ARCHITECTURE AS AN EXPRESSION OF SOCIETY

ปิตุพงษ์ เชาวกุล
สถาปัตยกรรมในฐานะภาพสะท้อนของสังคม

Text: อาศิรา พนาราม
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม, Supermashine Studio

Vol
จริงหรือไม่ที่สถาปัตยกรรมดีไซน์จัดจ้านจะไม่ทนทานข้ามกาลเวลา? คำถามนี้ถูกตอบต่างกันไปตามมุมมอง แต่สำหรับคุณแจ๊ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Supermashine Studio ไม่ได้ห่วงกังวลเรื่องนั้น เพราะเขาสนใจการสะท้อนเรื่องราวของสังคม ณ ขณะนั้นๆ มากกว่า เมื่อเวลาผ่านไป งานดีไซน์ของเขาอาจไม่ได้มีสไตล์ที่เข้ากระแส แต่สามารถบันทึกเรื่องราวเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ซึ่งเขียนขึ้นจากอาวุธของสถาปนิกแทนที่ตัวอักษรในหนังสือ และมีคุณค่าเทียบเท่าจดหมายเหตุ Pop Culture ได้เลย

Supermashine Studio สร้างผลงานไว้หลากหลายไม่เพียงแค่งานสถาปัตยกรรม ด้วยการสั่งสมด้านความคิดเชิงวิพากษ์สังคมบวกกับทักษะหลายด้านที่ได้เรียนรู้มาจากการทำออฟฟิศ Thisdesign ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อนหน้านี้ หลังจากจบสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และการศึกษาด้าน Urban and Architecture ที่ประเทศฮอลแลนด์มา ทำให้เขาไม่จำกัดตัวเองอยู่กับงานประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลัง ‘ร้อน’ เรื่องการเมือง สถาปนิกคนนี้จึงเป็นคนที่เราอยากเข้าไปคุยด้วยเป็นพิเศษ และเชื่อว่าบทสัมภาษณ์ของเขาจะทิ้งประเด็นบางอย่างให้เราได้หยุดคิดท่ามกลางกระแสความเห็นที่เชี่ยวกรากนี้

DBs: สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ก่อร่างวิธีคิดของคุณในปัจจุบันคืออะไร
ปิตุพงษ์
: ผมดูทีวีเยอะ ดูตั้งแต่กันดัม มนุษย์ไฟฟ้า ซิงเกอร์เวิลด์ กระจกหกด้าน คันฉ่องส่องไทย ดูหมด พ่อแม่ผมเป็นหมอ เลยไม่ค่อยมีเวลา กลับจากโรงเรียนผมก็จะอยู่กับพี่เลี้ยง เขาก็ปล่อยดูทีวีไปตามเรื่อง จนเดี๋ยวนี้ก็ยังดูทีวีอยู่ แต่ผมไม่ได้ดูละคร และพวกนี้คือสิ่งที่หล่อหลอมมา ถ้าดูงานของ Supermachine Studio จะเห็นว่าเราทำงานที่พูดถึง Culture และ Reflection ของสังคมค่อนข้างเยอะ เพราะรายการทีวีก็สะท้อนสังคมที่เป็นอยู่เช่นกัน แต่งานของผมไม่ได้สื่อออกมาเป็นงานทีวี งานของผมคล้ายนักเขียน แต่ผมไม่ได้เขียนด้วยตัวหนังสือ แต่เขียนด้วยเครื่องมือของผม เช่น พื้น ผนัง เพดาน และวัสดุต่างๆ แทน

DBs: ขอย้อนอดีตไปถึงผลงานหนึ่งที่เราจดจำคุณได้ คืองานออกแบบที่เปิดขวดรูปร่างประเทศไทย ในช่วงเวลาของความขัดแย้งของการเมืองและสังคม งานชิ้นนั้นสะท้อนว่าคุณเป็นคนสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง ช่วยเล่าถึงงานชิ้นนั้นและทัศนคติของคุณต่อเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย
ปิตุพงษ์
: ใช่ อันนี้แหละสะท้อนสังคมเลย ผมว่าสิ่งที่ขาดไปสำหรับวงการสถาปัตยกรรมเมืองไทยก็คือการสะท้อนสังคม การวิพากษ์สังคม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรือสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เราก็จะทำงานตอบสนองฟังก์ชัน แต่ว่าเราไม่ได้ใช้สิ่งที่เราทำสะท้อนสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้น อย่างตอนที่ทำที่เปิดขวด ตอนนั้นทุกคนเครียดมากเรื่องประท้วง แต่สถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ก็ไม่เหมือนกันนะ เพราะตอนนั้นทุกคนยังไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนเยอะขนาดนี้ ยุคของสมาร์ทโฟนเพิ่มเริ่มขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง ฉะนั้น ธรรมชาติการประท้วงก็ไม่เหมือนกัน ตอนนั้นสังคมสับสนวุ่นวาย ทุกคนอึดอัดมาก จะคุยกันก็ไม่ได้ คนหนึ่งเหลือง คนหนึ่งแดง ถ้าคนไม่เหลือง ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแดง นี่มันไม่มีที่ยืนสำหรับคนไม่เลือกสีไม่เลือกข้างเลยเหรอ? แมสเซจของที่เปิดขวดก็คือ ต้องมีที่ยืนสำหรับคนไม่เลือกข้าง ประเทศไทยควรไม่เลือกข้าง เราจึงทำเป็นที่เปิดขวดรูปประเทศไทยที่เปิดได้หลายๆ ข้าง และอยากบอกว่าอย่าทะเลาะกันเลย มากินเบียร์กันดีกว่า อะไรประมาณนี้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าออฟฟิศสถาปนิกอื่นๆ เขาจะมาทำอะไรอย่างนี้กันหรือเปล่า แต่โชคดีที่เราค่อนข้างจะมีโอกาสที่ได้เข้าไปแตะกับงานศิลปะด้วย เราโตมาแบบนี้ ตอนนี้ก็ยังทำเรื่องงานสะท้อนสังคมอยู่

