่อว่าร้านหรือผิวหน้าอาคารภายนอก (façade) ควรจะออกแบบอย่างไรเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ เมื่อเดินเข้ามาแล้วควรจะได้ความรู้สึกแบบไหน เพื่อให้เชื่อมโยงไปกับ Brand Strategy แบบนี้ และมีฟังก์ชันที่ตอบสนองไปในทิศทางเดียวกัน

KULDEJ SINTHAWANARONG: Ecology of design เรามองว่าระบบนิเวศน์มันเป็นการพึ่งพิงกันมากกว่า ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไประบบมันก็ไม่สมบูรณ์ คนทั่วไปอาจจะมองว่าจาร์เค็นทำทุกอย่างเลย เติบโตมีนู่นนี่นั่นเข้ามาเติม มันไม่ใช่การขยายในแบบนั้น มันเป็นการเติมให้ลูปมันครบ เหมือนกับงานที่เรามาแสดงที่ F1 ถ้าเราไม่ได้มุมมองของ visual designer ดีๆ มันก็อาจจะออกมาไม่สวย ถ้าเราไม่ได้สารตั้งต้นที่ดีจากอินทีเรียดีไซเนอร์ซึ่งเขาอยู่กับวัสดุตลอดเวลา เขารู้ว่ามันมีของเหลือจากไซต์งานที่มันทำออกมาแล้วมันแจ๋ว มันก็ออกมาไม่สวย เราไม่ได้มองว่าเซอร์วิสมันเยอะแยะไปหมด ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น มันเป็นผลพลอยได้ (by-product) ที่ตามมา ซึ่งถ้ามองในแง่การตลาดคือตลาดมองเรา แต่ถ้ามองจากข้างในมุมเรา เราเหมือนอยู่ในห้องแล็บที่เอางานดีไซน์ของเราเติมเข้าไปให้สมบูรณ์

ถ้าในแง่ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมันก็มีอัตลักษณที่ย้อนแย้งเล็กน้อย ทุกคนไปเป็นฟรีแลนซ์ ไปทำงานใน Co-working Space ฟรีแลนซ์ดีไหม มันดีในแง่ให้อิสระต่ออาชีพและตัวเอง แต่มันจำกัดวงอิสระของลูกค้า เพราะถ้าทุกคนใช้ฟรีแลนซ์หมด ฟรีแลนซ์กราฟิก ฟรีแลนซ์แบรนดิ้ง ฟรีแลนซ์คอนซัลติ้ง ฟรีแลน์อาร์คิเต็ค ถามว่าที่สุดแล้วคนเหล่านี้เขามานั่งคุยกันหรือเปล่า อาจจะไม่คุยหรืออาจจะคุยถ้ามีตัวกลางที่ดี ถ้ามันคุยกันทุกสเต็ปส์งานที่ออกมาคนที่ได้ผลประโยชน์ (Benefit) ที่สุดคือเจ้าของโครงการ นี่คือ Design ecology ซึ่งเรากำลังสร้างขึ้นมา มันอาจจะย้อนแย้งในการกระจายตัวของงาน เพราะทุกคนก็ใช้ฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะ น้องๆ ฟรีแลนซ์สมัยนี้เก่งๆ ทั้งนั้นเลย แต่ที่สุดแล้วมันมีคำๆ หนึ่งว่า ‘เก่งคนเดียวอยู่ไม่ได้’ อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ที่สุดแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือใคร ลูกค้าได้ประโยชน์ไหม อาจจะได้แต่ได้ในลักษณะใดอย่างหนึ่งคืองานเต็คสวย งานอินทีเรียสวย แล้วงานอื่นที่ตามมาล่ะ เราก็จะเห็นหลายๆ แบรนด์ที่ช็อปเจ๋งมากแต่โปรดักท์ออกมาไม่ตอบโจทย์ บางงานโปรดักท์สวยจริงแต่ช็อปไม่สวย จาร์เค็นกำลังจะทรานฟอร์มไปเป็นแบบนั้น (ที่ทำงานครอบคลุมในทุกวงจร)

