EARTH ARCHITECTURE

a

คลุกดินสนทนากับธงชัย บุญกาญจน์วนิชา

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ Interview, Daybeds 163 เดือนเมษายน 2559

ถึงแม้ว่าการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าการจะนำมาใช้ให้ได้รับการยอมรับหรือเป็นที่นิยมในเมืองไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก Daybeds มีนัดกับ คุณธงชัย (ปัจจ์) บุญกาญจน์วนิชา Managing Director จาก บริษัท ลาแตร์ จำกัด {la terre S.A. (Société Anonyme)} ที่บ้านดินย่านงามวงศ์วานของเขา เพื่อหาคำตอบว่า การใช้วัสดุธรรมชาติอย่างเช่น ดิน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานสถาปัตยกรรม เหตุไฉนจึงเป็นเรื่องยากและยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน กระทั่งในความเป็นจริงแล้ว ดินจำเป็นแค่ไหนสำหรับการก่อสร้างหรือตกแต่งอาคาร ในเมื่อวัสดุทางเลือกหลักอย่างการก่ออิฐ ฉาบปูน การใช้ไม้ หรือผนังสำเร็จรูป ต่างก็ครองตลาดวัสดุเพื่อการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ 

ณ ห้องทำงานในบ้านดินของคุณธงชัย หรือปัจจ์ (เดิม) น่าทึ่งว่าบทสนทนาภาษาดินระหว่างเราในวันนั้น เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับ Daybeds ไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อลงไปคลุกกับมันอย่างจริงจัง วัตถุธาตุทางธรรมชาติสามารถพัฒนาจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่องานก่อสร้างในรูปแบบต่างๆ อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย

cคุณธงชัย บุญกาญจน์วนิชา Managing Director บริษัท ลาแตร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญวัสดุดินเพื่องานก่อสร้าง จากสถาบันวิจัยดินเพื่อการก่อสร้างนานาชาติ CRA-Terre ซึ่งเป็นที่ปรึกษาขององค์การ Unesco และดูแลหลักสูตร Post Master in Earth Architecture ณ โรงเรียนสถาปัตยกรรมชั้นสูง เมืองเกรอนอบ ประเทศฝรั่งเศส (Ecole Nationale Superieure D’architecture De Grenoble, France)

Daybeds: เพราะเราได้เห็นผนังดินบดอัด (Rammed Earth) ขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดจากโครงการป่าในกรุง เราจึงมุ่งความสนใจมาที่เรื่อง Rammed Earth อย่างจริงจัง

Thongchai Bunkanwanicha: มันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมวลมนุษยชาติ มีมานานมากแล้ว กำแพงเมืองจีนก็เป็นแบบนี้ การเอาดินมาทำเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร หรือทำอาคาร มีเทคนิคในการเอามาทำอยู่ประมาณ 12 เทคนิค Rammed Earth ก็เป็นเทคนิคหนึ่งเท่านั้นเอง บ้านดินที่เราเห็นของคุณโจน จันได ที่เอามาย่ำๆ เป็นก้อน อันนั้นก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง ส่วนที่เราเคยเห็นอย่างพวกบล็อกประสาน หน้าตาเหมือน Lego อันนั้นก็ทำมานานมากแล้วก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง ที่จริงมันเป็นเรื่องเก่ามาก แต่บังเอิญว่าในประเทศไทยเราเองมันไม่มีการคุ้นชิน ในการใช้วัสดุประเภทนี้ พอเรากลับมาใช้อีกครั้งแบบจริงๆ จังๆ มันก็ดูเหมือนเรื่องใหม่

Dbs: วัสดุดินที่ใช้ทำเป็นดินชนิดเดียวกับที่ใช้ทำอิฐมอญหรือเปล่า และใช้เทคนิคเดียวกันด้วยหรือเปล่า

TB: แต่ละเทคนิคมันจะมีดินที่ต่างกันไป ดินที่ทำอิฐมอญมันจะเป็นดินเหนียว ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับพี่โจน จันได ทำก็คืออัดเป็นก้อนก่อนแล้วค่อยเอามาก่อ แต่ว่าถ้าเป็น Rammed Earth จะเป็นดินอีกประเภทหนึ่ง คล้ายกับดินลูกรัง ซึ่งมันต้องการความมีกรวด มีทรายอยู่นั้นเยอะกว่าดินก้อน

Dbs: พอทราบมาว่าการทำ Rammed Earth ต้องผสมผสมกับปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ด้วย