DBs: สถาปัตยกรรมมีอะไรที่มากกว่าการตอบโจทย์ลูกค้าตรงๆ เท่านั้น
ปิตุพงษ์
: ใช่ เพราะที่เราไปศึกษามา สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือสะท้อนสังคม มันไม่ได้เป็นแค่บ้าน ไม่ได้เป็นแค่ Shelter แต่ความหมายของสถาปัตยกรรมที่ผมรู้มาและเชื่อคือ ตัวหนังสือก็เป็นสถาปัตยกรรม มีสถาปนิกที่เขียน สถาปนิกที่วาดรูปเฉยๆ เป็น Paper Architect วาดเรื่องอนาคต ก็คือสถาปัตยกรรมหมดเลย แต่วิชาชีพสถาปนิกที่เราเข้าใจกันในเมืองไทยคือช่างแบบที่สร้างบ้านเฉยๆ มันจึงแคบเกินไป งานผมก็กว้างออกมานิดหนึ่ง

DBs: เราเห็นว่าผลงานหลายชิ้นของคุณ นิยมโครงสร้างสามเหลี่ยมทำมุมกันในองศาที่แปลกประหลาด บางครั้งก็เป็นการต่อเรียงกันขององค์ประกอบชิ้นเล็กๆ หลากสีทำให้เกิดมุมมองและพื้นผิวแปลกตา นี่ถือว่าเป็นสไตล์ของคุณไหม และที่มาของดีไซน์เหล่านั้นคือ
ปิตุพงษ์
: ผมไม่ได้มีวิธีคิดมากอะไรเลยครับ เพราะจริงๆ แล้ว ฟอร์มสามเหลี่ยมเป็นฟอร์มที่แข็งแรงที่สุดในโลก เช่นพีระมิดใช่ไหมฮะ ฟอร์มสี่เหลี่ยมมันยังบิดตัวได้ แต่ถ้าขีดเส้นระหว่างกลางกลายเป็นสามเหลี่ยม มันก็จะกลายเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น วิธีการนี้เรียกว่า Triangulation ฟอร์มทุกอย่างสามารถแปลงรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมได้ เป็นวิธีการที่ดีที่ไว้ใช้จัดการกับวัสดุได้หลากหลาย สมมุติว่าเราจะทำโดมโค้งเส้นผ่านศูนย์กลางสัก 50 เมตร เราจะทำเป็นโดมโค้งเลย หรือว่าจะทำเป็นรูปสามเหลี่ยม เล็กๆ ต่อกัน? สามเหลี่ยมจะผลิตได้ถูกกว่า ยกตัวอย่างงานของเรา ที่ออกแบบฟาซาดตึกคอม ซึ่งเป็นการรีโนเวตห้างตึกคอมที่ศรีราชา ฟาซาดนี้เป็นคลื่นๆ ซึ่งเกิดจากสามเหลี่ยมสลับกันไปมา ดูซับซ้อน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นโมดูลาร์ที่ผู้รับเหมาสามารถจัดการได้ง่าย โดยนำมาต่อกันเป็นแพตเทิร์น ผมใช้ไปโดยที่ไม่ได้คิดว่านี่จะต้องเป็นลายเซ็นต์อะไรของเรา เป็นแค่บางโปรเจ็กต์ที่เหมาะครับ

DBs: แล้วการต่อเรียงกันขององค์ประกอบชิ้นเล็กๆ หลากสีล่ะ มีที่มาอย่างไร
ปิตุพงษ์
: ผมตั้งชื่อวิธีการนี้ว่า Multiplication ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ก่อนผมจะตั้ง Supermachine แล้ว คือลูกค้าที่เข้ามาหาเราส่วนมากจะเป็นโปรเจ็กต์ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด ผมจะเรียกงานเหล่านี้ว่าเป็น ภูธร Architecture เป็นโปรเจ็กต์ซึ่งเจเนอเรชั่นที่ 2 ของครอบครัวนั้น เช่น สมมุติว่าพ่อเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า หรือเป็นเจ้าของโรงสี ซึ่งมีฐานะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก แล้วก็กลับมาอยู่ภูธร เขาได้เห็นโลกเยอะขึ้น มีเทสต์เยอะขึ้น แต่ไม่ได้มีทุนเท่ากับธุรกิจใหญ่ ฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการคือ งานงบน้อยๆ กับความคิดสร้างสรรค์สูงๆ เราจึงเลือก
วิธี Multiplication คือย่อยของให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วผลิตจำนวนมากๆ ให้ราคาถูกลง สมมุติว่า
ห้างฮาเบอร์มอลล์ มีกระจกสีๆ อยู่ 3,500 แผ่น เราก็กำหนดขนาดให้อยู่ในราคาที่ถูก ทำสี 8 สี เมื่อขนาดเป็นมาตรฐาน แล้วนำมาทำซ้ำเนี่ย มันก็อยู่ในงบประมาณได้ คือ ถ้ามีเงินน้อยก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เยอะหน่อย เราจึงมีหลายโปรเจ็กต์ที่ใช้วิธีการเดียวกัน คือ เอาเข้าวงการอุตสาหกรรมให้มากที่สุด สร้างอะไรก็ได้ที่มันเล็กๆ แล้วให้มันทำซ้ำได้เยอะๆ แล้วมันจะคุ้ม ยิ่งเยอะยิ่งคุ้ม แล้วเรามาดีไซน์ของเล็กๆ แทน เอามาทำซ้ำ แล้วเราก็เรียงแพตเทิร์นให้น่าสนใจ นี่คือวิธีการตั้งแต่สมัยก่อนซึ่งตอนนี้ก็ยังทำอยู่

