DEMARK TO G-MARK


การเดินทางของการสร้างสรรค์งานจากเวทีระดับประเทศ สู่เวทีระดับอาเซียน

TEXT: กองบรรณาธิการ
PHOTO: กองบรรณาธิการ

ด้วยจุดมุ่งหมายในการยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทยให้เทียบเท่าสินค้าที่ออกแบบจากนานาชาติ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ดำเนินโครงการมอบรางวัลแก่สินค้าไทยที่มีการออกแบบดี หรือ Design Excellence Award (DEmark) ซึ่งปีนี้คอนเซ็ปต์ของงานถือเป็นการฉลองครบรอบในปีที่ 10 ภายใต้ชื่อ A Decade of DEmark 10 ปี ดีไซน์ ดีมาก

รางวัล DEmark มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาการออกแบบสินค้า และส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น Japan Institute of Design (JDP) และสำหรับผู้ชนะรางวัล DEmark จะเข้าสู่กระบวนการตัดสินในรางวัล Good Design Award หรือ G-Mark ต่อไป

โครงการ  G-Mark Design Award หรือรางวัล Good Design คือโครงการที่ญี่ปุ่นจัดทำขึ้นมาเพื่อประเมิน เชิดชูผลงานการออกแบบ จัดขึ้นโดยองค์การส่งเสริมการออกแบบทางอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan Industrial Design Promotion Organization : JIPPIO)  เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2500 ตลอด 60 ปี ที่ผ่านมา มีผลงานออกแบบที่แปลกใหม่จำนวนมาก โดยในแต่ละปี มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 30,000 ชิ้น จาก 1,000 บริษัท

ผลงานต่าง ๆ จะผ่านการคัดสรรและได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการตัดสินที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการและวิชาชีพโดยยึดหลักความคิดสำคัญตามคำสำคัญ 5 ประการ คือ 1.มนุษย์ ( Humanity) การออกแบบที่เป็นการค้นพบอย่างสร้างสรรค์ เปิดทางไปสู่การผลิตผลงานอย่างถ่องแท้  2. แก่นแท้ ( Honest)  คือ การออกแบบที่มีความเข้าใจถึงสังคมมนุษย์อย่างถ่องแท้  3. ความคิดริเริ่ม (Innovation) การออกแบบเป็นการคิดอย่างมีเครือข่าย บุกเบิกหนทางสู่อนาคต 4. มีเสน่ห์ (Esthetics) การออกแบบที่เป็นจินตนาการทำให้นึกถึงวัฒนธรรม การดำรงชีวิตที่อุดมสมบูรณ์  5. ศีลธรรมจรรยา (Ethic) การออกแบบที่มีความใส่ใจถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามปรัชญาที่ว่า วางมนุษย์ที่จุดศูนย์กลางอยู่บนความมีศีลธรรม ทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ คิดอย่างมีเครือข่าย จินตนาการและใส่ใจ

ก่อนจะประกาศผลรางวัล G-Mark เดย์เบดส์ได้คัดเลือกผู้ที่ได้เข้ารอบ มาพูดคุยถึงรายละเอียด แรงบันดาลใจ และคอนเซ็ปต์ความคิด ก่อนจะกลายเป็นผลงานสุดสร้างสรรค์ ที่ในอนาคตอาจคว้ารางวัล และมีชื่อเสียงในแวดวงการออกแบบต่อไป

FURNITURE

Product Name: Gom Stool
Award Category: กลุ่มสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์
Designer: ชญานิน ศักดิกุล และ ณัฐดนัย ศิริบงกช

“ก่อนอื่นเลยเวลาที่เราจะออกแบบอะไรสักอย่าง เราจะออกแบบให้มีความเป็น simple แต่แอบซ่อนปริศนาในงาน เพื่อให้คนที่มองครั้งแรกเกิดคำถามกับตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนเทคนิคงานของเราจะไม่ใช้ความซับซ้อนเพียงแค่ปรับ ลดทอนก็เกิดเป็นความน่าสนใจ” คุณยีน-ชญานิน ศักดิกุล และคุณอ๊อฟ-ณัฐดนัย ศิริบงกช เจ้าของและดีไซน์เนอร์เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Hari Ora กล่าวถึง “ก้อม” ผลงานชิ้นล่าสุด