TB: 10% เป็นตัวที่เขาเรียกว่า stabilization หรือ stabilizer ในที่นี้เขาใช้เป็นซีเมนต์คือประมาณ 10% มันยังคงสภาพ คงคุณสมบัติความเป็นดินอยู่ เพียงแต่ว่าผสมเพิ่มเข้าไปเพื่อให้มันคงทนต่อสภาพแวดล้อมในบ้านเรามากขึ้น ในทางยุโรปหรือประเทศหนาวเขาไม่ใช้ เนื่องจากฝนน้อยกว่าเรา ลมน้อยกว่าเรา ความชื้นน้อยกว่าเรา เนื่องจากดินเวลาเจอความชื้นเยอะๆ มันก็จะย่อยสลายได้ง่าย เปลี่ยนรูปได้ง่าย ต่างประเทศเขาเป็นประเทศแห้ง ต่างกับบ้านเราที่มันชื้น วางบนดินอยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันก็ละลายแล้ว มันก็ต้องมีการ stabilizer เพิ่ม เหมือนกับสตัฟฟ์มัน คงสภาพมันไว้เพื่อให้มันคงทนต่อสภาพแวดล้อม

Dbs: ช่วยเล่าย้อนกลับไปถึงตอนเข้าไปเรียนหลักสูตร Post Master in Earth Architecture ที่ฝรั่งเศสได้ไหม

TB: ที่ฝรั่งเศสจะมีหลักสูตรเฉพาะทางสถาปัตยกรรมดิน เป็นหลักสูตรหลังปริญญาโท เรียนรู้เกี่ยวกับดินที่เอามาทำก่อนก่อสร้างทั้งหมด แต่ว่าที่จริงหลักสูตรเขาเน้นเรื่องการทำนุบำรุง และบำรุงรักษาโบราณสถานมากกว่า ทีนี้ในการเข้าไปเรียนเขาก็จะคัดเลือกคนที่เข้าไปค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเหมือนกัน อย่างหลักสูตรหนึ่งมี 25 คน ใน 25 คนเขาจะแบ่งเป็นคนฝรั่งเศสครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งก็จะเป็นคนต่างชาติ ทีนี้คนต่างชาติหลักเกณฑ์ที่เขารับจะต้องมีสถาปัตยกรรมที่เป็นโบราณสถานที่เป็นดินเข้าไปด้วย ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างหมดสิทธิ์ คือของเราไม่มี แล้วเขาจะดูประวัติของเราด้วยว่า เรียนแล้วมีโอกาสได้ใช้งานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเขาเน้นเรื่องการทำนุบำรุง ซึ่งเราก็ไม่ค่อยมีโอกาสอีก แต่ว่าได้เข้าไปเรียนด้วยความบังเอิญมากกว่า เนื่องจากผมเข้าไปเรียนปริญญาโทตัวหนึ่งอยู่คณะติดกัน ทีนี้ก็เหมือนกับว่าเราจบตัวนี้แล้วอยากจะหาวิชาอะไรก็ได้ลง เพื่อที่จะเอาวีซ่าไปเที่ยว ไม่ได้ตั้งใจจะเรียนจริงๆ ก็ได้ไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งพอดีเขาเป็นคนก่อตั้งวิชาดินด้วย แต่ตอนนี้เขาไม่ได้สอนแล้ว เขาก็เลยชักชวนไปสมัคร จะช่วยให้ได้วีซ่า แล้วก็แพลนว่าจะไปเที่ยวต่างๆ นาๆ แต่ปรากฏว่าก่อนจะไปเที่ยว โปรแกรมนี้มันเปิดเรียนก่อนอาทิตย์หนึ่ง ผมก็มีเวลาว่าง ไม่มีอะไรทำก็เลยไปเรียน ไปนั่งฟัง พอฟังได้ 3 วันเท่านั้นแหละ เปลี่ยนใจไม่เที่ยวแล้ว ก็รู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าที่เราคิด

Dbs: ตอนนั้นคุณคาดหวังกับการเรียนวิชานี้ไว้อย่างไร มีความสนใจเรื่องดินอยู่แล้วด้วยหรือเปล่า

TB: ไม่ได้สนใจเลย ผมไปเรียนฝรั่งเศส ผมไม่ได้มีจุดมุ่งหมายว่าผมจะไปเรียนอะไร เพราฉะนั้นอะไรที่เราสมัครเข้าไปเรียนได้ ผมรับหมด เรื่องดินก็เกินความคาดหวัง ผมไม่ได้สนใจเรื่องดิน แล้วก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีการเรียนการสอนเรื่องนี้อยู่ด้วย พอได้เข้าไปก็เลยเหมือนได้เป็นของใหม่ที่เราไม่เคยรู้ แล้วอยากรู้ก็เลยเข้าไปเรียน เพราะ 3 วันแรกที่เข้าไปเรียนเท่านั้นเอง มันเปลี่ยนความรู้สึกของเราในการเรียนไปเลย