DBs: สถาปนิกบางท่าน จะมีใช้กระบวนการหาแนวทางในการออกแบบแบบเป็นขั้นตอนมาก สำหรับคุณ กระบวนการออกแบบของคุณคือ
ปิตุพงษ์
: ไม่มีนะครับ วิธีคิดงานของผมมันแล้วแต่โปรเจ็กต์ บางโปรเจ็กต์เกิดจากปมด้อยของเรา บางทีก็เกิดความหงุดหงิดนักการเมือง บางโปรเจ็กต์เกิดจากความต้องการของลูกค้า บางอันเกิดจากสัญชาตญาณ บางอันเกิดจากข้อบังคับ บางทีก็เป็นอะไรที่อยากลองมานานแล้ว บางโปรเจ็กต์เกิดจากความสนใจเก่าๆ อย่างเรื่องสี เรื่องยานอาวกาศ หุ่นยนต์ หรือบางโปรเจ็กต์เกิดจากงบประมาณที่จำกัดมากๆ เราก็ต้องหาวิธีทางออกแบบอื่น ไม่สามารถบอกได้ว่าโปรเจ็กต์นี้เริ่มอย่างนี้ บางโปรเจ็กต์คิดวันเดียว บางโปรเจ็กต์คิดมา 3 เดือนยังไม่ชอบเลย ผมว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จนะ เราอาจมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ผมจะพยายามหาอะไรที่ไม่เคยทำทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่นะ ผมอยากพูดอย่างนี้ว่า Supermachine ไม่ได้ทำอะไรใหม่ แต่เราแค่พยายามทำสิ่งที่เราไม่เคยทำ เช่น เราอยากทำโครงสร้างหลังคาที่ทำจากอบแล้วเอามาดัด ซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยทำ ถ้าเรามีโอกาสก็อยากทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีดัดไม้แล้วเอามาทำเป็นหลังคาไม่เคยเกิดขึ้นก่อนในโลก ยุโรปเขาก็ทำมาแล้ว แต่เรายังไม่เคยทำ ส่วนใหญ่จะเป็นพยายามหาอะไรแตกต่างให้เราทำไปเรื่อยๆ ชีวิตจะได้ไม่เบื่อ

DBs: ยกตัวอย่างกระบวนการทำงานสักชิ้น เช่น โครงการล่าสุดที่ BU Student Union
ปิตุพงษ์
: BU Student Union เป็นชมรมต่างๆ ชมรมรำไทย ร้องประสานเสียง ชมรมหมากรุก ชมรมถ่ายภาพ ความขำของโปรเจ็กต์นี้คือ มันเป็นตึกซึ่งแต่ก่อนเป็นหอพักหญิงอายุ 20 ปี แล้วจะมาแปลงเป็นศูนย์ชมรมต่างๆ ที่นี่มักมีข่าวว่าตอนกลางคืนดึกๆ จะน่ากลัวนิดหนึ่ง หน้าที่ของเราก็คือแปลงร่างจากตึกยาว กลายมาเป็นเหมือนโรงนาซึ่งมีกิจกรรมหลากหลาย เราเจาะช่องให้แสงธรรมชาติเข้าไปได้ ทำให้ไม่น่ากลัว ข้างในก็เน้นสีสัน ระเบียงทางเดินเป็นสีเหลือง มีคอร์ตยาร์ด ด้านในทั้งหมด 5 คอร์ตยาร์ด แต่ละคอร์ตยาร์ดก็จะเป็นสีต่างๆ กัน สีเทอร์คอยซ์ สีเหลือง สีเขียว สีแดง และสีชมพู เป็นที่ให้เด็กๆ มารวมตัวกัน เป็นศูนย์รวมวัยรุ่น โปรเจ็กต์นี้ก็มีงบประมาณจำกัดมากอีกแล้ว โครงสร้างตึกเก่าก็จำกัดสุดๆ เราจึงไปสนุกกับตรงนั้นแทน สุดท้ายก็ต้องทุบโครงสร้างเก่า ทำตรงส่วนปลายเป็นยิมเนเซียมที่ไว้ซ้อมเชียร์ลีดเลอร์ ซึ่งทีมเชียร์ลีดเลอร์ของม.กรุงเทพฯ เขาเก่งฮะ ได้แชมป์ด้วย เราจึงต้องสร้างหลังคาสูง 16 เมตรให้เขาซ้อมได้ มันก็เลยกลายเป็นโรงนายาวประมาณ 120 เมตร ข้างนอกปิดด้วยเปลือกไม้ทั้งหมดเลย ข้างในก็เป็นที่ให้เด็กมารวมตัวกันทำกิจกรรม

DBs: งานของ Supermachineส่วนมากจะเป็นงานออกแบบพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ใช่ไหม
ปิตุพงษ์
: ใช่ครับ เรามีทั้งงานรีเทล ห้าง สถานศึกษาคือม.กรุงเทพฯ เราทำที่นี่อยู่ 6-7 โปรเจ็กต์ โฮสเทล ไม่ใช่โฮเต็ลนะ คนมาพักก็เป็นแบบฟังกี้ๆ หน่อย เราเหมือนโดนคำสาปนะ เรามักได้งานโปรเจ็กต์ถูกและดี คนที่มาหาเรามักมากับงบน้อยๆ แต่อยากได้ครีเอทีฟเยอะๆ สีจัดๆ แต่งบมีแค่นี้นะ สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า โรงแรม 6 ดาวผมก็ทำเป็นนะครับ (หัวเราะ) ไม่ต้องเบียดเสียดมากก็ได้ บางทีก็ถูกจำกัดด้วยเวลา อย่างเคยทำออฟฟิศมีเวลาให้ 3 เดือนต้องเสร็จ งบน้อยด้วย ทุกอย่างก็ต้องมาจากเอาโน่นมาประกอบนี่ คนเขาก็เลยเห็นภาพเราว่าออฟฟิศนี้เป็นตัวแทนของงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง แต่จริงๆ แล้วมันเกิดจากต้องหาทางออก ต้องหาทางให้ได้! มันเกิดจากข้อบังคับซะเป็นส่วนใหญ่ สถานการณ์พาไปน่ะครับ