ด้วยการออกแบบที่จับจุดเด่นของลายขัดจากงานจักสาน โดยนำรูปแบบที่เกาะเกี่ยวกันของเส้นสายแต่ละเส้น มาพัฒนาเป็นโครงสร้างเพื่อยึดเหนี่ยวชิ้นส่วนต่างๆ ไว้ด้วยกัน ปรับเปลี่ยนวัสดุจากงานสานด้วยจากเป็นวัสดุไม้โอ๊ค และแอช ทำให้ “ก้อม” ไม่ได้เป็นเพียงเก้าอี้ธรรมดา แต่ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านที่มีฟังก์ชั่นแพรวพราวซ่อนอยู่

LIFESTYLE

Product Name: Pinto
Award Category: กลุ่มสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์
Designer: ชาญชัย บริบูรณ์

Pinto เริ่มต้นมาจากการนำเอกลักษณ์ และความประทับใจ ในรูปแบบงานหัตถศิลป์ ภูมิปัญญาไทย มาถ่ายทอดผ่านผลงานเครื่องเคลือบดินเผา (CERAMIC) ผลงานจากคุณชาญชัย บริบูรณ์ ภายใต้แนวคิดและแรงบันดาลใจจากรูปทรงคุ้นตาของปิ่นโตในอดีต

“ผมต้องการนำเสนอผลงานผ่านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทย ในด้านวัฒนธรรมการกินอาหาร โดยเอารูปทรงของภาชนะ วิธีการใช้งาน และพื้นผิวของวัสดุ มาพัฒนาให้มีความร่วมสมัยเหมาะสมกับการใช้งาน ด้วยการปรับเปลี่ยนวัสดุ ให้มีความคงทน แต่ไม่ละทิ้งคุณค่าของต้นแบบที่เคยมีมา อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นมากกว่าภาชนะใส่อาหารในครัวเรือน และตอบโจทย์ธุรกิจ อาทิ กลุ่มนักออกแบบอาหาร, ร้านอาหาร, ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจสปา, อินที-เรียดีไซน์ เป็นต้น

INDUSTRIAL

Product Name: Soft Paddle Faucet
Award Category: กลุ่มสินค้าประเภทอุตสาหกรรม
Designer: สมนึก กมลเสวีกุล และณัฏฐา อาจาริยะ

ด้วยในปัจจุบัน เทรนด์การสร้างผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย และเทรนด์โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ Cotto จึงได้มีการออกแบบก็อกก้านปัดนุ่ม (Soft Paddle Faucet) โดย คุณณัฏฐา อาจาริยะ และ คุณสมนึก กลมเสวีกุล โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบ แบบ universal design ที่สะดวกด้วยการเข้าถึงการใช้งานได้ทุกทิศทาง ใช้งานง่ายไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพียงแค่ใช้ฝ่ามือดันเบาๆ น้ำก็ไหลโดยที่ไม่ต้องออกแรงหมุน ผสานเทคโนโลยี Terbitech ที่เป็นเทคโนโลยีกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ซึ่งจะมีไฟส่องสว่างทุกครั้งที่เปิดใช้งาน เพื่อความสะดวกยามค่ำคืน ตอบโจทย์การใช้งานและมีความแข็งแรงทนทานบนความเรียบง่ายสไตล์ minimal และนี่คืออีกสิ่งที่ Cotto ไม่ลืมที่จะสร้างสรรค์งานออกแบบให้ผลิตภัณฑ์เป็น User friendly ที่ช่วยดูแล ลดอุบัติเหตุ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

PACKAGING

Product Name: Teng
Award Category: กลุ่มสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์สินค้า
Designer: กฤตยา นันทขว้าง