Dbs: ที่นั่นสอนทฤษฏีแล้วได้ปฏิบัติเลยใช่หรือเปล่า

TB: วิธีการสอนเขาค่อนข้างน่าสนใจแล้วก็ได้ผลจริง คือ หนึ่ง เขาเรียนภาคเช้าเรื่องทฤษฏี บ่ายเรียนปฏิบัติเดี๋ยวนั้นเลย เช่น เช้าเรียนการกำเนิดดิน ตอนบ่ายไปดูจุดกำเนิดดิน สำรวจว่าเป็นอย่างไร การเรียนเขาค่อนข้างน่าสนใจ มีสอบน้อยมาก เพราะการเรียนแบบนี้มันจะมีผลแน่นอน แม้กระทั่งชาวต่างชาติที่มีปัญหาเรื่องภาษาไม่ได้ 100% เขาก็มั่นใจว่ารู้เรื่องแน่ๆ

Dbs: ดินที่ฝรั่งเศสแตกต่างกับดินในประเทศไทยอย่างไรบ้าง

TB: ไม่แตกต่างต่าง เขาสอนให้เรารู้พื้นฐานของดิน เพราฉะนั้นพื้นฐานของดินแต่ละที่เหมือนกันหมด ถ้าเรารู้จักตัวเนื้อดิน มันสามารถมาประยุกต์ได้กับดินทั่วโลก ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานมันอย่างชัดเจนว่าดินคืออะไรแค่นั้นเอง แล้วก็มาสำรวจดินที่บ้านเรา ในปัจจุบันนี้ผมใช้ดินในบ้านเราทั้งหมดในการทำงาน ไม่มีการนำเข้า เนื่องจากมันเป็นความรู้เดียวกัน

Dbs: คุณกลับเมืองไทยเมื่อ 8 ปีก่อน เทียบกับปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเรื่องการนำดินมาเป็นใช้วัสดุในการก่อสร้างหรือตกแต่งอาคารเยอะขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน

TB: ดีขึ้นจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี้ไม่มีเลยนะครับ ผมเริ่มมานานมากกว่าจะเริ่มขายดินได้ ใช้เวลา 3-4 ปีในการเริ่มขายดิน ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครยอมรับ ณ ปัจจุบันก็มีคนยอมรับค่อนข้างน้อย คือสถาปนิกเองทำความเข้าใจง่าย สถาปนิกเองอยากใช้ แต่ว่าบางทีคนทั่วไป เจ้าของเอง วิศวกรเอง เขาไม่ยอมรับในจุดนี้ มันเป็นปัญหาทั่วไปของวัสดุธรรมชาติ เดี๋ยวไปเจอ ธ. ไก่ชน ก็จะลักษณะเดียวกัน การใช้ไม้ไผ่จะเอามาคำนวณเป็นโครงสร้างต่างๆ เป็นเรื่องยากที่จะคุยกับวิศวกร เนื่องจากความเป็นวัสดุธรรมชาติ ข้อจำกัดมันก็คือความไม่นิ่งของวัสดุ ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของธรรมชาติ แต่ว่าในเชิงวิศวกรรมต้องการความนิ่งในการที่จะมาคำนวณได้ จริงๆ มีงานวิจัยแล้วก็ผลสำรวจความแข็งแรงซัพพอร์ตเยอะแยะมากกมาย เพียงแต่ว่าเท่าที่คุยกับวิศวกร เขาจะบอกว่าที่จริงแล้วมันไม่นิ่ง อย่างเช่น วัสดุดิน คำนวณความแข็งแรงได้ เพียงแต่ว่าเขาจะมั่นใจได้อย่างไรเพราะมันเป็นงานแฮนด์เมด เขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจุดนี้กับจุดนี้มันจะแข็งแรงเท่ากัน เมื่อเทียบกับคอนกรีต คอนกรีตมันแข็งแรงเท่ากัน เขาก็เลยสามารถคำนวณได้ ไม้ไผ่ก็เหมือนกัน เขาจะคำนวณได้อย่างไร กระบอกที่ทดลองมันจะเท่ากับกระบอกจริงที่จะไปใช้งานได้อย่างไร มันก็มีเรื่องความแตกต่างของค่าของวัสดุที่มันไม่ค่อยนิ่ง

Dbs: เทคนิคที่ใช้ต้องใช้ช่างเฉพาะทางด้วยหรือไม่

TB: ไม่เชิงครับ ของผมทำอยู่ 2 อย่าง คือ ดินฉาบสำเร็จรูป มันจะเป็นวัสดุกึ่งสำเร็จรูป เหมือนปูนสำเร็จรูป ฉีกซองเติมน้ำแล้วฉาบได้เลย ออกแบบมาเพื่อใช้งานได้ง่ายที่สุด คนทั่วไป ช่างทั่วไปใช้งานได้เลย ส่วนตัว Rammed Earth ต้องเป็นคนของเรา เนื่องจากมันมีข้อกำหนด มีเทคนิคในการควบคุมค่อนข้างเยอะ ก็เลยต้องฝึกคนของเราเองขึ้นมาทำ เนื่องจากดินมันไม่มีการเรียนการสอนในประเทศไทยอยู่แล้ว แล้วคนที่รู้เรื่องนี้มันค่อนข้างน้อยมาก เพราะฉะนั้นช่างไม่รู้แน่ๆ เราจะไปให้ช่างคนอื่นทำไม่ได้แน่ๆ เราก็ต้องฝึกช่างของเราขึ้นมาเองในการทำงานนี้

