BAAN 0.60

A

ระเบียบของความสุข

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: Wison Tungthunya
Architect & Interior Design: Integrated Field Co.,Ltd. (IF)

ถ้าจะมีสิ่งใดก็ตามที่จะสามารถสะท้อนตัวตนของใครคนหนึ่งออกมาเป็นคำพูด สิ่งสิ่งนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นบ้านหรือที่อยู่อาศัยของเขาเอง หลายคนอาจจะชอบการตกแต่งบ้านในสไตล์ที่แตกต่างกันออกไปมากมาย แต่กับความเรียบง่ายใน BAAN 0.60 ของครอบครัวสุวรรณกูล เราได้เห็นตัวตนของเจ้าของบ้านหลังนี้ สะท้อนออกมาจากพื้นและผนังสีขาวปลอดได้ชัดเจนยิ่งกว่าการตกแต่งแบบใด

ไม่บ่อยนักที่จะได้มีโอกาสเห็นบ้านกล่องสีขาวโมเดิร์นสะอาดเรียบโล่งเกิดขึ้นในบ้านเรา เพราะข้อจำกัดหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นทางด้านภูมิอากาศ การบำรุงรักษา ช่างฝีมือ หรือแม้แต่รสนิยมของคนไทยที่นิยมการปรับเปลี่ยนและต่อเติม ทำให้บ้านที่หลายคนเคยชินก็จะเน้นการตกแต่งไปที่สีสันและสไตล์กับพื้นที่อยู่อาศัยที่ยืดหยุ่น อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าใครจะชื่นชอบการตกแต่งแบบใด สิ่งที่ตอบสนองความต้องการและความสุขของการได้อยู่อาศัยในสถานที่ที่ตัวเองรัก คงจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่นเดียวกับบ้านกล่องสีขาวที่บรรจุความสุขของคนในบ้าน อัดแน่นอยู่ในทุกอณูของการอยู่อาศัย โดยฝีมือการออกแบบจากกลุ่มสถาปนิก Integrated Field หรือที่รู้จักกันในนาม IF

แมสฟอร์มสี่เหลี่ยมผืนผ้าเมื่อมองเข้ามาจากทางหน้าบ้าน ประกอบด้วยห้องทุกห้องที่เป็นห้องกระจก ช่วยให้พื้นที่ภายในมีความโปร่งโล่งสบาย  ได้รับแสงธรรมชาติและทัศนียภาพของสวนเขียวอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็มีการกดผนังกระจกเข้าไปเพื่อให้เกิดชายคาสี่เหลี่ยมรอบตัวอาคาร ช่วยบังแสงจ้าและกันฝนไปในเวลาเดียวกัน

ภายใต้พื้นที่การอยู่อาศัยร่วม 340 ตารางเมตร แนวคิดของบ้านเริ่มจากความต้องการของเจ้าของบ้านโดยตรง ที่ต้องการบ้านที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มากไปกว่านั้น คือบ้านที่จะสามารถคงคุณสมบัติของสภาพความเรียบร้อยไว้ได้ โดยที่ไม่เหลือร่องรอยของการใช้งานใดๆ ไว้เลย เป็นโจทย์และหัวใจหลักที่ทำให้ BAAN 0.60 เหลือเพียงความขาวบริสุทธิ์ทุกกระเบียดนิ้ว สิ่งที่จะสามารถตอบโจทย์ของการอยู่อาศัยดังกล่าวได้ ก็คือการออกแบบพื้นที่ใช้งานในบ้านโดยไม่ให้มีพื้นที่เศษเหลือ และลดทอนการตกแต่งอื่นๆที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการใช้งานจริงที่ควรจะเกิดขึ้น