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: สำหรับจาร์เค็นงานดีไซน์ไม่ได้มีสไตล์ชัดเจน ไม่ได้มีอะไรที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน ทุกอย่างออกแบบเพื่อความรู้สึก และประสบการณ์ที่ลูกค้าจะเข้าไป ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าเราจะออกแบบอะไร เราจะถามลูกค้า เราจะคิดภาพบียอนด์จากสิ่งที่ลูกค้าคิดไว้เสมอ สิ่งที่ลูกค้าติดใจเราแล้วให้โปรเจ็กต์ต่อเนื่อง เพราะว่าเรามีวิสัยทัศน์ (vision) ที่มากกว่าแค่เป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ที่เอาแปลนมาจัดเฟอร์นิเจอร์แล้วเอาวัสดุมาใส่ เรามองว่าธุรกิจของคุณจะประสบความสำเร็จได้เราเป็นส่วนหนึ่งในนั้นเลยนะ เพราะลูกค้าที่เขามาในร้านของเขา เข้ามาในออฟฟิศของเขา ลูกค้ามองว่ามันเป็นตัวเขา มันใช่เขา นั่นคือสิ่งที่ลูกค้าบอกมานะคะ เรามองมากกว่ามันเป็นแค่สิ่งแวดล้อมภายใน แต่ด้วยคาแรกเตอร์ของลูกค้าที่แตกต่างกัน ความรู้สึกลึกๆ เราจึงเบื่อวัสดุที่มีอยู่ เรารู้สึกว่าแบรนด์ๆ นี้น่าจะมีอะไรประมาณนี้ มันก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่มีดีไซน์แล็บ เพราะเราอยากจะทำอะไรสนุกๆ บ้างเพื่อให้ตอบโจทย์กับลูกค้า

DAYBEDS: ดีไซน์แล็บ กับ ดีไอ ทำงานด้วยกันอย่างไรในแง่การมองหาวัสดุใหม่ๆ ที่ไม่มีในตลาดมาตอบโจทย์ให้กับลูกค้าที่ต้องการความพิเศษและมีเอกลักษณ์

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: พึ่งพากัน คือ ดีไซน์แล็บก็เป็นส่วนหนึ่งของดีไอ สุดท้ายแล้วดีไซน์แล็บเกิดจากพวกเราทดลองกันก่อนว่าอะไรเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าพัฒนาจนกระทั่งพร้อมที่จะเป็นโปรดักท์ชิ้นหนึ่งได้ ในอนาคตก็จะเป็นโปรดักท์หนึ่งของ ดีไอ ได้เช่นกัน

DAYBEDS: Freezing the moment พร้อมหรือยังที่จะเป็นหนึ่งในโปรดักท์ของ ดีไอ

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: เราคิดว่าได้ แต่เราก็มองไปในสองทาง คือเป็นอาร์ติสทิคมากๆ มันเป็นวัสดุที่เกิดจากการทำด้วยมือ (handmade) เพราะฉะนั้นแต่ละแผ่นที่ทำแต่ละครั้งมันจะไม่เหมือนกันเลย เป็นโปรดักท์ที่เอ็กซ์คลูซีฟมากๆ ไม่ใช่สั่งทำอันนี้แล้วมันจะออกมาได้เหมือนกันตามนี้ ก็คิดว่าน่าจะดูไปในรูปแบบของวัสดุที่ผสมกับงานศิลปะเข้าไป ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ว่าถ้าคุณมีโปรเจ็กต์นี้ให้เรา เราอาจจะสั่งทำพิเศษโดยบอกตามคอนเซ็ปต์คุณมา คุณอยากให้ Freezing the moment เข้าไปแล้วเป็นอารมณ์ไหนก็บอกกับอาร์ติสท์ของเราได้ จริงๆก่อนหน้านี้เราเคยทดลองมาหลายแบบ เรามีดีไซเนอร์อีกหลายๆ ทีมที่สนใจเรื่องการออกแบบโปรดักท์ไลฟสไตล์ เรามีทีมออกแบบพวกภาชนะด้วย แต่น่าจะเปิดตัวได้ช่วงกลางปีหรือปลายปีนี้ แล้วเราก็จะมีทีมที่ทำงานศิลปะเช่นแบบนี้ลงบนวัสดุกระเบื้องหรือไม้ และมีทีมที่ทำเรื่องผ้าด้วยเหมือนกัน เพราะเรามองว่าน่าจะใส่คาแรกเตอร์บางอย่างเข้าไปในผ้า เช่น ผ้าม่าน ผ้าบุผนัง โดยให้คนที่มาเห็นรู้สึกว่ายังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทอลาย หรือการพิมพ์ลายที่เราออกแบบเอง เป็นต้น

Freezing the moment เริ่มการทดลองจากแผ่นเหล็กที่เกิดสนิม จากนั้นเลือกวัสดุและขนาดตามต้องการ ก่อนเพิ่ม texture และ Surface ดีไซน์ลวดลายและสีสันต่างๆ ลงไปบนแผ่นเหล็ก แล้วใช้น้ำยากัดกรดในการกัดสีและเหล็กให้เกิด texture ที่น่าสนใจกระบวนการนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน จบด้วยโค้ดทับหน้าด้วยตัวเรซิ่น ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์จนได้ออกมาเป็นวัสดุตกแต่งซึ่งเหมาะทั้งกับงานอินทีเรียดีไซน์ และงานตกแต่งภายนอก แต่สำหรับงานภายนอก อาจจะมีระยะเวลาใช้งานสั้นกว่า เพราะต้องระวังในเรื่องของแสงแดด ความชื้นจัด หรือร้อนจัด ซึ่งอาจทำให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้นDAYBEDS: แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด Freezing the moment