Dbs: เคยได้มีการเปิดสอนเฉพาะทางด้านนี้ เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจสามารถมาเรียนในคอร์สสั้นๆ บ้างไหม

TB: จะมีเลกเชอร์อยู่เรื่อยๆ ตามหาวิทยาลัยที่เขาสนใจ อย่างล่าสุดก็เพิ่งสอนที่สถาปัตย์ฯ จุฬา ก็ไปเจอกันที่ป่าในกรุง พาเดินดูแล้วก็เลกเชอร์ให้เขาฟัง จะเป็นคอร์สสั้นๆ แบบนี้ จริงๆ ก่อนหน้านี้เคยเป็นอาจารย์พิเศษอยู่บ้าง แต่ว่าในหลักสูตรเองมันก็ไม่ได้เขียนอะไรชัดเจนขนาดที่เกี่ยวกับวัสดุประเภทนี้ ก็เข้าไปสอนเกี่ยวกับการออกแบบทั่วไป หลังๆ รู้สึกว่าออกแบบคนอื่นก็สอนได้ ก็อยากจะสอนในส่วนที่เฉพาะทาง จะเป็นรายวิชาย่อยๆ เล็กๆ สักคอร์สหนึ่ง ครึ่งวันก็น่าจะพูดถึงเรื่องพวกนี้ได้

Dbs: ดินฉาบกับ Rammed Earth เทคนิควิธีต่างกันใช่ไหมครับ  

TB: วิธีต่างกัน วัสดุคล้ายกัน เพียงแต่ว่าตัวดินฉาบ เรามุ่งเน้นที่สีของดินเป็นหลัก คือสีที่เราได้มาคือสีของดินธรรมชาติ 100% ตอนนี้มีประมาณ 6 สี ซึ่งได้มาจากธรรมชาติล้วนๆ เพียงแต่ว่าต่างแหล่ง ต่างถิ่น ก็จะมีสีตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ก็ไปสำรวจแล้วนำมาใช้ เพียงว่าตัวเนื้อดินที่เราเลือกมา เราต้องมาทำการร่อนละเอียด คัดกรองพวกเศษวัสดุที่เราไม่ต้องการออกไป หมายถึงตัวดินฉาบนะ พอเราได้สีปุ๊ป เราก็ต้องมาผ่านกระบวนการปรับสภาพมัน ให้มันอยู่ในสภาพที่ พอดี แล้วก็พร้อมใช้ ซึ่งแต่ละสีก็มีการปรับสูตรไม่เหมือนกัน เพราะดินธรรมชาติแต่สีมันมาไม่เหมือนกัน มีการปรับสูตรที่ต่างกันไปเรื่อยๆ หมายถึงว่า ทุกสีจะเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น สีธรรมชาติมาอย่างไร เราไปอย่างนั้น เลย สมมุติว่ามีสีส้ม ส้มวันนี้กับส้มอีกเดือนหนึ่งก็ไม่เท่ากันละ เนื่องจากเราสต็อกดินมาแต่ละล็อตไม่เท่ากัน ดินที่เราได้มาแต่ละล็อตก็ไม่เท่ากันอีก บางทีมันก็มีเยอะ บางทีมันก็มีน้อย การเกิดดินแต่ละจุดไม่เหมือนกัน องค์ประกอบการเกิดดินแต่ละจุดเพื่อให้เกิดสีทำให้เกิดเนื้อดิน ทำให้เกิดความเหนียว เนื้อทรายไม่เท่ากันตามธรรมชาติ บางทีหลุมเดียวกัน ต่างออกไปสักเมตรหนึ่ง หรือลึกลงไปสักเมตรหนึ่ง เนื้อดินเปลี่ยนแล้ว

“ที่เราบอกว่าบ้านดินมันเย็น ถูกครึ่งหนึ่งก็เพราะว่า บ้านดินจะรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ คงที่ของมันจะอยู่ประมาณ 24-29 องศา เพราะฉะนั้นบ้านดินเวลาอยู่ในประเทศไทยที่อากาศด้านนอกมันร้อน คนเลยบอกว่าอยู่บ้านดินแล้วเย็น ที่จริงอุณหภูมิบ้านดินมันคงที่ ในขณะเดียวกัน ถ้าเอาบ้านดินไปตั้งในประเทศหนาว บ้านดินหลังนี้จะอุ่นขึ้นมาทันที”