Vol1
DBs: คุณคิดอย่างไรกับโจทย์ของงานออกแบบพื้นที่สาธารณะ เมื่อเปรียบเทียบกับงานออกแบบพื้นที่ส่วนตัว
ปิตุพงษ์
: มันสนุกกว่าเยอะเลยนะ แล้วยิ่งเป็นออฟฟิศที่มีพื้นฐานอย่างเรา เราก็สามารถเพิ่ม Statement เข้าไปในงาน Public Space ได้ เช่น งานหนึ่งของม.กรุงเทพฯ Bangkok University Creative Center (BUCC) ซึ่งมีผนังอยู่ผนังหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมัยของ BB (Blackberry) แล้ว ไอโฟนยังส่ง iMessage ยังไม่ได้ Whatsapp ยังไม่ดัง และยังไม่มี Line คนก็จะขอพินบีบีกัน เด็กๆ ก็จะจีบกันทางบีบี เราเลยนึกถึงสมัยก่อนว่าเราจีบกันผ่านการขูดเขียนโต๊ะเรียน ทิ้งเบอร์ ทิ้งข้อความ หรือพ่นสีเขียนไว้บนกำแพง เราจึงทำผนังขึ้นมาผนังหนึ่งเป็นพิกเซลเล็กๆ ให้เด็กเขาเปลี่ยนสีได้ ทิ้งเบอร์ไว้ได้ ทำสีที่จัดการได้ ถ้ามันเละเทะก็เอามือลูบทีเดียวก็หายแล้ว ใครถึกหน่อยก็สามารถจีบกันผ่านผนังนี้ได้ พอทำอย่างนี้ ก็จะมีการตีความใส่เข้าไป ถ้าดีไซเนอร์สนใจที่จะทำก็สามารถทำสิ่งพวกนี้ได้ งานเรามีการตีความอย่างนี้เต็มไปหมดเลย อย่างทำโฮสเทล เราก็ตีความว่า โฮสเทลไม่ใช่โรงแรม แต่เป็นที่ที่ห้องนอนเอาไว้นอนจริงๆ ไม่ได้มีความรื่นรมย์ของการนอน แต่เป็นเรื่องของการไปพักแล้วได้เจอคนชาติต่างๆ มาแชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวกัน เพราะฉะนั้นมันคือพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน พอเราตีความแบบนี้ พื้นที่ในโฮสเทลจึงมีกลไกของการแลกเปลี่ยนนู่นนี่เข้าไป การทำงาน Public Space ทำให้เราได้ใส่สิ่งเหล่านี้ ได้ทิ้ง Statement ว่าเราคิดอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ

DBs: สิ่งที่กระตุ้นความตื่นเต้นในการออกแบบของคุณคืออะไร
ปิตุพงษ์
: จริงๆ แล้วผมตื่นเต้นและทรมานในเวลาเดียวกันในการที่จะหาแก่นของแต่ละโปรเจ็กต์นะ คือเห็นงานเราดูมีสีสันสนุกสนานน่าตื่นเต้น แต่พื้นฐานของมันมีความรู้สึกคล้ายๆ ทรมานเหมือนกันนะ ผมว่าสำหรับดีไซเนอร์น่ะ 80% ของชีวิตคือช่วงเวลาที่คิดแบบไม่ออก มันมีช่วงเวลาแค่ 20% ของชีวิตที่คิดงานออก สมมุติทำงาน 10 ชั่วโมง 8 ชั่วโมงจะคิดงานไม่ออก มีแค่ 2 ชั่วโมงที่คิดออก แล้วจะเป็นช่วงที่มีความสุข ช่วงเวลา 80% จะเป็นช่วงเวลาที่ทรมานมากที่คิดว่าวิธีการนี้จะเหมาะสมสำหรับโปรเจ็กต์นี้หรือเปล่า มันจะสร้าง Statement หรือเปล่า ผมว่านี่คือความท้าทาย และบางทีมันทำให้เหนื่อย

DBs: แล้วเคยมีโจทย์ที่ทำให้ตื่นเต้นอยากมากๆ บ้างไหม
ปิตุพงษ์
: ก็มีมาเรื่อยๆ นะ ครั้งหนึ่งเคยเกือบได้ทำห้องสมุด แต่พอดีมันพับไปก่อน เราก็ตื่นเต้นจะได้ทำห้องสมุด ดีใจมาก เพราะหาทำยาก จะว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีห้องสมุดก็ไม่ใช่ แต่ไม่ค่อยมีห้องสมุดที่หลุดมาถึงมือดีไซเนอร์ ถามเพื่อนที่ทำงานเปิดออฟฟิศเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็ทำคอนโดฯ ทำบ้าน ทำอะไรกัน แต่ไม่เคยมีใครทำห้องสมุดนะ ไม่รู้ว่าไปตกหล่นอยู่ที่ไหน ถ้าเกิดได้ทำโปรเจ็กต์พวกนี้ เราจะตื่นเต้นมาก