SIRIKHWANTHIWAT PREESAM:
ระหว่างนั่งรถผ่านตามถนนหนทาง เราสังเกตเห็นเท็กซ์เจอร์ของปูนเก่าตามทางด่วน สะพาน หรือบ้านที่เขาปล่อยร้างให้เหล็กขึ้นสนิม ด้วยความที่เราเป็นคนชอบสนิมอยู่แล้ว ก็เลยหยิบเอาความที่มันเป็นธรรมชาติมาชูให้ทุกคนเห็นว่าเท็กซ์เจอร์ตรงนี้มันน่าสนใจ พอดีมีน้องในทีมอีกคนถามว่าถ้าสนิมมันเยอะเกินไปเราจะทำอย่างไรให้มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถคอนโทรลเท็กเจอร์ได้ (เสมือนการเลียนแบบตามวิธีของธรรมชาติ) ก็เลยไปที่แล็บของกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญของเขาแนะนำสารเคมีมากัดตัวสนิม เอฟเฟ็กต์จากสารเคมีแต่ละตัวมันก็จะทำให้สนิมมีลักษณะแตกต่างกันไป พอเท็กซ์เจอร์มันต่างกัน เราก็คิดว่าจะเพิ่มอะไรที่ทำให้มันมีสีสันมากขึ้น เลยลองเอาสีอะคริลิกใส่บนแผ่นเหล็กแล้วเอากรดราดให้มันลอกออกมา จากนั้นโค้ดทับด้วยเรซิ่น จริงๆ แล้วกว่าจะมาได้ขนาดนี้ก็พังมาเยอะเหมือนกัน ทดลองอยู่หลายรอบแต่ก็สนุกดี ชิ้นงานที่มันสมบูรณ์มันจึงเป็นเหมือนงานศิลปะ ซึ่งจริงๆ เบลมองว่ามันยังสามารถพัฒนาต่อได้อีก

KULDEJ SINTHAWANARONG: วิธีการมองชิ้นงานชิ้นหนึ่งของดีไซเนอร์จะแตกต่างกัน เราเป็นบริษัทดีไซน์ ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต วิธีการมองงานของบริษัทผู้ผลิตจะเป็น Market Oriented เขาจะดูว่าผู้บริโภค (Consumer) ต้องการอะไร แล้วเขาจะวิ่งเข้าไป อย่างเช่น ผู้บริโภคต้องการกระเบื้องที่มีลายเหมือนไม้ เขาก็จะวิ่งเข้าห้องทดลองเลยว่าจะทำอย่างไรให้กระเบื้องมีความเหมือนไม้ที่สุด แต่ของเรามองในแบบดีไซเนอร์ เรามองในลักษณะสิ่งที่อยู่รอบตัวว่ามีอะไร แล้วแรงบันดาลใจของเรามันไปได้ถึงไหน แล้วทำตามใจเรา เรารู้อยู่แล้วจากประสบการณ์ว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเราก็บวกแรงบันดาลใจของเราเข้าไปอีกนิด เรายังไม่ได้มองตลาดตอนนี้ แต่แน่นอนว่าเมื่อมันประสบความสำเร็จไปอีกหนึ่งระดับ มันก็ต้องมีการทดสอบตลาด (Market Testing) เรามองว่าอันนั้นมันตามมาทีหลัง

DAYBEDS: หากการมาจัดแสดงผลงานในครั้งนี้มีการตอบรับที่ดีจากผู้คนที่มาชมหรือมีผู้คนสนใจชิ้นงานเพื่อนำไปตกแต่ง ก็สามารถผลักดันวัสดุนี้ให้เดินหน้าเต็มตัวได้เลยใช่ไหม

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: ใช่ค่ะ ถ้าอยากได้ตามนี้เราก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถามว่าเราพอใจหรือยัง ก็ยัง ยังมีคิดอยู่เลยว่าจะเอาวัสดุอื่นมาผสมด้วยดีไหม หรือจะใส่อะไรให้มากขึ้นเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่แปลกขึ้น

DAYBEDS: ความท้าทายในการสร้างวัสดุใหม่ในมุมมองดีไซเนอร์

SIRIKHWANTHIWAT PREESAM: มันไม่ได้อยู่ที่ความยากง่าย มันอยู่ที่เมื่อไรเราสนใจ เราจะลืมไปเลยว่ามันยากหรือง่าย เพราะเราต้องจดจ่อกับสิ่งที่เราสนุกอย่างเดียว