คุณธงชัย บุญกาญจน์วนิชา

 

f
ผนังดินบดอัด (Rammed Earth) ภายในบ้านดินของคุณธงชัย

Dbs: ดินฉาบใช้ช่างธรรมดาฉาบได้เลยใช่ไหม

TB: จริงๆ ไม่ต้องช่างก็ได้ เรามุ่งไปถึงการ D.I.Y คนทั่วไปก็ทำได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีลูกค้าประเภทนี้ค่อนข้างเยอะ ที่อยากทำลายเอง ใช้เกรียงก็ได้ มือก็ได้ ต่างๆ นาๆ อย่าง เช่นผนังนี้ (คุณธงชัยยกตัวอย่างผนังดินฉาบภายในห้องทำงานที่บ้าน) ก็ใช้เกรียงธรรมดา ป้ายๆ ไปก็ใช้ได้เลย

Dbs: ดินมันแห้งเร็วไหมครับเวลาราฉาบไปสักพัก

TB: ใกล้เคียงกับปูน แล้วแต่สภาพอากาศ 2-3 ชั่วโมงแล้วแต่ ไม่เกินนั้น แล้วมันก็จะแห้งเหมือนปูน อย่างหลังนี้ก็ประมาณ 4-5 ปีแล้ว บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่า เป็นหมู่บ้านอายุกว่า 30 ปีแล้ว ระยะเวลาเหมาะกับการรีโนเวท ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เราเริ่มผลิตดิน ก่อนที่จะเอาไปขายก็ใช้ก่อน  ในอนาคต หรือ ณ ปัจจุบันก็ดี ถ้าลูกค้าอยากดูของจริง ก็กลายเป็นโชว์รูมไปในตัว ในบ้านเราก็ใส่ได้ทุกสีที่เรามี ก็เลยใส่มันทั้งหลัง

Dbs: ฝนตกหรืออะไรก็ตามที่ทำให้เปียกหรือชื้นมีผลกับการละลายไหมของเนื้อดินไหม

TB: มันเป็นแค่ผิวหน้า ดินฉาบเราก็ Stabilize เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอากาศบ้านเราเป็นแบบนี้ เราก็เลยต้องป้องกัน ส่วนรั้วบ้าน เอาต์ดอร์ ภายในทำพร้อมกันก็คือ 5 ปี มีสภาพอย่างที่เห็น อยู่ของมันอย่างนี้

Dbs: นอกจากการจัดวางทิศทางที่เหมาะสม บ้านดินทำให้บ้านเย็นขึ้นไหม

TB: ด้วยครับ จริงๆ คุณสมบัติของดิน หรือบ้านดินจะเป็นลักษณะคุณสมบัติของดินที่หายใจได้ เป็นผนังที่หายใจได้ แล้วก็เป็นฉนวนในตัว ความเป็นฉนวนและความหายใจได้ของมัน ก็จะทำให้เหมือนกับบ้านเย็น เราเคยได้ยินมานานแล้วว่าดินทำให้บ้านเย็น ซึ่งตอนแรกผมไม่รู้ ตอนผมเรียนใหม่ๆ ก็จะรู้สึก โอ้โห! มันดีจังเลย พอกลับมาไม่ต้องบอกแล้ว คนไทยรู้หมดแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องแปลกที่กลับมาเมืองไทย ทุกคนรู้หมดแล้วว่าอยู่บ้านดินแล้วเย็น ไม่ต้องพิสูจน์ด้วย ทั้งที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่เคยอยู่ในบ้านดิน แต่เชื่อแล้วว่าบ้านดินมันเย็น ซึ่งมันไม่ผิดนะ ถูกครึ่งหนึ่ง

จริงๆ แล้วบ้านดินจะอธิบายแบบนี้ว่า ในความที่มันเป็นฉนวน เป็นผนังที่หายใจได้ มันมีการเก็บกักเอาความชื้นบางส่วนไว้ในผนังของมัน แล้วมีการแลกเปลี่ยนความชื้นตลอดเวลา ที่เราบอกว่าบ้านดินมันเย็น ถูกครึ่งหนึ่งก็เพราะว่า บ้านดินจะรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ คงที่ของมันจะอยู่ประมาณ 24-29 องศา ถ้าในประเทศไทยนะ ตลอดเวลา เพราฉะนั้นบ้านดินเวลาอยู่ในประเทศไทยที่อากาศด้านนอกมันร้อน เลยบอกว่าอยู่บ้านดินแล้วเย็น ที่จริงอุณหภูมิบ้านดินมันคงที่ ในขณะเดียวกัน ถ้าเอาบ้านดินไปตั้งในประเทศหนาว บ้านดินหลังนี้จะอุ่นขึ้นมาทันที