ความงามจากหน้าที่ใช้สอย เป็นที่สิ่งเจ้าของบ้านทั้งสองคนหลงใหล สเปซที่ไม่จำเป็นต้องถูกปรุงแต่ง ทั้งพื้น ผนัง และเพดาน ของทางเดินสีขาวบริสุทธิ์ ทอดตัวยาวไปตลอดตัวบ้านรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางเดินอันเป็นหัวใจหลักของบ้านเชื่อมต่อทุกๆห้อง ไปพร้อมๆกับการทำหน้าที่เป็นตู้เก็บของอย่างแยบยล ตลอดทางเดิน ตู้เก็บของที่ยาวตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ถูกออกแบบมาเพื่อแบ่งออกเป็นการใช้งานที่หลากหลายเพื่อสนองความต้องการสำหรับการอยู่อาศัยที่ยืดหยุ่น เสมือนว่าเศษเหลือของการใช้งานในบ้านที่ยิบย่อย ได้ถูกรวบมาไว้ในแกนหลักแกนเดียว มากไปกว่านั้น ตู้ที่อยู่ในแกนทางเดินหลักของบ้านหลังนี้ยังได้ซ่อนระบบจำเป็นต่างๆ ที่เอื้อให้ชีวิตในบ้านดำเนินไปได้อย่างไม่เกะกะ ไม่ว่าจะเป็น ระบบโครงสร้าง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ปรับอากาศ ทั้งหมดถูกออกแบบให้ทับซ้อนไปกับตู้ที่ใช้เก็บข้าวของ จึงง่ายต่อการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอย่างมากในอนาคต

ทางเดินที่ซ้อนทับกันทั้งชั้น 1 และ ชั้น 2 เปิดช่องของเพดานให้ทะลุถึงกันไว้บางส่วน เพื่อทำหน้าที่เป็นช่องแสง รับเอาแสงธรรมชาติที่มีประโยชน์เข้ามาสู่ตัวบ้าน แสงที่ลอดผ่านฝ้า กระทบสะท้อนไปบนสเปซสีขาวสะอาด ช่วยให้พื้นที่สว่างขึ้นได้โดยง่ายและเพียงพอกับการที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน คุณประโยชน์จากช่องเปิดที่ทอดตัวยาวตลอดทางเดินแกนหลัก นอกจากจะให้แสงธรรมชาติที่เป็นมิตรกับการอยู่อาศัย ยังมีประโยชน์ช่วยในการระบายอากาศให้กับทุกๆพื้นที่ในบ้านอีกด้วย

ขนาด 0.6 x 0.6 เมตร เป็นขนาดมาตรฐาน อันเป็นขนาดหน่วยย่อยของวัสดุก่อสร้างหลายชนิด ระบบระเบียบที่เกี่ยวพันต่อเนื่องมาจากระบบของวัสดุก่อสร้างดังกล่าว ก่อให้เกิดเส้นสายที่สัมพันธ์ต่อเนื่องตั้งแต่วัสดุพื้น วัสดุผนัง ประตู หน้าต่าง ขนาดของชั้นวาง ช่องแสง รวมไปถึงสเปซการใช้งานในทุกๆ ห้อง ไม่ว่าจะเป็น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ และทางเดินหลัก ทุกสเปซภายในบ้านสัมพันธ์อย่างกลมกลืน จากหน่วยย่อยที่สุดของวัสดุก่อสร้าง กระทั่งคลี่คลายเป็นสเปซ และแมสฟอร์มของบ้านทั้งหลัง ความแยบคายของการออกแบบบ้านหลังนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของอาคารหรือพื้นที่ใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุ สเปซ และชีวิตของผู้อาศัยอยู่ภายใน

คงจะไม่ผิดไปนักหากจะเปรียบเปรยงานออกแบบบ้านกล่องสีขาวเรียบโล่ง แต่อัดแน่นไปด้วยกระบวนการของความคิดที่ซับซ้อน อันเป็นที่มาของการใช้งานที่ตอบสนองความต้องการได้สูงสุด ด้วยวลีในตำนานของ เลโอนาร์โด ดา วินชี “Simplicity is the ultimate sophistication / ความเรียบง่ายคือความซับซ้อนขั้นสูงสุด”

B
มุมมองทางเข้าบ้านที่กำหนดให้เดินเข้าจากทางด้านข้าง สัมพันธ์กับบ้านหลังเดิมที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

C
ประตูบ้านที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวด้วยจังหวะของการเดินที่ยืดยาวออกไป ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยสวนกรวดและแสงธรรมชาติที่ลอดผ่านทางเดินสีขาวสะอาด

D
ช่องทางเดินอันเป็นหัวใจของ BAAN 0.60 เชื่อมต่อห้องทุกห้อง ด้วยทางเดินที่ประกอบด้วยตู้เก็บของสีขาวเรียบยาวตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ตลอดทั้งแนวของทางเดิน