DBs: ในการทำงาน เรื่องวัสดุมาก่อนหรือหลังไอเดียการออกแบบ
ปิตุพงษ์
: บางทีวัสดุก็มาก่อนครับ บางทีก็มาที่หลัง บางโปรเจ็กต์เรารู้เลยว่าจะใช้ไม้ซีดาร์มาทำผิวอาคาร รู้มาตั้งแต่แรก บางทีวัสดุก็มาที่หลัง บางวัสดุก็เป็นสิ่งที่ต้องทดลองสร้างขึ้นมาเอง

DBs: สถาปนิกต้องทำงานกับวัสดุเยอะ คุณเคยทำงานกับวัสดุล้ำๆ ที่ต้องค้นหามาเป็นพิเศษหรือเปล่า
ปิตุพงษ์
: ใช่ เราทำงานกับวัสดุเยอะ แต่ผมมักใช้วัสดุธรรมดาๆ ที่มีทั่วไปในตลาด ใครๆ ก็ใช้กัน แต่จะมีการนำไปผ่านกระบวนการบางอย่างแล้วมันก็จะเป็นวัสดุของโครงการนี้โดยเฉพาะ เช่น ผนังพิกเซล (Pixel) ที่ผมใช้ใน BUCC มันก็คือพลาสติก ABS แต่ว่าเราสั่ง Custom Made สร้างโมลด์ขึ้นมา แล้วฉีดพลาสติกเข้าไปเพื่อให้ได้รูปทรงที่เข้ากับกลไกของเรา แต่นั่นก็คือพลาสติกธรรมดา เราไม่ได้ค้นหาวัสดุที่แปลกประหลาดอะไร เราเป็นออฟฟิศบ้านๆ มากเลย จัดการกับอะไรที่ทั่วไปมากๆ ทำเสื้อยืด ทำสติ๊กเกอร์ ทำรถเข็น ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร

DBs: แต่อยู่ที่วิธีหยิบมาใช้ต่างหากที่ทำให้มันน่าสนใจขึ้นมาใช่ไหม
ปิตุพงษ์
: ผมชอบยกตัวอย่างพี่โน้ส-อุดม แต้พานิช คือเขาพูดเรื่องธรรมดา พูดเรื่องห้องน้ำ พูดเรื่องทิชชูสีชมพู อะไรต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา มันก็เป็นลักษณะเดียวกัน ไม่ได้เอาตัวเราไปเปรียบกับเขานะ แต่ว่าผมทำเรื่องสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันน่ะ บางทีผมก็ใช้แคร่ เพราะสมัยเด็กๆ นั่งแคร่ข้างบ้านแล้วมันหนีบก้น เราก็จำแคร่ได้ บางทีแคร่ก็มาอยู่ในโปรเจ็กต์ของเรา แต่เราไม่ได้พยายามทำอะไรเน้นความเป็นไทยแบบใส่ชฎา หลังคาพวยพุ่งเป็นสีทอง เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราก็ชอบความบ้านนอก ชอบความธรรมดาแบบนี้แหละครับ แต่เผอิญว่าเรามีโอกาสพูดแล้วมีคนฟังขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะเราเริ่มแก่แล้ว เราเลยอยากเอาเรื่องธรรมดาๆ พวกนี้กลับมาใช้เท่านั้นเอง อย่างเราออกแบบมิวเซียมให้ในหลวงซึ่งเป็นงานนิทรรศการประกวด เราก็ไม่ได้พูดเรื่องทศพิธราชธรรม ไม่ได้ใช้ภาษาบาลี ไม่มีอะไรที่ต้องแปล แต่เราพูดเรื่องซอย เรื่องถนน เรื่องชีวิตในหลวงตอนเด็กๆ ห้องของเล่นของในหลวง พูดเรื่องในหลวงกับธรรมชาติ ไม่มีคำว่าพระราชกรณียกิจด้วยซ้ำ

DBs: แต่จริงๆ งานที่มีแก่นแบบนี้น่าจะสัมผัสได้และจับใจคนง่ายกว่านะ
ปิตุพงษ์
: ผมก็หวังว่านะครับ เพราะทุกวันนี้จะมีเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยศึกษาเท่าไหร่ เช่น พอพูดเรื่อง Green Architecture ปุ๊บ คนก็จะ Take It for Granted คือเหมาไปเลย แบบ Green Architecture ต้องประหยัดพลังงาน ต้องมีผนังสัมประสิทธิ์ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งฟังไม่รู้เรื่องหรอก แล้วทุกคนก็จะทำตามกันไป อย่างศูนย์ราชการก็จะต้องทำ เมื่อบอกว่าว่าเป็นอาคารประหวัดพลังงาน หน้าตายังไงก็ต้องได้สร้าง ใหญ่โตมโหฬารเปิดแอร์ทั้งวัน ซึ่งที่ผมเรียนมาจากฮอลแลนด์มันไม่ใช่แบบนี้ คำว่ากรีนมันมี Innovation มี Creativity อยู่ในนั้น แค่เราสลับโปรแกรม เปลี่ยนพื้นที่ก็นับว่าเป็นกรีนได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องทำอะไรที่เป็นวิศวกรรมไฮเทคเสมอไป ผมว่าเราเทิดทูนเรื่องนี้น้อยไป คือไม่ได้ใช้วิธีที่สร้างสรรค์แต่ธรรมดา บ้านๆ เรายังดั้นด้นน้อยเกินไป