ทีนี้อุณหภูมิบ้านดินมันคงที่ การทำงานของมันทำงานอย่างไร มันมีการกักเก็บความชื้น แลกเปลี่ยนความชื้นตลอดเวลา บ้านดินที่บอกว่าเย็น มันยังมีคุณสมบัติเหมือนกับว่า ปรับอุณหภูมิและความชื้นภายในให้มันอยู่ในภาวะน่าสบาย หรือ Comfort Zone ตลอดเวลา เหมือนกับว่าถ้าอากาศร้อน มันก็ใช้ความชื้นภายในของมันในการปรับอุณหภูมิภายในด้วย ถ้าภายนอกมันเย็น มันก็จะมีการกั้นภายในเป็นฉนวนไปด้วยในตัว ฉนวนประเภทนี้มันทำงานได้ดีกับการระบายอากาศที่ดีด้วย ทีนี้บ้านดินที่ผ่านมามันจะเหมือนกับว่า เราเห็นฝรั่งทำมามีช่องแสงน้อยๆ มีรูน้อยๆ หน้าต่างน้อยๆ เราก็ยกมาใช้ที่บ้านเรา บางทีมันเย็น แต่มันไม่สบาย บางทีความชื้นมันเยอะเกิน มันระบายออกไม่ทัน ความชื้นจะกลายเป็นเชื้อราก็มี ซึ่งมันต้องมีการออกแบบควบคู่กันไป เพื่อให้มีสัมพันธ์กับทิศทางลมของบ้านเราด้วย เนื่องจากบ้านเราเป็นอากาศร้อนชื้น ร้อนชื้นต้องมีการระบายอากาศได้ดีกว่าบ้านดินในต่างประเทศ

Dbs: ความหนาละครับ เช่น Rammed Earth ความหนาต้องจำนวนเท่านี้เท่านั้นบ้านถึงจะเย็นขึ้น เกี่ยวไหมครับ

TB: เกี่ยวครับ โดยทั่วไป มันจะมีค่าดัชนีวัดความเป็นฉนวนอยู่ เขาเรียกว่าค่า K หรือค่าการนำความร้อน ดินเทียบเท่าฉนวนชนิดไฟเบอร์กลาส ความเป็นฉนวนจะมีค่าผันแปลไปกับความหนาที่เราใช้ ถ้าเราทำความหนาที่ 10 เซนติเมตร กับ 20 เซนติเมตร 20 เซนติเมตร ก็จะดีกว่า 10 เซนติเมตร ประสิทธิภาพความเย็นนี้จะเกิดขึ้นหลังจาก 20 เซนติเมตร เป็นต้นไป แต่ว่าตัวดินฉาบที่ทำจะเป็นเหมือนกับ Shortcut ในการใช้งาน บางทีส่วนใหญ่ลูกค้าไม่ได้ต้องการความเย็น เป็นเชิงตกแต่ง ผมฉาบอยู่ประมาณครึ่งเซนติเมตร (คุณธงชัยยกตัวอย่างผิวดินฉาบในห้องทำงาน) เพราะฉะนั้นความเย็นมันก็จะได้แค่ครึ่งเซนติเมตร ซึ่งมันก็แยกไม่ออกว่าเย็นหรือไม่เย็น แต่ก็ช่วยได้เมื่อเทียบกับสี เมื่อเทียบกับปูน อันนี้ช่วยได้แน่นอน

สิ่งที่เราได้จริงๆ จากดินก็คือ เวลาเราฉาบ หรือว่าเป็นดินอัดก็แล้วแต่ มันจบในตัวของมัน โดยที่เราไม่ต้องทาสี สีที่เกิดขึ้นจึงเป็นสีธรรมชาติ เหมือนเราตัดวงจรของสารเคมีของสีออกไปจากบ้านของเราเลย นึกสภาพห้องนอนของเราก็ได้ เราจะโดนเคลือบด้วยสีบางๆ รอบตัวเรา ซึ่งสีตัวนี้มีผลวิจัยออกมาว่า มันจะมีสารก่อมะเร็งส่งให้เราเฉลี่ย 3 ปี โดยที่เราไม่รู้ตัว ดินฉาบวันนี้ พรุ่งนี้อยู่ได้เลย ไม่มีกลิ่น มันก็จะดีต่อสุขภาพของเราด้วย เมื่อก่อนผมกับแฟนจะเป็นภูมิแพ้ พอมาอยู่บ้านหลังนี้ก็ไม่น่าเชื่อว่ามันจะหายไปเลย ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ จะสังเกตว่าบ้านผมไม่มีการทาสีเลย มีดิน มีไม้ มีปูนขัดมัน แค่นั้นก็คือจบ ตัดวงจรของเคมีพวกนี้ออกไป

Dbs: ดินฉาบใช้ได้กับทุกวัสดุหรือเปล่า เช่น ไม้ เหล็ก หรือวัสดุสังเคราะห์ เป็นต้น

TB: ทุกวัสดุ ตัวนี้ออกแบบมาให้ฉาบได้กับทุกวัสดุ ฉาบเป็นผิวหน้าเฉยๆ กับสมาร์ทบอร์ดก็สามารถฉาบได้ ก็พยายามประยุกต์ให้มันเข้าได้กับทุกสิ่ง ที่เลือกทำดินฉาบกับดินอัด เนื่องจากมันมี 12 เทคนิคของการเอาดินมาใช้ เทคนิคตัว Rammed Earth เป็นเทคนิคตัวเดียวที่ไม่ต้องฉาบ จบด้วยตัวเอง เป็นเลเยอร์ของมัน แต่เทคนิคอื่นๆ ส่วใหญ่จะจบด้วยงานฉาบ เพราะฉะนั้นงานฉาบจะครอบคลุมเกือบทุกเทคนิค ยกเว้นผนังดินบดอัด