Eช่องแสงเหนือช่องทางเดิน มอบแสงธรรมชาติที่สะท้อนไปทั่วทั้งห้องตลอดชั้น 1 และ ชั้น 2 ลดความแข็งกระด้าง เติมชีวิตให้กับเสปซสีขาวสะอาดอย่างมีมิติ

Fพื้นที่พักผ่อน ที่แทบไม่ต้องได้รับการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ไม้และโซฟาโทนสีอบอุ่น ลดทอนความเลี่ยนโล่งของเสปซสีขาว ผนังกระจกช่วยเชื่อมต่อพื้นในภายในกับภายนอกทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด ต้อนรับแสงธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ได้ในตลอดทั้งวัน

Gพื้นที่พักผ่อน ที่แทบไม่ต้องได้รับการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ไม้และโซฟาโทนสีอบอุ่น ลดทอนความเลี่ยนโล่งของเสปซสีขาว ผนังกระจกช่วยเชื่อมต่อพื้นในภายในกับภายนอกทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด ต้อนรับแสงธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ได้ในตลอดทั้งวัน

Hช่องทางเดินที่ซ่อนอยู่ในตู้เก็บของ ตกแต่งหน้าตาให้เรียบเนียนไม่ต่างจากตู้เก็บของอื่นๆ ยิ่งส่งให้พื้นที่มีความเรียบร้อย เป็นสัดเป็นส่วน แบ่งแยกสเปซของแต่ละห้องออกจากกัน ได้อย่างน่าสนใจ

Iช่องบันไดเชื่อมระหว่างชั้น 1 และ ชั้น 2 แสงสีส้มจากโคมไฟสะท้อนไปบนพื้น ผนัง และเพดานสีขาวสะอาด ช่องแสงบนฝ้าเพดานปล่อยแสงธรรมชาติส่องสะท้อนปะปนไปกับแสงประดิษฐ์ มอบบรรยากาศที่น่าสนใจให้กับส่วนสำคัญของบ้านที่ต้องเดินผ่านในทุกๆวัน

Jพื้นที่ห้องครัวและพื้นที่พักผ่อน ถูกกั้นอย่างเบาบางด้วยประตูกระจกบานเฟี้ยม ที่สามารถพับเก็บเข้าไปยังผนังอีกด้านหนึ่ง เมื่อต้องการเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสองเข้าด้วยกัน มอบมิติของการอยู่อาศัยที่ยืดหยุ่น ตามการใช้งานในแต่ละวันที่ไม่ซ้ำกัน

K
บานประตูและมือจับ การใส่ใจในรายละเอียดที่เล็กที่สุด เป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานออกแบบแต่ละชิ้นมีความแตกต่างจากงานออกแบบชิ้นอื่นๆ เช่นเดียวกับ ดีเทลแต่ละส่วนของ BAAN 0.60 ที่รายละเอียดและภาพรวมของอาคาร ดำเนินไปในทำนองและทิศทางเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบ

ขนาด 0.6 x 0.6 เมตร เป็นขนาดมาตรฐาน อันเป็นขนาดหน่วยย่อยของวัสดุก่อสร้างหลายชนิด ระบบระเบียบที่เกี่ยวพันต่อเนื่องมาจากระบบของวัสดุก่อสร้างดังกล่าว ก่อให้เกิดเส้นสายที่สัมพันธ์ต่อเนื่องตั้งแต่วัสดุพื้น วัสดุผนัง ประตู หน้าต่าง ขนาดของชั้นวาง ช่องแสง รวมไปถึงสเปซการใช้งานในทุกๆ ห้อง ไม่ว่าจะเป็น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ และทางเดินหลัก ทุกสเปซภายในบ้านสัมพันธ์อย่างกลมกลืน จากหน่วยย่อยที่สุดของวัสดุก่อสร้าง กระทั่งคลี่คลายเป็นสเปซ และแมสฟอร์มของบ้านทั้งหลัง ความแยบคายของการออกแบบบ้านหลังนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของอาคารหรือพื้นที่ใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุ สเปซ และชีวิตของผู้อาศัยอยู่ภายใน

 

Leave A Comment