CLOSE TO NATURE


เป็นอยู่อย่างไทย ใกล้ชิดธรรมชาติ

สถาปนิกหลายท่านหันมาให้ความสำคัญกับ ‘เรื่องเล็กน้อยมหาศาล’ นำสิ่งที่เรียกว่า ‘คน’ กับ ‘ธรรมชาติ’ ขยับเข้ามาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีไม่บ่อยนักที่สถาปนิกเลือดไทยรุ่นใหม่ๆ จะหันมาให้ความสำคัญกับงานออกแบบสไตล์ไทยๆ สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นร่วมสมัย เคล้ากลิ่นอายบ้านทรงไทยโบราณมีหน้าจั่วหลังคา ให้แตกต่างอย่างโดดเด่นไปจากบ้านใกล้เรือนเคียงทุกหลังในละแวกเดียวกัน

คุณแตน-วรัญญู มกราภิรมย์ และคุณแชมป์-สณทรรศ ศรีสังข์ สองสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง TA-CHA Design นำโจทย์ความต้องการของ คุณชัย-สิทธิชัย บูรณะกิจไพบูลย์ มาตีให้แตกฉานเป็นบ้านไทยอันร่มรื่น โอบล้อมด้วยชานไม้กว้างขวาง โดยมีศูนย์กลางเป็นน้ำเต้าต้น ไม้พุ่มโปร่งใต้โถงสูงล้ำเป็นจุดเด่น

บ้านอยู่เย็นเลขที่ ๑๙/๑ บนพื้นที่ 450 ตารางเมตรหลังนี้ มี ‘ชานบ้าน’ เสมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างสมาชิก 3 รุ่น จาก 2 ครอบครัวที่ร่วมอยู่อาศัยในรั้วเดียวกัน นอกจากนี้สถาปนิกยังบอกว่า ‘ชานบ้าน’ ยังทำหน้าที่เชื่อมคนกับธรรมชาติที่แวดล้อมอย่างร่มรื่นเข้าหากันอีกด้วย

จากการทำการบ้าน และเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ของเรา จึงแปลงข้อมูลในการออกแบบเป็นรูปธรรม คือชานซึ่งทำหน้าที่ ‘เชื่อมคนกับคน’ เนื่องจากเป็นครอบครัวขยาย ‘เชื่อมคนกับธรรมชาติ’ เนื่องจากคุณชัยเจ้าของบ้านเป็นคนรักต้นไม้และธรรมชาติ ‘เชื่อมคนกับสิ่งแวดล้อม’ มุมมองจากในบ้านสามารถมองออกมานอกบ้านได้โดยง่ายและปลอดภัย เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า จึงทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

เหล็ก ปูน และไม้ หลักสัจจะวัสดุที่ไร้การปรุงแต่ง ถูกนำมาใช้เป็นโครงสร้างหลักของบ้าน ซึ่งหลอมรวมกันเป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกตาแต่ว่าต้องใจ ทั้งยังมีการผสมผสานลูกเล่นการตกแต่งตามมุมต่างๆ รอบบ้าน ดั่งการเผยเสน่ห์ที่ถูกซ่อนเร้นให้ผู้สัญจรผ่านไปมา ต้องชายตามองด้วยความทึ่ง โดยภายในชั้นหนึ่ง ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่นแบบกึ่งเปิดโล่งให้ความรู้สึกโปร่งสบาย ห้องรับประทานอาหารอบอุ่นด้วยผนังและเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน ห้องครัวทางทิศใต้ที่มีอากาศถ่ายเท และห้องนอนของคุณแม่ โดยมีชานไม้กลางบ้านอยู่ใต้ร่มเงาของน้ำเต้าต้น

สถาปนิกเลือกใช้ชานไม้เทียมด้านนอกตัดกับชานไม้จริงด้านใน เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา

ประตูไม้แต่งผิวสีเข้ากันได้ดีกับผนังรั้วฉาบปูนแต่งผิวสีเช่นเดียวกัน

ห้องนั่งเล่นสามารถเปิดโล่งเพื่อเชื่อมต่อกับชานไม้เทียมด้านนอก สำหรับการนั่งพักผ่อนสนทนาโดยไร้สิ่งกีดขวาง

ห้องรับประทานอาหารเน้นเปิดโล่ง ปิดผิวด้วยผนังไม้โทนสีอบอุ่น และเฟอร์นิเจอร์ไม้คละดีไซน์ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ส่วนบนชั้นสอง ประกอบด้วย 1 ห้องนอนใหญ่ กับอีก 3 ห้องนอนเล็กในสี่มุมของบ้าน โดยมีสะพานไม้ขนาดใหญ่เป็นตัวเชื่อมซึ่งกันและกัน สามารถเอื้อมมือสัมผัสกับยอดของน้ำเต้าต้นสูงใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้โถงหลังคา ซึ่งมีช่องรับแสงและประตูบานเฟี้ยมเหล็กสูง 7 เมตร ที่สามารถเปิด-ปิดได้ ทำหน้าที่เชื่อมแสงและอากาศระหว่างภายในกับภายนอก ช่วยลดอุณหภูมิและการใช้พลังงานภายในบ้านได้เป็นอย่างดี

“เราดัดแปลงแปลนของบ้านเรือนไทย โดยมีการปรับให้กะทัดรัดและเหมาะกับชีวิตของคนยุคใหม่ เก็บข้อดีของบ้านเรือนไว้ เช่น การถ่ายเทอากาศแบบธรรมชาติ ติดมุ้งลวดกันแมลงโดยเฉพาะกลางบ้าน และการดึงแสงผ่านช่องแสงกลางบ้าน ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักรู้กับธรรมชาติ และเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างดีที่สุด การลดการใช้พลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ แสงแดดจะเข้าอาคารทางทิศใต้เป็นเวลานานในแต่ละวัน เราจึงนำบันไดหลักมาวางขนานเพื่อกรองความร้อนก่อนเข้าถึงผนังห้อง รวมถึงผนังภายนอกก่อผนังสองชั้นบวกกับระบบฉนวนตรงกลาง ซึ่งป้องกันความร้อนเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี”

ด้วยภูมิอากาศร้อนชื้นในบ้านเรา คงไม่มีวิธีใดแยบยลไปกว่าการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย และเทคนิคการออกแบบสมัยใหม่เข้ามามีส่วนช่วยทำให้บ้านอยู่สบายยิ่งขึ้น การเลือกวัสดุจำพวกไม้โทนอบอุ่น ลดทอนความแข็งกระด้างของปูนเปลือยและเหล็ก ช่วยเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายได้มากกว่า แม้กระทั่งการคืนความสดชื่นให้กับบ้านมากที่สุด โดยการปลูกต้นไม้เพื่อกระจายพื้นที่สีเขียวอย่างทั่วถึง บ้านโมเดิร์นร่วมสมัยหลังนี้จึงลงตัวทั้งสไตล์และฟังก์ชัน แฝงเสน่ห์อย่างไทย ใกล้ชิดธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และอยู่เย็นสบายโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงาน

ประตูบานเฟี้ยมเหล็กสูง 7 เมตร เสมือนประตูซ่อนน้ำเต้าต้นไว้ภายใน ซึ่งสามารถเปิด-ปิดได้ตลอดเวลา

เหล็ก ปูน และไม้ เหล่าวัสดุหลักที่ผสานให้บ้านโมเดิร์นไทยดูดิบอบอุ่นอย่างมีสไตล์

ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของบ้าน สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวได้อย่างชัดเจน

Text: Mr.Daybeds
Photo: beersingnoi
Architect: ta-cha (ww.facebook.com/tachastudio)

Leave A Comment