Dbs: ขอย้อนกลับไปถามเรื่อง Rammed Earth อีกครั้ง กระบวนการทำงานคือเมื่อติดตั้งฟอร์มเวิร์กขึ้นมาแล้ว จึงค่อยๆ เทดินลงไปบดอัด จากนั้นถึงค่อยแกะฟอร์มเวิร์กออก เราเข้าใจถูกไหม อย่างนี้การควบคุมการทำงานยากไหมครับ แล้วดินที่บดอัดต้องใช้เวลาอยู่ตัวนานแค่ไหน

TB: จริงๆ มันอยู่ตัวได้เลย วิธีการทำงานก็แค่มีฟอร์มเวิร์กมาประกบ ใส่ฟอร์มเวิร์กไว้แล้วเราก็ใส่ดินไปทีละเลเยอร์ ทีนี้มันมีข้อกำหนดอยู่ว่า การเทดินลงไปในแต่ละครั้ง มันจะไม่เกิน 15 เซนติเมตร และทำการอัดให้แน่น ถ้าเกินกว่านี้ อัดไปแล้วมันจะไม่แน่น มันจะเป็นรูพรุน อัดไปจนสุดแล้วค่อยแกะแบบทีเดียว ในระหว่างการทำงานเราจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างล่าง

Dbs: กับความจำเป็นในการใช้เครื่องมืออัด

TB: Pneumatic Rammer คือเครื่องอัดที่ขับเคลื่อนด้วยลม เป็นเหมือนเครื่องช่วยทุ่นแรงมากกว่า ปกติก็ใช้คนตำก็ได้ มีค่าเท่ากัน แต่คนก็จะไม่นิ่ง เครื่องมันมีลูกสูบอยู่ข้างล่าง ลมที่ขับเคลื่อนลูกสูบขึ้นลงได้อย่างสม่ำเสมอ แรงมันก็จะเท่ากัน ลดความขี้เกียจของคนไปได้

Dbs: แนวโน้มในการนำวัสดุดินไปใช้กับงานสถาปัตยกรรมในอนาคตของบ้านเราเป็นอย่างไร

TB: ถ้าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีคนสนใจขึ้นเรื่อยๆ เริ่มรู้จักมากขึ้น คือคนไทยต้องมีตัวอย่างให้เห็นก่อน ต้องมีคนกล้าที่จะทำก่อน แล้วคนถึงจะทำตาม คือเมื่อก่อนผนังแบบนี้ไม่มีให้เห็น ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้กล้า อ.กรรณิการ์เป็นผู้กล้าที่ถือว่ากล้ามากในการเอามาใช้ ซึ่งมันมีโอกาสผิดพลาดเยอะ เนื่องจากเราก็ยังใหม่อยู่ในส่วนการเอามาใช้ แล้วก็สเกลงานของป่าในกรุงค่อนข้างใหญ่มากสำหรับวัสดุประเภทนี้ การกล้าใช้ก็ต้องถือว่ากล้ามากในระหว่างผู้ออกแบบ เจ้าของโครงการ แล้วก็คนทำเองด้วย ทีนี้พอเราเริ่มมีโปรเจ็กต์มากขึ้น คนก็กล้าใช้มากขึ้น แนมโน้มก็จะดีขึ้น ประกอบกับเรื่องเทรนด์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม มันค่อนข้างรักษาสิ่งแวดล้อมากในระดับที่สูง ทีนี้ในอาคารใหญ่ๆ ที่เขาต้องการค่า LEED ค่าการรักษาสิ่งแวดล้อม เขาก็จะหันมามองว่ามีวัสดุทางเลือกที่จะไปช่วยเขาขอคะแนนให้อาคารหลังนี้เป็นอาคารที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็จะมีแนวโน้มการใช้ที่เยอะขึ้น

Dbs: ในปัจจุบันมีไหมครับที่นำเอาผนังดินบดอัดมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร หรือเป็นอาคารขนาดใหญ่เหมือนป่าในกรุง ในบ้านเรา