DBs: นอกจากงานออกแบบแล้ว ในฐานะ Design Director คุณบริหารทีมสถาปนิกในสตูดิโอของคุณอย่างไร
ปิตุพงษ์
: พาไปเที่ยวเยอะๆ ที่นี่เราให้ความสำคัญกับพนักงาน เป็น Staff Oriented Company ถ้าสตาฟฟ์เราเก่งขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น บริษัทก็ได้ประโยชน์มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเชื่อ ฉะนั้น แต่ละปีจะมีการเที่ยวเยอะมาก นี่ก็เพิ่งกลับมาจากสเปนและโปรตุเกสครับ ปิดไปเที่ยวกันทั้งออฟฟิศ 2 อาทิตย์ พอพูดอย่างนี้ ทุกคนก็จะอยากมาทำงานที่นี่ แต่วันธรรมดาเราทำงานกันหนักมาก ก่อนไปโปรตุเกสกับสเปนก็ไปญี่ปุ่นและกัมพูชากันมา ปีหนึ่งเราเที่ยว 3 ครั้ง เพราะต้องให้เขาเห็นและเข้าใจโลกมากขึ้น งานที่เขาทำถึงจะโตขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าเขาไม่เข้าใจว่าเปอร์เซีย ตะวันออกกลาง และอินเดียต่างกันตรงไหนอย่างไร ก็จะเหมารวมประชากรที่มีเป็นพันล้านคนว่าเป็นแขกหมดเลย เหมือนว่าเวลาที่เราไปเที่ยวแล้วถูกมองว่าเป็นคนจีน เราก็ไม่ชอบ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราต่างกับคนจีน คนเวียดนาม หรือกัมพูชาอย่างไร จริงๆ ทุกคนต่างกันหมด ผมเดินทางค่อนข้างเยอะจึงมีประสบการณ์ รู้ว่าเปอร์เซียกับตะวันออกกลางต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน บางอย่างก็มีอิทธิพลต่อกัน ส่งเหล่านี้ควรได้เรียนรู้เป็นประสบการณ์ชีวิต พอกลับมา งานก็จะดีขึ้นเอง นี่คือสิ่งที่ Supermachine ลงทุน เราลงทุนในการเที่ยวเยอะมาก เราทำงานเพื่อให้มีเงินได้เที่ยวรอบโลก ปีนี้เป็นปีที่เราได้หยุดไปเที่ยวได้เยอะ โชคดีมากที่เราสามารถหยุดงานได้ ลูกค้าเข้าใจ จริงๆ สิ่งนี้ไม่ได้แปลกสำหรับฝรั่ง เขาหยุดกันเป็นเดือน ผมก็ฝันไว้ว่าจะสามารถหยุดได้สักเดือน อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมทำงานอยู่ หาเงินเที่ยว (หัวเราะ) ถึงจะพูดล้อเล่นอย่างนี้ แต่ในส่วนของงานเราก็ให้ความสำคัญเสมอ งานแต่ละงานต้องมี Statement ที่จะสะท้อนคืนกลับไปสู่สังคม แบบเหน็บกัดไปเรื่อย ไม่อยากเล่าเรื่องแบบซีเรียสมาก

DBs: ส่วนตัวเป็นคนชอบเหน็บกัด?
ปิตุพงษ์
: ใช่ พอสมควร

DBs: บ่นถึงอะไรบนสเตตัสเฟซบุ๊คบ้าง
ปิตุพงษ์
: เฟซบุ๊คนี่เป็นเรื่องที่ผม…ระยะหลังผมลอยอยู่เหนือปัญหาได้นะ ผมรู้สึกว่าคนไทยซีเรียสกับเฟซบุ๊คมากเกินไปหรือเปล่า? มีอะไร ทะเลาะกับใครจะต้องมาประกาศบนเฟซบุ๊ค ถือเฟซบุ๊คเป็นสะระตะสำคัญของชีวิต ผมว่าสังคมเราให้ความสำคัญกับโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ไลน์ ไอจีพวกนี้ในทางที่…ไม่ใช่ผิดนะ แต่ซีเรียสเกินไป ในขณะที่ที่อื่นเขาไม่ได้เป็นอย่างนี้กัน ตอนผมไปยุโรปไปหาเพื่อน เขาไม่ได้สนใจเลย และรู้สึกว่าการล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของโซเชียลเน็ตเวิร์กเหล่านี้มันไม่โอเค หลายคนเลยนะ หลายชาติด้วย คือมันไม่อยู่ในวัฒนธรรมเขา แต่ทำไมเราซีเรียสขนาดนี้ อย่างเรื่องคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม ผมก็คัดค้านนะ ผมสนใจเรื่องการเมืองพอสมควร แต่ผมก็คัดค้านการกระทำที่ซีเรียสเกินไปบนเฟซบุ๊คด้วย โดยผมตัดสินใจไม่โพสอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองบนเฟซบุ๊คเลย ผมว่ามันเริ่มเกินไปหน่อยแล้วล่ะ ผมว่าเราใช้มันเป็นเครื่องมือที่แปลกๆ