เต่ง กุนเชียงปลายี่สก ออกแบบโดย คุณ กฤตยา นันทขว้าง จาก ARN Creative Studio เน้นความเรียบง่าย โดยต่อยอดความคิดจากบรรจุภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ คือ ออกแบบเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ให้กลับมาเห็นความสำคัญของสินค้าดั้งเดิมที่มีอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด

โดยคุณกฤตยาเลือกใช้ลายเส้นของปลายี่สกเพื่อสะท้อนวัตถุดิบที่ใช้ และเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ โดยดึงคอนเซ็ปต์ของพวงจับปลามาทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นเวลาวางรวมกัน และเผยด้านในบรรจุหีบห่อ นอกจากนี้ยังตัดทอนให้น้อยลงโดยใช้สีเฉพาะส่วนบริเวณตรงหางปลา เรียบง่ายแต่ชัดเจน กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีหน้าตาชวนซื้อกลับไปเป็นของฝาก เก๋ไก๋ ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

GRAPHIC DESIGN

Product Name: Typo Town Collection
Award Category: กลุ่มสินค้าประเภทกราฟฟิก ดีไซน์
Designer: ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ / Srinlim Design Studio

จากความประทับใจในความสวยงามของตัวอักษรย่านเมืองเก่าอย่างเจริญกรุง-บางรัก-เยาวราช  ที่อยู่อาศัยของคุณศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ จากลวดลายเหล็กดัด ไม้ฉลุ กระเบื้อง และลายปูนปั้นบนตัวสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่มีความงามตามยุคสมัย มีเสน่ห์เฉพาะตัว หลอมรวมเกิดเป็น Typo Town Collection  (ชุดลวดลายตัวอักษรจากเมืองเก่า) ซึ่งมาจากการผสมคำระหว่าง Typography  ที่แปลว่าการออกแบบและการใช้งานตัวอักษรเพื่อการสื่อสาร และ Old Town ที่แปลว่าเมืองเก่า

“เนื่องด้วยผู้คนในยุคสมัยใหม่ นิยมสิ่งสวยงามจากโลกตะวันตก จนบางครั้งละเลยความงามแบบไทย รวมถึงอักษรไทย จึงนำตัวอักษรมาทำการออกแบบและผสมผสานรายละเอียดบนสถาปัตยกรรมในเขตเมืองเก่าให้มีความร่วมสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ลวดลายสีของความเป็นไทย ถ่ายทอดผ่านกระบวนการออกแบบและเทคนิคการพิมพ์ลวดลายบนผ้า ผสมผสานงานปักมือ

INNOVATIVE FASHION

Product Name: Bamboo Brooch
Award Category: กลุ่มสินค้าประเภทแฟชั่น
Designer: สุพจน์ สุวรรรณสิงห์

จากสิ่งที่ถูกมองเพียงเศษไม้หลังบ้าน กลายเป็นเครื่องประดับสร้างมูลค่า คุณสุพจน์ สุวรรณสิงห์ นำประสบการณ์ และความชำนาญจากการทำเครื่องประดับในนามแบรนด์ “SAPRANG” บวกองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาเชิงช่างงานเครื่องประดับ สร้างสรรค์ เข็มกลัดไม้ไผ่ (Bamboo Brooch) ภายใต้ชื่อคอลเล็คชั่น 299/1 ที่มาจากสิ่งที่อยู่หน้าบ้านอย่างเลขที่บ้าน นั่นเอง

“เรานำเสนอความงามของตัววัสดุอย่างซื่อตรง ส่งต่อไปยังผู้สวมใส่ โดยอาศัยรูปลักษณ์ของธรรมชาติเป็นสำคัญ สร้างจินตนาการให้กับผู้ใช้ให้มองเห็นความงามของวัตถุดิบรอบตัว ในฐานะคนทำงานเครื่องประดับคนหนึ่ง เราต้องการให้ผลงานของเราชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา”

TEXT: กองบรรณาธิการ
PHOTO: กองบรรณาธิการ

 

Leave A Comment