DAYBEDS: แต่วัสดุที่คาดเดาไม่ได้กับงานดีไซน์ที่ต้องการความแน่นอนมันดูย้อนแย้งกัน 

SASIVIMOL SINTHAWANARONG: จริงๆ มันเป็นขั้นตอนการทำงานศิลปะมากกว่า งานศิลปะกับงานออกแบบต่างกันตรงงานออกแบบเราใส่อะไรลงไปตามความต้องการ (requirement) ของลูกค้า ต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง เราจึงใส่ความอาร์ทิสติคเข้าไปบางส่วน แต่ตรงนี้เรียกว่าอาร์ทิสติคล้วนๆ เลย เสน่ห์ของมันอยู่ที่เราคาดเดาไม่ได้ว่าแผ่นนี้มันจะขึ้นเป็นสนิมเยอะหรือสนิมน้อยแค่ไหน มันก็เป็นความสนุกอีกแบบ เพราะเราทำงานที่มีลิมิตมาเยอะ อันนี้ไม่มีเลย แต่เราก็มีการกำหนดมันระดับหนึ่ง ตอนนี้มันสวยแล้วนะ เราจะ freeze มันแล้ว เราก็ทาแล็กเกอร์หรืออะไรทับมันก็มีวิธีของเรา ตรงนี้ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ Freezing  the moment

สำหรับการจัดแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ในครั้งนี้ จาร์เค็นอาจมุ่งเน้นการนำเสนอความเป็นมาของผลงาน ตลอดจนเทคนิคและขั้นตอนการผลิตชิ้นงานเป็นหลัก ทว่าหลังจากการจัดแสดงนี้จบลงไป ผลงาน Freezing the moment จะเดินทางไปจัดแสดงต่อยังประเทศอิตาลี ในเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องด้วยบริษัท จาร์เค็น จำกัด ได้รับเชิญให้นำผลงาน Freezing the moment เข้าร่วมแสดงในงาน Venice Design 2017, Venice Art Biennale ณ Palazzo Michie exhibitions ซึ่งนับได้ว่าเป็นรางวัลแห่งความพยายามในการคิดค้นและพัฒนาวัสดุใหม่ๆ สำหรับการตกแต่ง และจะเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวสำคัญที่ผลักดันให้จาร์เค็นมุ่งมั่นเดินหน้าต่อยอดพัฒนาชิ้นงานใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมวัสดุตกแต่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเต็มกำลัง และแน่นอนว่าเราจะได้เห็นภาพที่ชัดขึ้นในสิ่งที่จาร์เค็นต้องการสื่อสารออกมานั้นมีรูปแบบอย่างไร ทีมดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังแอบเปรยว่าจะมันกว่านี้แน่นอน ต้องรอติดตามต่อไปในอีกไม่นาน

ชิ้นงานที่เลือกมานำเสนอจัดแสดงในงาน SingaPlural Celebrates Design 2017 ในรูปแบบของ Installation Art ในขนาดพื้นที่ 3×3

Freezing the moment เป็นชิ้นงาน Custom Made ที่ทีมดีไซเนอร์จากจาร์เค็น นำวัสดุเหล็กซึ่งถูกสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ความชื้น แสงแดด และอากาศ ทำให้เกิดการผุกร่อนกลายเป็นวัสดุที่มีอัตลักษณ์ มาเพิ่มผิวสัมผัส (Texture) ให้วัสดุมีพื้นผิว (Surface) เกิดความน่าสนใจ ‘สภาพการกัดกร่อน’ จึงเป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์นำมาทดลองโดยการเลียนแบบตามวิธีของธรรมชาติ เพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานศิลปะที่มีทั้งความโดดเด่นและมีคาแรกเตอร์ เพราะวัสดุที่ถูกกัดกร่อนตามธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะความพิเศษที่น่าสนใจหลากหลายแบบ ดีไซเนอร์จึงเลือกวิธีการ ‘หยุด’ (freeze) การกัดกร่อนหรือเสื่อมสลายของผิวสัมผัส (texture) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเลือกเอาผิวสัมผัส (Texture) เหล่านี้มาใช้ในงานออกแบบตกแต่งภายใน ทำให้เราสามารถสร้างชิ้นงานศิลปะชิ้นใหม่ ที่ผสมผสานอยู่ภายในงานอินทีเรียดีไซน์ได้

ทีมอินทีเรียดีไซเนอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Freezing the moment

TEXT นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTO: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, ภาพประชาสัมพันธ์จาก JARKEN

Leave A Comment