ความคิดนี้เกิดจากการที่ได้ไปเที่ยวไปเจอเพื่อนด้วยนะ คือเราก็สนใจว่าเพื่อนต่างชาติเราตอนนี้เขาทำอะไร สนใจอะไร สนใจโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเปล่า ถ้าผมอยู่แต่เมืองไทย ทำงานๆๆๆ ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจออาจารย์เก่า ผมอาจไม่คิดอย่างนี้ก็ได้ บางทีผมก็ไม่เข้าใจว่าเราจะแชร์อะไรกันนักหนา ไปเที่ยวก็ต้องถ่ายรูปตรงนี้ให้ได้ เพื่อมีรูปกลับไปแชร์ที่โรงแรม แล้วถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ตจะหงุดหงิดมาก จะอะไรกันนักกันหนา บางทีมันก็เกินไป นี่เป็นเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมของเรา เพราะผมไม่ได้สนใจงานสถาปัตยกรรมอย่างเดียว พอผมพูดเรื่องนี้มากๆ สักพักมันก็จะไปอยู่ในงานของเรา เช่น เรื่องการหยิกกัดลูกน้องผม ซึ่งตอนนี้ผมเรียกว่ามีอาการ ‘หน้างอ คอหัก’ เหมือนกับปลาทูน่ะ อย่างเวลาไปกินข้าวกัน ทุกคนจะก้มหน้าอยู่กับสมาร์ทโฟนตัวเอง ตอนนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว คนที่ขึ้นไปบนรถไฟฟ้าแล้วไม่ควักสมาร์ทโฟนขึ้นมาจะเป็นคนที่เท่มาก แตกต่างมาก เพราะทุกคนขึ้นไปปุ๊บก็จะทำเหมือนกันโดยอัตโนมัติมาก แรกๆ ผมก็ทำ ต่อมาผมก็รู้สึก แล้วก็นั่งสังเกต มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว จริงๆ อันนี้ก็คือหัวใจของการทำงานของ Supermachine นะ คือสังเกตวัฒนธรรมของเรา แล้วนำมาบอกเล่าลงไปในงานอินทีเรียร์ ในผนัง บนพื้น หรือสเปซที่คนเดินผ่าน สมมุติถ้าเกิดว่าทุกคนต้องนั่งคองอกันตลอด อีกหน่อยผนังอาจเอียงก็ได้ เพราะสเปซนี้เรารู้อยู่ว่าพอขึ้นมานั่งปุ๊บคอจะต้องงอลงไปมองสมาร์ทโฟน ฉะนั้นผนังก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรงอีกต่อไป อันนี้คือสิ่งที่วัฒนธรรมให้กับสถาปัตยกรรมนะ

DBs: คุณมีไอดอลหรือผลงานที่เห็นแล้วเปลี่ยนวิธีคิดของคุณไหม เล่าให้ฟังถึงเขาและสิ่งนั้นหน่อย
ปิตุพงษ์
: ก่อนที่ผมจะไปเรียนเมืองนอก ผมไม่มีความรู้เรื่องศิลปะ เราก็คิดแค่ว่า Van gogh หรือ Monet เป็นศิลปิน Impressionism เท่านั้นคือศิลปะ จบ พอไปเรียน เราเริ่มรู้จักศิลปะ รู้จัก Conceptual Art และ Marcel Duchamp คือศิลปินที่ผมชื่นชอบ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคอนเซ็ปต์แปลงร่างให้มีคุณค่าเชิงศิลปะได้ คนนี้คือ Conceptual Artist ที่เป็นไอดอล ส่วนสถาปนิกที่เป็นไอดอลมีอยู่ 2-3 คน มี Oscar Niemeyer สถาปนิกบราซิล ที่ออกแบบเมืองบราซิเลีย ออกแบบอะไรมากมาย ผมเคยเดินทางไปเที่ยวกับที่โรงเรียน และอยู่ที่นั่นเดือนหนึ่ง ก็ตามดูงานของเขาหมด ชอบเพราะเขาเป็นคนที่ผสมโครงสร้างและความงามของพื้นและผนังเข้ากันได้ดี ตึกเขาจะดูลอยๆ อวกาศๆ คล้ายหนังเรื่อง Gravity เขามีอายุ 109 ปี เพิ่งเสียไปเมื่อธันวาฯ ปีที่แล้ว เป็นสถาปนิกที่วาดรูปเคิร์ฟผู้หญิงตลอดเวลา บ้านอยู่โคปาคาบานา สูบซิการ์วันละ 1 ตัว ดื่มไวน์วันละ 1 แก้ว ชีวิตดูแบบ Intellectual มาก ส่วนออฟฟิศอีกแห่งหนึ่งที่ผมชอบผลงานมากที่สุดคือ Herzog & de Meuron ที่ออกแบบสนามกีฬารังนก จริงๆ ที่นี่ออกแบบงานไว้เยอะมาก งานออฟฟิศนี้มีดีเทลยุ่บยั่บไปหมด ทุกครั้งที่เขาสร้างงานใหม่ๆ ออกมา เราก็อื้อหือ! ยังได้อีกนะ ยังคิดได้อีก! และมีอีกคนที่เพิ่งมาเมืองไทยคือ Frank Gehry ผมรู้จักชื่อเขามาตั้งแต่สมัยเรียน ไปสเปนก็เพิ่งไปดูตึกที่เขาออกแบบ แต่เพิ่งมาได้ฟังเขาตัวจริง เราก็รู้สึก โอ้โห! คุณลุงอายุ 84 แล้ว แต่ยังเฉียบคม ฉลาดสมาร์ทสุดๆ ได้ฟังแล้วเราก็ประทับใจ