TB: มีนะครับ จริงๆ ก่อนป่าในกรุงจะมีเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส อยู่บางพระ จ.ชลบุรี ที่เปลี่ยนผนังด้านนอก เรียกว่า โลตัส ซีโร่ คาร์บอน โปรเจ็กต์หนึ่งที่จะมุ่งเน้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือรักษาสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า เขาจะมุ่งไปที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการทำงาน เขาตั้งเลยว่าเป็นซีโร คาร์บอน เปลี่ยนผนังภายนอกอาคารให้มันรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด คือเปลี่ยนมาใช้ดิน แล้วก็มีโซลาร์ฟาร์ม การผลิตพลังงานขึ้นมาใช้เอง แล้วก็มีบ้านนิดหน่อย สวนสาธารณะ ข้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชื่อสวนปทุมวนานุรักษ์ ทำเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิด แล้วก็กำลังทำรีสอร์ทอยู่อีกที่หนึ่งที่กาญจนบุรี ก็จะใช้ตัวนี้ค่อนข้างเยอะ

06Tesco Lotus Zero Carbon

Dbs: Rammed Earth กับการนำมาก่อสร้างเป็นอาคารสูงมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

TB: มันมีการใช้งานอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง ตัว Rammed earth ที่จริงแล้วมันเป็นวัสดุที่สามารถรับแรงได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ก็อย่างที่บอก ปัญหาอยู่ที่วิศวกร เวลาไปขออนุญาตต้องมีการเซ็นไปรับรองจากวิศวกรที่มีการคำนวณ ปัญหาของเราคือวิศวกรเขาไม่เล่นด้วย ไม่เซ็นให้ คำนวณไหม คำนวณได้ ผมไปทำอยู่สองงานที่ใช้ Rammed Earth เป็นโครงสร้าง ไม่ต้องมีเสา ก็คือเป็นโบสถ์ดินอยู่ที่เชียงใหม่  กับที่ปากช่องหลังหนึ่ง  ที่ทำได้เพราะว่าโบสถ์เป็นอาคารพิเศษ เป็นศาสนสถาน  เวลาทำไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องผ่านวิศวกร ก็เลยได้ทำ ถ้าเป็นอาคารทั่วไปขออนุญาตจะยากละ

ที่เชียงใหม่ เราเพิ่งได้รางวัล ก็คือ TERRA award ปีนี้เป็นปีแรกที่เขาจัดที่ฝรั่งเศส ก็จะมีการประกวดสถาปัตยกรรมดินจากทั่วโลก แล้วเราก็ได้รางวัลมาในส่วนที่เป็นโบสถ์ อาคารประเภทวัฒนธรรม เนื่องจากอาคารที่เชียงใหม่ เน้นเรื่องความมีส่วนร่วมกับชุมชน การทำงานของเรา ผนังดินใช้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาทำ ผมก็ไปเป็นที่ปรึกษา ไปเลือกดิน ไปเลือกวัสดุอุปกรณ์ แต่ว่าการทำงาน ใช้แรงงานจากเด็ก ๆ จิตอาสา แล้วชาวบ้านแถวๆ นั้น เพราะฉะนั้นโบสถ์หลังนี้แทบจะผ่านมือของทุกๆ คนในหมู่บ้าน แบบนี้เขาเรียกว่าเป็นต้นแบบที่ดีในการทำงาน ที่เขาให้รางวัลมา คือดินส่งเสริมการทำงาน การมีส่วนร่วมต่อคนในชุมชนได้ ไม่เหมือนกับงานไม้ งานปูน ที่จะต้องมีช่างพิเศษ ดินไม่ต้องใช้ช่างพิเศษ ใช้คนทั่วไปได้ เพียงแต่ว่าต้องไปทำความรู้จักกับคนที่จะเข้ามาสอนเขา ทำความเข้าใจว่าดินเป็นแบบนี้นะ ควรทำงานแบบนี้นะเท่านั้นเอง

Dbs: คุณได้เป็นทั้งสถาปนิกและที่ปรึกษาเรื่องดินให้กับสถาปนิก

TB: ส่วนใหญ่สถาปนิกยังไม่ทราบเรื่องดีเทล ก็จะทำงานร่วมกันกับสถาปนิกด้วย อย่างป่าในกรุงเองก็ทำงาน ประชุมหลายครั้งกับ อ.กรรณิการ์ เพราะว่าเหมือนเป็นวัสดุใหม่ ลงดีเทลว่าส่วนนี้ต้องประกอบ ติดตั้งกับอาคารอย่างไร

e

<img class="alignnone size-large wp-image-7366" src="http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/05/0314-1024×683.jpg" alt="03" srcset="http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/05/0314-1024×683.jpg 1024w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/05/0314-300×200.jpg 300w, http://www the original source.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/05/0314-1075×717.jpg 1075w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/05/0314-400×267.jpg 400w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/05/0314-600×400.jpg 600w” sizes=”(max-width: 1024px) 100vw, 1024px” />โบสถ์ดินวัดป่าห้วยปางเม็งเฉลิมพระเกียรติ อ. แม่วาง จ. เชียงใหม่

04
สวนปทุมวนานุรักษ์

05บ้านลูกค้าที่ใช้ดินฉาบสำเร็จรูปและผนังดินบดอัด

07
ดินฉาบสำเร็จรูป ลาแตร์

09 ป่าในกรุงป่าในกรุง

 

Leave A Comment