DBs: สำหรับคุณแล้ว งานสถาปัตยกรรมชิ้นไหนถือว่าเป็นงานชิ้นเปลี่ยนโลก
ปิตุพงษ์
: กุกเกนไฮม์ มิวเซียม (Gugenheim Museum) ที่เมืองบิลเบา (Bilbao) ของ Frank Gehry นี่แหละ Bilbao Effect เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ บิลเบาเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมของสเปน มีอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก มีอู่ต่อเรือ เมื่ออุตสาหกรรมเหล็กเริ่มตก เมืองจึงพยายามโปรโมตเรื่องอื่นอย่างเรื่องวัฒนธรรมแทน เขาพยายามทำวัฒนธรรมให้แข็งแกร่ง โดยสร้างพิพิธภัณฑ์ระดับโลกขึ้นมา มีสถาปนิกระดับโลกมาสร้าง ปรากฏว่าบิลเบาก็กลายเป็นเมืองที่มีชื่อขึ้นมาจากที่ไม่ค่อยมีคนไป นี่เป็น 1 ในไม่ถึง 5 โปรเจ็กต์ของประวัติศาสตร์ที่สถาปัตยกรรมสามารถทำให้เมืองเมืองหนึ่งเด่นขึ้นมาบนแผนที่โลกได้ จากที่ไม่มีคนรู้จัก ก็มีคนไปเพื่อที่จะเยือนมากมาย ว่ากันว่า 82% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปบิลเบาเพื่อจะไปกุกเกนไฮม์โดยเฉพาะ และเขาไม่ได้หยุดแค่มิวเซียม หลังจากนั้นเขายังมีการปรับพื้นที่รอบริมน้ำ สร้างเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมซึ่งเชื่อมต่อกันไปเป็นเน็ตเวิร์ก มีคนไปวิ่ง ไปออกกำลังกาย ตอนเย็นมีคนมานั่งกินไวน์กัน มีคนมาเล่นดนตรี มีออดิทอเรียม มีรถไฟฟ้าเข้าไป รถไฟฟ้าก็จ้าง Norman Fosterมาออกแบบทั้งระบบเลย จากเมืองที่ดูไม่มีอะไร กลายเป็นเมืองที่ไปแล้วเราประทับใจวัฒนธรรมของเมืองเล็กๆ เมืองนี้มาก นี่คือตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้มีหลายที่ และเลียนแบบได้ยาก เป็นสถาปัตยกรรมซึ่งเปลี่ยนชีวิตคนได้ และปลุกเมืองได้จริงๆ แล้วคนในเมืองมาใช้พื้นที่เอง ไม่ได้สร้างเน้นแต่นักท่องเที่ยว คุณภาพชีวิตคนจึงดีขึ้นมาด้วยการวางแผนกับวิสัยทัศน์ บวกสถาปัตยกรรมแล้วก็ดวงด้วย เพราะสถาปนิกออกปากเองว่าเขาก็ไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ หลังจากนั้นคนก็จ้างเขาเพื่อหวังว่ามันจะเกิดอย่างนี้ขึ้นอีก แต่ว่าที่นี่เหมือน Once in a Lifetime ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะสามารถสร้างแบบนี้ขึ้นได้อีก

DBs: นอกจากงานสถาปัตยกรรม มีงานดีไซน์หรือผลิตภัณฑ์ที่คุณชื่นชม วิธีคิดในการออกแบบบ้างไหม
ปิตุพงษ์
: ผมชอบกระเป๋า Freitag นะ ผมไม่ได้มองว่าเป็นแฟชั่น แต่ผมว่า Freitag มีวิธีคิดแบบฟังกี้ๆ โอตาคุๆ โดยเอาของที่ใช้แล้วมาทำ เอามาขายแพงด้วย เพิ่มมูลค่า มีคนสนใจเห็นคุณค่า และยังต่อยอดได้อีกว่าคุณสามารถเลือกส่วนของผ้าใบได้นะ หลังจากนั้นก็ยังดันไปได้อีกว่าออฟฟิศสร้างจาก Recycle Material นะ คนที่ทำงานเย็บกระเป๋าก็เป็นผู้พิการด้วยนะ เขามีความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ มีมุขของแต่ละก้าวของเขา ผมก็เคยมี Freitag เยอะ แต่ตอนนี้ก็พยายามลอยตัวเหนือปัญหา ขายๆ ไปบ้าง มีเท่าที่ใช้ ไม่อยากให้เป็นแฟชั่น เป็นแบรนด์มากเกินไป แต่ถ้าถามถึงแบรนด์ที่เราชอบ ก็เป็นอะไรง่ายๆ อย่าง Freitag นี่ละครับ

DBs: หากขอให้คุณออกแบบของขวัญให้กับสังคมไทยในช่วงเวลานี้ คุณอยากออกแบบอะไร
ปิตุพงษ์
: มาถามตอนนี้พอดีเลยนะ จริงๆ ผมอยากออกแบบเครื่องอุดหู ที่พอใส่เข้าไปแล้วหายเครียดด้านการเมืองเลย ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา หรือออกแบบเครื่องถ่วงหูไม่ให้หูเบา เครื่องที่ทำให้เรากันตัวเองออกจากเรื่องพวกนี้ได้ เพราะผมว่าคนไทยเข้าไปติดอยู่กับเรื่องพวกนี้เร็วมาก เดี๋ยวก็เรื่องละคร เรื่องดารา เรื่องการเมือง แป๊บเดียวก็เปลี่ยน เรามักพูดว่า ‘คนไทยลืมง่าย’ จนติดปาก แต่จริงๆ คนไทยไม่จำอะไรเลย เราไม่ศึกษา เราไม่สนใจอะไร เราไม่มีความรู้ ใครมาพูดอะไรเราก็มีอารมณ์ร่วมทันที ใช้อารมณ์ 90% แต่มีข้อมูลแค่ 10% เราเลยลืมง่าย ผมอยากให้เราหยุดบ้าง ช้าลงนิดหนึ่งได้ไหม จำเรื่องต่างๆ ให้ได้ และหูหนักขึ้นอีกหน่อย เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็เป็นรูปแบบซ้ำๆ กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เราลองหาความจริงจากเรื่องครั้งที่แล้วก่อนดีไหม นี่แหละครับ เลยอยากออกแบบเครื่องที่ทำให้หูหนัก หยุดคิดบ้าง หรือเครื่องแก้หูตาลายที่ทำให้เราไม่เครียดกับเรื่องเหล่านี้ ใช้แล้วสบายใจทันทีเลย

1/4

Leave A Comment